เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (3)


เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (3)

         โปรดอ่าน เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (1) clickเรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (2) click ก่อนครับ

         กระบวนการสู่ฉันทามติ

         เมื่อ short-list รายชื่อ candidate จนเหลือน้อยชื่อ   และยากต่อการทำให้รายชื่อสั้นลงไปอีก   และคณะกรรมการไม่ใช้วิธีโหวตลงคะแนนแต่มุ่งสร้างฉันทามติ (consensus)   ผมได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการชาวต่างประเทศให้ใช้วิธี "open vote" พร้อมคำอธิบาย   โดยให้กรรมการแต่ละคนให้เหตุผลว่าตนคิดอย่างไร   และให้น้ำหนักใครเป็นอันดับ 1, 2, 3...เวียนไปรอบโต๊ะ   ซึ่งผลคือการโหวตแบบไม่โหวต   คือไม่นับคะแนนเพื่อตัดสิน   แต่เป็นการเข้าสู่ฉันทามติโดยที่คณะกรรมการทุกคนเห็นความซับซ้อนของเรื่อง   และยอมรับมติที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้น

         ที่จริงผลของการ "โหวตแบบไม่โหวต" นี้   เราไม่ได้ผลที่เป็น consensus   แต่ช่วยให้เห็น "ความเห็นส่วนใหญ่" ที่เป็นความเห็นเชิงซ้อน/ซับซ้อน   เมื่อผมสรุปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.48 ว่า   ตกลงกรรมการเห็นควรให้รางวัลแก่ "Professor A"    ซึ่งก็ไม่มีคนคัดค้าน   แต่ Sir Gustav Nossal ผู้ชำนาญด้านการพิจารณาตัดสินรางวัลมากกว่าผมนับร้อยเท่า   ก็เตือนผมว่าขอให้คณะกรรมการถือว่ามตินี้เป็นมติเอกฉันท์   ซึ่งกรรมการทุกคนก็เห็นด้วย     ประธานกรรมการต้องไม่ลืมที่จะขอให้กรรมการลงมติครั้งสุดท้ายว่าเป็นมติเอกฉันท์   เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นเอกภาพของคณะกรรมการในการยืนหยัดต่อผลการตัดสินนั้น   และเป็นการบอกทางอ้อมว่ากรรมการแต่ละคนจะไม่ออกไปพูดข้างนอกในทางที่ไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการ   นอกจากนั้นเวลาประกาศต่อสาธารณชน   ถ้อยคำที่บอกว่า "คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์  มอบรางวัลแก่..." จะเป็นการให้เกียรติอย่างหนักแน่นแก่ผู้ได้รับรางวัล

         มนุษย์เรามีธรรมชาติที่ไม่ "bias - free" คือทุกคนต่างก็มีอคติของตน   นักวิชาการเด่น ๆ แต่ละคนต่างก็มีภูมิหลังที่ทำให้มีความชอบเรื่องราวของความสำเร็จบางเรื่องมากกว่าความสำเร็จบางเรื่อง   การได้ฟัง "open vote" ของกรรมการแต่ละคน   คือให้ ranking candidate ที่เหลือแต่ละคนพร้อมคำอธิบาย   จึงเป็นเรื่องประเทืองปัญญาเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่รู้น้อยอย่างผม    และเป็นความประทับใจทั้งในสาระของการแลกเปลี่ยนความเห็น   บรรยากาศในขณะนั้นและการได้ทำความเข้าใจและฝึกใช้ "เครื่องมือ" (tool) ที่ทรงพลังในการเข้าสู่ consensus โดยที่กรรมการทุกคนรู้สึกพอใจ

 

         การสร้างความสุขให้แก่กรรมการ

         ผมสังเกตว่า   กรรมการนานาชาติที่เป็นชาวต่างประเทศมีความสุขและความกระตือรือร้นที่จะมาประชุม   ด้วยเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน
     - การได้มาสัมพันธ์พูดคุยทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลระหว่างกัน   ทั้งที่เป็นเรื่องของรางวัลฯ และเรื่องอื่น ๆ
     - การได้มาเรียนรู้และพิจารณาเรื่องราวความสำเร็จหลากหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คนในวงกว้าง   เป็นความสุขและประเทืองปัญญาและในบางกรณีก็ได้เรียนรู้จากเอกสารที่ฝ่ายเลขานุการของการประชุมค้นมาให้   ศ. เฮนเดอร์สันชื่นชมบทความทบทวนเรื่อง ORT "Magic Bullet : The history of oral rehydration therapy" ลงพิมพ์ในวารสาร Medical History 1994.38 : 363 - 397 มากและถามหาคนค้น   ซึ่งก็คือ ศ. นพ. ศิริฤกษ์  ทรงศิวิไล
     - รายการ Lady's Program
     - รายการทัวร์   นำโดยสมเด็จองค์ประธานมูลนิธิฯ
     - การต้อนรับขับสู้ตามธรรมเนียมไทย

         แต่ในการประชุมคราวนี้   ผมสังเกตว่าการที่กรรมการบางคนอภิปรายแบบชักจูงมาก   และนำไปสู่มติที่ให้ตัดบางชื่อออกไปอย่างรวดเร็วจนกรรมการท่านอื่นตั้งตัวไม่ทัน   และเมื่อรู้ตัวก็รู้สึกอึดอัดเพราะตนยังไม่ปลงใจกับการตัดสินนั้น   ทำให้รู้สึกไม่มีความสุข   ประธานต้องไวในการจับความรู้สึกนั้น   และต้องบอกที่ประชุมตรง ๆ ว่าเราจะขอย้อนกลับไปอภิปรายเรื่องนั้นใหม่   เพราะยังมีคนข้องใจ   และขอให้ผู้ข้องใจอภิปรายเต็มที่   โดยวิธีนี้ที่ประชุมจะได้ฟังการเสนอความคิดเห็นและได้ข้อมูลเต็มที่ครบถ้วน   เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินรางวัลที่แม่นยำเหมาะสม   และเป็นการสร้างความสุขให้แก่กรรมการถ้วนหน้าทุกคน

วิจารณ์  พานิช
 12 พ.ย.48

 
หมายเลขบันทึก: 7146เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ปุยฝ้าย (น.ศ.ป.โทสารสนเทศศึกษา)

ขอบคุณมากค่ะ

ได้ความรู้อีกแล้ว 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท