ชีวิตที่พอเพียง  4406. ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ


 

เช้าวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๖ ผมไปร่วมประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย (ที่มีชื่อเล่นว่า ประชุมกลุ่มสามพราน) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ    โดยประชุมกันเรื่อง การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน  เป็นที่มาของบันทึกนี้

ระหว่างนั่งฟัง ผมก็นั่งนินทากับหมอสมศักดิ์ ว่าน่าจะมีการวิจัยว่า เงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ นั้น ไปถึงชาวบ้านสักกี่เปอร์เซ็นต์   และน่าจะมีการวิจัยว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่นั้น มีสาเหตุเชิงระบบ ที่มาจากระบบสังคมบิดเบี้ยวสักแค่ไหน    ผมสงสัยว่า ที่คุยกันในที่ประชุม เป็นการดำเนินการปลายทาง   ไม่ได้จับที่รากเหง้าของปัญหา (root cause)    

ที่น่าสนใจคือ กุดบากโมเดล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน   ที่ท่านรองนายกเทศบาลตำบล ตำบลกุดแฮด (สกลนคร) คุณวรรณิภา ศรีมุกดา บอกว่าตนมีพ่อแม่ยากจน  แต่ตนหลุดออกจากความยากจนได้   ผมถามว่าหลุดได้อย่างไร    ได้รับคำตอบว่า ความขยัน  อดทน  มีแรงบันดาลใจ และพึ่งตนเอง    ที่ผมคิดว่า ท่านรองนายกฯ จับประเด็น root cause ของความยากจนได้ชัดเจน   

คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒน์ฯ และอีกหลายฐานะ เอ่ยถึง “ภูมิคุ้มกัน” ความยากจน    ทำให้ผมคิดว่า ๔ ปัจจัยที่คุณวรรณิภาบอก น่าจะเป็น ภูมิคุ้มกัน ป้องกันความยากจน   

ผมเชื่อว่า การขจัดความยากจน ไม่สามารถทำได้สำเร็จได้โดยภาคราชการ    และไม่ควรเน้นแก้ปัญหา    ควรทำทั้ง ๓ ด้าน คือ ส่งเสริม  ป้องกัน และแก้ไข    

ข้างบนนั้น เขียนก่อนฟัง ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการ พอช. พูด   โดยท่านพูดถูกใจผมมาก   เพราะคิดตรงกัน  ท่านว่าที่ผ่านมาหลงแก้ความยากจนกับความเหลื่อมล้ำไปด้วยกัน    ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละสิ่ง   และมีสาเหตุที่ต่างกัน    สาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำ  มาจากระบบต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม    ส่วนความยากจนมีสาเหตุหลักที่การพัฒนาคน   

ผมตีความว่า ดร. กอบศักดิ์ คิดต่าง จากแนวทางที่ภาครัฐดำเนินการกันอยู่   ที่เป็นแนวทาง top-down    แต่ท่านเชื่อในแนวทาง bottom-up    ซึ่งผมว่ากล่าวเช่นนี้ก็ผิด    จริงๆ แล้ว ต้องใช้ทั้งสองแนวทางให้ประสานกัน   แต่ต้องมีสติว่า ต้องให้น้ำหนักแก่แนวทาง ล่างขึ้นบนมากกว่า เช่น 70:30     

ท่านยกตัวอย่าง การริเริ่มสร้างสรรค์จากผู้นำในพื้นที่ เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ โดยครูชบ ยอดแก้ว (ผู้ล่วงลับ)     ครูมุกดา อินต๊ะสาร แห่งจังหวัดพะเยา    และอีกจำนวนมาก    ที่สามารถนำเรื่องราวของท่าน มาตีความ conceptualize เป็นหลักการ สำหรับนำหลักการไปใช้ในการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่หรือชุมชนชนบท   

 เน้นการยกระดับความรู้และวิธีการที่ริเริ่มจากพื้นที่   ภาครัฐส่งเสริมให้ขยายแนวคิดออกไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่   หากต้องมีการแก้หรือออกกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้    มีการพูดกันว่า ในหลายกรณีกฎหมายหรือกติกาภาครัฐมักเอื้อแก่ธุรกิจหรือคนรวยมากกว่าแก่คนจน    หรือแก่กรุงเทพมากกว่าแก่ชนบท       

ที่จริงจะตำหนิภาครัฐเท่านั้นก็ไม่ถูก   ภาคสังคมเองก็มีสารพัดพฤติกรรมที่เข้าไปตักตวงผลประโยชน์ในลักษณะมอมเมาเอาเปรียบคนจนคนรากหญ้าคนชนบท   

เมื่อกล่าวเช่นนี้ ก็มีการเอ่ยถึง “ภูมิคุ้มกัน” ที่คนเราต้องพัฒนาขึ้นในตน   โดยคำว่า “ภูมิคุ้มกัน” ในที่นี้หมายถึงภูมิคุ้มกันจากการถูกล่อหลอกให้มีพฤติกรรมไปในทางเสื่อม ที่เรียกว่าอบายมุข   คนจนเป็นคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ    เพราะขาดโอกาสพัฒนา  “ภูมิคุ้มกัน” ใส่ตัว    ซึ่งสมัยผมเป็นเด็กเราได้จากการเลี้ยงดูกล่อมเกลาจากพ่อแม่และครอบครัว     แต่สมัยนี้เด็กๆ น่าจะได้รับจากทีวีและสื่อสังคมต่างๆ เพิ่มขึ้นจากที่ได้จากครอบครัว    ลองพิจารณาดูเถิดว่า เด็กๆ ถูกกระทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำอย่างไร     

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ดร. กอบศักดิ์ บอกว่าหนี้นอกระบบเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความยากจน    แต่ผมมองต่าง ผมมองว่าการที่คนเราไม่ได้มีโอกาสพัฒนา EF (Executive Functions),    ไม่มีโอกาสพัฒนาค่านิยม และเจตคติที่ดีใส่ตัว  เป็น root cause ของปัญหา   ค่านิยมและเจตคติที่ดีคือ V (values) &A (attitude)   ใน VASK ที่ โออีซีดี มีเป้าหมายพัฒนาแก่คนทุกคน 

คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ สรุปสั้นๆ ใน ๔ ประเด็น   ที่ลึกซึ้งสุดยอด คือ  (๑) วิธีแก้ไขแบบช่วยเหลือ จะไม่ทำให้หมดคนจน  (๒) จะแก้จน ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ  (๓) ต้องทั้งสร้างความเข้มแข็งแก่คนจน ร่วมกับการ “ถ่ายพยาธิสังคม”   (๔) ต้องฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ม. ค. ๖๖

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711766เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think there are ‘good’ points in here: - คนจนเป็นคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะขาดโอกาสพัฒนา “ภูมิคุ้มกัน” ใส่ตัว - ภาครัฐมักเอื้อแก่ธุรกิจหรือคนรวยมากกว่าแก่คนจน (license to kill) - ..มอมเมาเอาเปรียบคนจนคน (treating them as preys) - (๓) ต้องทั้งสร้างความเข้มแข็งแก่คนจน ร่วมกับการ “ถ่ายพยาธิสังคม” (vice and corruption) - (๔) ต้องฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ([I think he means] public spaces not private plantations)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท