ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ดินมีชีวิตเป็นอย่างไร


ดินที่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ช่วยให้ดินมีพลัง ทำให้พืชเจริญงอกงาม สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทาน ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน นี่แหละที่เรียกว่า ดินมีชีวิต
จากที่ผมได้นำเสนอ เรื่อง "ถ้าดินดี ชีวิตดี แน่นอน" เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 นั้น จากความตั้งใจเพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงประเด็นของการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช กล่าวคือเมื่อพี่น้องเกษตรกรปรับปรุงดินได้ดีแล้ว การปลูกพืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนทานต่อโรค และแมลง ผลผลิตที่ได้ก็เป็นไปตามความคาดหวัง สามารถนำไปบริโภค และขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สุดท้ายชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรก็จะดีขึ้น และมีความสุขในที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกับท่านผู้สนใจ ผมจึงใคร่นำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนอีกครั้งหนึ่ง และต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้กรุณาได้เข้ามาทักทาย แสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดีๆ ให้กับผม เพื่อจะได้ปรับปรุงการนำเสนอให้ดีขึ้นต่อไปครับ

ดินมีชีวิตคืออะไร ? เป็นคำถามดังๆ เพื่อให้พี่น้องได้ตื่น แต่จริงๆ แล้วหากพูดเรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้กับอาจารย์ของผม คือท่านอาจารย์ ดร.แสวง รวยสูงเนิน เพราะท่านเก่งมากในเรื่องของดิน และผมคิดว่าหากผมเล่าไม่สมบูรณ์อาจารย์ของผมจะช่วยเสริมเติมเต็มให้อีกทีครับ แต่ก่อนอื่นผมขอคิดดังๆ ออกมาเป็น Explicit Knowledge ให้กับท่านได้รับทราบดังนี้ ดินมีชีวิตคือ ดินที่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สามารถมองเห็น และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ช่วยให้ดินมีพลัง ทำให้พืชเจริญงอกงาม สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทาน ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน

ดินมีชีวิตเกิดได้อย่างไร หากเรานึกย้อนดูในอดีต มีป่าดงดิบที่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบจะรู้สึกเย็นสบาย หรือบางคนอาจจะบอกว่าเกิดไม่ทัน ก็ให้ลองหลับตาแล้วจินตนาการตามนะครับ หรือดูจากสภาพของดอนปู่ตาที่ยังพอเหลือความเป็นธรรมชาติให้ได้เห็นบ้างในแถบภาคอีสาน ซึ่งมีต้นไม้เจริญเติบโตโดยไม่มีผู้ใดมาใส่ปุ๋ยและไม่มีใครพ่นสารเคมีป้องกันหนอน และแมลง ต้นไม้บางต้นจะผลิดอกออกผลดกตรงตามฤดูกาล มีทั้งพืชต้นสูง ต่ำ ต่างระดับกัน เจริญเติบโตอย่างกลมกลืนกัน แสดงว่ามีกฎเกณฑ์ธรรมชาติบางอย่าง เมื่อพิจารณาดูดิน ผิวดินจะมีใบไม้ กิ่งไม้แห้ง เถาวัลย์ มูลสัตว์ ทับถมกันอยู่ถ้าคุ้ยใบไม้ออกจะพบว่า ใบไม้ถัดลงไปบางส่วนกำลังเว้าแหว่ง เปียกชื้นกำลังเน่าเปื่อยย่อยสลาย

ครั้นเมื่อขุดคุ้ยลึกลงไปอีกจะเป็นดินสีดำ ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของใบไม้ ใบหญ้า กิ่งไม้ มูลสัตว์ ซึ่งเรียกว่า อินทรียวัตถุทับถมกันเป็นเวลานาน หยิบดินดำมาดมจะมีกลิ่นของราหรือเห็ด พิจารณาดูจะมีแมลงต่างๆมากมายหลายชนิด และมีไส้เดือนที่รู้จักกันดี มีรากฝอยมากมายแสดงว่าดินส่วนนี้มีธาตุอาหารสำหรับพืช นอกจากแมลงและความชื้นที่มีบทบาททำให้เกิดการย่อยสลายแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีกมากมายต้องใช้กล้องจุลทัศน์ส่องดู เช่น จุลินทรีย์ เป็นต้น ดินดำนี้ผมจึงให้ชื่อว่า ดินมีชีวิต แต่ถ้าขุดลึกลงไปอีกจะพบดินที่มีสีเจือจาง เช่น น้ำตาล ขาว น้ำตาลอมเหลือง มีส่วนประกอบของ หิน กรวด ทราย รากพืช ในดินส่วนนี้เป็นรากที่มีขนาดใหญ่เพื่อยึดลำต้นไม่ให้ล้ม

แต่ในสภาพปัจจุบันความเป็นธรรมชาติอย่างนั้นในแปลงเกษตรของเราไม่มี แล้วเราจะช่วยกันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร จึงจะได้ดินที่ดีมีชีวิตสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวของเรา ดังนั้นเราต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดขึ้น แล้วก็มีคำถามว่า แล้วระบบนิเวศน์ คืออะไร เราก็ต้องหากันต่อไปในวันหน้า    

ดินไม่มีชีวิตเป็นอย่างไร อย่าพึ่งงง และสับสนนะครับ เพราะผมพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของดินที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตให้ท่านได้พิจารณาดูครับ ดินที่ไม่มีชีวิตนั้นระบบนิเวศน์ของดินจะมีลักษณะดังนี้

1. ดินจะไม่มีผู้ผลิต ไม่มีต้นไม้ ไม่มีพืช เป็นดินโล้น แล้ง ร้อน จะไม่มีชีวิต

2. ดินที่ถูกเผาด้วยไฟ ด้วยสารเคมี ด้วยแดด หรือด้วยเหตุอื่น ดินที่ไม่มีการปกคลุมสัตว์หน้าดิน ในดิน เช่น ไส้เดือน จุลินทรีย์ ตุ่น ฯลฯ  จะตายหมด

3.ดินที่จุลินทรีย์ผู้ย่อยสลาย ไม่มีที่อาศัย ไม่มีอาหาร ไม่มีการแพร่พันธุ์

4.ดินที่ปกคลุมด้วยไอพิษ สิ่งที่มีชีวิต เช่น แมลงปอ แมงมุม กบ นก ผีเสื้อ ผึ้ง ฯลฯ อยู่ไม่ได้ จะเกิดโรคพืชระบาด  และขาดออกซิเจน

จากแนวทางดังกล่าวก็คงพอที่จะมีความชัดเจนขึ้นบ้างนะครับ ทั้งในเรื่องของดินมีชีวิต และกระบวนการก่อเกิด ลักษณะของดินที่ไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตในดิน เมื่อดินมีชีวิตก็จะสามารถสร้างสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆอันจะก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดในระยะยาว ดังนั้นเราจะสร้างความตระหนักในการสร้างดินให้มีชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร ขอความกรุณาจากผู้รู้ช่วยเติมเต็มด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย อันพิมพ์

7 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 71319เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผิดครับ

การมีสิ่งมีชีวิต ไม่ได้หมายความว่า ดินจะมีชีวิต

ถ้าจะพูดให้ง่าย เหมือนกับว่า

ร่างกายเรามีสิ่งมีชีวิตอยู่ด้วย แต่เราอาจจะไม่มีชีวิตก็ได้ เช่น มีตัวหนอนขึ้นเต็มตัวเรา ไม่ได้หมายความว่าเรามีชีวิต เราอาจจะตายแล้ว แต่มีตัวหนอนเต็มไปหมด

ฉะนั้น ดินมีชีวิต คือ ดินที่มีระบบปกติของดินอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ที่สามารถทำหน้าที่ของดินได้ในทุกด้าน ให้ผลผลิตเป็นที่ลองรับการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ ที่คุณอุทัย บอกว่า มีชีวิตนั่นแหล่ะ แท้ที่จริงเป็นตัวที่เข้ามารับประโยชน์จากความมีชีวิตของดิน ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่า เป็นดินมีชีวิต

เหมือนกับตัวหนอนอยู่บนตัวเรา ไม่ได้หมายความว่า เราต้องมีชีวิต นั่นแหล่ะครับ

กลับไปคิดใหม่เลยครับ

จริง ๆ แล้ว ผมอธิบายไปแล้ว ลองกลับไปทบทวนดูของเก่าด้วยครับ

 อ.อุทัยครับ

เมื่อเราได้ข้อมูลด้านต่างๆพอสมควรแล้ว

เรื่องที่เราต้องมาระดมพลังช่วยกันคิดต่อ

1) เราจะเอาความรู้ไปใส่ในตัวสมาชิก

2) ให้สมาชิกเอาไปใส่ต่อในดินของเขา

การบ้านเราจึงมีน้ำหนักอยู่ 1-4 ระยะ

1 ระยะ สังคายนาความรู้

2 ระยะถ่ายเทความรู้ลงสู่พื้นที่ดำเนินการทดลอง

3 ระยะประเมินความรู้ว่าได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

4 ระยะ สรุปKM.เรื่องตำราดินเพื่อชีวิตชุมชน

แต่ก็เชื่อว่าไม่เกินแรงที่พวกเราจะร่วมด้วยช่วยกัน พวกเราจึงรอวันที่จะเชิดสิงห์โตรอทางประตูโขงป่า วันนั้นชวนอาจารย์หลงมาด้วย รับรองว่าเป็นการต้อนรับน้องใหม่ โอ๊ะไม่ใช่ พี่ใหม่ ต่างหาก ..

อย่าลืม รักรออยู่..

 

  เรื่องดินมันสัมพันธ์กับคนครับ

  ถ้าคนดี มีความรู้ดี เข้าใจและตั้งใจจะพัฒนาดินให้ดี

  รับรองดินดีแน่นอน 

  ดังนั้นการพัฒนาที่ดินต้องทำพร้อมกันทั้งสองส่วน คือ พัฒนาความรู้เรื่องดินที่ตัวคน และพัฒนาความรู้ในตัวดิน ไม่อย่างนั้นงานKM.จะไม่ต่างจากงานพัฒนาที่ดินของทางราชการ ที่ไม่ทำทั้ง2 ให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

  • ผมมองว่า คำว่า ดินมีชีวิต  น่าจะเหมือนกับคนมีชีวิต  จะมีการแปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของสิ่งแวดล้อม
  •  ชีวิตของดิน ก็ มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ(ดินป่วย)  และตาย    น่าจะประมาณนี้ ละครับ

ขอบคุณมากครับ ทุกๆ ท่านที่ให้ข้อเสนอแนะ พร้อมให้ให้กำลังใจในการที่จะพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท