กรณีของนายบุญชัย บุตรนคร และพวก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3749/2529 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาในการมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา


สิ่งที่ศาลคำนึงอยู่เสมอคือความถูกต้อง และความเป็นธรรมเมื่อบุคคลไม่ว่าชาติใด หรือภาษาใดมีความเป็นมนุษย์เขาจึงมีสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติจึงไม่ควรถูกละเมิด ไม่ว่าในกรณีใดๆ การพิจารณาตัดสินคดีของศาลในคดีนี้จึงตั้งอยู่บนความสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของรัฐ และสิทธิมนุษยชนของมนุษย์
 

                นายบุญชัย บุตรนคร และพวก   เกิดในประเทศไทย เป็นบุตรของนายบุญยืน บุตรนคร คนสัญชาติไทย กับนางลาน เล หรือกาย เหงียนถิ คนเชื้อชาติเวียดนาม     โดยได้จดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม นายบุญชัย บุตรนคร และพวก  จึงมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา

 

                ต่อมา เทศบาลเมืองสกลนคร กับพวกได้มีหนังสือถึงนายทะเบียนคนญวนอพยพ    แจ้งว่านายบุญชัย บุตรนคร และพวกไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337     ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 และได้จำหน่ายชื่อนายบุญยืน บุตรนครและพวก   ออกจากทะเบียนบ้าน แล้วนายทะเบียนคนญวนอพยพแจ้งให้นายบุญยืน บุตรนครและพวกทราบ         และให้ไปทำทะเบียนประวัติคนญวนอพยพ การกระทำของเทศบาลเมืองสกลนคร กับพวกเป็นเหตุให้นายบุญยืน    บุตรนคร และพวกต้องเสียสัญชาติไทย 

 

                นายบุญยืน   บุตรนครและพวกจึงได้ฟ้องเทศบาลเมืองสกลนครกับพวกต่อศาล       ขอให้พิพากษาว่านายบุญยืน บุตรนครและพวกเป็นคนสัญชาติไทย     และให้เทศบาลเมืองสกลนครกับพวกแก้สัญชาติของนายบุญยืน   บุตรนครและพวกเป็นคยสัญชาติไทย                             

 

                คดีทำกันในสามศาลโดยศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า     โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนมีสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดลงในทะเบียนบ้านของโจทก์

 

                ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

                ศาลฎีกาพิพากษาว่า การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดจากทะเบียนบ้านและมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนคนญวนอพยพ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้อง

 

                ส่วนประเด็นข้อต่อมาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกถอนสัญชาติไทย  และไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515ด้วยเหตุนางลาน เล มารดาโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่โจทก์ทั้งเจ็ดเกิดมารดาโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น เห็นว่าเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2516 นายบุญยืน ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทยและนางลาน เล มารดาโจทก์ทั้งเจ็ดจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม  แล้วเกิดบุตรด้วยกันคือโจทก์ทั้งเจ็ด และโจทก์ทั้งเจ็ดเกิดในราชอาณาจักรไทย     โจทก์ทั้งเจ็ดจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) (3)   ส่วนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีข้อความว่า    ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว      แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย                   และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น  (1)...(2)...(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง...ฯลฯ... ตามข้อความในประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว บุคคลที่ต้องถูกถอนสัญชาติไทยได้แก่ บุคคล 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากบิดาเป็นคนต่างด้าวและบิดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง     อีกประเภทหนึ่งคือบุคคลบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากมารดา ซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมารดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง    สำหรับกรณีของโจทก์ทั้งเจ็ด แม้นางลานเล มารดาโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย    โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ปรากฏว่านายบุญยืนและนางลาน     เลซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ทั้งเจ็ดจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนมก่อนแล้ว  ต่อมาเกิดบุตรด้วยกันคือโจทก์ทั้งเจ็ด และโจทก์ทั้งเจ็ดเกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่โจทก์ทั้งเจ็ดเกิดจึงมีนายบุญยืนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย   หาใช่ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่         โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมิใช่บุคคลที่ต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว ดังนี้การที่จำเลยทั้งสองจำหน่าย         ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านและมีหนังสือราชการแจ้งไปยังนายทะเบียนคนญวนอพยพจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น 

 

                ในการพิจารณาตัดสินคดีของนายบุญยืน  จะเห็นได้ว่าศาลไทยได้ให้ความยุติธรรมโดยไม่นำเอาการมีเชื้อชาติต่างประเทศของบุคคลมาปฏิเสธสิทธิที่บุคคลพึงจะได้รับ          สิ่งที่ศาลคำนึงอยู่เสมอคือความถูกต้อง และความเป็นธรรมเมื่อบุคคลไม่ว่าชาติใด         หรือภาษาใดมีความเป็นมนุษย์เขาจึงมีสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติจึงไม่ควรถูกละเมิด  ไม่ว่าในกรณีใดๆ     การพิจารณาตัดสินคดีของศาลในคดีนี้จึงตั้งอยู่บนความสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของรัฐ    และสิทธิมนุษยชนของมนุษย์

 

                 จากกรณีของนายบุญยืน และพวก            ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการมีสถานะบุคคล       โดยแม้จะมีกฎหมายรับรองให้สิทธิในการมีสัญชาติไทยแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับยังขาดความชัดเจนทำให้การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย           และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้  จึงเป็นเหตุให้นายบุญยืน    และพวก ต้องประสบกับปัญหาในการมีสถานะบุคคลดังกล่าว       แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายบุญยืน และพวก          ได้รับความยุติธรรมจากศาลไทยจึงทำให้ปัญหาสถานะบุคคลที่นายบุญยืนและพวกประสบหมดไปได้        ปัจจุบันนายบุญยืน และพวกมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา 
หมายเลขบันทึก: 71417เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท