กรณีนางพรศรี เฉลิมพร และพวก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 989/2533 : คนเชื้อชาติเวียดนามผู้ถูกถอนสัญชาติไทยโดยปว.337


ศาลไทยมีทัศนคติในการให้ความยุติธรรมแก่คนที่มีเชื้อชาติต่างประเทศโดย ไม่มีการเลือกปฏิบัติการวินิจฉัยคดีเป็นไปตามความถูกต้องและเป็นธรรมโดยสิ่งที่ศาลคำนึงถึงคือ สิทธิมนุษยชนของมนุษย์อันเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิดดังนั้นความยุติธรรมจึงเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

              นางพรศรี เฉลิมพร   เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายง้วมกับนางวิน แซ่เลียด คนต่างด้าว สัญชาติญวน ซึ่งเกิดในราชอาณาไทย

 

                เมื่อปี พ.ศ.2509 นางพรศรีได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับนายไพบูลย์   เฉลิมพร คนสัญชาติไทยและให้กำเนิดบุตรชายคนแรกคือ ด.ช.พิพักตร์ เฉลิมพร ในปี พ.ศ.2510

 

                นางพรศรีและนายไพบูลย์ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี พ.ศ.2512    และได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีบุตรด้วยกันอีกสองคน คือเด็กชายพิสิทธิ์ และเด็กชายพิเชษฐ์ เฉลิมพร

 

                ในปี พ.ศ.2519 เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานีแจ้งว่าบุตรทั้ง 3 คน เป็นคนญวนอพยพและขอทะเบียนบ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ไป นอกจากนั้นยังสั่งให้บุตรทั้ง 3 คนไปที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ

 

                เมื่อบุตรทั้ง 3 คน  ไปที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ เจ้าหน้าที่ได้ออกทะเบียนญวนอพยพโดยใส่ชื่อบุตรทั้ง 3    คนลงในทะเบียนดังกล่าว นางพรศรีได้โต้แย้งว่าบุตรทั้งสามมีสัญชาติไทยแต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ

 

                ในปี พ.ศ.2520 นางพรศรีกับนายไพบูลย์ มีบุตรอีก 1 คน คือ        เด็กชายพิชนม์ เฉลิมพร นายไพบูลย์ได้นำใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลไปแจ้ง  ต่อพนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานีเพื่อออกสูติบัตรเจ้าหน้าที่แจ้งว่าบุตรคนที่ 4   เป็นคนญวนให้ไปแจ้งที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ นายไพบูลย์จึงไปแจ้งการเกิดที่สำนักงานกิจการญวนอพยพเจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพจึงใส่ชื่อบุตรคนที่ 4 ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ตำบลขามใหญ่

 

                เมื่อบุตรทั้ง 4 คน ถูกแจ้งว่าเป็นคนญวนอพยพ นายไพบูลย์      ได้โต้แย้งต่อทางสำนักงานกิจการญวนอพยพแล้ว แต่ทางราชการไม่ยอมแก้ไข

              ดังนั้นนางพรศรี และนายไพบูลย์ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้ง 4 คนจึงฟ้องพันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว ต่อศาล

 

                คดีทำกันในสามศาลโดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1    กล่าวคือ  นางพรศรี บุตรของนางพรศรีทั้ง 4 คนมีสัญชาติไทย จึงให้จำเลยถอนชื่อบุคคลดังกล่าว          ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ        เลขที่ 111   หมู่ที่  6   ตำบลขามใหญ่   อำเภอเมืองอุบลราชธานี      จังหวัดอุบลราชธานี

 

                ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

                ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาโดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

 

                ประเด็นแรก ในเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่    ศาลฎีกาพิพากษาว่า เมื่อตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีสาระสำคัญขอให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานีคนปัจจุบันถอนชื่อบุตรทั้ง 4        ของนางพรศรีออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเพราะการลงชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย   ดังนั้นแม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่จดแจ้งชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในทะเบียนนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

 

               ประเด็นที่สอง นางพรศรีซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 มีสัญชาติไทยหรือไม่ ศาลฎีกาพิพากษาว่า  เมื่อบิดามารดาของนางพรศรีเป็นคนต่างด้าว สัญชาติญวนที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย      โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวในขณะที่นางพรศรีเกิดดังนั้นนางพรศรีจึงต้องถูกถอนสัญชาติไทย           โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515          การเพิ่มชื่อของนางพรศรีในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพในพ.ศ.2519 จึงชอบด้วยกฎหมาย    เพราะนางพรศรีไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอีกต่อไป นับแต่วันที่ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337   มีผลกล่าวคือ        วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515

 

                ประเด็นที่สาม      เด็กชายพิพักตร์ เฉลิมพร บุตรคนที่ 1 ของนางพรศรีและนายไพบูลย์ ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 มีสัญชาติไทยหรือไม่   ศาลฎีกาพิพากษาว่าแม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเด็กชายพิพักตร์เกิดจากการอยู่กินฉันท์สามีภริยาของนางพรศรีกับนายไพบูลย์ในปีพ.ศ.2510  กล่าวคือก่อนที่บิดาและมารดาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายในปีพ.ศ.2512 ดังนั้นเด็กชายพิพักตร์          จึงไม่อาจจะได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา    แต่เด็กชายพิพักตร์ มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508        เพราะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ข้อ 1          เนื่องจากเด็กชาย พิพักตร์ มิใช่บุคคลที่จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337    กล่าวคือนางพรศรี มารดาของเด็กชายพิพักตร์      มิใช่คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3)

 

                ประเด็นที่สี่ เด็กชายพิสิทธิ์   เด็กชายพิเชษฐ์ และเด็กชายพิชนม์ เฉลิมพร ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีสัญชาติไทยหรือไม่  ศาลฎีกาพิพากษาว่าเด็กชายทั้งสามเกิดภายหลังการจดทะเบียนสมรสระหว่างนางพรศรี และนายไพบูลย์ในปี พ.ศ.2512 จึงได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 7 (1)

 

                ประเด็นที่ห้า พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว จำเลย ต้องถอนชื่อโจทก์ทั้ง 5 ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพหรือไม่ ศาลฎีกาพิพากษาว่า พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว จำเลย ไม่จำต้องถอนชื่อนางพรศรีออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ เนื่องจากนางพรศรี ไม่มีสัญชาติไทยนับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337     มีผลเนื่องจากถูกถอนสัญชาติไทย แต่จะต้องถอนชื่อบุตรของนางพรศรีทั้ง 4 คนออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว    เนื่องจากบุคคลทั้งสี่มีสัญชาติไทย

 

                ในการพิจารณาตัดสินคดีของนางพรศรี และพวกจะเห็นว่า     ศาลไทยมีทัศนคติในการให้ความยุติธรรมแก่คนที่มีเชื้อชาติต่างประเทศโดย      ไม่มีการเลือกปฏิบัติการวินิจฉัยคดีเป็นไปตามความถูกต้องและเป็นธรรมโดยสิ่งที่ศาลคำนึงถึงคือ   สิทธิมนุษยชนของมนุษย์อันเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิดดังนั้นความยุติธรรมจึงเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

                 จากคดีของนางพรศรีและพวกได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา  แม้บุคคลดังกล่าวจะมีองค์ประกอบในการได้สัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังขาดความชัดเจนทำให้การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้จึงเป็นเหตุให้บุคคล  ในกลุ่มนี้ต้องประสบกับปัญหาในการมีสถานะดังกล่าวซึ่งเมื่อได้รับความยุติธรรมจากศาลไทยแล้วทำให้ปัญหาหมดลงไปได้ ในปัจจุบันนางพรศรีได้สัญชาติไทยกลับคืนมาอีกครั้งโดยผลของ ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2547 เรื่องการสั่งให้บุคคลซึ่งถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 และบุตรหลานได้สัญชาติไทยเด็กชายพิพักตร์   มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน เด็กชายพิสิทธิ์ เด็กชายพิเชษฐ์ และเด็กชายพิชนม์ มีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา
หมายเลขบันทึก: 71414เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท