ชีวิตที่พอเพียง  4463. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๙๖. ใช้ภาษาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงพลัง


 

เช้าวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ผมไปสังเกตการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ภาษาแม่เป็นฐานในบริบทของทวิ-พหุภาษา” จัดโดยทีมของ มรภ. หมู่บ้านจอมบึง    โดยวิทยากรจาก CCE สหราชอาณาจักร นำโดยคุณ Paul Collard    โดยวันนี้เป็นวันที่ ๓ ของการอบรม ๔ วัน    ให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นแกนนำ   ที่ผมตีความว่า เป็นวิธีจัดการเรียนรู้เชิงรุก ที่เน้นพลังของภาษา    และโฟกัสการเรียนรู้ภาษาอย่างมีความหมายลึกซึ้งและแม่นยำ ไปพร้อมๆ กัน 

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า วิธีจัดการเรียนภาษาไทยจากวรรณกรรมของสำนักโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภาษา อย่างมีความหมายลึกซึ้งและแม่นยำ     

ผมติดใจที่เป้าหมายหนึ่งที่วิทยากรระบุว่า  เพื่อแยกแยะระหว่างภาษาเพื่อการสื่อสารประจำวัน กับการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้วิชาการ   ที่ช่วยอธิบายความอึดอัดของผมมาตลอดชีวิต ว่าผู้คนทั่วไปพูดกันด้วยภาษาที่ขาดความแม่นยำชัดเจนและลึกซึ้ง     

ตอนคุยกับคุณพอลในห้องอาหารเช้า   ผมถามคุณพอลว่า ภาษาเชิงใช้อำนาจเหนือ ที่ครูใช้กับศิษย์ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่   ทำให้ผมกลายเป็นวิทยากรเสริมในช่วงสายของการอบรม     เพื่อเป็นการเตือนสติครูทั้งหลายว่า    ต้องพยายามใช้การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์แนวระนาบ (ที่คุณพอลเรียกว่า language of equality)    เพื่อสร้างบรรยากาศของ high functioning classroom   

จะเห็นว่า ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร    ที่นอกจากครูต้องช่วยให้นักเรียนได้ฝึกเพื่อเรียนรู้แล้ว    ครูก็ต้องฝึกฝนตนเองเช่นเดียวกัน   

ผมได้โอกาสเสนอ “ภาษาของความรัก” ที่จะช่วยจรรโลงใจและชีวิตเด็กยามที่มีความเครียด    ที่ช่วยยืนยันตัวตนของเด็ก ให้รู้สึกมั่นใจในตนเอง     ผมบอกคุณพอลว่า วัฒนธรรมไทยสมัยก่อนพ่อแม่ไม่พูดคำว่ารักหรือภูมิใจลูก     แต่แสดงความรักด้วยการกระทำ     และตอนเป็นเด็กอายุ ๕ - ๖ ขวบ ผมรับรู้ความรักของพ่อตอนที่พ่ออาบน้ำให้     สัมผัสและคำพูดของพ่อให้ความชุ่มชื่นแก่ชีวิตของผมในช่วงนั้นอย่างที่สุด   

สภาพเช่นนี้ (การมีภาษาของความรัก อบอวลอยู่ในโรงเรียน) น่าจะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก    น่าจะช่วยให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยไม่เฉพาะด้านกายภาพ แต่ให้ความปลอดภัยด้านสังคมอารมณ์ ด้วย     ความปลอดภัยด้านสังคมอารมณ์ (socio-emotional) นี้ น่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมอารมณ์ และพัฒนาการรอบด้าน (holistic) ของเด็ก

บางช่วงของการอบรม เป็นการฝึกวิธีการช่วยเหลือเด็กชาติพันธุ์ ที่ไม่พูดภาษาแม่     เสริมด้วยหลักการของ ห้องเรียนคุณภาพสูง (high-functioning classroom)     ที่คุณพอลและทีมงานได้ไปศึกษาวิธีจัดการเรียนรู้พหุภาษา ในโรงเรียนที่มีเด็กชนเผ่าที่เชียงใหม่   ดำเนินการโดยมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Foundation for Applied Linguistics) จัดตั้งโดย ผศ. วรรณา เทียนมี ผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ระดับรางวัลชมเชย (๑)       ชมการบรรยายเป้าหมายทวิภาษาของท่านได้ที่ (๒)      

ผมได้ร่วมชมวิดีทัศน์ของมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ อธิบายการสอนพหุภาษา คือภาษาแม่กับภาษาไทย    ที่ช่วง ป. ๑ - ป. ๓ สอนแบบแซนวิช    คือภาษาไทยสอดใส้อยู่ตรงกลาง     ตอน ป. ๑ ใส้บางนิดเดียว และหนาขึ้นเรื่อยๆ ในชั้น ป. ๒  และ ป. ๓   

การฝึกภาษาไทยก็เพื่อใช้เป็นภาษาวิชาการ   ส่วนภาษาแม่ใช้เป็นนั่งร้านในช่วงเป็นเด็กเล็ก

ในช่วงชั้น ป. ๔ – ๖ การเรียนการสอนใช้ภาษาไทยทั้งหมด    ภาษาแม่เอาไปเรียนในวิชาภาษาและวัฒนธรรม         

ผมได้ไปเห็นการฝึกอบรมที่ใช้กุศโลบายสร้างกระบวนทัศน์ของผู้เข้ารับการอบรมว่า    ต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก    ผมจึงไปเห็นภาพวาด   และโมเดลกระดาษที่เป็นแผนผังหมู่บ้าน ที่เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ที่ทีมผู้เข้ารับการอบรมช่วยกันสร้างขึ้น   และมีการนำมาใช้ร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 

ดูจากเอกสารระบุกิจกรรมและรายละเอียดในการอบรมปฏิบัติการสองวันแรกแล้ว   ผมเห็นวิธีออกแบบกิจกรรมให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อเกิดการเรียนภาษา  และกิจกรรมเพื่อเกิดการเรียนรู้พลังสูง   

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.พ. ๖๖

 

1 สภาพในห้องอบรม

2 ทีมผู้เข้ารับการอบรมใช้แผนผังห้องเรียนพลังสูงคุยกันเรื่องวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 712770เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2023 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2023 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท