ข้อเสนอรัฐบาลใหม่ (Proposals for new government)


ผมตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ควรปรับปรุง/แก้ไขเพื่อให้สังคมไทยดีขึ้นหลายเรื่อง แต่ยังไม่เคยเสนอเชิงนโยบายที่ไหนมาก่อน เพราะยังไม่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลและสภาผู้แทนยุคไหนจะทำ แต่วันนี้เชื่อว่าถึงเวลาที่ควรเขียนแล้ว แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะยังไม่ชัดเจนว่าจะลงตัวแบบไหน แต่เสียงประชาชนสะท้อนชัดเจนว่าอยากให้ประเทศไทยไปทางไหน ขณะเดียวกันผมก็อายุมากแล้ว ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่คาดว่าจะเป็นแล้ว ผมก็จะยังไม่ได้เขียนความเห็นเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นนี้ และรุ่นหลังได้อ่าน และพิจารณาครับ ผมก็คงเสียดายที่ไม่ได้เขียนอย่างยิ่งครับ 

เรื่องแรกคือ เรื่อง ‘การหมิ่นศาล’ ครับ เพราะเรื่องนี้สร้างภาพให้น่ากลัวไว้มาก จนไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น หรือวิพากษ์การตัดสินของศาลได้เลยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะรู้สึกหรือมีความเห็นต่อการตัดสินของศาลอย่างไร เพราะอาจจะโดนคดีหมิ่นศาลได้โดยไม่รู้ตัวครับ สำหรับการเขียนเรื่องนี้ของผมวันนี้ไม่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวโยงถึงการตัดสินคดีใด หรือกรณีไหนเป็นการเฉพาะเจาะจงครับ แต่อยากเสนอประเด็นและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้รัฐบาลในอนาคตที่ประสงค์​จะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทยได้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย กล่าวคือ ด้วยความไม่ชัดเจนของ  ‘คำว่าหมิ่นศาล’ หมายถึงอะไร มีขอบเขตแค่ไหน และการกระทำอย่างไรจึงจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นศาล หลายอย่างเป็นการใช้ดุลยพินาจของผู้มีอำนาจ หรือตามที่เข้าใจและปฏิบัติกันมา ดังนั้นผมจึงอยากเสนอเรื่องนี้ให้รัฐบาลที่เห็นความจำเป็นที่จะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทยควรได้พิจารณาประเด็นนี้ด้วยเพราะการตัดสินคดีต่างๆ ของศาลนั้น เป็นเริ่องที่ตรวจสอบและวิพากษ์โดยหลักวิชาและโดยสุจริตไม่ได้ ก็น่าจะเข้าหลักการที่ว่า ‘absolute power, corrupt absolutely’ ไหม 

จากการศึกษาคำว่าหมิ่นศาล หรือ ​contempt of court ในระบบยุติธรรมที่เป็นสากลพบว่ามีการจำกัดขอบเขตไว้สองลักษณะใหญ่ๆ คือ การเคารพศาลขณะที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีในศาล กับการกระทำหรือดำเนินการต่างๆ ทั้งในพื้นที่ศาล หรือภายนอกศาลซึ่งเป็นการขัดขวาง หรือทำให้กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบนไป หรืิเสียรูปคดี หรือทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคดี ดังนั้นการวิพากษ์การตัดสินของศาลตามหลักวิชาและข้อมูลที่เป็นกลาง และไม่เป็นการแทรกแซงกระบวนการศาลแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่กระทำได้ และไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นศาล ซึ่งโดยหลักการนี้ถ้าศาลตัดสินคดีอย่างยุติธรรมแล้วศาลก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลและอธิบายไม่ได้ ขณะเดียวกันโดยหลักการเดียวกันนี้ก็จะทำให้ศาลต้องพิจารณาให้รอบครอบ ด้วยความระมัดระวัง และเป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุด เพราะถ้าหากตัดสิน ไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ก็จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกของสังคมได้ครับ 

เรื่องที่สองเรื่องกระจายอำนาจการบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความพยายามที่จะดำเนินการในประเทศไทยมานานพอสมควร แต่รูปแบบและวิธีการที่ทำมาท้ังในอดีต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นแบบชักออกชักเข้า และไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะที่ทำอยู่นั้นเป็นการกระจายอำนาจแบบมอบอำนาจ    (​deligating decentralization) ซึ่งเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสมและได้ผลกับการบริหารกิจการของเอกชนมากกว่าหน่วยงานราชการ เพราะกิจการเอกชนนั้นเป็นนิติบุคคลที่มีเจ้าของซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหาร จึงสามารถมอบอำนาจให้ผู้บริหารระดับรองลงไปได้ และถ้าการบริหารงานไม่ได้ผลก็ไล่ออกได้ หรือยึดอำนาจคืน  แต่หน่วยงานราชการเป็นองค์การที่บริหารโดยระบบการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยตรง จึงต้องใช้วิธีการกระจายอำนาจแบบการเมือง (​political decentralization) ซึ่งผมเรียกว่า 'การกระจายอำนาจแบบถ่ายโอนอำนาจ (​​​​​authority-transferring decentralization) ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจในแบบที่มีการแบ่งงาน แบ่งอำนาจ และความรับผิดรับชอบ (accoutability) ระหว่างหน่วยราชการส่วนกลาง กับท้องถิ่นแบบเบ็ดเสร็จและชัดเจน และมีระบบการกำกับการปฏิบัติงานที่แบ่งกันแล้วนั้นโดยระบบกำกับและควบคุมโดยกฎหมาย ไม่ใช่การบังคับบัญชาตามลำดับฐานอำนาจ ครับ ส่วนการจะแบ่งงาน แบ่งอำนาจ และความรับผิดรับชอบ ตลอดจนระบบในการกำกับงานนั้น เราสามารถกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ต่างหากก็ได้  แนวคิดในการกระจายอำนาจแบบนี้ผมเคยเขียน และบรรยายทางวิชาการก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยเสนอเชิงนโยบายแบบนี้ครับ 

เรื่องที่สามคือเรื่องการออกแบบและออกกฎหมายให้บุคคลที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง หรือปราบปรามและมีอำนาจใช้อำวุธ นั้นควรมีอำนาจตามหน้าที่และการใช้อาวุธประจำตัว หรือส่วนกลางได้เฉพาะในเวลาปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น กล่าวคือ ผู้มีหน้าที่เหล่านั้นจะได้รับอาวุธประจำตัว หรือเบิกอาวุธส่วนกลางได้ในช่วงที่ปฏิบัติราชการเท่านั้น และต้องคืนอาวุธเหล่านั้นเมื่อหมดเวลาราชการ หรือสิ้นสุดเวลาในการปฏิบัติงาน และถ้าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ประสงค์จะมีอาวุธส่วนตัว ก็ต้องมีการขออนุญาตซื้อเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปครับ 

นี่คือสามเรื่องที่ผมอยากฝากรัฐบาลใหม่พิจารณา 

สมาน อัศวภูมิ 

15 พ.ค. 2266

หมายเลขบันทึก: 712768เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2023 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท