เก็บตกวิทยากร (74) : ปฐมนิเทศโครงการเยาวชนคนสร้างศิลป์ (ชมรมฮวมศิลป์)


นิสิตมองไปในทิศทางเดียวกันคือ ค่ายมีสถานะเป็นกระบวนการของการทำงานเพื่อสังคม หรือจิตอาสา แต่ยึดโยงในตัวคือการเรียนรู้ตัวเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้คนรอบข้าง ที่หมายถึงทั้งมิติการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน ตลอดจนการบ่งชี้สถานะของค่ายว่า เป็นกระบวนการแห่งการบ่มเพาะความเป็นผู้นำด้วยเช่นกัน

เป็นอีกครั้งที่ผมมีโอกาสจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต แต่เป็นเวทีในลักษณะการปฐมนิเทศนิสิตที่จะไปออกค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งครั้งนี้ คือ โครงการ “เยาวชนคนสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1” ของชมรมฮวมศิลป์ 

 

ชมรมฮวมศิลป์  เป็นองค์กรน้องใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในปีการศึกษา 2565 เกือบทั้งหมดมาจากการรวมกลุ่มของนิสิตโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเรียกรวมๆ ในแวดวงว่า “โควตาวงแคน” หากแต่กลุ่มนี้ จะมาในสายด้านศิลปหัตกรรมเป็นหลัก

 

 

วันนี้  (พุธที่  22 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้เข้าร่วมเวทีค่อนข้างจะมาช้า  เพราะติดเรียนและติดภารกิจว่าด้วยกีฬาราชพฤกษ์ – 

รู้ทั้งรู้ว่าเป็นช่วงที่อาจไม่เอื้ออำนวยมากนัก  แต่ผมก็ให้นิสิตตัดสินใจเองว่า “ควรเป็นวันไหน” เพราะถ้าเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ก็ยากยิ่งต่อการจะประกอบสร้างการงานขึ้นมาได้

 

เวทีดังกล่าว  ผมเริ่มต้นจากกระบวนการ “ทบทวนตัวเอง” ผ่านกิจกรรมตารางคำถาม 4 ช่อง คือ 1) ค่าย คืออะไร 2) เหตุผลของการไปค่าย 3) อยากทำอะไรในค่าย หรือสนใจกิจกรรมอะไรในค่าย 4) คาดว่าค่ายครั้งนี้จะมีปัญหา หรืออุปสรรค อะไรบ้าง

 

 

และนี่คือคำตอบที่ผมประมวลมา   โดยแต่ละหัวข้อเรียงลำดับความถี่ที่พบมาก ไปสู่ที่พบน้อยที่สุด

 

 

ค่ายคืออะไร : มีความหมายใดในค่าย 

  • พื้นที่และโอกาสที่ช่วยให้ได้ทำงานเพื่อสังคม(จิตอาสา)
  • กระบวนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อน
  • การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือคนหมู่มาก
  • การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนรอบข้าง
  • พื้นที่และโอกาสของการบ่มเพาะความรู้
  • การบ่มเพาะความเป็นผู้นำ

 

 

ทำไมต้องไปค่าย :  เหตุผลของการไปค่าย

  • ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ (นอกห้องเรียน) ให้กับชีวิต
  • เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน
  • ฝึกทักษะการทำงานเพื่อสังคม
  • ไปหาความรู้ใหม่ๆ 
  • ลองทำงานด้านศิลปะ

     


 

อยากทำอะไรในค่าย : กิจกรรมที่สนใจในค่าย

  • ช่วยเหลือโรงเรียน ชุมชน 
  • เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน
  • ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น
  • ทาสีอาคารเรียน 
  • เขียนป้ายคำคม สำนวน 
  • พัฒนานักเรียน
  • กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุก 

     

 

 

ปัญหา อุปสรรค : คาดว่าค่ายครั้งนี้จะประสบปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

  • ปัญหาการทำงานร่วมกับทีมงาน เช่น  การคิดต่าง การสื่อสาร ความไม่สามัคคี
  • ความไม่สะดวกสบาย
  • ปัญหาการปรับตัวเข้าหาเพื่อนใหม่ และชุมชน
  • สภาพอากาศไม่ดี
  • ปัญหาในการตัดสินใจ
  • ปัญหาเฉพาะหน้าที่เหนือความคาดหมาย
  • ความกลัว 

 

 

จะว่าไปแล้ว  มองแบบรวมๆ จะพบว่า  ประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับ “ค่าย” (ค่ายอาสา : ค่ายอาสาพัฒนา)  นั้น นิสิตมองไปในทิศทางเดียวกันคือ ค่ายมีสถานะเป็นกระบวนการของการทำงานเพื่อสังคม หรือจิตอาสา แต่ยึดโยงในตัวคือการเรียนรู้ตัวเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้คนรอบข้าง ที่หมายถึงทั้งมิติการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน ตลอดจนการบ่งชี้สถานะของค่ายว่า เป็นกระบวนการแห่งการบ่มเพาะความเป็นผู้นำด้วยเช่นกัน

 

 

ในส่วนประเด็นเรื่อง “เหตุผลของการไปค่าย” สองประเด็นหลักที่พบมากที่สุดก็คือไปค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตและการไปเรียนรู้ชุมชน ซึ่งโดยรวมก็ยังสัมพันธ์กับคำถามแรกที่ว่าด้วยการนิยามความหมายของคำว่าค่ายอยู่นั่นเอง

 

กรณีถัดว่าที่ถามถึง “สิ่งที่อยากทำ” พบว่าสัมพันธ์กับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นจริง เช่น  การพัฒนาโรงเรียน ชุมชนผ่านกิจกรรมหลักๆ เช่น ทาสีอาคารเรียน  เขียนป้ายสำนวนสุภาษิต ซึ่งทั้งปวงนั้นก็เป็น “โจทย์” หรือ “ความต้องการของโรงเรียนและชุมชน”  ที่นิสิตได้ร่วมประชุมและร่วมตัดสินใจมาสดๆ ร้อนๆ  

 

 

และประเด็นสุดท้ายที่ผมชวนนิสิตพยากรณ์ล่วงหน้าถึงอุปสรรคปัญหานั้น ขอยืนยันว่าเป็นกระบวนการที่ฝึกให้นิสิตลองวิเคราะห์ล่วงหน้าถึง “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อการทำงานไม่ให้บรรลุเป้าหมาย 

 

คำถามนี้  ผมเจตนาชวนคิดล่วงหน้าแล้วนำประเด็นมาตระเตรียมแนวทางการแก้ไขร่วมกัน  ซึ่งเท่าที่พบก็คือนิสิตต่างพะวงเรื่องการปรับตัวเข้าหากัน ทั้งในเรื่องการทำงานและการอยู่ร่วมกัน  โดยผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกเช่นนั้น  เพราะเกือบทุกคนล้วนเป็น “มือใหม่” ที่ยังไม่เคยออกค่ายอาสาพัฒนามาก่อน

 

 

ท้ายสุดของเวที  ผมฝากข้อคิดหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน  แต่หลักๆ ก็คือ “อย่ากลัวที่จะลงมือทำ และทำร่วมกันอย่างเป็นทีม” 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711772เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2023 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2023 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท