สันดานกับการศึกษา


สันดานกับการศึกษา

สมัยผมเป็นเด็ก เพื่อนบางคนด่าเพื่อนว่า “ไอ้สันดาน”   ย่อมาจาก “ไอ้สันดานชั่ว”  บางทีก็ด่าว่า “ไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน”     บางทีครูก็ด่าศิษย์บางคนด้วยคำเหล่านี้ด้วย    เป็นทำนองว่า การฝึกสันดานดี (V – Values   ใน VASK) เป็นหน้าที่ของพ่อแม่   ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียน  เพราะถือว่าโรงเรียนมีหน้าที่สอนหนังสือ คิดเลข และให้รู้วิชาเท่านั้น   

ถึงสมัยนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โรงเรียนหรือระบบการศึกษาต้องดำเนินการเพื่อเอื้อให้นักเรียนสร้าง VASK ใส่ตน (๑)     โดยราชบัณฑิตกำหนดให้แปลคำว่า values (มีตัว s) ว่า “ค่านิยม”    แต่ผมรู้สึกว่า เป็นคำที่คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจ   จึงครุ่นคิดหาทางอธิบายให้เข้าใจง่าย   และนึกออกว่า คนทั่วไปใช้คำว่า “สันดาน”    โดยมีนัยในทางลบ     เราจึงควรใช้คำที่ชัดเจนคือ “สันดานดี”   หรือ “นิสัยดี”

ระบบการศึกษาและโรงเรียนมีหน้าที่ หนุนให้นักเรียน นักศึกษา สร้าง  “สันดานดี” ใส่ตน    และโรงเรียนที่มีวิธีการอย่างเป็นรูปธรรมที่ผมรู้จักคือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา    ซึ่งไม่ใช้วิธีลงโทษหรือตำหนิด่าว่าเมื่อนักเรียนประพฤติตนไม่ดี     แต่ชวนนักเรียนใคร่ครวญ (reflect) ว่าความประพฤติเช่นนั้นก่อผลอย่างไรต่อผู้อื่น และต่อตนเอง     

อีกเครื่องมือหนึ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาใช้คือ “สนามพลังบวก”   และ “จิตศึกษา”   ท่านที่สนใจเข้าไปค้นดูได้ที่เว็บไซต์ของโรงเรียน (๒)    และที่ (๓)   

จีนใช้คำว่า เชิดชูคุณธรรม (๔)    ซึ่งน่าจะตรงกับ  “สันดานดี”   หรือ “นิสัยดี”   

ความเชื่อ หรือเจตคติสำคัญของครูคือ “สันดานเปลี่ยนได้”   การเปลี่ยนนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า transformative learning    ตัวอย่างการเปลี่ยนสันดานที่เราคุ้นเคยที่สุดคือเรื่ององคุลีมาล    ที่เปลี่ยนใจจากมุ่งฆ่าคน เป็นมีเมตตาต่อผู้อื่น   มีอีกหลายตัวอย่างในหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง 

การเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนสันดานคน ไม่ใช่เรื่องที่ครูจะสั่งสอนได้    การลงโทษก็ไม่ได้ผล     วิธี “ดัดสันดาน” ที่ใช้กันในสมัยก่อน ไม่ได้ผล    แต่ครูจัดกระบวนการช่วยเอื้อโอกาสให้ศิษย์เปลี่ยนใจตนเองได้    ผ่านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) (๕)   ที่เป็น reflective learning 

การเปลี่ยนสันดาน เป็นเรื่องของผู้นั้น   แต่ครูและผู้เกี่ยวข้องช่วยหนุนให้เขาผ่านประสบการณ์ (ที่อาจเจ็บปวดสูงยิ่ง)  ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง (critical reflection)    จนเขา “ได้คิด” หรือ “คิดได้” สู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ค. ๖๕

                          

หมายเลขบันทึก: 704350เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2022 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2022 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท