รดน้ำดำหัว : มุมมองใหม่ในวันที่หัวใจได้ครุ่นคิด


พูดถึงการรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งตามประเพณีบ้านเราถือว่าเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ยึดถือ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อยู่กับสังคมไทยรวมถึงสังคมชาติพันธุ์ต่างๆ ก็มีประเพณีคล้ายๆกันนี้เหมือนกันมานมนาน

ด้วยความที่พื้นเพของผมเป็นคนเมืองเหนือ หรือเรียกว่าเป็น “คนล้านนา” พอช่วงเดือนเทศกาลปีใหม่ไทย คือหลังวันที่ 15 เมษายน เราก็จะมักพากันไปดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งญาติโกโหติกาที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ฝั่งคุณพ่อผมก็จะอยู่ที่จังหวัดลำพูน ส่วนทางฝั่งคุณแม่อยู่ฝั่งอีสาน ซึ่งก็ยากต่อการไปดำหัว ก็เลยไม่มีโอกาสไปทางฝั่งอีสานโน้น

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในเดือนเมษายน ตั้งแต่เล็กจนโตอย่างตอนนี้ โตจนหัวหงอก ผมสีดอกเราเต็มหัวแล้ว ผมก็ยังมักจะไปดำหัวผู้สูงอายุที่จังหวัดลำพูนเป็นประจำ

แต่จากสถานการณ์โควิดระบาดทำให้ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปเที่ยวหาคนเฒ่าคนแก่ที่จังหวัดลำพูนเลย รู้สึกลึกๆว่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าคนเฒ่าคนแก่ซึ่งเป็นพี่ของคุณพ่อ (คุณพ่อเสียไปหลายปีแล้วแต่บรรดาพี่พี่หลายคนของพ่อก็ยังมีชีวิตอยู่ อายุอานามก็เกิน 80 -90 ปีกันไปแล้ว) ท่านเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ปีนี้โควิดเริ่มซา ก็เลยชวนบรรดาหลานๆซึ่งก็คือลูกของผมทั้งสองคน แล้วก็ลูกของน้องสาวไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่หรือที่ภาษาคำเมืองเราเรียกว่า "อุ๊ย" กัน


วันนี้  29 เมษายน 2566 บ้านแรกที่ไปดำหัวก็คือบ้านป้าแอ๊ด ซึ่งถือว่าเป็น “แม่น้า” ในภาษาคำเมืองเหนือ หรือแม่เลี้ยงในภาษาไทยกลางนั่นเอง ป้าแอ๊ดอยู่กับพวกเรามาตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถมปีที่ 4 แกก็เป็นคนที่คอยดูแลคุณพ่อมาโดยตลอด จนพ่อเสีย ตอนนี้อายุป้าก็ 80 กว่าๆแล้วแต่ก็ยังแข็งแรงดีเดินเหินสะดวกอยู่ 


ดำหัวป้าแอ๊ดเสร็จแล้วก็ถือโอกาสพาป้าแอ๊ดไปเยี่ยมและดำหัวป้าคำกับป้าออนที่อยู่ห่างกันไปจากบ้านป้าแอ๊ดประมาณ 5 กิโล 6 กิโล ซึ่งปกติป้าแอ๊ดก็ไปเที่ยวหาลำบากเพราะอายุมาก ขับรถยนต์ก็ไม่ถนัดเท่าไหร่


พอไปถึงไปเยี่ยมป้าคำ (ป้า นี่คือคำที่ผมใช้เรียกแต่ถ้าลูกผมเรียกก็คงต้องเรียกว่า “อุ้ยคำ” หรือ “ยายคำ” ป้าคำอายุปีนี้ก็ 94 แล้ว วันนี้พวกเราไปเจอในสภาพที่แกนอนแบบอยู่บนเตียง หลานๆที่คอยดูแลอยู่บอกว่าถ้าแกล้มแล้วกระดูกหัก ลุกไม่ได้กำลังพักฟื้นอยู่ก็เลยได้นอนติดเตียง แต่อวัยวะอื่นๆ สุขภาพอย่างอื่นก็ยังใช้การได้นะ

ป้าคำก็พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์ดีอยู่มาก “พูดนานๆคนอายุ 94 ปีนี้ก็เหนื่อยนะ” แกก็บอกพลางหัวเราะพลาง เล่าเรื่องต่างๆสารพัดแถมมีอารมณ์ขันด้วย บางทีแกก็นิ่งมองหน้าหลานหลายคน เหมือนจะคิดอะไร สักพักแกก็ถามว่าอันนี้ใครอันนู้นใคร ลูกใครบ้าง พอรู้แกก็ร้องอุทาน “โอ้โหมันหยังมาใหญ่ละ” ก็คือแปลเป็นไทยว่าทำไมเด็กโตๆจังหลานๆวัยรุ่นเจน Z เจน อัลฟ่าก็หัวเราะ เออ อันนี้ผมก็รู้สึกดีใจเห็นพลังที่พวกเขาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นธรรมชาติ ระหว่างคนเท่าคนแก่กับวัยรุ่นสมัยใหม่

เอาเข้าจริงถ้าไม่เอาเรื่องความรู้เรื่องเหตุผลมาคุยกันมาก เอาหัวจิตหัวใจความเมตตาความรู้สึกรักใคร่ กตัญญู มันก็ทำให้คนเราเชื่อมโยงกันได้ดีมากๆเลยเป็นธรรมชาติมากๆ

ระหว่างที่พูดคุยสนุกสนานเอมใจอยู่กับป้าคำอยู่นั้น สักพักป้าออนซึ่งก็เป็นพี่สาวของป้าคำ รายนี้ 90 กว่าๆเหมือนกันใกล้จะ 100 ขวบแล้วก็เดินกะย่องกะแย่งจากบ้านข้างๆมาเยี่ยมด้วย ลูกหลานเลยถือโอกาสรดน้ำดำหัวแบบทูอินวันไปพร้อมกัน 


ป้าคำติดเตียงก็นอนให้พรอยู่บนเตียง ส่วนป้าออนก็ให้พรอยู่ตรงเก้าอี้นั่งข้างๆ ลูกหลานก็ยกของไปมอบ ไปแตะ แล้วก็ให้คนเฒ่าทั้งสองอวยพร


ตรงนี้ก็น่ารัก คือ คนแก่ทั้งสองก็บอกว่าจำไม่ได้ว่าต้องอวยพรยาวๆ ยังไงบ้างขออนุญาต “ปั๋นปอน” หรือกล่าวคำอวยพรกันคนละท่อนละกัน บรรดาพวกเราก็อมยิ้มไปตามๆกัน


คนแก่นี่ บางทีก็มีอารมณ์ขันและยังมีความคิดสร้างสรรค์กันได้เหมือนกันนะครับ

 

นอกจากบ้านป้าคำ ป้าออน แล้วยังมีคนเฒ่าคนแก่อีกท่านซึ่งเป็นภรรยาของพี่ชายของพ่อ แกอาศัยอยู่บ้านข้างหลังเราก็พากันไปดำหัวต่อ ซึ่งก็ได้รับความอิ่มเอมใจ ชุ่มฉ่ำอยู่ข้างในลึกๆแม้อากาศวันนี้จะร้อนถึง 39 - 40 องศาก็ตาม

 

มานึกๆดูว่าตั้งแต่เด็กจนโต จนผมสีดอกเลานี่ เราก็ไปดำหัวกันมาหลายสิบรอบแล้วชีวิตเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการไปดำหัวผู้สูงอายุกันบ้างนะ ลองนิ่งๆและคิดดู ก็พอที่จะสรุปออกมาเป็นข้อๆได้ดังนี้

อย่างแรกเลยครับ ได้ฝึกการรับฟังอย่างลึกซึ้งภาษาอังกฤษเรียกว่า deep listening ฟังอย่าลึกซึ้งนี่ก็คือ เปิดใจฟังโดยไม่เอาสมองไปด่วนตัดสิน หรือว่าด่วนพิพากษาความคิดเห็นต่างๆ ถือได้ว่าเป็นทักษะที่สำคัญนะครับในยุคนี้

อย่างที่ 2 เนี่ยได้ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตนนะครับ จะเก่งจะรวย จะเป็นด็อกเตอร์ จะมีบ้านใหญ่โตแค่ไหนนะครับ เวลาเจอคนเฒ่าคนแก่ที่เคยเลี้ยงเรามาเราก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน จะใช้แต่เหตุผลอย่างเดิมก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากมาย ตรงนี้เราได้ก้าวข้ามการใช้เหตุผลแบบโลกๆสู่การฝึกฝนและซึมซับเมตตาธรรมไปโดยอัตโนมัติครับ

อย่างที่ 3 เนี่ยก็คือได้มองเห็นสัจธรรมครับ คนเราเกิดแก่เจ็บตาย เราได้เห็นชัดขึ้น ใกล้ขึ้น แถมเราก็ได้มองเห็นวิธีคิด วิธีเตรียมตัว มุมมองเกี่ยวกับความตายจากปากคนไม้ใกล้ฝั่งอย่างท่าน

ข้อ 4 นี่ก็เป็นเสมือนการได้รดน้ำ “รากเหง้า”ตัวตนของเราให้ฟื้นตื่นขึ้นมา เกิดพลังเชื่อมโยงกับอดีตความเป็นมาของวงศ์ตระกูล เห็นสายธารของชีวิตที่มากกว่าการวิ่งวนอยู่กับเรื่องราวเฉพาะหน้าทั่วไปในปัจจุบัน

พูดง่ายๆคือเวลาไปเยี่ยมคนเท่าคนแก่มันก็อดไม่ได้ครับที่จะคิดถึงในอดีตที่ผ่านมา
ภาพตั้งแต่ท่านยังสาวยังเป็นป้าที่คอยเลี้ยงดูพวกเราที่เป็นหลานๆมาจนกระทั่งถึงชราภาพวันนี้ แล้วก็ย้อนคิดไปถึงรุ่นก่อนๆอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยรุ่นที่อยู่ก่อนหน้า


นั่นก็คือรากเหง้าบรรพชนของเราที่ส่งต่อสืบทอดกันมา

cr.ภาพจาก internet

 

ข้อ 5 ครับได้เติมพลังจากน้ำเสียง แววตา สัมผัส และพลังแห่งความปรารถนาดีที่คนเฒ่าคนแก่สื่อสารและส่งผ่านซึมซับมายังตัวเรา ในแบบที่ออนไลน์ยังไงก็แทนที่ไม่ได้

และข้อ 6 ได้ทบทวนตนเองและรู้ลึกถึงสิ่งที่ควรจะทำต่อไปโดยมีข้อคิดเตือนใจจากผู้สูงวัยซึ่งตกผลึกกับชีวิตแล้วเป็นองค์ประกอบ เช่น

-การรู้จักปล่อยวาง รู้จักมีเมตตาและให้อภัย การใช้ชีวิตอย่างสมดุลและปราณีต การมีเวลาให้กับความสงบเยือกเย็น มองโลกนี้อย่างคนที่เข้าใจเบิกบานมีความสุขง่ายๆ มีอารมณ์ขันได้แม้ในยามที่ ยมทูตจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

หลายปีมาแล้วครับที่โควิดระบาดทำให้ยากลำบากไม่ได้ไปพบปะเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุหลายๆท่าน วันนี้ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ได้ไปในฐานะลูกหลาน และยังพาเจนเนอเรชั่นเหลนๆไปซึมซับรับพลังที่ดีงามเหล่านี้
วันที่คน 5 generation มารวมกัน

หลายปีที่ผ่านมาการรดน้ำดำหัวอาจจะดูเหมือนทำตามธรรมเนียมไทย ทำไป ทำไป ก็รู้สึกว่าดี แต่ไม่เคยได้วิเคราะห์ลงลึกแบบนี้ ทำไปตามความรู้สึกผูกพันที่มีต่อพวกท่านอย่างนั้นๆ

พอวันนี้ตนเองล่วงเลยวัยมา 50 ขวบปี ได้มารดน้ำดำหัวอีกครั้ง เลยลองหยิบยกเรื่องราวมาวิเคราะห์ถึงนัยยะที่สร้างสรรค์ อันซ่อนไว้ในวันอันยิ่งใหญ่...วันนี้

เขียนบันทึกเก็บไว้เตือนใจตนเอง และถ้ามีประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป คงดีไม่น้อย

หมายเลขบันทึก: 712659เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท