นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ คือใคร?


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

 

 

หลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้เปิดหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชา อาชญาวิทยาไซเบอร์หรือ Cyber criminology และผู้เชี่ยวชาญได้เขียนบทความในหลายเว็บไซต์ให้ความเห็นว่า นักอาชญาวิทยาไซเบอร์กำลังจะกลายเป็นสาขาอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคต และจะมีรายได้สูงมาก

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ สาขาอาชีพใหม่ในอนาคต

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ เป็นสาขาอาชีพใหม่ ที่มีความสำคัญต่อ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง กระบวนการยุติธรรม ความมั่นคง ตลอดจนชีวิตผู้คน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันภัยคุกคามองค์กรหรือสืบสวนสอบสวนเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ยังช่วยวางกลยุทธ์ให้ธุรกิจเติบโตสูงขึ้นอีกด้วย

World economic forum มองว่า Cyber security is business strategy ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นกลยุทธ์ธุรกิจไปด้วยแล้ว ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงให้ดี อีกทั้งอาชญากรรมไซเบอร์ยังเป็นความเสี่ยงหลักต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติในทุกประเทศทั่วโลก

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ ช่วยมองความเสี่ยงและโอกาสธุรกิจจากสภาพแวดล้อมได้ว่า อาชญากรตัวแสบกำลังคิดอะไร นักอาชญาวิทยา เข้าใจ Criminal mindset ของอาชญากร รวมไปถึง White-collar criminal และ Political criminal พวกเขามองหาโอกาสอะไรในการฉกฉวยทรัพยากรและการทำลายบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ เช่น การวางแผนให้เกิดน้ำท่วมใหญ่พืชผลทางเกษตรเสียหาย แต่เกิดโอกาสทำเงินมหาศาลในการคอร์รัปชั่น ซึ่งนั่นยังเป็นแค่วิธีการเก่าๆ หากท่านได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Blackhat ที่มีพระเอกสุดฮ็อตอย่าง Chris Hemsworth แสดงนำ จะพบ ไอเดีย การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เพื่อจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเหมืองดีบุกในประเทศแห่งหนึ่ง แล้วเมื่อดีบุกขาดตลาด ก็จะราคาสูงขึ้น ทำให้ดีบุกที่นายทุนกักตุนไว้กำไรมหาศาล

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ มองภูมิรัฐศาสตร์ เห็นโอกาสความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะร่วงตก จากการเกิดสงคราม Hybrid warfare กับประเทศเพื่อนบ้านในเดือน พฤษภา นี้ (ขณะที่เขียนคือเดือน เมษา 2566) จึงช่วยแนะนำการลงทุน และทำกำไรในอนาคตได้บ้าง

 

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ ยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพชัดเจนหรือมีกฎหมายรองรับจนถึงระดับมีสภาวิชาชีพอย่าง แพทย์ วิศวกร หรือทนายความ อย่างไรก็ตามนักอาชญาวิทยาไซเบอร์ส่วนใหญ่มักเป็นวิศวกรวิชาชีพที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือมีพื้นฐานวิชาชีพทางกฎหมายอยู่แล้ว จึงมีจรรยาบรรณกำกับการทำงานอยู่บ้างในปัจจุบัน

 

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ ควรเรียนจบอะไร?

เมื่อยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ กล่าวได้ว่า “นักอาชญาวิทยาไซเบอร์เรียนจบอะไรก็ได้” ถ้าตอนทำงานบอกเขาว่าเราเป็น “นักอาชญาวิทยาไซเบอร์” แล้วมีคนยอมรับ หรือมีองค์กรใดรับสมัครงานในตำแหน่งนี้แล้วเขายอมรับเข้าทำงานก็น่าจะใช้ได้

 

 

 

ทำไมข้อความเบื้องต้น ผมถึงเห็นว่าเรียนจบอะไรมาก็ได้?

ผมเปรียบเทียบกับ Expert witness ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งใน ป.วิ.พ.มาตรา 99 เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญ และ ป.วิ.อ. มาตรา 243 เรียกว่าผู้ชำนาญการพิเศษ ภาษาทั่วไปที่เข้าใจกันเราเรียกว่า “พยานผู้เชี่ยวชาญ”

พยานผู้เชี่ยวชาญ กฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติว่าต้องเรียนจบอะไรมา แต่กฎหมายวางหลักไว้ว่าต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้าน ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การฝีมือ การค้า การงานที่ทำ กฎหมายต่างประเทศ และความเห็นของเขานั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอยู่ในดุลพินิจของศาล โดยศาลจะเรียกคู่ความมาให้ตกลงกันกำหนดตั้งผู้เชี่ยวชาญที่จะแต่งตั้งนั้นก็ได้

อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า แท้จริงแล้วการกำหนดคุณวุฒิ อาจจะไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง เพราะคนทำงานจริง เก่งจริงในเรื่องนั้นๆ อาจจะมีประสบการณ์มากกว่าคนที่เรียนแค่ทฤษฎี กฎหมายจึงเปิดให้กระบวนการยุติธรรมมองหาคนที่มีมีความเชี่ยวชาญจริงๆ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายไม่มีใครคัดค้าน

แน่นอน แฮ็กเกอร์ เก่งๆ ในระดับโลกเป็นวัยรุ่นที่แทบไม่ได้เรียนจบมัธยมด้วยซ้ำ หากถามว่ามีศาสตราจารย์จากฮาร์เวิร์ดหรือ เอ็ม.ไอ.ที. ท่านใดจะต่อกรได้หรือไม่ ผมว่าคงไม่มีใครเชื่อว่าจะรับมือได้ง่ายๆ

ดังนั้น นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนจบสาขาใดสาขาหนึ่งมาโดยตรง แต่มีประสบการณ์ความรู้จากการปฏิบัติจริงมายาวนานจนเชี่ยวชาญพิเศษ และที่สำคัญ “คือทำงานได้”

 

 

แล้วถ้าหากจะมีการกำหนดการศึกษาล่ะ?

หากจำเป็นจะต้องกำหนดคุณสมบัตินักอาชญาวิทยาไซเบอร์ อย่างน้อยควรเรียนจบด้านอาชญาวิทยามาสักหนึ่งใบ จะเป็นระดับ ป.ตรี ป.โทหรือ ป.เอก ก็แล้วแต่ เพราะการทำงาน การอธิบายและการแก้ปัญหา ต้องรอบด้านทั้งพฤติกรรมอาชญากร ลักษณะการประกอบอาชญากรรม เทคโนโลยี และกฎหมายทีจะเอาผิด ต้องใช้ความรู้และทฤษฎีประกอบกับประสบการณ์เป็นสำคัญ

อาชญากรรมไซเบอร์เป็นสหวิทยาการ (Cyber Criminology as an Academic Discipline) เป็นองค์ความรู้วิชาการที่ผสมผสานระหว่าง งานวิชาการสมัยเก่า งานวิชาการสมัยใหม่ และงานวิชาการแห่งโลกอนาคต ที่หลอมรวมอาชญาวิทยาไซเบอร์ทั้งด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทุกแขนง เช่น นิติปรัชญา กฎหมาย ศาสนา ศีลธรรม การเมือง การปกครอง เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม แพทยศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น

 

 

 

ดังนั้นนอกจากเรียนจบด้านอาชญาวิทยาแล้ว วิชาการที่สำคัญที่จะช่วยให้ทำงานแข็งแรงก็ควรจะมีความรู้ด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยี เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมสารสนเทศ วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารหรือโทรคมนาคม เป็นต้น จึงจะเข้าใจบทบาทความเป็นไปของรูปแบบการเกิดอาชญากรรมที่จะช่วยพิสูจน์เจตนาของผู้ร้ายหรือสืบสวนตลอดจนป้องกันและปราบปราม

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “กฎหมาย” องค์ประกอบความผิด การรวบรวมพยานหลักฐาน ที่จะชี้เอาผิดดิ้นไม่หลุดและอุดช่องว่างทางกฎหมายเมื่อจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ และที่สำคัญการนำคดีหรือรูปแบบอาชญากรรมมากำหนดเป็นนโยบายแห่งรัฐหรือการแก้ไขและพัฒนากฎหมาย ความรู้พื้นฐานด้านกฎหมายจะช่วยให้นักอาชญาวิทยาไซเบอร์จะเสนอความเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ดังนั้นสรุปได้ว่า นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ หากจะกำหนดคุณสมบัติด้านการศึกษาควรมีความรู้ด้าน กฎหมาย วิศวกรรมหรือเทคโนโลยี และอาชญาวิทยา

 

 

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ทำงานอย่างไร?

งานของนักอาชญาวิทยาไซเบอร์ที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือ “ไม่ต้องการให้มีเหยื่อเกิดขึ้นสักคน” เหมือนนักอาชญาวิทยาทั่วไปที่มุ่งปกป้องคนในสังคมไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากร อยากให้ตำรวจว่างงาน อยากให้อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ว่างงาน นั่นหมายความว่าสังคมจะสงบสุข

“การป้องกัน” นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ ในระดับองค์กรจะออกแบบวิธีป้องกันองค์กรให้รอดพ้นจากภัยคุกคามจากโลกออนไลน์ในทุกมิติ ทั้งระบบคอมพิวเตอร์และสมาชิกขององค์กร ด้วยวิธีทางเทคโนโลยีและมาตรการการปฏิบัติงาน

ส่วนนักอาชญาวิทยาไซเบอร์ที่ทำงานป้องกันสังคม จะทำงานในรูปแบบให้ความรู้แก่ เช่น บรรยาย เขียนหรือทำสื่อดิจิทัลเผยแพร่ให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยจากโลกออนไลน์ เป็นนักเขียน เป็นผู้บรรยาย เป็นสื่อมวลชน เป็นนักวิชาการ เป็นคนทำงานบริการสังคม หากรู้เท่าทันอุบายของอาชญากรเสียก่อน ประชาชนย่อมจะป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที

นักอาชญาวิทยาไซเบอร์จึงมักได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษา เป็นวิทยากรบรรยายในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากโลกออนไลน์ เป็นที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 

นอกจากนั้นเมื่อมีความจำเป็นที่รัฐต้องมีนโยบายหรือปรับปรุงกฎหมาย นักอาชญาวิทยาไซเบอร์จะทำงานในรูปแบบกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนราษฎรหรือในวุฒิสภา และอาจะเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยรัฐมนตรี

 

 

“การปราบปราม” นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและไม่มีอาวุธในการป้องกันตนเอง จึงไม่มีหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมเพื่อปราบปรามอาชญากรไซเบอร์

อย่างไรก็ตามนักอาชญาวิทยาไซเบอร์อิสระหรือไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ อาจให้ความเห็นช่วยเหลือเจ้าพนักงานทางอ้อมว่า ควรสืบสวนหาตัวคนร้ายอย่างไรหรือดำเนินคดีอย่างไรได้ ตลอดจนการรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลในรูปแบบเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญดังที่กล่าวมาแล้วหรือเป็น นิติวิศวกร (Forensic Engineer) ที่ค้นหาสาเหตุอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุ อย่างเครื่องบินตกหรือเรือล่ม ที่ต้องใช้วิศวกรที่มีความรู้สูงค้นหาสาเหตุ 

 

ในคดีอาชญากรรมไซเบอร์หากไม่ใช่อุบัติเหตุหรือเกิดการก่อวินาศกรรมร้ายแรงด้วยไซเบอร์เทคโนโลยี อาจเกิดจาก อาชญากร กลุ่มก่อการร้าย องค์กรอาชญากรรม นักอาชญาวิทยาไซเบอร์หรือนิติวิศวกรอาจช่วยกันค้นหาสาเหตุหรือสืบสวนตามคำขอของเจ้าพนักงานได้เช่นกัน

 

 

        อดัม สมิธ (Adam  Smith: ค.ศ. 1723-1790)  นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้ยิ่งใหญ่ หัวขบวนทุนนิยมด้วยระบอบประชาธิปไตยสามารถมองไกลได้ลึกซึ้งว่า แท้จริงแล้วทฤษฎีทางอาชญาวิทยาจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และประเทศมั่งคั่ง “เมื่อมนุษย์รู้จักความเห็นใจผู้อื่น”

        

    การจะเห็นใจผู้อื่นช่วยให้เศรษฐกิจประเทศมั่งคั่งได้อย่างไร?

         ความจริงแล้วก่อนที่ อดัม สมิธ จะเขียนหนังสือ Wealth of Nations ใน ปี ค.ศ.1776 อันโด่งดัง เขาได้เขียนหนังสือชื่อ  The Theory of Moral Sentiments ในปี ค.ศ.1759 และ ได้อธิบายว่า “ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” หรือใช้คำว่า “sympathy” เป็นสิ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตมั่งคั่ง และจะนำไปสู่ความสุขโดยรวมของสังคม

         จริงอยู่หลายคนสับสนที่ อดัม สมิธ บอกว่ามนุษย์ “เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน”  ใช้คำว่า “self interest” จะช่วยให้ร่ำรวย ความเห็นแก่ตัวนั้นนำพาให้มนุษย์ขยันขันแข็งแสวงหาความมั่งคั่ง

        แต่การขยันขันแข็งแข่งกันค้าขายนั้น ต้องตั้งอยู่บน "ตลาดที่มีความเป็นธรรม" อันสะท้อนถึงความเห็นใจลูกค้าที่จะได้รับของดีที่สุด เห็นใจคู่แข่งว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบ เห็นใจประเทศที่จะได้รับภาษี เห็นใจว่ายังมีคนจนที่รอรับความช่วยเหลือ

       Theory of Moral Sentiments ของ อดัม สมิธ เชื่อว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาซึ่งความดี ศีลธรรม ก่อให้เกิดสังคมที่มั่งคั่งและมีความสุข การที่บางคนไม่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ จึงนับเป็นบ่อเกิดปัญหาใหญ่ของสังคม ต้องใช้ความรู้ด้านอาชญาวิทยาแก้ไขบุคคล ตลอดจนกำหนดเป็นนโยบายในการออกแบบสังคม

 ดังนั้นในระดับมหภาค โลกทุนนิยมที่อาศัยความมั่งคั่งและทำลายล้างจากไซเบอร์เทคโนโลยี นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ ควรมีบทบาทต่อการกำกับดูแลและแก้ไขปัญหา จิตใจอาชญากร การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน การให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการ การวางกลยุทธ์ในภาคเอกชน การร่วมแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง และการกำหนดนโยบายของรัฐในอนาคต แค่เรายังมองไม่เห็นเท่านั้นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 712272เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2023 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2023 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณที่ให้ความรู้ใหม่ๆ เช่นนี้ครับ….วิโรจน์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท