จุดอ่อนของ Blog


         นสพ. เดอะเนชั่น ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 ม.ค.50  ตีพิมพ์บทความ "Written by fools to be read by imbeciles" เขียนโดย Joseph Rage จาก นสพ. The Wall Street Journal  วิพากษ์ข่าวสารในบล็อกว่าด้วยคุณภาพ   ทั้งคุณภาพด้านสาระและด้านภาษาที่ใช้     เป็นข่าวสารที่ไม่ผ่านการตรวจสอบว่ามีนวภาพ (originality),  น่าเชื่อถือ,  และมีความจริงจัง แค่ไหน

         อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ (click)

         ผมมองว่าข้อวิพากษ์มีส่วนจริง   แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงด้านจุดแข็ง   ที่บล็อกช่วยการ ลปรร. ความรู้ฝังลึก   และช่วยสร้างความเป็นชุมชน

         ชุมชน Gotoknow ของเราไม่แย่ถึงขนาดที่คุณ Rago เขียน   เพราะความเป็นชุมชนควบคุมกันเองพอสมควร   สมาชิกของ Gotoknow ว่าอย่างไรครับ

วิจารณ์  พานิช
 7 ม.ค.50

คำสำคัญ (Tags): #blog#weblog#บล็อก
หมายเลขบันทึก: 71557เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีปีใหม่คะ อ.หมอวิจารณ์

คุณลักษณะของสื่อ (Media Attribution)..ทุกประเภทต่างมีจุดอ่อนและจุดแข็งไม่เหมือนกัน...

และ web blog เอง...วัตถุประสงค์ในการใช้ ก็มีชัดเจนดั่งที่อาจารย์พูดว่า...จุดแข็งในเรื่อง"การเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้"..การบันทึกความรู้ฝังลึกของเจ้าของบันทึกที่ได้จากการเรียนรู้..และหมุนวนแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนที่เข้ามาเสพสื่อนี้...

ดังนั้นหากจะเน้นในเรื่องที่ว่า "ข่าวสารในบล็อกว่าด้วยคุณภาพ   ทั้งคุณภาพด้านสาระและด้านภาษาที่ใช้     เป็นข่าวสารที่ไม่ผ่านการตรวจสอบว่ามีนวภาพ (originality),  น่าเชื่อถือ,  และมีความจริงจัง"...ก็อาจจะเป็นการวิพากษ์ที่มากเกินไปนิดเมื่อพิจารณาในกรอบของคุณลักษณะของสื่อ

และที่สำคัญ...Web blog Gotoknow นี้ส่วนใหญ่...blogger เราจะช่วยกันในเรื่องการตรวจสอบข้อมูล ในเนื้อหาสาระ...กัน และที่สำคัญความมีจริยธรรมทางวิชาการต่างก็มีกันมากอยู่แล้ว...

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

เรียน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เคารพ

ผมขอยืมเอกสารฯ ไป ลปรร. งานจิบกาแฟฯ 1/2550

ขอบคุณครับ
วิชิต

หากมองจากคนที่อยู่วงการ "สื่อ" จะมองเฉพาะด้านธุรกิจและการนำเสนอมุมเดียวลักษณะเดียวครับ การมองถึงนวภาพ เพื่อฉายภาพให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งไม่ใช่สังคม gotoknow การบ่งบอกถึงคุณลักษณะแห่งการทำธุรกิจ.... ....gotoknow เน้นงาน ลปรร. งานวิจัย เข้าใจ เข้า พัฒนา และเกิดศรัทธาที่ฝังลึก...ตลอดในเนื้อหาของงานนั้น ๆ ที่ได้กระทำและประชาสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ผมยอมรับว่าก็มีบางส่วน ที่ผมพยายามสะกิด แต่เขาว่าผมซีเรียสไป ควรปล่อยให้เขาสนุกสนานกันบ้าง

เรื่องหมาเรื่องแมวก็สนุกดี

ผมก็เป็นเพียงเสียงนกเสียงกา คนส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ผมก็ไม่ทราบจะขัดได้อย่างไร แล้วท่านเจ้าสำนักเองก็ไม่เห็นว่าอะไร

แล้วผมเป็นใครที่จะมีคนรับฟัง

สวัสดีค่ะ อาจารย์,

ในบทความต้นฉบับนั้น ดูเหมือนผู้เขียนจะใช้บล๊อกการเมืองในอเมริกาเป็นจุดอ้างอิงในการวิเคราะห์และวิพากษ์เสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่หรือคะ?

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่  นิตยสารไทมส์เองก็เคยเขียนวิเคราะห์เรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่ปลายปี ๒๐๐๔ น่ะค่ะ แต่ไม่ได้เขียนเรื่องจุดอ่อนของ Blog นะคะ เขียนเรื่อง 10 Things We Learned About Blogs  ค่ะ 

บังเอิญตอนนู้นเริ่มเขียนบล๊อกได้ไม่นานอยู่ Blogger เลยมีบทความนั้นเก็บเอาไว้  พอเห็นหัวข้อและบทความของอาจารย์วันนี้ เลยนึกถึงอันนั้นขึ้นได้ เลยไปหยิบมาฝากค่ะ  ความจริงอันนั้นน่าจะครอบคลุมดีกว่า มียกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเป็นข้อเท็จจริงมีลิ้งค์อ้างอิงมากกว่ากล่าวอ้างลอย ๆ เหมือนบทความของ Wall Street Journal อันนี้อีกค่ะ

บล๊อกที่เป็นเรื่องเฉพาะกิจ ก็จะเจาะเฉพาะกลุ่ม มีจุดประสงค์เฉพาะการณ์  ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองด้วยแล้ว  พูดยากค่ะ เพราะไม่ว่าที่ใดในโลกมันก็มักจะค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยากโยงใยวุ่นวายเสมอ ไปตามกิเลสต่าง ๆ ของมนุษย์นั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่คิดว่า Rago ผู้เขียนของ Wall Street Journal สมควรใช้บล๊อกเฉพาะกิจ เฉพาะกลุ่ม เฉพาะจุดประสงค์ มาเป็นตัวแทนในการใช้อ้างถึงบล๊อกทั้งหมดในโลกนี้น่ะค่ะ

จะมีประเด็นที่เป็นจุดร่วมกันของบล๊อกส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่พอจะอนุโลมให้ครอบคลุมได้บ้าง ก็น่าจะมีแค่ประเด็นในเรื่องความรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อความฉับพลันในการสื่อสารระดับบุคคล อันสามารถส่งผลให้สารที่สื่อออกไปไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอรอบคอบ อาจก่อผลเสียหายได้

รวมถึงเรื่องความไม่ระมัดระวังในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง  และ เรื่องสาระเนื้อหาเท่านั้นเอง

แต่ถ้ามองว่าบล๊อกเป็นสื่อ สื่อหนึ่ง  ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกบริโภคน่ะค่ะ

ที่ผู้เขียนของ The Wall Street Journal รู้สึกเดือดร้อน  ก็เพราะคนกระหายใคร่รู้เลือกที่จะรับบริโภคสื่อลักษณะบล๊อกมากกว่า MSM อย่างที่ผู้เขียนทำงานอยู่มั้งคะ?  เนื่องจากมันคงจะมีสีสันมากกว่าล่ะเรื่องของเรื่อง และตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่เอียงขวาหนัก ซ้ายหนัก หรือต้องการนำเสนออะไรที่เสนอในสื่อหลักไม่ได้ ก็แค่นั้นเอง  คนก็ติดบล๊อกไปตามกิเลสของตนเอง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกค่ะ

และในส่วนที่เขาไม่ได้พูดถึงจุดแข็งของบล๊อกที่อาจารย์ยกตัวอย่างมาเลย  คิดว่าเพราะเขายกตัวอย่างมาแต่บล๊อกการเมืองไงคะ  บล๊อกการเมืองในสหรัฐนั้น สิ่งแรก ๆ ที่เขาทำได้สำเร็จเลย คือ ช่วยการ ลปรร. ความรู้ฝังลึก   และช่วยสร้างความเป็นชุมชน อย่างที่อาจารย์ว่านี่เปี๊ยบเลยน่ะค่ะ 

โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดนี่ติดกันงอมแงมเลยค่ะ  ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกกันก็ยอม

จึงเป็นไปได้ว่า เขาอาจจะเหมาเอาว่าคนทราบอยู่แล้ว  หรือไม่ก็นู่นเลย  ถ้าเขียนจุดนี้จะฟังดูเหมือนยิ่งประชดบล๊อกการเมืองเหล่านั้น แล้วยิ่งทำให้บทความเขาดูขาดความน่าเชื่อถือลงไปอีก

หรือในทางกลับกัน  เขาก็มองว่านั่นเป็นจุดอ่อน  เพราะถ้าอ่านในย่อหน้าแรกของหน้าที่สองของบทความจาก Wall Street Journal ที่อาจารย์กรุณานำมาฝากแล้ว  เขาก็บอกว่าประเด็นที่อาจารย์ว่าน่าจะเป็นจุดแข็งนี่แหละค่ะ คือปัญหาของบล๊อกการเมืองอย่างที่ว่า  

คือเข้าใจว่าจะ ลปรร และฝังลึกในเฉพาะกลุ่มตัวเอง ที่อาการหนักแล้วก็น่าจะหนักข้อขึ้นไปอีก หน้ามืดตามัว หูอื้อตาลาย ไม่ฟังข้างอื่นเลย  เหมือนที่เขายกตัวอย่างเรื่องการนำเสนอเรื่องราวของวุฒิสมาชิก John Kerry ไงคะ

และบทความนี้ Rago เขาสรุปด้วยความเห็นของเขาว่า ระบอบประชาธิปไตยจะทำงานไม่สมบูรณ์ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และเนื่องจากไปยอมให้กับสิ่งที่ขอสรุปเอานะคะว่าเขาหมายถึงความได้เปรียบของอินเทอร์เนทนี่เอง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ปล่อยให้ความเสื่อมเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรกับมันแล้วเรียกมันว่าเป็นความก้าวหน้า

ดังนั้น  สรุปแล้ว บทความนี้น่าจะเป็นบทความที่ค่อนข้างจะการเมืองทีเดียวนะคะ  คืออ่านไปแล้วรู้สึกคุณคนเขียนนี้ท่าทางจะ "ของขึ้น"   น่ะค่ะ

คือก็พอจะเข้าใจว่าเขาก็คงจะพยายามมองและวิเคราะห์ในเชิงสังคมศาสตร์อะไรของเขาไป

แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเขาจะมองในแง่ของธรรมะ คือ ความไม่เที่ยง แล้ว  เขาก็คงจะเห็นว่าเรื่องนี้มันก็ธรรมดามาก  เพราะมันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่มันจะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นไปตลอด หรือเป็นอย่างที่เขาคาดหวัง คาดคั้น ตั้งความหวังอยากจะให้มันเป็นเสมอ 

แล้วทุกอย่างมันก็มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาของมันนี่แหละ  ก็ไม่เห็นแปลกอะไรอีก 

ดังนั้น แทนที่เขาจะลุกขึ้นมาเกรี้ยวกราดโวยวายเรียกร้องให้บล๊อกทั้งหลายที่เขาคิดว่าด้อยคุณภาพ "เขียนโดยคนโง่ ให้คนปัญญาอ่อนอ่าน" อยู่นี้ ให้ปรับปรุงคุณภาพขึ้นมาใหม่ หรือเลิกเขียนเสีย เพราะทำให้เขาหงุดหงิด(ที่ได้อ่าน?)   ก็สู้ให้เขาเลิกอ่าน หรือ เลือกอ่านด้วยโยนิโสมนสิการด้วยตัวเองจะไม่ดีกว่าหรือ? 

เพราะในสังคมประชาธิปไตยที่เขาอยู่ ก็ย่อมมีบล๊อก หรือ MSM ให้เลือกรับข่าวสารการเมืองมากมายจนอ่านไม่ทันกันอยู่แล้วในแต่ละวัน

ความจริงผู้เขียนบทความก็น่าจะรู้เหตุผลดีอยู่แล้วว่า คนเราไปอ่านบล๊อกการเมืองเหล่านั้นไม่ได้ต้องการข้อมูลตัวเลขอะไรล้วน ๆ เท่าใดหรอก  แต่ต้องการไปหาสีสันที่หาไม่ได้ในสื่อทั่วไปมาสนองกิเลสตัวเองเสียล่ะมากกว่า  ซึ่งผู้เขียนเองก็เขียนไว้ในย่อหน้าท้าย ๆ

แต่ผู้เขียนก็ไม่พอใจ ที่เห็นผู้อ่านคนอื่นไปหาความสนุกเพลิดเพลินตื่นเต้นในบล๊อกการเมืองที่ผู้เขียนเห็นว่า "ด้อยคุณภาพ" ด้านเนื้อหานั้น

ส่วนหนึ่งก็เห็นใจ เพราะผู้เขียนเขาทำงานสื่อหลัก   จิตใต้สำนึกอาจจะกลัว "ตกงาน" ถ้าอีกหน่อยคนเลือกบล๊อกแทน

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ถ้าเขาทำใจให้เป็นกลาง มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เขาก็คงจะไม่ไปโยนความผิดให้สิ่งนู้น สิ่งนี้ หรือสิ่งรอบตัวไปเสียตลอด  โดยไม่ได้หยุดสำรวจสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์ใจอย่างแท้จริง    นั่นคือใจตัวเขาเองต่างหาก

เพราะถ้าบทคนจะตกงาน  ก็คงไม่ได้ตกภายในวันสองวัน หรือ เดือนสองเดือน เพียงเพราะคนในสังคมเลือกเป็นสมาชิกบล๊อกการเมืองกันหมดแทนที่จะบอกรับ Wall Street Journal หรอกมั้งคะ?

และเรื่องตกงาน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ในกาลทุกเมื่อเสียด้วย  ดังนั้น ถ้าจะทำตัวให้ไม่ประมาทไว้ก่อนโดยรวม ก็อาจจะทุกข์น้อยลงก็เป็นได้  แล้วถ้าอะไรมันยังไม่เกิด ก็ไม่น่าจะไปกังวลกับมัน

หรือไม่ผู้เขียน คุณ Rago เอง ก็อาจจะไม่ได้เป็นห่วงกังวลใด ๆ เลยก็ได้  แต่ก็เขียนบทความนี้ไปอย่างนั้นนั่นเอง ตามหน้าที่  และจำเป็นต้องใส่สีสันลงไปเสียหน่อยทั้งในพาดหัวข่าว ซึ่งค่อนข้าง provocative เพราะไปพาดพิงชื่อคนที่เป็นมุสลิม  อีกทั้งในเนื้อข่าว  ซึ่งแขวะเขาไปทั่วทั้งกลุ่มการเมืองซ้ายจัดและขวาจัด

เพื่อให้บทความมีความหวือหวาจัดจ้านน่าบริโภคเหมือนสิ่งที่หาอ่านได้ในบล๊อกการเมืองแสบ ๆ คัน ๆ ของอเมริกาทั้งหลายนั่นเอง?

สื่อชนิดเดียวกัน ขึ้นอยู่กับคนเลือกใช้ เลือกบริโภค  มั้งคะ  เลือกใช้เป็น ก็เป็นกุศล  เลือกบริโภคเป็น ก็เป็นกุศลเหมือนกันน่ะค่ะ คิดว่าน่ะนะคะ  ทั้งกับส่วนตน และคนหมู่มาก

ว่าแล้วก็ขออนุโมทนา กับผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมสร้างกุศล ด้วยการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ใน gotoknow นี้ทุก ๆ ท่านค่ะ,

ณัชร

สวัสดีปีใหม่ครับ อาจารย์หมอวิจารณ์

               บล็อกนั้นเป็นชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการถ่ายทอดวิธีคิด วิธีสื่อ บอกเล่าเรื่องราวการปฏิบัติที่สำเร็จ ที่เกือบสำเร็จ หรือยังหลงทางหลงประเด็นเพื่อชุมชนจะได้ชี้แนะต่อยอด เติมเต็มและแม้แต่การให้กำลังใจกัน

                และอาจจะมีสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ครบถ้วนถูกต้อง อาจมีคำถามว่าใครตรวจสอบคุณภาพ ก็สังคมของชุมชนบล็อกเองหรือแม้กระทั่งผู้อ่านอื่นๆจะทราบโดยทันทีถึงคุณภาพเพราะโดยส่วนใหญ่ชาว gotoknow ทุกท่านก็เปิดเผยตัวตนในระดับที่ตรวจสอบที่มาที่ไปได้ เราเรียนรู้อยู่เสมอว่าการตรวจสอบโดยสังคมนั้นสำคัญและมีคุณค่ากว่าโดยปัจเจกบุคคล โดยกฏต่างๆ หรือโดยกรอบของวิชาชีพใดๆ

                     บล็อกเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการนำไปใช้ เช่นเรื่องบางเรื่องคิดและปฏิบัติคนเดียวมันไม่รอบด้านหลายๆท่านช่วยเติมเสริมแต่งและเคารพในความคิดของแต่ละท่าน เกิดนวรรตกรรมใหม่ๆ งานวิจัยใหม่ๆ ภาพรวมแล้วสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และหมุนเกลียวแห่งปัญญาแลกเปลี่ยนกันด้วยความเร่ง จากคนสู่คน จากใจสู่ใจ ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียน ประหยัดทั้งเงินทั้งเวลา   เพียงอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อเป็นช่องทางการบอกเล่าและเชื่อมโยงเครือข่ายเท่านั้นเอง

                      จะดีหรือไม่ดีอย่างไรโดยส่วนตัวคิดว่านี่คือห้องเรียน นี่คือห้องสมุดนี่คือมหาวิทยาลัย นี่คือแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาจากตัวคน เป็นกำไรของสังคมไทย   เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าชุมชนชาวบล็อกจะต้องขยายชุมชนทางปัญญาออกไปอย่างกว้างขวาง  ยิ่งใหญ่และไม่ติดยึดอยู่ในกรอบเดิมๆ

                                           ขอบพระคุณครับ

                                                          อนุกูล  ทองมี

                   

   ใครจะวิจารณ์อย่างไร  อ่านได้ นำมาไตร่ตรองได้ครับ แต่ อย่าทิ้งตัวตนของท่านเอง ก็แล้วกัน .. เป็นตัวเราให้ดีที่สุด เขียนสิ่งที่อยากเขียน  เขียนด้วย เจตนาที่เป็นกุศล  มุ่งหวังสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด เพื่อพัฒนา ทั้งระดับ หน้าที่การงาน และ จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ .. ทั้งของตนเอง และ เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย .. ทำไปเถอะครับ  ผมว่าไม่ผิด ส่วนใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ใครจะคิด บนฐานอะไร ภายใต้ กรอบ หรือ กรงขังชนิดไหน หรือ ไร้กรอบ ก็จงเลือกเอา

ผมไม่แปลกใจครับ 

ตอนนี้พวกกลุ่ม Media 1.0 จะพยายามหาข้อบกพร่องของ Media 2.0 มานำเสนอให้แก่ผู้อ่านของตนครับ

เพราะพวกนี้กลัว grassroots journalism กลัว citizen media กันมาก จากที่นึกว่าตัวเองจะไม่ถูกกระทบ ตอนนี้กลายเป็นว่าถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในอเมริกา

ไม่แปลกที่หนึ่งใน "สื่อมวลชนผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ของประเทศไทย" ได้แก่ The Nation จะนำเสนอบทความจาก The Wall Street Journal นี้

แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามค้นหาว่าจะหาประโยชน์จาก blog ได้อย่างไรบ้าง สังเกตว่าเครือเนชั่นเริ่มมีระบบบล็อกให้ "ดารา" ของตัวเองแล้ว

เป็นวิธีการดิ้นรนเอาตัวรอดของพวก Media 1.0 ที่ classic มาก ใช้กันทั่วโลกครับ

จากการที่ติดตามเรื่อง Media 2.0 ระดับโลกอย่างใกล้ชิดทำให้ผมเชื่อว่าวันที่พวก Media 1.0 จะครอบงำประชาชนและบิดเบือนข่าวสารได้อย่างที่ใจต้องการใกล้จะจบแล้วครับ

อืมม... ผมเขียนความเห็นแรงไปไหมเนี่ย... คือผมเป็นพวกเชียร์ Media 2.0 และไม่ชอบพวก Media 1.0 ผมอยากเห็น Media 2.0 เติบโตในประเทศไทยและพวก Media 1.0 เจ๊งหมดทุกรายครับ

สรุปว่า ความเห็นผมแรงไปจริงๆ นั่นล่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท