ทะเลสาบน้ำตา : วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนราง ในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริง


ข้าพเจ้าหวังว่า...จะมีคนมองเห็นสิ่งที่วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนรางในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริงเช่นข้าพเจ้าบ้างสักหนึ่งชีวิต

บางความว่างเปล่า มีบางชีวิตที่วูบไหว บางความมืดมิด มีบางแสงไสวที่สว่าง บางความพร่าเลือน มีบางทรงจำที่ซ่อนเร้นในทรงจำ ท่ามกลางสังคมที่รายล้อมด้วยสรรพสิ่งแปลกใหม่ ความทรงจำเก่า ๆ ถูกแทนที่ด้วยความว่างเปล่า “ทะเลสาบน้ำตา” นวนิยายที่มีผู้เล่าทำหน้าที่เล่าเรื่องราวผ่านดวงตาของเด็กหญิงสิบสองขวบและเด็กชายสิบสามขวบอย่างยิหวาและอนิล เรื่องราวที่ดูกึ่งความจริง กึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ ซ้อนทับกันจนพร่าเลือน ซึ่งท่ามกลางความพร่าเลือนนั้น ความทรงจำอันโศกเศร้า ของเด็กทั้งสองกลับแจ่มชัดกว่าทุกสรรพสิ่ง

ทะเลสาบน้ำตา ของ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย ผู้เขียนนวนิยายมายาคติอย่าง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และความพร่าเลือนของประวัติศาสตร์อย่าง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นวนิยายทั้งสามเรื่องของวีรพร มีลักษณะร่วมกันอย่างเด่นชัดคือสำนวนภาษาที่สวยงามละเมียดละไม แต่ทะเลสาบน้ำตาจะอ่านง่ายกว่าเรื่องอื่น ๆ เพราะวีรพรต้องการให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ตอนข้าพเจ้าทราบว่าวีรพรเขียนนวนิยายเรื่องนี้ให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความคิดว่า นวนิยายเรื่องนี้คงเป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กที่เศร้าที่สุดในโลก

หากใครเคยอ่านผลงานของวีรพร จะทราบดีว่านักเขียนผู้นี้เชี่ยวชาญการเขียนเรื่องราวได้สมบูรณ์ด้วยความโศกเศร้า ข้าพเจ้าเคยอ่านเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ในตอนนั้นด้วยประสบการณ์การอ่านของข้าพเจ้าที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่ถูกจริตกับสำนวนที่เข้าถึงยาก แต่ในความยากของสำนวนนั้นข้าพเจ้ากลับได้รับรสความเศร้าของตัวละครจนยากจะลืมได้ แต่กับเรื่องทะเลสาบน้ำตา ข้าพเจ้ากลับถูกจริตกับสำนวนภาษาที่ละเมียดละไมของวีรพรจนต้องอ่านซ้ำเป็นครั้งที่สอง อ่านรอบแรกข้าพเจ้าสัมผัสได้เพียงความเศร้าของตัวละคร อ่านในรอบที่สองสิ่งที่เพิ่มเติมจากความเศร้าคือมุมมองในการมองโลกของข้าพเจ้าละเอียดมากขึ้น มองเห็นชีวิตเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยความเดียวดาย

นวนิยายเรื่องนี้มีแง่งามทั้งด้านภาษาและด้านสะท้อนสังคม วีรพรให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของชีวิต
เล็ก ๆ ในสังคมที่ผู้คนขับเคลื่อนด้วยการโหยหาแง่งามของชีวิต ผู้คนเหล่านั้นมักละเลยความรู้สึกของชีวิตเล็ก ๆ ใกล้ตัวเพียงเพราะเชื่อว่าเส้นทางข้างหน้ามีสิ่งสวยงามรออยู่ ข้าพเจ้าจึงจะถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กสองคนที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็น เหยื่อของสังคม พอสังเขป

ยิหวาและอนิล สองเด็กภาพลักษณ์ภายนอกกึ่งหญิงกึ่งชายที่มีความเดียวดายเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิตให้พวกเขาได้พบกัน มิตรภาพระหว่างพวกเขาก่อเกิดจากความรู้สึกเดียวกัน ‘การขาดความรักจากครอบครัว’ เป็นสิ่งที่เด็กวัยเพียงสิบกว่า ๆ ต้องเผชิญเพียงลำพัง 

ยิหวา เด็กหญิงผมสีชมพูผู้ถูกแม่ทอดทิ้งไว้ที่บ้านบนตึกพิลึกพิลั่นเพื่อออกตามหาความรักหลังจากที่พ่อกลายเป็นต้นไทร ยิหวาเป็นเด็กที่มีบางมุมเกินวัยด้วยมักถูกแม่ละเลยจึงต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง เด็กที่รอคอยการกลับมาของแม่ซึ่งทิ้งไว้เพียงความทรงจำแสนเศร้าและจดหมายเล็ก ๆ “รออยู่นี่นะหวา อย่าไปไหนทั้งนั้น ฉันจะไปตามหาความรัก...เดี๋ยวมา” (หน้า 33) เมื่ออ่านจดหมายยิหวารู้ได้ทันทีว่าการจากไปของแม่ครั้งนี้จะเป็นการจากไปอย่างไม่หวนคืน ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ค่อย ๆ เลือนรางไปพร้อมกับความยาวนานของกาลเวลา มันนานพอที่จะทำให้แม่เดินผ่านยิหวาไปโดยไม่ฉงนใจถึงการมีอยู่ของยิหวา คนแปลกหน้าที่แม่ยัดเยียดให้ ทำให้ยิหวารู้ว่าตนไม่เคยลืมแม่ได้ ความทรงจำยังคงแจ่มชัดเมื่อแม่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แต่ยิหวาไม่เคยโกรธแม่เลย เพราะคิดว่าแม่ก็มีเหตุผลของแม่ ตนเพียงหวังให้แม่พบกับความรักที่ตามหา แม้ตนจะกลายเป็นลูกที่ถูกลืมก็ตาม 

อนิล เด็กชายผมเผ้ารุงรังที่ถูกพ่อหมางเมิน แม่ของอนิลถูกพ่อไล่ออกจากบ้านโดยไม่มีโอกาสได้ล่ำลากัน ความโหยหาการมีอยู่ของแม่กลายเป็นสิ่งที่อนิลทำเป็นกิจวัตร เมื่อพ่อแต่งงานใหม่ พ่อส่งอนิลไปอยู่กับป้าที่มีลูกวัยใกล้เคียงกับอนิล อนิลกลายเป็นตัวตลกของบ้าน ถูกกลั่นแกล้งจนบางครั้งต้องแกล้งยิ้ม แกล้งสนุกกับทุกสิ่ง ในชีวิตเดียวดายอนิลมีกล่องไม้ในทะเลสาบเป็นที่หลบซ่อน กระทั่งป้าทนต่อการเลี้ยงเด็กหลายคนไม่ไหว จึงส่งอนิลคืนให้พ่อ บ้านที่เคยเป็นบ้านของอนิล เวลานี้ไม่เหลือแม้แต่ร่องรอยของแม่ให้เห็น ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ค่อย ๆ พร่าเลือน อนิลพยายามรื้อฟื้นความทรงจำกระทั่งต้องส่องกระจกแล้วจินตนาการว่าภาพตรงหน้าคือแม่ การมีอยู่ของอนิลคือสิ่งที่ดูเหมือนว่าพ่อจะละเลย การเรียกลูกว่า “นี่” แทนการเรียกชื่อ ทำให้อดิลตัดสินใจออกจากบ้านมาเร่ร่อน จนได้พบกับยิหวา และกลายเป็นเพื่อนรักกัน ยิหวาพาอนิลไปรู้จักกับชาวสมาคมลับแห่งต้นชงโค ประกอบด้วย คุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย และแมวโบ๋เบ๋ 

เด็กทั้งสองร่วมกันเดินทางไปยังเมืองกระจกและป่าดึกดำบรรพ์ในครอบแก้ว สถานที่ที่นำพาให้ทั้งคู่พบกับความฝันและความทรงจำที่ยากจะปะติดปะต่อสถานที่และเวลาได้ ความทรงจำที่เคยพร่าเลือนซ้อนทับกันจนกลายเป็นความแจ่มชัด ความโศกเศร้าคือความรู้สึกที่เด่นชัดที่สุดในกึ่งความจริง กึ่งความฝัน และกึ่งความทรงจำที่แล่นผ่านเข้ามาให้พวกเขารู้สึกแตกสลาย น้ำตาที่ไหลออกมาหนแล้วหนเล่าคือร่องลอยของความทรงจำที่พวกเขาเคยพบเจอ ความโศกเศร้าที่สุดของชีวิตไม่ใช่การถูกทอดทิ้ง แต่เป็นความกลัวการหายไปของความทรงจำทั้งแสนสุขและแสนเศร้าของตนและแม่ ป่าดึกดำบรรพ์ในครอบแก้วเป็นสถานที่ที่วีรพรอาจจงใจใช้เพื่อขยี้อารมณ์ของตัวละครเอกทั้งสองให้เศร้าถึงขีดสุด และเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ต้องพยายามก้าวออกจากวังวนของความโศกเศร้าที่เกิดจากการกระทำของคนที่ขึ้นชื่อว่า พ่อแม่ 

จากเรื่องย่อ ทะเลสาบน้ำตา ข้างต้น การตั้งชื่อเรื่องนับว่าสอดรับกับเนื้อหา “น้ำตา” สื่อถึงอารมณ์เศร้าที่เด่นชัดที่สุดของเนื้อเรื่อง “ทะเลสาบ” อาจเป็นความเปรียบของน้ำตาที่เหือดแห้งหรือไหลพราก เหมือน
การคาดเดาชีวิตที่เปี่ยมด้วยน้ำตาของตัวละครว่าในท้ายสุดน้ำตาจะสิ้นสุดลงที่ใด จะเหือดแห้งหรือจะไหลพรากจนทะเลสาบกลายเป็นทะเลสาบน้ำตา

ทะเลสาบน้ำตา วีรพรใช้กลวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะของนิทานมากกว่าจะเป็นนวนิยาย จะเห็นได้จากบทสนทนาที่ไม่แยกออกจากคำบรรยาย แต่ในด้านโครงสร้างของเรื่องก็มีลักษณะแบบนวนิยาย มีการเล่าเรื่องเป็นลำดับ ผูกโยงให้ตัวละครหลักสองตัวได้พบกันผ่านประสบการณ์ร่วมคือ ปมปัญหาเรื่องครอบครัว นอกจากนี้ ‘ผู้เล่าเรื่อง’ มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดลักษณะและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราว อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครได้อย่างแจ่มชัด

โครงสร้างของเรื่องคือชะตากรรมของยิหวากับอนิล ซึ่งความทรงจำที่แหลกละเอียดและร้าวรานมันนำพาให้พวกเขาได้พานพบ และจากลากันอีกครั้ง โครงสร้างของนวนิยายเรื่องนี้เปรียบเสมือนการดึงเอาความทรงจำที่ยุ่งเหยิงและซับซ้อนของตัวละครออกมาเล่าเป็นฉาก โดยนำเสนอให้เห็นความแตกสลายของตัวละครในลักษณะกึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ และกึ่งความจริง

จะสังเหตได้ว่า ข้าพเจ้าพยายามเน้นคำว่า “กึ่ง” เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ทุกเรื่องราวในทะเลสาบน้ำตา 
วีรพรถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่กึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นชีวิตของยิหวาและอนิลว่า ในขณะที่ทุกสรรพสิ่งค่อย ๆ เปลี่ยนและพร่าเลือนไปจากความทรงจำ ชีวิตของพวกเขากลับไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ยังคงค้างเติ่งกับความแตกสลายไม่ไปไหน

“ถ้าฉันไม่มีแก...” ถ้อยคำบาดลึกจากปากแม่ กล่าวซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ตอนหงุดหงิด ตอนเศร้า โมโห อกหัก ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยต่อความสัมพันธ์ของสองครอบครัวในทะเลสาบน้ำตา “การกำเนิดและมีชีวิตอยู่ของบุคคลหนึ่งเป็นสิ่งบาปมหันต์หรือ จึงผลักไสให้มีชีวิตอย่างเดียวดายในผืนแผ่นดินกว้าง” วีรพรตอบข้อสงสัยของข้าพเจ้าด้วยการนำเรื่องราวที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงมาสะท้อนให้เห็นว่า บ้าน ไม่ได้หมายถึงครอบครัวเสมอไป ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ไม่มีมาตรฐานมาขีดเส้น ทุกคนต่างมีเหตุผลในการกระทำของตนเอง เช่นเดียวกับแม่ของยิหวา ยิหวาเชื่อว่าทุกการกระทำของแม่มีเหตุผลเสมอ จึงไม่พยายามทำความเข้าใจให้ตนเองต้องโศกเศร้าไปมากกว่าที่เป็นอยู่ 

 “รางเลือนเหมือนภาพฝันที่เห็นวาบแวบในเสี้ยววินาทีนั้นคือแม่ และบัดนี้ก็เลือนร้างไปแล้วอีกครั้ง และบัดนี้ก็อันตรธานไปเหมือนไม่เคยมีอีกครั้ง และบัดนี้ก็ยังคงไม่สามารถจดจำหรือรำลึกหรือรื้อฟื้นใบหน้านั้นขึ้นอีกได้ในใจ” (หน้า 178) ความพร่าเลือนของความทรงจำ คือความน่ากลัวเพียงหนึ่งเดียวในชีวิตแห่งความพลัดพรากของยิหวาและอนิล ภาพใบหน้าและสรีระของแม่ค่อย ๆ เลือนรางไป สิ่งที่วูบไหวในความพร่าเลือนนั้นคือความเศร้าและน้ำตา การสะท้อนสังคมด้วยการนำประเด็นความขัดแย้งของครอบครัวมาเล่าเช่นนี้ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้อาจไม่เหมาะกับการเป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กมากนัก ด้วยความโศกเศร้าที่เหลือล้นจนผิดไปจากวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กทั่วไป นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแง่งามในเรื่องความแปลกใหม่ทั้งเนื้อหาและแนวคิด ลักษณะเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดเห็นว่า ทะเลสาบน้ำตา เหมาะกับผู้ที่พร้อมจะสัมผัสกับรสแห่งความเศร้าและน้ำตามากกว่าจะเป็นเด็กตามที่วีรพรให้คำจำกัดความนวนิยายเรื่องนี้ว่าคือ วรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กตั้งแต่อายุสิบสามปีขึ้นไป 

ทุกชีวิตใน ทะเลสาบน้ำตา วีรพรสร้างให้มีความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกัน ตัวละครทุกตัวมีเอกลักษณ์เด่น 
วีรพรถ่ายทอดตัวตนของแต่ละตัวกึ่งสมจริงกึ่งเหนือจริงผสมผสานกันอย่างลงตัว

“เราเจอกัน เผลอทำกันหายครู่หนึ่ง แล้วเราก็หากันเจออีก และถ้าเราพยายามมากพอเราก็จะไม่ทำกันหายอีก แต่ถ้าสมมติ...สมมติว่าเราเผลอหรือโชคไม่ดีแล้วทำกันหายอีกจริง ๆ เราก็จะหากันเจอได้อีกเสมอนะ 
ไม่เป็นไรนะ” (หน้า 185) การพลัดพราก คือสิ่งที่วีรพรใช้เป็นจุดร่วมกันของตัวละคร ยิหวาและอนิลพลัดพรากจากแม่ที่อาจซ่อนอยู่สักมุมหนึ่งของเมืองกระจก คุณยายไลลาพลัดพรากจากคนรักเป็นระยะเวลามากกว่าสิบปี 
จุดร่วมกันนี้ก่อเกิดเป็นสมาคมลับแห่งต้นชงโค การพลัดพรากจึงเป็นประเด็นที่วีรพรอาจใช้เพื่อเสียดสีสังคมที่
ทุกคนต่างก้มหน้าเดินทางสู่เมืองกระจก เมืองที่ดูดกลืนตัวตนของผู้คนทั้งหลายให้พลัดพรากและสูญหายไปจากความทรงจำ ซึ่งวีรพรเล่าเรื่องราวเมืองกระจกในจินตนาการที่ซ้อนทับกับเมืองกระจกในชีวิตจริงได้อย่างสมจริง แต่ทว่ามีความเหนือจริงเรื่องลักษณะของตัวละคร กล่าวคือ ตามทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่า วีรพรดูจงใจสร้างตัวละครให้มีความผิดแปลกไปจากสังคมเพื่อสร้างจุดเด่น แต่ในขณะเดียวกัน ความผิดแปลกก็ทำให้ตัวละครแฝงความเป็นผู้ใหญ่ไว้ในตัวด้วย ดังเช่นยิหวา เด็กประหลาดผมสีชมพูจากการกินขนมปริมาณมาก ด้วยความประหลาดนี้ทำให้เด็กหัวชมพูกลายเป็นตัวประหลาดของคนในสังคม แต่การวางเชยต่อคำครหาหล่อหลอมให้ยิหวากลายเป็นเด็กที่พยายามเข้าใจชีวิต มองทุกสรรพสิ่งว่าเป็นไปตามธรรมชาติ สามารถยอมรับความจริงแสนเจ็บปวดที่ต้องเผชิญได้ จึงไม่แปลกหากวีรพรจะจบเรื่องด้วยการให้ยิหวาเป็นเพียงคนเดียวที่เผชิญกับความพลัดพรากอีกครั้งและอีกครั้ง

นอกจากตัวละครที่เป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวแล้ว ยังมีสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครได้อย่างดีคือ ‘เมืองกระจก’ และ ‘ครอบแก้ว’ 

เมืองกระจก เป็นเมืองที่รายล้อมด้วยตึกกระจกสะท้อนแสง ผลจากการสะท้อนแสงทำให้เกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับผู้คนในเมืองกระจกนั้น ดังที่คุณยายไลลาเล่าว่า ผู้คนในเมืองกระจกมีโรคประจำตัวคือโรค “เลือนลืม” โรคที่ส่งผลให้ลืมความทรงจำของตนเอง เช่นแม่ของยิหวาที่หลงลืมตัวตนและลูกของตนเองไป

ครอบแก้ว สถานที่ที่กักเก็บความทรงจำของผู้คนไว้ เพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้ผู้คนหลงลืมความทรงจำของตนเอง ในครอบแก้วมีความทรงจำและความฝันที่ซ้อนทับกันจนยากจะปะติดปะต่อ บางความทรงจำและความฝันกระตุ้นให้รู้สึกสุข บางความทรงจำและความฝันกระตุ้นให้รู้สึกแตกสลาย ดังเช่นยิหวาและอนิลที่ถูกความทรงจำและความฝันอันเลือนรางในครอบแก้วกระตุ้นให้ระลึกถึงความเศร้าและความแตกสลายที่ซ่อนไว้ภายในจิตใจจนทะลักออกมาเป็นน้ำตาที่ไหลดั่งสายธาร

โลกของทะเลสาบน้ำตาเต็มไปด้วยความเหนือจริงที่ซ้อนทับกับความจริง จนข้าพเจ้ามิอาจกล่าวได้ว่า
นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายแฟนตาซี สัจนิยม หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่อง ณ สถานที่และเวลาที่ทับซ้อนกันของ ความฝัน ความทรงจำ และความจริงที่วีรพรใช้ เป็นการสะท้อนถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งบนโลกคือ ไม่มีความทรงจำใดที่ตั้งอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงนิรันดร กาลเวลาจะลบความทรงจำให้เลือนรางและกระจัดกระจายไปมุมใดมุมหนึ่งบนโลก รอคอยให้เราค้นพบและรื้อฟื้นความทรงจำเหล่านั้นอีกครั้ง แต่ข้าพเจ้าก็มิอาจตอบได้เช่นกันว่าความจริงในทะเลสาบน้ำตาเป็นเช่นไร ความจริงหนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้จากทะเลสาบน้ำตาคือความเศร้าที่แจ่มชัดท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนราง และความเศร้านั้นก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุมาจาก “ครอบครัว” โลกอีกใบที่กลายเป็นโลกแห่งทรงจำของทรงจำของยิหวาและอนิล

โลกกึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ และกึ่งความจริง มีชีวิตเล็ก ๆ ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกกำลังวูบไหวท่ามกลางความพร่าเลือน ชีวิตที่ค้างเติ่งครึ่ง ๆ กลาง ๆ ถูกถ่ายทอดด้วยภาษาอันละเมียดละไมของวีรพรได้อย่างกลมกล่อมและน่าพิสมัย นอกจากนี้ องค์ประกอบเด่นที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ การออกแบบหน้าปกและภาพประกอบแนวคอลลาจของ นักรบ มูลมานัส ส่วนสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีแง่งามทั้งด้านแนวคิดและสุนทรียะ ข้าพเจ้าหวังว่า...จะมีคนมองเห็นสิ่งที่วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนรางในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริงเช่นข้าพเจ้าบ้างสักหนึ่งชีวิต

 

กีรติกานต์ ปริทารัมย์

หมายเลขบันทึก: 711760เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท