ความตายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด! (Death is no so scare as perceiving!)


วันก่อนผมเล่าเรื่องเฉียดตาย หรือตายแล้วฟื้นนี่แหละในกลุ่มไลน์เพื่อนปริญญาเอกรุ่น 1  บริหารการศึกษาของจุฬาฯ และ ดร. สัมมา รธนิธย์ อยากให้ผมเล่าให้ฟังหน่อย 

ไหนๆ จะเล่าให้เพื่อนร่วมรุ่นฟังแล้ว ก็ควรเล่าให้เพื่อนร่วมโลกฟังด้วยดีไหม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย คือเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปี 2548 หรือ 2549 นี่แหละ ผมจำช่วงเวลาไม่ชัด (บัตรโรงพยาบาลอยู่บ้านในเมือง ผมเขียนอยู่ที่บ้านสวนครับ) แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นผมไม่มีวันลืมครับ

ช่วงนั้นผมเป็นประธานศูนย์เครือข่าย สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และมีโครงการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษาให้กับผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานนี้จากโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาคอีสาณตอนล่าง และวันที่เกิดเหตุนั้นผมเดินทางกลับจากการจัดอบรมต่อเนื่องกัน 5 วัน ที่จังหวัดสุรินทร์ ผมจำได้ว่าพอขึ้นรถผมก็หลับ และตื่นอีกทีเมื่อรถถึงบ้าน 

พอจะลงจากรถพบว่าผมขยับตัวไม่ได้ ตอนแรกคิดว่าเป็นเหน็บ จึงพยายามแก้ปัญหา แต่ไม่ดีขึ้น เพื่อนๆ เลยช่วยพยุงลงจากรถ หลังจากไปพักในบ้านระยะหนึ่งก็ดีขึ้น ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไร แต่ที่ไหนได้ความเจ็บปวดปลุกผมตื่นตอนที่สาม และต้องไปโรงพยาบาล 

หมอตรวจวินิจสัยว่าน่าจะเป็นกล้ามเนื้อตึงและความเครียด ให้ยาไปทาน แต่ไม่ดีขึ้น ในที่สุดต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แบบเข้าๆ ออกๆ หลายครั้ง มีแต่ทรงกับทรุด 

วันหนึ่งเขยศิษย์คือ คุณหมอบวร แมลงภู่ทอง และภรรยา คือคุณอังคณา มาเยี่ยมไข้ที่โรงพยาบาลครับ  คุณอังคณาเป็นลูกศิษย์ของผมขณะที่เขาเรียนอยู่มัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชจังหวัดอุบลราชธานี และผมเคยสนับสนุนเขาให้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS จึงรักและเคารพกันตลอดมา และนี่ป็นที่มาซึ่งผมเรียกคุณหมอบวรว่า ‘เขยศิษย์’ 

หลังจากดูอาการพักหนึ่ง คุณหมอและคุณอังคณาเสนอว่าผมควรลงกรุงเทพฯ ให้อาจารย์หมอของท่านซึ่งเก่งเรื่องกระดูกตรวจดีไหม เพราะทั้งสองคนคิดว่าน่าจะเป็นกระดูก ไม่ใช่กล้ามเนื้อ หรือเส้นประสาท 

แต่ผมก็ลังเล เลยรักษาต่อที่เดิมจนกระทั่งรู้สึกไม่ไหว จึงโทรศัพท์ถึงหมอบวรให้พาลงกรุงเทพฯ ไปพบอาจารย์หมอ ซึ่งผมได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่าน่าจะเป็นกระดูกจริง ๆ  เลยให้ไปเข้าเครื่องสแกนทั้งตัว แล้วเอาผลไปพบหมอที่โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกที่สุดในประเทศไทย 

หลังจากพบคุณหมอนรินทร์ คุณกิตติ แล้วท่านบอกว่าน่าจะต้องผ่าตัด ทานยาไม่น่าจะหาย แต่บอกว่าอาจารย์ (คือผม) จะลองทานยาดูก่อนก็ได้ 

ด้วยการที่เป็นคนกลัวการผ่าตัดจึงเลือกการกินยาลองดู ผลปรากฏว่าอาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งขยับเขยื้อนไม่ได้ และปวดร้าวไปทั้งตัว นอนไม่ได้ อาการวูบเริ่มมีให้เห็น ในที่สุดก็ต้องโทรถึงคุณหมอบวรอีกครั้ง แต่อาการตอนนั้นหนักมากจนไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้แล้ว ต้องเหมารถพยาบาล (​ambulance) ลงกรุงเทพฯ โดยมีผู้เดินทางไปด้วยคือพยาบาลประจำรถ 2 คน น้องสาวแม่บ้านผม (คุณรัชนี เอกโพธ์) แม่บ้านผม และคุณหมอบวร ครับ

ที่คุณหมอบวรต้องประจำรถไปด้วยเพราะผมต้องได้รับยาหลับทุกครั้งที่ตื่น เพราะมันเจ็บปวดทรมารมาก และคุณหมอบวรก็กรุณามากที่เดินทางไปด้วย 

การเดินทางเป็นอย่างไรบ้างเพราะส่วนใหญ่หลับเพราะฤทธิ์ยา แต่แล้วผู้ก็รู้สึกเบาสบาย ความเจ็บปวดที่เคยมีหายไปหมด ผม (ตามที่รู้สึก) ลุกขึ้นนั่งเอง ถอดเสื้อออก และขอน้ำจากแม่บ้านมาล้างหน้า ล้างตัว และขอแป้งมาทาตัว ทาหน้า และบอกกับทุกคนว่า ‘ผมหายเป็นปกติแล้ว กลับบ้านกันเถอะ’ 

 เหตุการณ์เดียวกันทุกคนในรถวุ่นไปหมด เพราะแม่บ้านผมซึ่งนั่งจับมือผมไว้ตลอดทางนั้นพบว่ามือผมไม่มีแรงจับแล้ว จึงเรียกให้หมอบวรมาตรวจดูอาการ และพบว่า 'ไม่มีลมหายใจแล้ว ชีพจรไม่เต้นแล้ว' จึงตัดสินใจจะเลี่้ยวรถกลับอุบลฯ ครับ 

ขณะที่จะเลี้ยวรถกลับนั่นเอง รถพบายบาลตกหลุมอย่างแรง ซึ่งทำให้ผมฟื้นมาอีกครั้ง พร้อมกับความเจ็บปวด และผมก็รู้สึกโกธรแม่บ้านที่ทำให้ผมเจ็บปวดคืนมาอีก 

หล้งจากนั้นคุณหมอและคณะก็หันรถมุ่งสู่กรุงเทพฯ อีกที และคุณหมอได้โทรศัพท์ถึงโรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้าเพื่อเตรียมรับกรณีฉุกเฉิน และนี่คือจุดตายจุดเป็นที่เปลี่ยนชีวิตผมมาจนถึงปัจจุบันครับ 

หลังจากอาการดีขึ้นผมจึงได้ถามแม่บ้านว่าในช่วงวิกฤตินั้น ผมได้ลุกขึ้น ถอดเสื้อ ขอน้ำมาล้างหน้า ล้างตัว และทาแป้งไหม 

แม่บ้านบอกว่า 'คุณจะทำอะไรได้ หมดลมหายใจไปแล้ว 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และเป็นจุดเปลี่ยนในการดูแลสุขภาพของตัวเองมาจนถึงปัจจุบันครับ

เหตุการณ์ช่วงวิกฤติชีวิตนี้เกิดขึ้นแถวอำเภอวังน้อย จังหวัดอยุทธยาครับ ขอบคุณหลุม ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณคุณหมอบวร คุณอังคณา และทีมหมอที่โรงพยาบาลพระมงกฎเกล้า โดยเฉพาะคุณหมอนรินทร์ คุณกิตติ ครับ 

ขอบคุณมากครับ 

สมาน อัศวภูมิ

5 พฤษภาคม 2566

หมายเลขบันทึก: 712653เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดร.สมาน เล่าเรื่องได้ดี จนรู้สึกตกใจกับอาการป่วย และสุดท้ายเป็นการตื่นจากฝันร้ายขณะที่ชีวิตจริงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต สิ่งที่ทำให้เรื่องทั้งหมดคลี่คลาย ก็ด้วยการที่รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลตกหลุมบนถนนแถวอยุธยา ฯ เหมือนกับคนดีผีคลุ้มอย่างที่เขาว่าๆ กัน ปัจจุบันอาการโรคทางกระดูกนั้นคืออะไร เผื่อผมและคนอื่นๆ จะได้รู้และระวังตัวเองให้มากขึ้นครับ…วิโรจน์ ครับ

ขอบคุณที่ท่านเป็นห่วงครับ อาการกระดูกที่ผมเป็นนั้น เป็นปัญหาที่ข้อต่อของกระดูกช่วงต้นขากับสะโพกครับ (hip)หมอบอกว่าเกิดจากแบ็คทีเรียกินหัวกระดูก ซึ่งอาจจะเกิดจากที่หมอให้ยาปฏิชีวะนะมา ที่ต้องทานให้ครบ​ course แต่ผมไม่ทำตามหมอแนะนำ จึงทำให้แบ็คทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายในช่วงนั้นไม่ตาย แล้วมันก็จะหาที่เหมาะๆ เป็นที่อยู่ แล้วกินเนื้อเยี่อแถวนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 1 ในล้าน ครับ ซึ่งตอนหลังผมก็มานั่งคิดย้อนหลังดูว่า มีโอกาสเป็นได้ที่มีครั้งหนึ่งผมไปทำพันที่คลีนิคแห่งหนึ่ง หมอให้ยาปฏิชีวะนะมาทาน และบอกว่าให้ทานให้ครับ​course แต่หลังจากผมกินได้ 2 วัน ผมรู้สึกว่าไปต่อไม่ไหว กินเสร็จผมจะสลึมสลือทั้งวัน ไม่ครึ่งหลับครึ่งตื่น ผมก็เลยตัดสินใจเลิกกิน (จริงๆ ผมควรกลับไปปรึกษาหมอ แต่กลัวว่าหมดจะต่อว่า หรือให้ยาชุดใหม่มา ก็เคยหยุดเฉยๆ) และก็ไม่เกิดอะไรขึ้นนะครับ ส่วนนานเท่าไหร่จึงเกิดอาการนั้น ผมก็จะไม่ได้ และก็ไม่ยืนยันว่าเป็นไปตามที่หมอสันนิษฐานไหม แต่หลังผ่าตัดก็หายจนทุกวันนี้ แต่ข้อต่อผมเป็นไททาเนี่ยมครับ มาสิบกว่าปีแล้วครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับสมาน อัศวภูมิ

เหลือเชื่อนะคะอาจารย์ เป็นกำลังใจให้อาจารย์ด้วยคนค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท