ในสังคมโลกที่มากด้วยชีวิต เรื่องราว และประสบการณ์ ทั้งที่เป็นความจริงและความลวง และภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือความเป็นไปอันโหดร้ายในสังคมที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ผู้อ่านจะได้ค้นหาสภาพความเป็นจริงและธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องเล่าของ “เด็กชาย” ที่มี “ว่าว” เป็นเส้นแบ่งความจริงและความลวง เมื่อผู้อ่านได้รับรู้ตัวตนของเด็กชาย ผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนอ่านเรื่องราวของตัวเอง และได้ร่วมตัดสินใจว่าหากเป็น “เขา” จะเลือก หนี หรือ อยู่ กับความเป็นจริง ใน “ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม”
ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เป็น ๑ ใน ๑๑ เรื่องสั้นที่รวมไว้ใน ในโลกเล่า ของ วัฒน์ ยวงแก้ว หนังสือวรรณกรรมที่ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นที่น่าเสียดายของนักอ่านหลายท่าน เพราะหากได้อ่านครบทั้ง ๑๑ เรื่องแล้ว จะรู้สึกได้ทันทีว่า วัฒน์ ยวงแก้ว เป็นนักเขียนมากฝีมือ เล่าเรื่องได้เฉียบขาด สร้างตัวละครให้มีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ตัวละครแต่ละตัวล้วนสมจริง และมีจริงในสังคมไทย จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนในงานเขียนของ วัฒน์ ยวงแก้ว คือการผูกเรื่องที่ซับซ้อนและยอกย้อนของสถานการณ์และชะตากรรมของตัวละคร ส่งผลให้เรื่องเล่าของเขามีความแปลกใหม่ ให้รสชาติของความท้าทาย และมีความสมจริงทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงตัวละครได้ง่าย
เรื่องสั้นในเล่ม ในโลกเล่า ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ‘เล่าเรื่องโลก’ สำหรับกลุ่มเรื่องสั้นที่เล่าภาวะชีวิตจริงของผู้คนในสังคม และ ‘โลกเรื่องเล่า’ สำหรับกลุ่มเรื่องสั้นที่เน้นเทคนิควิธีการเล่าในแบบแปลกใหม่ เล่าแบบไล่สลับลำดับกัน ซึ่ง “ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม” เป็นหนึ่งใน ‘โลกเรื่องเล่า’ ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวละคร ตั้งแต่เป็น เด็กชายวัยเจ็ดขวบ สู่ ชายวัยหกสิบกว่า
ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ เรื่องเล่า ของชายคนหนึ่ง ตั้งแต่วัยเด็กสู่วัยชรา เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น ๔ ตอน ได้แก่ ว่าว (แห่งวัยเยาว์), ว่าว (ในความซ่อนเร้น), ว่าว (แห่งชะตากรรม) และ ว่าว (ในสายตาของความเป็นอื่น)
ว่าว (แห่งวัยเยาว์) จุดเริ่มต้นของ ว่าวนกสีขาว ที่ถูกสร้างโดยเด็กชายวัยเจ็ดขวบที่มองโลกด้วยจินตนาการทับซ้อนกับความเป็นจริงจนแยกแทบไม่ออก
ว่าว (ในความซ่อนเร้น) เรื่องราวในโลกแห่งจินตนาการและความฝันของเด็กชายที่โตขึ้นจากเดิม โดยมี ‘อาทิตย์’ เพื่อนร่วมห้องเรียน แสดงว่าวที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ช่วยให้โลกแห่งจินตนาการของเขาสวยงาม แต่แล้วโลกอันสวยงามก็ได้สลายไป เมื่อในความฝันที่ซ้อนทับกับความจริงของเขา อาทิตย์ถูกยิงที่ขมับด้วยกระสุนปริศนา ๒ นัดขณะพยายามว่ายน้ำข้ามฝั่ง การตายของอาทิตย์ทำให้เด็กชายเกิดความสงสัย และเกิดปมในใจ
ว่าว (ในชะตากรรม) เรื่องราวของเด็กชายในวัย เด็กหนุ่ม และ หนุ่มใหญ่ เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน ทั้งความไม่เท่าเทียบ การกดขี่ข่มเหง และการได้เห็นภาพความรุนแรงทางการเมือง ส่งผลให้เขารู้สึกอึดอัดและยอมรับความจริงไม่ได้ จึงต้องหาทางหนีจากความโหดร้าย ด้วยการพึ่งแสงสว่างจากคำสอนของพระเยซู แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเผชิญกับความเป็นจริงอีกครั้ง และเรื่องราวหนุ่มใหญ่ในวัยทำงาน เขายิงคนที่ขมับ ๒ นัด และคิดหนีความผิด แต่เมื่อมองเห็นว่าวที่กำลังลอยอยู่บนฟ้า ทำให้เขานึกถึงอาทิตย์ และเปลี่ยนใจโทรหาตำรวจเพื่อมอบตัว เพื่อลดความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นภายในใจ ไม่ว่าจะจากการฆ่าคนหรือจากการตายของอาทิตย์ก็ตาม
ว่าว (ในสายตาของความเป็นอื่น) เรื่องราวของเด็กชายเมื่อเข้าวัยหกสิบกว่า ที่รับบทบาทเป็นคนเชิดหุ่นเปรต การได้มองสายตาและสีหน้าของผู้คนที่สะท้อนความหวาดกลัวออกมาขณะมองเปรต ได้มองความเป็นไปในโลกด้วยความคิดของคนมีประสบการณ์และเข้าใจชีวิต ทำให้เขารู้สึกสงบ สบายใจ เรื่องราวจบลงเมื่อเขาได้มองว่าวนกสีขาวผ่านสายตาของเปรต สายตาที่มองโลกแตกต่างไปจากเดิม
การถ่ายทอดเนื้อเรื่องออกมาเป็นตอน ๆ เป็นวิธีการเล่าที่ทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงเวลาและสถานการณ์ได้ง่าย สามารถลำดับเหตุการณ์ได้สอดคล้องกับบทบาทที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัยของตัวละคร เทคนิคการลำดับเวลาเช่นนี้ทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง นอกจากนี้เนื้อเรื่องยังมีความสอดคล้องกับทัศนะของผู้เขียน ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และรับสาระและความเพลิดเพลินได้อย่างเต็มที่
ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เป็น เรื่องเล่า ที่ผู้เขียนต้องการสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ที่พยายามหลีกหนีจากโลกที่รายล้อมไปด้วยความโหดร้ายและความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น โดยมี “เด็กชาย” “เด็กหนุ่ม” “หนุ่มใหญ่” และ “ชายวัยหกสิบกว่า” เป็นตัวละครที่มีผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ซึ่งได้ใช้ ว่าว เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครในหลากวัยหลายบทบาท ที่ดำเนินไปตามสถานการณ์ และ ชะตากรรม และ ว่าว เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนใช้เป็นเส้นแบ่งความจริงและความลวง ที่จะเป็นตัวดึงให้ตัวละครที่หลงอยู่กับจินตนาการสวยงามกลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวได้สอดคล้องกับชื่อเรื่องอย่างยิ่ง
“เมื่อเธอส่งว่าวขึ้นบนท้องฟ้า มันไม่ใช่ตัวแทนแต่เป็นชีวิต” (หน้า ๑๖๔)
ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้เผชิญกับความโหดร้ายมากเกินจะยอมรับและปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้ ย่อมแสวงหาแสงสว่างที่จะช่วยกลืนความมืดมิดได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “หนีความจริง” แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครหนีชีวิตที่ถูกขีดด้วยชะตากรรมไปได้ ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน ก็จะถูกดึงให้กลับสู่โลกความเป็นจริง เหมือนดั่ง ว่าว ที่ทะยานต้านลมและแรงดึงเชือกอยู่บนท้องฟ้า การจะต้านลมได้สม่ำเสมอ ขนาดว่าวและความยาวเชือกต้องสมดุลกับแรงลม ต้องการให้ว่าวต้านลมมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างว่าวให้มีลักษณะอย่างไร เช่นกันกับชีวิต เส้นทางชีวิตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าจะหลีกหนีหรือปรับตัวให้สมดุลกับแรงต้านหรืออุปสรรคที่เข้ามาปะทะ ซึ่งการเปรียบ คน เป็น ว่าว ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพเหตุการณ์และลักษณะตัวละครได้ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นจุดโดดเด่นที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และจุดโดดเด่นอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือการผูกเรื่อง
หากใครติดตามผลงานของ วัฒน์ ยวงแก้ว จะทราบดีว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีมือในการผูกเรื่องให้ซับซ้อนและยอกย้อน ในแต่ละตอนมักกล่าวถึงบทสรุปของเรื่องก่อนจึงจะเล่าความเป็นมา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เขียน แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยทิ้งสาระสำคัญในส่วนเนื้อหาที่สุดท้ายก็นำพาผู้อ่านไปสู่จุดสะเทือนของเรื่อง
ในเรื่องสั้น ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการบรรยายการเคลื่อนไหวของตัวละคร ที่ขยับร่างกายตามลักษณะการต้านลมของว่าว เป็นการเปิดเรื่องเพื่อต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่มีชีวิตเสมือนว่าวที่กำลังทะยานต้านแรงลม ตลอดทั้งเรื่องผู้เขียนได้ผูกเรื่องให้ตัวละครเผชิญกับอุปสรรค โดยมีความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสังคม ที่ให้ตัวละครมองเห็นความจริงที่โหดร้ายในสังคม เช่น ภาพความรุนแรง การกดขี่ของคนในสังคม เป็นต้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในใจของตัวละคร คือการที่ตัวละครต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความสูญเสียเพื่อนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สับสนและเกิดปมในใจที่ไม่สามารถแก้ได้แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือการให้ตัวละครในวัยหนุ่มใหญ่แก้สถานการณ์ด้วยความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง คือตัวละครยิงปืนไปที่ขมับของฝ่ายตรงข้าม ๒ นัด และหนีความผิด โดยไม่มีความลังเลใจแต่อย่างใด แต่ผู้เขียนได้ใช้ ว่าว เป็นตัวช่วยดึงสติให้หนุ่มใหญ่กลับใจ และการมองเห็นว่าวทำให้เขารำลึกถึงความหลัง เช่น เหตุการณ์การตายของอาทิตย์ ที่สร้างบาดแผลภายในใจ และเกิดความรู้สึกผิด ไม่ว่าจะจากการฆ่าคนหรือการตายของอาทิตย์ก็ตาม ความรู้สึกนี้เป็นเหตุให้เขายอมมอบตัวกับตำรวจด้วยตัวเอง หลังจากเหตุการณ์นี้จบลงผู้เขียนได้เล่าข้ามไปช่วงบั้นปลายชีวิตของตัวละคร เพื่อถ่ายทอดชีวิตและทัศนคติที่ตัวละครมีต่อโลก ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวละครได้คลี่คลายปมที่เกิดขึ้นภายใจจิตใตของตนเอง
ผู้เขียนได้คลี่คลายปมในตอนท้ายเรื่อง ที่ให้ตัวละครได้มองเห็นโลกความเป็นจริงด้วยความเข้าใจและยอมรับ เป็นการคลี่คลายปมที่สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่า ชีวิตมีหลากสีสันหลายเหตุการณ์ สิ่งที่จะทำให้ใช้ชีวิตด้วยความสงบและสบายใจเหมือนตัวละครในตอนท้ายได้ก็คือ การมองโลกด้วยความเข้าใจ ยอมรับความจริง และกล้าเผชิญกับอุปสรรคที่เข้ามาถาโถม เพื่อปรับให้ชีวิตสมดุลกับความเป็นไปในสังคม ผู้แต่งได้ปิดเรื่องด้วยการให้ผู้อ่านคิดต่อเอง ด้วยการใช้ ว่าวนกสีขาว เป็นตัวเชื่อมโยงสุดท้ายซึ่งเป็นการบอกใบ้ให้ผู้อ่านจินตนาการต่อ “มีเพียงเขาที่เฝ้ามองมัน โดยสายตาที่เจาะขึ้น หรือบางทีอาจจะโดยสายตาของเปรต” (หน้า ๑๘๘) กลวิธีการปิดเรื่องเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านต้องกลับไปอ่านใหม่อีกรอบ เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า “สายตาของเปรต” ตามทัศนะของผู้แต่งมีสิ่งใดแอบแฝงอยู่
เรื่องราวของ เด็กชาย เด็กหนุ่ม หนุ่มใหญ่ และชายวัยหกสิบกว่า เสมือนเป็นสารที่ผู้เขียนต้องการชี้แนะแนวทางชีวิตผู้อ่านในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ให้ดำรงตนอยู่กับปัจจุบันด้วยการยอมรับความจริง เป็นสัจธรรมเมื่อมีขาวย่อมมีดำ เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ และเมื่อมีความลวงย่อมมีความจริง การหลีกหนีความมืดดำเพื่อหาแสงสว่างคือความลวงที่จิตปรุงแต่งขึ้น ดังนั้นจงพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครสามารถหนีโลกแห่งความจริงไปได้
เมื่อพิจารณาแก่นเรื่อง เนื้อเรื่อง และโครงเรื่อง เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็น เรื่องเล่า ได้น่าสนใจและน่าติดตาม ลำดับเหตุการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล เชื่อมโยงเหตุการณ์และเวลาที่แตกต่างกันได้อย่างแยบยล มีการสอดแทรกเนื้อหาเชิงสัจธรรม ซึ่งทำให้เรื่องน่าค้นหา วิธีการเล่าเรื่องที่สลับซับซ้อนก็เป็นวิธีการเล่าแปลกใหม่ ทำให้เรื่องมีความโดดเด่น นอกจากนี้การสร้างตัวละครที่สมจริงเพื่อสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครและแก่นเรื่องได้ง่าย กอปรกับการใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา แต่มีการแอบแฝงความหมายที่แท้จริงให้ผู้อ่านเกิดการวิเคราะห์และคิดตาม และที่สำคัญคือให้ความเพลิดเพลิน เสมือนนั่งอ่านชีวประวัติของคนที่มีลักษณะบางประการคล้ายตัวผู้อ่านเอง องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เป็นเรื่องสั้นที่ถือได้ว่ามีคุณภาพทั้งในทางเสริมทักษะการอ่านและให้สุนทรียะอย่างยิ่ง
กีรติกานต์ ปริทารัมย์
ไม่มีความเห็น