สวนสวรรค์ : โลกอีกใบของมวลหมู่ผู้รักสันติ


ในที่สุดมันก็มาเคาะประตูห้องของข้าพเจ้า...

ในสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังตกอยู่ในสภาวะความเครียดและเบื่อหน่ายการต่อสู้กับความเหลวแหลกของระบบการเมืองไทย ส่งผลให้หลายคนต่างแสวงหาสังคมในอุดมคติที่เรียกว่า “ยูโทเปีย” สังคมอันสมบูรณ์ที่มนุษย์ทุกคนต่างใฝ่ฝัน และเชื่อว่าจะได้พบก็ต่อเมื่อเข้าสู่โลกหลังความตายเท่านั้น จึงไม่แปลกหากมีวรรณกรรมที่กล่าวถึงโลกหลังความตายจำนวนมาก เช่นเดียวกับ “สวนสวรรค์” ของ กำพล นิรวรรณ 

“สวนสวรรค์” เป็น 1 ใน 12 เรื่องสั้นที่รวมไว้ในหนังสือ “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี พ.ศ.2563 เรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ ภาค ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’ และภาค ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ ซึ่ง สวนสวรรค์ เป็นหนึ่งในภาค ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ เรื่องสั้นที่ถ่ายทอดความปรารถนาต่อโลกที่ดีกว่าของมนุษย์ออกมาในรูปแบบวรรณกรรมแนว “Gothic”

วรรณกรรมแนว Gothic เป็นประเภทย่อยของวรรณกรรมจินตนิยม ซึ่งมีการผสานความสยองขวัญเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะจินตนิยม วรรณกรรมแนวนี้มักมีฉากสถานที่เก่าแก่ เช่น คฤหาสน์ ปราสาท หรืออาราม ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ บรรยากาศของเรื่องที่น่ากลัว แก่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความตาย และการบีบคั้นทางอารมณ์ ด้วยลักษณะของวรรณกรรมแนว Gothic สังเกตได้ว่ากำพลดูจงใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวความปรารถนาโลกที่ดีกว่าของมนุษย์ในบรรยากาศชวนสยองขวัญผ่านเรื่องสั้น สวนสวรรค์

สวนสวรรค์ เป็นเรื่องราวของชายชาวกรุงลอนดอนที่เป็นโรคร้ายชนิดหนึ่ง และเป็นเจ้าของห้องเช่าระแวกเดียวกับป่าช้าที่มีอาคารทรงโรมันขนาดคฤหาสน์ยืนตระหงาดหน้าทางเข้า สถานที่ที่เขาเคยแวะไปเยี่ยมเยียนเมื่อครั้งยังไม่ล้มป่วย เขาทนทุกข์ทรมานรอความตายตลอดหกเดือนตามที่หมอทำนายไว้ เพื่อหวังจะพ้นจากความเจ็บปวดสู่ความวิเวก แต่ทว่าเมื่อครบหกเดือนเขากลับยังคงมีชีวิตมีลมหายใจเป็นปกติ และรู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับพลังลี้ลับบางอย่างจากบรรดา “ผู้รักสันติ” ที่ทอดร่างสงบนิ่งอยู่ใต้ผืนปฐพีในป่าช้า พลังลี้ลับดังกล่าวทำให้เขารู้สึกมีพละกำลังจนสามารถออกไปเดินเล่นได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ได้พบกับสตรีลึกลับในชุดแดงซึ่งได้นำพาเขาไปเยี่ยมสุสานนักเขียนชื่อดัง การได้รับรู้เรื่องราวในโลกใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยความสุขของผู้รักสันติ และการได้สัมผัสความสงบในโลกหลังความตายที่สตรีลึกลับเรียกว่า “สวนสวรรค์ยูโทเปีย” ทำให้เขาโหยหาความสุขในสวนสรรค์แห่งนี้ แต่เมื่อความสุขถูกแทนที่ด้วยความอึดอัดและความมืดมิดที่คละเคล้าด้วยกลิ่นไม้ผุเน่าและกลิ่นกุหลาบชวนคลื่นเหียนอาเจียน เขากลับตะเกียดตะกายสุดชีวิตเพื่อหลุดพ้น เรื่องราวจบลงเมื่อเขาตื่นขึ้นจากความฝัน และทิ้งให้ผู้อ่านสงสัยว่าตัวเขาในตอนท้าย อยู่ในโลกความจริงหรือโลกหลังความตาย

เมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องแล้ว อาจกล่าวได้ว่า “สวนสวรรค์” เป็นชื่อเรื่องที่บอกเรื่องราวของโลกหลังความตายได้อย่างครอบคลุม การตั้งชื่อเรื่องว่า สวนสวรรค์ ผู้เขียนอาจจะมีนัยสำคัญ 2 ประการ ประการแรกเป็นการสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของโลกหลังความตาย ชวนให้สงสัยว่า สวรรค์ คือสถานที่ที่มนุษย์ปรารถนาจริงหรือ ประการต่อมา อาจเป็นความต้องการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดอันซับซ้อนของมนุษย์ที่มีความปรารถนาในโลกที่ดีกว่า แต่เมื่อได้สัมผัสกลับต่อต้านการมีอยู่ของโลกหลังความตาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสะท้อนว่า ความปรารถนาของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสัจธรรมเมื่อต้องทนทุกข์กับชีวิตที่เป็นอยู่ การแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าคือความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ทุกคน แต่โลกที่ดีกว่าหรือโลกในอุดมคติเป็นเพียงโลกสมมติที่จิตปรุงแต่งจากความปรารถนา “สวนสรรค์” จึงเป็นเรื่องราวที่ให้คำตอบได้ว่า โลกที่ดีกว่า ไม่ใช่โลกหลังความตาย แต่เป็นโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นภายในใจเท่านั้น 

หากติดตามผลงานของผู้เขียน จะทราบดีว่าเป็นนักเขียนที่มีความโดดเด่นเรื่องการรวบรวมประสบการณ์เฉพาะของตนเองจากหลายสถานที่มาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับรู้ ผู้เขียนจึงมักเน้นการเล่าเรื่องผ่านพฤติกรรมและความรู้สึกของตัวละครเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง โดยให้ตัวละครหลักใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ “ข้าพเจ้า” เล่าเรื่องของตนเอง ผู้เขียนใช้ข้าพเจ้าเป็นผู้เล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล ใช้ภาษาบรรยายได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสื่ออารมณ์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน

กลวิธีการเปิดเรื่องเป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้เรื่องราวน่าติดตาม ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยประโยคชวนสงสัย “ในที่สุดมันก็มาเคาะประตูห้องของข้าพเจ้า...” (หน้า 245) การเปิดเรื่องเช่นนี้กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า ตัวละครข้าพเจ้าอาจรอคอยบางสิ่งอยู่ ผู้เขียนเกริ่นเรื่องราวด้วยภูมิหลังของตัวละคร การต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บคือสิ่งที่ผู้เขียนหยิบขึ้นมาเป็นเหตุผลให้ข้าพเจ้าเกิดความต้องการการหลุดพ้น นั่นก็คือ “ความตาย” ผู้เขียนใช้ตัวละครสตรีลึกลับในชุดแดงเป็นตัวชักจูงเรื่องราวให้ไล่ระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ การนำพาข้าพเจ้าไปป่าช้าของสตรีลึกลับ เป็นการช่วยให้ข้าพเจ้ายิ่งทวีความต้องการหลุดพ้นจากชีวิตที่เป็นอยู่ กระทั่งได้สัมผัสเป็นโลกหลังความตายที่แท้จริง ความต้องการนั้นก็สลายไปพร้อมกับความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจ สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วข้าพเจ้าเกิดความขัดแย้งภายในใจตนเอง เขากลัวความตายซึ่งสวนทางกับความต้องการหลุดพ้นจากโลกเก่าไปสู่โลกที่ดีกว่าของตนเอง ผู้เขียนปิดเรื่องด้วยการให้ข้าพเจ้าตื่นจากความฝัน เป็นกลวิธีการปิดเรื่องที่ทิ้งให้ผู้อ่านได้สงสัยว่าแท้จริงแล้วข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาในโลกเก่าหรือโลกหลังความตายกันแน่

องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เรื่องราวดำเนินได้อย่างสมบูรณ์คือ ตัวละคร จากการวิเคราะห์ตัวละคร สิ่งหนึ่งที่สร้างความสงสัยคือ อาจมีมูลเหตุอื่นที่ทำให้ตัวละครหมดความอดทนต่อการมีชีวิตอยู่นอกเหนือจากความเจ็บปวด เมื่อพิจารณาลักษณะนิสัยของตัวละครข้าพเจ้า เขารักสันโดษ มีครอบครัวแต่กลับใช้ชีวิตคนเดียวในห้องเช่าเล็ก ๆ ในขณะที่นอนรอความตาย ไม่มีสักคนที่คอยอยู่เคียงข้างเขา นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขามองไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ อาจกล่าวได้ว่า สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่คอยกล่อมเกลาจิตใจให้โน้มเอียงไปตามการขับเคลื่อนของสภาพสังคม เมื่อมนุษย์ปราศจากที่พึ่งพิง ความตายคือหนทางที่หลายคนเลือกเดิน ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวละครข้าพเจ้ามีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคลที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง และพบเห็นได้เป็นจำนวนมาก

อีกตัวละครหนึ่งที่ช่วยทำให้เรื่องราวเข้มข้นคือ สตรีลึกลับในชุดแดง ผู้เขียนอาจสร้างตัวละครตัวนี้จากจินตนาการเพื่อคอยปลอบประโลมและชี้หนทางให้ตัวละครข้าพเจ้า เนื่องจากสตรีลึกลับมีบทบาทต่อข้าพเจ้าในห้วงเวลาที่อยู่จุดต่ำสุดของชีวิต แต่ความลึกลับที่เป็นลักษณะเด่นของตัวละครทำให้มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศของเรื่องมีความลี้ลับนั่นเอง

ความน่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ที่ฉากและบรรยากาศในเรื่อง จากที่กล่าวไปก่อนหน้า วรรณกรรมแนว Gothic มักมีฉากสถานที่เก่าแก่ เช่น คฤหาสน์ ปราสาท หรืออาราม ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ และบรรยากาศของเรื่องที่น่ากลัว ซึ่งฉากในเรื่องสวนสรรค์คือป่าช้าที่มีอาคารขนาดคฤหาสน์ทรงโรมันและรูปปั้นที่เกี่ยวข้องกับความลี้ลับตั้งอยู่ เช่น รูปปั้นนางฟ้า ผู้วิจารณ์วิเคราะห์ว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการใช้เป็นตัวแทนของสตรีลึกลับในชุดแดง เพราะรูปปั้นนางฟ้าหน้าหลุมศพหรือโลงศพเป็นเทวดาที่พบได้ในสุสาน เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่นำพาผู้ตายสู่สวรรค์ หรืออีกนัยหนึ่งตามความเชื่อของชาวตะวันตกคือ เป็นสัญลักษณ์ของความตาย 

ด้วยเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นแนวลี้ลับ บรรยากาศของเรื่องจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่โดดเด่น ตลอดทั้งเรื่องผู้เขียนถ่ายทอดบรรยากาศชวนสยองขวัญได้อย่างน่าติดตาม เช่น “เมื่อเธอหันมองจ้องข้าพเจ้าตรง ๆ นัยน์ตากลมโตของเธอก็ฉายโชนพลังลี้ลับบางอย่างจนข้าพเจ้าขนลุกซู่ เธอยิ้มที่มุมปากแล้วลุกจากบาร์ผลักประตูกระจกก้าวออกไปยืนตากหิมะนอกร้านทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใส่โค้ทกันหนาว ทอดตาไปยังซอยดาริมเปิลเช่นเคย ไม่มีอากาศหนาวเย็นแม้แต่น้อย ไม่มีแม้แต่ไออุ่นของลมหายใจลอยออกมาให้เห็นเหมือนเช่นที่คนทั่วไปควรจะมี” (หน้า 250) “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงฮือ ๆ เหมือนเสียงครวญครางของคนบาดเจ็บ กลิ่นเลือดโชยมาเข้าจมูก เนื้อตัวเฉอะแฉะไปด้วยน้ำเมือก ขณะด้วยกัน อ้อมแขนนุ่มนวลกลับกลายเป็นวงแขนทรงพลัง กระหวัดรัดรึงจนข้าพเจ้าหายใจไม่ออก” (หน้า 261)

จากข้อความข้างต้น ผู้เขียนกำลังเล่นกับกลวิธีการเล่าเรื่องที่ต้องการบรรยายสถานการณ์ชวนสยองขวัญ เพื่อขยี้อารมณ์ผู้อ่านให้ดำดิ่งไปกับตัวละคร กลวิธีการเล่าที่เน้นบรรยายฉากและบรรยากาศดูเหมือนจะส่งผลให้เรื่องสั้นเรื่องนี้เสมือนเป็นฉากสยองในหนังผี เพราะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สัมผัสบรรยากาศลี้ลับที่ตัวละครประสบแทบทุกบรรทัด

แม้เรื่องสั้นเรื่องนี้จะมีความโดดเด่นที่ฉากและบรรยากาศ แต่อีกจุดที่มองข้ามไม่ได้คือสำนวนและภาษาที่ผู้เขียนใช้ ด้วยเรื่องสั้นแนวลี้ลับเป็นงานเขียนประเภทที่ต้องให้ความสำคัญกับการบรรยายให้ลื่นไหลและเข้าถึงอารมณ์ จึงพบกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยการบรรยายให้เห็นภาพหลายจุด เช่น “ท่ามกลางแสงสว่างราวกับกลางวัน บริเวณกลางเนินเริ่มมีสีแดงผุดขึ้นมาเป็นจุดเท่าฝ่ามือ จากนั้นก็เริ่มขยายวงออกไปอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าขนลุกเกรียว รีบหันหลังวิ่งสุดฝีเท้าตรงไปยังรั้วริมถนนบร็อคลีหมายจะปีนข้ามรั้วกลับบ้าน ทว่ายิ่งวิ่งก็ยิ่งช้ายิ่งก้าวขาไม่ออก ราวกับมีมือลึกลับเหนี่ยวรั้งเอาไว้” (หน้า 262) 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังนำภาพพจน์ชนิดบุคคลวัตมาใช้ในการบรรยายด้วย ได้แก่ “หมู่ไม้พากันเปลื้องเสื้อผ้าอาภรณ์เหลือแต่ต้นยืนเปลือยล่อนจ้อน” (หน้า 246) “หลิวแสนสวยยืนเปลือยกายท้าทายลมหนาว...กิ่งก้านแกว่งไกวเหมือนกำลังกวักมือเรียกข้าพเจ้า” (หน้า 249) ข้อความดังกล่าว ผู้เขียนสมมติให้ต้นไม้มีกริยาอาการเหมือนมนุษย์ และข้อความแรก

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเรื่อง เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ผู้เขียนสามารถนำเรื่องราวที่รวบรวมจากประสบการณ์ในต่างแดนและจินตนาการของตัวเองมาเขียนเป็นเรื่องสั้นได้น่าสนใจและน่าติดตาม ลำดับเหตุการณ์ได้เข้มข้น ไต่ระดับอารมณ์ได้ถึงจุดสูงสุด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการใช้สำนวนภาษาซึ่งเสริมการบรรยายให้มีบรรยากาศชวนสยองขวัญ และส่วนสำคัญคือสามารถสะท้อนสัจธรรมของมนุษย์ได้อย่างดี

 

กีรติกานต์ ปริทารัมย์

หมายเลขบันทึก: 711761เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท