๑,๓๕๘ อดทน....


กาลต่อมาเรารู้จักมักคุ้น และเข้าใจกันเป็นอย่างดี ตลอดจนเลื่อมใสศรัทธากับคำว่าอดทน เพราะอยู่ในถ้อยคำที่พ่อสอน หรืออยู่ใน “ศาสตร์พระราชา”ของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙

ใครไม่เชื่อก็ไปค้นคว้าหาดูได้เลย คำว่า “อดทน”นั้น ในทางพระพุทธศาสนา ได้สอนให้รู้จักและฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัย โดยได้ใช้คำว่า “ขันติ” ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่าอดทนนั่นเอง

กาลต่อมาเรารู้จักมักคุ้น และเข้าใจกันเป็นอย่างดี ตลอดจนเลื่อมใสศรัทธากับคำว่าอดทน เพราะอยู่ในถ้อยคำที่พ่อสอน หรืออยู่ใน “ศาสตร์พระราชา”ของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙

ผมจึงเขียนคำว่าอดทนตัวใหญ่ๆ เขียนในแผ่นป้ายติดไว้หน้าอาคารเรียน มองเห็นทุกวัน เวลาเหนื่อยๆ ก็นั่งมองให้เกิดพลังและกำลังใจ กระตุ้นจิตสำนึกจากข้างในให้ลุกขึ้นสู้

ตอนแรกก็คิดแค่พึ่งตนเอง หรือต้องการเตือนตนด้วยตนเอง ไม่คิดเลยว่าความอดทนจะมีรสชาติหวานหอมเสียเหลือเกิน อดทน...คำสั้นๆคำนี้ จึงทำให้ชีวิตดีขึ้นได้จริงๆ

นับตั้งแต่วันแรกที่รับราชการครูในจังหวัดศรีสะเกษ ในดินแดนที่กันดารและห่างไกล เรียนรู้ความยากลำบากอย่าจริงจัง  ยากขนาดว่า..ทางราชการต้องให้เงินที่เรียกว่าเบี้ยกันดารเพิ่มขึ้นอีก      

เท่านั้นยังไม่พอเมื่อย้ายมาอยู่เมืองกาญจน์ ในท้องถิ่น อ.ศรีสวัสดิ์ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ มองรอบกายมีแต่ป่าไม้และขุนเขา ไม่รู้จักคำว่าห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัด นอกจากวัดที่ไปบ่อยที่สุด

เมื่อชีวิตและงานไม่ได้สะดวกสบาย ก็เลยคิดใหม่ทำใหม่ มองทุกอย่างให้เป็นบวก ยิ้มรับกับทุกเรื่องราวด้วยความอดทน...แล้วมันก็ผ่านไป ผ่านมาได้อย่างสวยงามจนถึงทุกวันนี้

คิดดูเถิดกับการทำงานในโรงเรียนเล็กๆ ที่สายตาผู้คนมองว่า”ยากลำบากและขาดแคลน” แต่อยู่มาได้ถึง ๑๗ ปีตั้งแต่นักเรียน ๔๘ คน จนวันนี้ ๑๐๕ คนเข้าไปแล้ว มิใช่อยู่ทนเท่านั้นแต่ต้องทนอยู่ด้วย

จากสภาพถนนลูกรังหน้าอาคารเรียน ที่ผุพังหมดสภาพ จนกลับกลายเป็นถนนสีดำลาดยางงดงามเรียบร้อย บ่งบอกถึงวันเวลาที่รอคอยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

คำสอนของนักปราชญ์และตัวอย่างมากมายของครูและผู้บริหาร ที่ให้ตระหนักถึงคำว่าอดทน จึงสั่งสมไปจนถึงขั้นของความขยันหมั่นเพียร จนบังเกิดอาคารเรียนที่สวยหรู ทุกอย่างดูดีไปหมด

ทั้งอาคารเรียนออมสินสีสวยและอาคารเรียนสีส้มที่ซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ คือผลพวงของการรอคอยที่อยู่คู่กับการพัฒนา บ่งบอกเลยว่าชีวิตดีขึ้นมิใช่น้อย

โดยเฉพาะงานในหน้าที่และความรับผิดชอบ ตลอดจนการใช้ชีวิตครูในโรงเรียน สร้างสุขได้ทุกวัน เมื่อมองเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้น ก็ถือว่างานนี้กำลังจะจบลงอย่างสวยงาม

ภาพห้องสมุดที่กำลังจะก้าวไปสู่”ศูนย์ดิจิตัลชุมชน” คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พร้อมแล้วที่จะติดตั้ง รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ที่กำลังรอช่างมาติดตั้งเป็นครั้งแรกของโรงเรียน

สิ่งที่ไม่เคยมี เมื่อทำให้มีเกิดขึ้น ก็เท่ากับได้สร้างโอกาสให้ครู นักเรียนและชุมชน

จึงทำให้นึกถึงการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ผอ.ท่านหนึ่งยกมือถามท่านผอ.เขตฯ ถึงปัญหาและความต้องการภารโรง....ที่ไม่มีมาเป็นเวลานานมากแล้ว

ท่านผอ.เขต พูดว่า...ไม่มีก็ต้องหา...ฟังดูเหมือนเป็นคำพูดที่ก่อกวนความรู้สึก...แต่แท้ที่จริงคือสัจธรรมของการบริหาร เมื่อไม่มีก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหานั่นเอง

ผอ.เขตฯได้อธิบายขยายความ...การไม่มีภารโรง คือปัญหาระดับชาติ แต่เราจะอยู่โดยที่ไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ได้ ไม่มีก็ต้องหา คือหาวิธีการร่วมด้วยช่วยกัน ทำบ้าน(โรงเรียน)ให้สะอาดน่าอยู่

ผมก็ไม่มีภารโรงเหมือนกัน... ๑๒ ปีมานี้ ไม่เคยรู้สึกว่ามีปัญหา ทั้งในด้านอาคารสถานที่และความปลอดภัย หลากหลายวิธีที่ได้แสวงหามาใช้ เพื่อให้โรงเรียนมั่นคงและยั่งยืน

หนึ่งในนั้นคือ..ความอดทน...ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่โรงเรียนก็ดีขึ้นอย่างมากมาย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๔  พฤษภาคม  ๒๕๖๖

หมายเลขบันทึก: 712651เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2023 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2023 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท