ครูบาอาจารย์ อาศิรวาท


ครูบาอาจารย์ของดิฉันเป็นเซียนที่แก่กล้า ...และท่านโน้มลงสู่ดินด้วยความนิ่มนวล แช่มช้อย

ดิฉันเป็นคนโชคดี ดิฉันมีครูบาอาจารย์ที่ดำเนินแนวทางงาน ดำเนินชีวิตและชี้ทางให้มองเห็นไม่เพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่มองสู่ต้นตอของมันด้วย

ครูบาอาจารย์ของดิฉัน ไม่มานั่งสอนโน่น สอนนี่ แบบลอยๆ  แต่สอนในระหว่างการทำงาน หยิบ”อาหาร”ใส่เป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือตามข้อข้องใจที่พวกเราฝ่ายทำงานหยิบยกขึ้นมา

ครูบาอาจารย์ของดิฉัน ไม่เคยบอกว่า ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ท่านจะเผยให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาอย่างไร

เวลาครูบาอาจารย์ของดิฉันพูดหรือปาฐกถาทุกครั้ง (ย้ำ ทุกครั้ง) ท่านจะไม่เคยหลุด พลาดไปจากหลักใหญ่ของท่าน และทุกอย่างมีแกนหลักอยู่ที่สามัญชน วิถีแห่งสามัญชน แล้วจะมีเนื้อหาอื่น ๆ ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับวิถีในทุกมิติตามกาล ตามวาระ

และสิ่งที่น่าแปลกใจที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนี้ สามัญชนที่ท่านเกี่ยวข้องด้วย เมื่อมีโอกาสก็จะสะท้อน  “ ผมฟังพ่ออาจารย์พูดแล้ว มันเป็นจริงตามนั้นทุกอย่าง ซาบซึ้งใจ มากมาก”                                                                  

บ้างก็ว่า “ ผมอ่านหนังสือที่ท่านเขียนแล้ว ผมเข้าใจ “ 

ในขณะที่หนังสือที่ท่านเขียนนั้น  “  พิมพ์ ๑,๐๐๐ เล่ม ใช้เวลาขายมาแล้ว  ๑๐  ปี... ยังไม่หมด “  ( อาจารย์ทรงยศ แววหงษ์ ความนำก่อนเสวนา ในงานโครงการตำราสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙  ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร )  ผู้คนในห้องประชุมหัวเราะกันครืน ดิฉันเข้าใจว่าท่านอาจารย์ก็หัวเราะด้วย พลางคิดในใจ  “นั่น ไม่ใช่ปัญหาของผม..”

การได้มีโอกาสได้ฟังท่านพูดแต่ละครั้ง เป็นเรื่องที่แปลก ดิฉันจะได้ฟัง ได้รู้ คำอธิบายหรือเหตุ หรือหลักคิดที่ไปช่วยอธิบายรูปธรรมที่ดิฉันกำลังทำอยู่ในพื้นที่ และบางทีก็ได้ประจักษ์ว่า สิ่งที่เราทำอยู่สอดคล้องกับหลักคิดนั้น  นี้ และถ้าพิเศษขึ้นไปอีก ก็จะถึงขั้นได้เห็นช่องทางลาง ๆ ว่า จะเคลื่อนงานต่อไปอย่างไร และจะไปสู่อะไร แต่พอย้อนกลับมาดูเนื้อหาที่ท่านพูด ก็เป็นเนื้อหาหลักตัวเดิม และมีตัวประกอบและหรือมิติมุมมองหรือการงอกของเนื้อหา เพิ่มขึ้นมาเป็นระลอก จากหลักเดิม จนกระทั่งบัดนี้ดิฉันยังต้องไปค้นอ่าน บทความ ปาฐกถาเก่า ๆ  ที่ท่านแสดงไว้นานแล้วนำมาประกอบความคิด และนำมาทบทวนอยู่เป็นระยะระหว่างการทำงาน ส่วนเล่มใหม่บางทีก็เก็บไว้อ่านในวาระพิเศษ ที่มีสมาธิ  อ่านไว้เป็นแผนที่ของอนาคต


เมื่อพวกเราปรารภ ( ไม่รู้ว่าใช้คำนี้กับทุกคนได้ไหม ) ด้วยความท้อแท้ “  ทำไมนะ ทำไม ชาวบ้านถึงมองไม่เห็นว่า การได้เงินมา และกลุ่มยังไม่พร้อมมันจะทำลายตนเองได้ “
 ท่านก็จะตอบนิ่ม ๆ
 “ คุณ...ชาวบ้านเขาโดนกระทำเป็นสี่สิบ ห้าสิบปี..มันมีความเป็นมา  ไม่ต้องสงสัยสิ่งที่มันเกิดขึ้นนี้...” 
 เอาละประตูเปิดแล้ว เป็นโอกาสที่พวกเราจะได้ซักไซ้
แต่ครั้นพวกเราลิงโลด ยินดี คุย เกือบจะอวด 
 “ กลุ่มนี้ได้พัฒนายกขึ้นสู่การทำงานตามความสนใจ และพื้นฐานประสบการณ์ ความถนัดของตนเอง พวกเขาตัดสินใจจะฟื้นเรื่องการปลูกงา ....”
 ท่านก็อดทน ฟังจนพวกเราเล่าจบแล้ว ท่านก็ต่อ  ว่า 
“แค่นี้มันยังไม่พอ มันยังมีจุดอ่อนอยู่เยอะ มีอีกหลายประการที่ยังจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาต่อ อย่าได้หยุดเพียงนี้ หรือคิดว่ามันสำเร็จแค่นี้ ...”
และเมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายชาวบ้านให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนทำนองว่า  “  งานที่พวกเราทำนี้มันสำเร็จ เพราะ......” 
ท่านก็รู้สึกว่า ท่านคาดเขาผิด ชี้ทางไม่เพียงพอ ที่เขายังมองงานเป็นเรื่องสำเร็จรูป มันจบ มันเสร็จ  ....มันทำให้พวกเราต้องระมัดระวัง ความคิด การใช้คำ และการทำงานประเภทนี้


ครูบาอาจารย์ของดิฉัน เชื่อมั่นในเรื่องกระบวนการ พลวัตของสิ่งต่างๆ  ที่ต้องเรียนรู้ต่อเนื่องไป แม้ชีวิตเราจะหาไม่มันก็จะเคลื่อนไปตามกระบวนของมัน ดังท่านปรารภกับคนใกล้ชิด
“  ผมจะมีชีวิตทันได้เห็น การย้ายกระบวนทัศน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคม ไหมนะ “

ครูบาอาจารย์ของดิฉันเป็น อิสระชน ท่านทำให้ดิฉันได้สัมผัสกับ ความหมายของคำว่า เสรีภาพ เป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงาน เมื่อเริ่มทำงานกับท่าน ท่านปล่อยให้ดิฉันอยู่เฉย ๆ  ประมาณครึ่งเดือน ดิฉันก็งงงันมาก เอ....การทำงานแบบนี้ก็มีด้วยหรือ... นั่งอ่านหนังสือ อ่านงานไปเรื่อย ๆ  เข้าฟังการประชุม ปะติดปะต่อความคิดประกอบกันให้เป็นรูปร่าง จากการอ่าน การฟังและการเขียน

ครูบาอาจารย์ของดิฉันเมตตา นุ่มนวล อ่อนหวาน  กับทุกคน โดยเฉพาะกับสามัญชน คนเล็ก คนน้อย แม้กับพวกเรา พวกไร้เดียงสาทางความคิดทั้งหลาย ท่านเรียกพวกเรา  “ คุณ... “  นำหน้าทุกคำ  ทุกความคิดที่เราเสนอ ท่านฟังทุกถ้อยกระทงความอย่างตั้งใจ สิ่งเหล่านี้แม้ชาวบ้านก็สัมผัสได้

บางครั้งมันปรากฏอยู่ในคำเรียกท่านอาจารย์  “  พ่ออาจารย์มหา.....”  
ยกให้เป็นพ่อ..ไม่พอ  ให้เป็นครูบาอาจารย์ใหญ่ และยังทรงภูมิรู้ระดับมหา คือถ้ามีคำยกย่องที่มากกว่านี้ก็คงขนเข้ามาใส่ให้หมด  จึงเป็นที่มาของอาจารย์อีกท่านหนึ่งได้ล้อเลียน 
“ พี่น้องชาวบ้าน ไม่เคยได้คุยกับท่านอาจารย์เลย  คุยกับคุณพ่อของท่านอาจารย์ทุกครั้งไป...”

ครูบาอาจารย์ของดิฉันเป็น “ นักรุก”  ตัวยง ที่เกินธรรมดา เพราะเป็นการรุกในที่มั่นที่ได้เปรียบของตนเอง เห็นตนเอง สร้างทางแห่งการรุก ขึ้นมาใหม่ในแบบของตน ในแนวทางที่ตนเองถนัดและเป็นการรุกที่เรามองเห็นทางและมีโอกาสจะมีชัยด้วย  ....  ดิฉันฟังจินตนาการของท่าน แล้วตัวสั่นระริก....อยากจะโผนวิ่ง รุดไปทำงานในบัดเดี๋ยวนั้นเลย


ครูบาอาจารย์ของดิฉัน เป็น “ เซียน “  ที่แก่กล้า ที่บางท่านบอกว่า “ อาจารย์ยิ่งแก่ ยิ่งเผ็ด "
( อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง นำเสนองานวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา  ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ) และท่านโน้มตัวลงสู่ดินด้วยความนิ่มนวล แช่มช้อย

แต่ท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่บางครั้งหยิบช้อน ซ่อม ในจานข้าวที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้ ขึ้นมาถือในมือและปรากฏว่ามันเป็นซ่อมทั้งคู่ ท่านก็เงยหน้าขึ้นมองหน้าผู้คนรอบโต๊ะ คนโน้นที คนนี้ที อย่างงุนงงสงสัย แล้วว่า  “ อะไรกันเนี่ย “   พวกเราพากันกลั้นหัวเราะ กึก กึก ท่าทางของท่านตอนนั้นเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่น่ารักเป็นที่สุดค่ะ
 
หมายเหตุ   แม้ดิฉันใช้คำ  “ ครูบาอาจารย์ของดิฉัน “  แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของทุกคนที่ การกำหนดใจตนเอง  เป็นปรารถนาเบื้องหน้าค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 71406เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ท่านอ่านแล้วเป็นจั่งได๋ ทุกคนมีครู เล่าเรื่องครูมาแลกกันดีไหม ชาวบล็อก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท