บนเส้นทางไปโรงพยายาล กับการพบกันอีกครั้งของอดีตศัตรู


ผมจะได้เอาไปเล่าให้พรรคพวกฟังว่าวันนี้เจออดีตศัตรูคู่อาฆาต ตอนนี้ก็ยังคิดต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ยังคุยกันได้สนุกตลอดทาง

ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมสะท้อนสังคมและการเมืองถือกำเนิดขึ้นจำนวนมาก  ในห้วงเวลาที่นักเขียนมีเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทำให้วรรณกรรมเสมือนเป็นการแสดงจุดยืนของนักเขียนหลายคน เช่นเดียวกับ  กำพล นิรวรรณ  นักเขียนผู้มีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการอย่างแรงกล้า อดีตผู้ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กำพลถ่ายทอดประสบการณ์และทัศนคติที่มีต่อการเมืองออกมาเป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้นสะท้อนสังคมและการเมืองจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “บนเส้นทางไปโรงพยาบาล”

บนเส้นทางไปโรงพยาบาล เป็น ๑ ใน ๑๒ เรื่องสั้นที่รวมไว้ในหนังสือ “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี พ.ศ.๒๕๖๓ เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องถูกแบ่งออกเป็น ๓ ภาค ได้แก่ ภาค ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ ที่เน้นเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์เข้าป่าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงมุมมองด้านอำนาจและการเมือง ภาค ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’ กลุ่มเรื่องสั้นที่ให้อารมณ์ลึกลับ เล่าด้วยบรรยากาศชวนสยองขวัญ และภาค ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ กลุ่มเรื่องสั้นที่เสมือนนำพาผู้อ่านออกนอกประเทศไปท่องโลก ซึ่ง บนเส้นทางไปโรงพยาบาล เป็นหนึ่งในภาค ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ ที่มีเนื้อหาถ่ายทอดมุมมองความคิดด้านอำนาจและการเมือง

บนเส้นทางไปโรงพยาบาล เป็นเรื่องราวที่เล่าผ่านเหตุการณ์เพียงสั้น ๆ  ระหว่างการโดยสารรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาล แต่สามารถถ่ายทอดมุมมองความคิดด้านอำนาจและการเมืองที่ต่างกันของคนสองคนได้อย่างแยบยล ซึ่งมุมมองต่าง ๆ ถ่ายทอดผ่านบทสนทนาระหว่าง ‘ผู้โดยสาร’ กับ ‘คนขับแท็กซี่’ ผู้โดยสาร เป็นชายชาวใต้วัยสูงอายุ เพิ่งกลับจากประเทศยูกันดา เคยร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ เคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อยู่ฝ่ายเสื้อแดงร่วมต่อต้านเผด็จการในยุคสังคมสองสี กระทั่งถึงยุคปัจจุบันที่ยังคงไม่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ส่วน คนขับแท็กซี่ มีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับผู้โดยสารอย่างสิ้นเชิง ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา เป็นหนึ่งในนักศึกษาอาชีวะที่ร่วมกับตำรวจ ตชด. บุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำร้ายและฆ่านักศึกษาเพียงเพราะเชื่อข่าวลือที่รัฐบาลสร้างขึ้นว่านักศึกษาซ่อนปืนไว้ในมหวิทยาลัย ในยุคสังคมสองสีอยู่ฝ่ายเสื้อเหลือง และสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน 

จากที่กล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่เน้นถ่ายทอดมุมมองและทัศนคติทางการเมืองของคนสองคนที่เสมือนเป็นตัวแทนของคนในสังคมที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง การหยิบเอาประวัติศาสตร์การเมืองแต่ละสมัยมาเล่าใหม่ผ่านตัวละครสองตัวที่เป็นปฏิปักษ์ทางด้านทัศนคติทางการเมืองต่อกัน ผู้เขียนอาจต้องการให้ผู้อ่านเห็นถึงมุมมองของสองฝ่ายที่ต่างก็แสดงเหตุและผลในการกระทำของตนในห้วงเวลานั้น ๆ กล่าวคือ ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเลือกที่จะเชื่อหรือยึดมั่นสิ่งใดแล้ว ย่อมคิดว่าการกระทำต่าง ๆ ไม่ว่าจะส่งผลดีหรือผลร้ายต่อผู้อื่น หากสามารถรักษาสิ่งที่ยึดมั่นไว้ได้ การกระทำนั้นย่อมถูกต้องเสมอ เช่น คนขับแท็กซี่ เคยทำร้ายนักศึกษาอย่างทารุณในเหตุการณ์ ๖ ตุลา “กระซวกอกผู้หญิง แทงอวัยวะเพศผู้หญิง ลากคอคนเป็น ๆ ไปแขวนกับต้นมะขาม เอาเก้าอี้ฟาดจนตาย ?” (หน้า ๙๘) แต่เขาให้เหตุผลว่าหากตนไม่บุกเข้าไปทำร้ายนักศึกษาที่คิดจะล้มเจ้า ประเทศชาติคงต้องอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศอื่น ดังข้อความว่า “แหม่ ตอนนั้นมันเป็นสงครามนะพี่นะ ที่พี่พูดมาน่ะผมก็เห็นหมดนั่นแหละ เพราะสนามรบมันมีอยู่แค่นั้น แต่พี่อย่าถามเลยว่าผมทำอะไรมั่ง ? พวกผมสู้เพื่อชาติ ศาสตร์ กษัตริย์นะพี่ ส่วนพวกพี่จะล้มเจ้า จะพาชาติไปอยู่กับเวียดนาม นั่นถ้าพวกผมแพ้ป่านนี้พวกผมก็คงต้องพูดภาษาเวียดนามกันหมด” (หน้า ๙๘)

หากติดตามผลงานเรื่องสั้นของ กำพล นิรวรรณ จะทราบว่า บนเส้นทางไปโรงพยาบาล มีกลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่น เนื่องจากเรื่องนี้ใช้บทสนทนาในการดำเนินเรื่อง มีเพียงตอนเปิดเรื่องเท่านั้นที่ใช้การบรรยายฉาก ซึ่งบรรยายให้ทราบว่าเหตุการณ์กำลังเกิด ณ เวลาและสถานที่ใด ดังข้อความว่า “ฟ้าสว่างแล้ว แต่พระอาทิตย์ยังซ่อนองค์อยู่หลังตึกแถวอัปลักษณ์ เปล่งแต่แสงขุ่น ๆ ออกมาอาบม่านฝุ่นที่ปกคลุมอยู่เหนือย่านบางลำพู” (หน้า ๙๑) 

การดำเนินเรื่องที่มีเพียงบทสนทนา ทำให้ผู้อ่านมิอาจทราบความคิดที่อยู่ภายในใจของตัวละครได้ แต่หากวิเคราะห์บทสนทนาอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าผู้เขียนดูจงใจให้ตัวละครดำเนินเรื่องเอง โดยปราศจากความคิดของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงความคิดของตัวละครอย่างแท้จริง เสมือนได้สนทนากับตัวละครเอง 

ด้วยกลวิธีการดำเนินเรื่องที่ใช้บทสนทนาเป็นหลัก ทำให้เห็นข้อขัดแย้งระหว่างตัวละครทั้งสองได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนได้ผูกเรื่องโดยใช้ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของตัวละครที่เป็นปฏิปักษ์ทางด้านทัศนคติทางการเมืองต่อกัน โดยการให้ตัวละครสลับกันถามตอบประเด็นการเมือง เล่าประสบการณ์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองที่ไม่ลงรอย การถกเถียงกันระหว่างตัวละครสองตัวเป็นปมขัดแย้งที่ทำให้คนขับแท็กซี่ที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์เข้าใจว่าผู้โดยสารเป็นพวกล้มเจ้า เมื่อถึงโรงพยาบาลจึงใช้น้ำเสียงยียวนถามผู้โดยสารว่า “พี่แน่ใจหรือครับว่าพี่มาถูกที่ ? นี่มันโรงพยาบาลของในหลวงนะ” (หน้า ๑๐๑) ซึ่งคำถามของคนขับแท็กซี่นำไปสู่การคลี่คลายปม แม้ตัวละครผู้โดยสารจะเคยต่อต้านระบอบประชาธิปไตยที่ต้องขับเคลื่อนภายใต้อำนาจของกษัตริย์ แต่สวัสดิการต่าง ๆ เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับแม้จะอยู่ต่างสีต่างฝ่ายกันก็ตาม เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การไม่นับถือสถาบันกษัตริย์ไม่มีผลต่อสิทธิที่จะได้รับการรักษา ดังข้อความตอบกลับของผู้โดยสาร “คุณรู้มั้ย ผมมาที่นี่เพราะได้ยินมาว่ามันเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุด ? ผมไม่สนใจว่ามันจะเป็นโรงพยาบาลของใคร ผมเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ? มันกำลังจะแตกผมต้องรีบไป” (หน้า ๑๐๑) หลังจากตอบคำถาม คนขับยังคงสงสัยว่าผู้โดยสารยังมีความคิดจะล้มเจ้าอยู่หรือไม่ แต่ผู้โดยสารตอบกลับว่าล้มเลิกแล้วเพื่อตัดปัญหา ทั้งสองจึงได้จากกันด้วยความเข้าใจ ผู้เขียนได้ปิดเรื่องพร้อมกับการคลี่คลายปม กลวิธีการปิดเรื่องแบบนี้เป็นการปิดเรื่องแบบให้ผู้อ่านคิดต่อ กล่าวคือ การตอบคำถามเพื่อตัดปัญหาของผู้โดยสาร ทำให้ผู้อ่านสามารถคิดต่อได้ว่าผู้โดยสารอาจเลิกต่อต้านสถาบันกษัตริย์ตามที่ตอบไปจริง ๆ หรือตอบไปเพียงแค่ให้คนขับสบายใจแล้วปล่อยตนให้ลงจากรถและจากกันด้วยดี 

จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การดำเนินเรื่องขาดจุดสุดยอดที่อาจทำให้เรื่องราวน่าตื่นเต้นไป แต่กลวิธีการเล่าด้วยบทสนทนาที่นำประเด็นข้อขัดแย้งทางการเมืองมาให้ตัวละครถกเถียงกันตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เนื้อเรื่องสนุก เรียบง่าย และอ่านเพลิน เรื่องราวที่กล่าวถึงก็มีความสมจริงทั้งในเรื่องเวลาและสถานการณ์การเมืองที่สอดคล้องกับชีวิตจริง นอกจากนี้การดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนายังมีส่วนช่วยแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครอีกด้วย

ตัวละครที่ปรากฏในเรื่องมีเพียงสองตัว ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนวางตนเป็นผู้สังเกตการณ์ ตัวละครจะเปิดเผยตนเองโดยการพูดและกระทำผ่านบทสนทนาซึ่งผู้อ่านจะได้พบด้วยตนเอง ทำให้ตัวละครเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดของเรื่องได้ นอกจากนี้ ตัวละครที่สร้างขึ้นก็พบเห็นได้ในชีวิตจริง ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ง่าย กล่าวคือ ในสังคมหนึ่งมีคนหลากประเภทหลากแนวคิด ดังตัวละครสองตัวที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน และต่างก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง ‘ผู้โดยสาร’ อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลปกครองประเทศไม่ตรงตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ‘คนขับแท็กซี่’ สนับสนุนรัฐบาล เพราะเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามก่อตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขที่มีอำนาจอยู่เหนือประชาชนทั้งประเทศ จากลักษณะของตัวละครตามที่กล่าวข้างต้น ตัวละครทั้งสองจึงจัดเป็นตัวละครประเภทน้อยลักษณะ สังเกตได้จากการยืนหยัดต่อทัศนคติทางการเมืองของตนซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากตัวละครแล้ว ฉากและบรรยากาศของเรื่องยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้สมบูรณ์ ฉากที่ผู้เขียนใช้คือฉากในรถแท็กซี่ เหตุที่ผู้เขียนใช้ฉากในรถอาจเพราะต้องการสมมติให้รถเป็นสังคมหนึ่งที่ประกอบด้วยคนต่างความคิดสองคนมาพบกัน ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองที่ในอดีตเคยใช้กำลังในการต่อต้าน แต่ปัจจุบันคนสองกลุ่มสามารถพูดคุยกันด้วยความสนุก แม้จะมีทัศนคติต่างกันก็ตาม ดังที่คนขับแท็กซี่กล่าวว่า “ผมจะได้เอาไปเล่าให้พรรคพวกฟังว่าวันนี้เจออดีตศัตรูคู่อาฆาต ตอนนี้ก็ยังคิดต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ยังคุยกันได้สนุกตลอดทาง” (หน้า ๑๐๑) 

นอกจากนี้ การกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตยังช่วยทำให้เรื่องราวดูสมจริง เช่น เหตุการณ์ ๖ ตุลา และมีการเอาสถานการณ์ปัจจุบันมากล่าวถึงเพื่อให้เรื่องมีความร่วมสมัย เช่น การเสียดสีเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารคนไทย โดยให้เหตุผลว่าคนไทยมี “นิสัยจู้จี้” ซึ่งผู้เขียนใช้ในการเชื่อมโยงเหตุที่ทำให้ตัวละครสองตัวได้พบกัน เหตุที่คนขับจอดรับตัวละครผู้โดยสารเพราะคิดว่าเป็นชาวต่างชาติ เนื่องจากมีสีผิวเหมือนคนนิโกร และการกล่าวถึงสภาพแวดล้อมเมืองหลวงที่เปลี่ยนไปจากสี่สิบปีก่อน มีตึกและถนนเส้นใหม่แทนที่ไร่นาจำนวนมาก ไร่นาจึงเหลือให้เห็นเพียงหย่อม ๆ เท่านั้น 

การกล่าวถึงอดีตทำให้ตัวละครนึกถึงความหลัง สมัยตนใช้นาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังจากเหนื่อยกับการร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง และนอกจากนี้ การดึงเอาสถานการณ์ทั้งอดีตและปัจจุบันมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมในห้วงเวลาต่าง ๆ ส่งผลดีต่อการคาดเดาลักษณะนิสัยของตัวละคร ซึ่งผู้เขียนสามารถเล่าได้อย่างสมจริง และเข้าใจง่าย ส่งผลให้เรื่องสั้นเรื่องนี้มีคุณค่าทั้งทางด้านสังคมและสุนทรียะ

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเรื่อง โครงเรื่อง ตัวละคร กลวิธีการเขียน หรือฉากและบรรยายกาศ ทุกส่วนเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว ช่วยเสริมให้ผู้อ่านมองเห็นแนวคิดของเรื่องได้เด่นชัด ซึ่งแนวคิดหรือแก่นของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสะท้อนคือ การถ่ายทอดมุมมองทางการเมืองของแต่ละคน เป็นที่ทราบกันดีว่าการเมืองไทยสร้างความสูญเสียให้กับประเทศมาตั้งแต่อดีต สาเหตุสำคัญคือมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในอดีตคนในสังคมเลือกที่จะต่อต้านด้วยความรุนแรง ผู้เขียนจึงใช้เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็น ‘สาร’ ที่ถ่ายทอดให้เห็นว่า ในสังคมหนึ่งแม้คนในสังคมจะมีทัศคติต่างกันแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพยายามยอมรับฟังเหตุผลของกันและกันนั่นเอง

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบเรื่องสั้น ตั้งแต่โครงเรื่อง เนื้อเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร กลวิธีการเขียน และฉากและบรรยากาศ เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ผู้เขียนสามารถนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทยมาเขียนเป็นเรื่องสั้นในรูปแบบบทสนทนาได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม ลำดับเหตุการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล มีการสะท้อนปัญหาในสังคมไทย เช่น รถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งทำให้เรื่องมีความร่วมสมัยและสมจริง และการใช้ภาษาที่เรียบง่าย ทำให้เรื่องมีความโดดเด่น กอปรกับการสร้างตัวละครที่สมจริงเพื่อสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครและแก่นเรื่องได้ง่าย และที่สำคัญคือให้ความเพลิดเพลิน เสมือนได้ร่วมสนทนากับตัวละครเอง องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ บนเส้นทางไปโรงพยาบาล เป็นเรื่องสั้นที่มีคุณค่าทางสังคมและการให้สุนทรียะอย่างยิ่ง

 


กีรติกานต์ ปริทารัมย์

หมายเลขบันทึก: 711762เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท