3 พฤติกรรมผลจากงานวิจัยที่ใช้บ่งชี้ว่ามีคนชื่นชอบเราอยู่


ไม่ใช่เป็นเพราะว่าใกล้วันวาเลนไทน์แล้วดิฉันจึงมาเขียนหัวข้อนี้นะคะ เรื่องพฤติกรรมบ่งชี้ความชื่นชอบที่ดิฉันได้อ่านมาแล้วนำมาเขียนนี้สามารถใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งในด้านความรัก การศึกษา และอาชีพการงานค่ะ แต่ถ้าน้องๆ ผู้อ่านอยากจะปรับไปใช้เป็นวิธีดูว่าเขาแอบชอบเราไหมก็ได้เหมือนกันนะคะ 

อยากให้ผู้อ่านได้ลองคิดตามดิฉันในสถานการณ์ของการประชุมประจำปีของบริษัทแห่งหนึ่งค่ะ ซึ่งเป็นการรวมผู้คนจากหลายแผนกมีทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักกันมาก่อน ต้องมาอยู่ด้วยกันประมาณหนึ่งอาทิตย์เพื่อประชุมและทำกิจกรรมวางแผนกลยุทธ์ร่วมกัน 

ดิฉันเชื่อว่า ทุกคนต้องมีคำถามว่า แล้วฉันจะเป็นเพื่อนกับใครดีในที่ประชุมแห่งนี้ เขาจะโอเคกับฉันไหม หรือเขาเกลียดฉันแต่ฝืนมาทำดีด้วย เพราะฉันมีดีในตัวเองหลายอย่าง

ทำไมต้องค้นหาคนที่ชอบเรา (ในที่ทำงาน) ?

หลายครั้งมันก็ยากนะคะที่จะหาว่าใครชื่นชอบฉันอยู่บ้าง แต่สำคัญทีเดียวค่ะ เพราะการเป็นที่ชื่นชอบในที่ทำงานเป็นข้อได้เปรียบค่ะ ช่วยสร้างความไว้วางใจ ความเคารพ และความร่วมมือนั่นเองค่ะ 

คนที่ชอบเราก็มักจะเปิดรับคำติชมมากกว่าคนที่เกลียดเรา และถ้าเขารับฟังเราก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อการทำงานของกลุ่มได้ดีกว่า

การเป็นคนที่มีคนชื่นชอบยังช่วยสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันที่ดีขึ้นและความพึงพอใจในงานที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 

และประการสุดท้าย การได้รับความชื่นชอบจากเพื่อนร่วมงาน สามารถนำไปสู่ความมั่นคงในหน้าที่การงานและความก้าวหน้าในอาชีพที่ดีขึ้น เนื่องจากคนเรามีแนวโน้มที่จะส่งเสริมคนที่พวกเขาสนุกกับการทำงานด้วยนั่นเอง

บทความที่ดิฉันอ่านนี้เป็นผลจากงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ เขาได้ข้อสรุปมาว่ามี 3 พฤติกรรมหรือการแสดงออกอย่างไม่รู้ตัวที่แสดงให้เห็นว่าเขาชื่นชอบเรา คือ เขาจะเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเรา เขาจะแสดงการเปลี่ยนแปลงในการสบตา และเขาจะโน้มตัวเข้ามาใกล้เรามากขึ้น

3 พฤติกรรมที่ใช้บ่งชี้ว่ามีคนชื่นชอบเราอยู่ (ผลจากงานวิจัย)

พฤติกรรมที่ 1 คนที่ชอบเราเขามักจะเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเรา มันเป็นผลจากเซลล์สมองค่ะ มีการกระตุ้นระดับเซลล์มากขึ้น ก็จะเลียนแบบมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความชื่นชอบ ความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันที่ประสานกันได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าดิฉันลองนั่งไขว้ขา หรือลองประสานนิ้วแล้ววางบนโต๊ะ หรือลองพูดด้วยสำเนียงหรือรูปแบบเฉพาะของดิฉัน แล้วมีคนทำตาม แสดงว่าคนอยู่ในโซนปลอดภัย โซนที่มีผู้คนชื่นชอบคุณนั่นเองค่ะ

พฤติกรรมที่ 2 คนที่ชอบเราเขามักจะแสดงการเปลี่ยนแปลงในการสบตา เขาจะแสดงการสบตาเป็นระยะๆ เมื่อพูดคุยกับเรา และสบตาเป็นเวลานานขึ้นเมื่อเราไปพูดคุยกับพวกเขาค่ะ 

พฤติกรรมที่ 3 คนที่ชอบเราเขาจะโน้มตัวเข้ามาใกล้เรามากขึ้น มีนักวิจัยได้กำหนดโซนพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ไว้ 4 โซนค่ะ คือ พื้นที่สาธารณะ มีระยะ 12-25 ฟุต พื้นที่ทางสังคม มีระยะอยู่ที่ 4-11 ฟุต ส่วนพื้นที่ส่วนตัว ระยะอยู่แค่ 1.5 - 4 ฟุต และพื้นที่ใกล้ชิด คือ น้อยกว่า 1.5 ฟุต ถ้าหากมีคนๆ หนึ่งเข้ามาในพื้นที่โดยเฉพาะในบริเวณระยะใกล้กว่า 1.5 ฟุต นั่นเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเขาชอบคุณค่ะ

รู้สึกดีจังเลยที่มีคนมาชอบเรา หาได้ยากนะคะ จงดีกับเขาตอบเถอะค่ะ  เพราะคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ มันเป็นสัจธรรมของมนุษย์ตราบใดที่เรายัง compare and compete หรือเปรียบเทียบและแข่งขันกันอยู่อย่างไม่รู้ตัว

 

อ้างอิง: https://www.inc.com/nick-hobson/how-to-tell-if-someone-likes-you-science-says-look-out-for-these-3-behaviors.html

หมายเลขบันทึก: 711538เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2023 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบเลย บทความนี้ อ.จัน ;)…

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท