เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  20. เรียนรู้จากการสื่อสารของฝ่ายบริหารต่อคำขอสิทธิ์ของข้าราชการ


 

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ มีเรื่องร้อนของข้าราชการสังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ จำนวน ๕๓ ท่าน    ส่งมาที่ผมในฐานะนายกสภา ในลักษณะของการ “ขอสิทธิ์ในการได้รับเงินประจำตำแหน่งระดับชำนาญการ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕”   การสื่อสารกันและเอกสารที่เขาส่งให้ดู    ให้ข้อเรียนรู้ที่ผมนำมาแลกเปลี่ยนนี้

ทั้ง ๕๓ ท่านเป็นข้าราชการตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ    ที่ครองตำแหน่งยังไม่ครบ ๒ ปี    ที่ยังไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง (เดือนละ ๓,๕๐๐ บาท) ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕   ร้องขอให้ได้รับแบบเดียวกันกับข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขที่มีคุณสมบัติเดียวกันได้รับ    ฝ่ายบริหารของ สบช. ตอบว่า “ไม่เป็นไปตามหนังสือสถาบันพระบรมราชชนก ด่วนที่สุด ที่ สธ. ๑๑๐๑/๒๑๖๖ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เรื่อง ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ สำหรับตำแหน่งในสายงานที่ ก.พ. กำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง” 

เป็นตัวอย่างการสื่อสารลดความทุกข์ของมนุษย์ด้วยกฎหมาย   

หรืออาจเป็นตัวอย่างการมองต่าง    ฝ่ายร้องขอมีความทุกข์ แต่ฝ่ายผู้บริหารมองว่าเป็นการเรียกร้องอย่างไม่สมเหตุผล    ไม่รู้จักศึกษาเงื่อนไขที่ สบช. กำหนด    

ไม่ว่าจะมองแบบแรกหรือแบบหลัง    ต่างก็ให้ข้อเรียนรู้สำหรับผมทั้งสิ้น    และขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ที่นี้    โดยไม่รับรองว่า วิธีคิดของผมจะถูกต้อง   

 เริ่มเรื่องมุมมองของฝ่ายบริหาร ที่ผมคิดว่าในกรณีเช่นนี้ฝ่ายบริหารต้องสวมแว่น empathy    ไม่ใช่สวมแว่น deny  หรือ neglect  หรือ confrontation    ซึ่งจะนำสู่คำตอบที่เปี่ยมความเห็นอกเห็นใจ    มีมิติของมนุษย์สัมผัสมนุษย์    แม้คำตอบจะไปในทางไม่ได้สิทธิ์ที่ร้องขอ    ผู้ร้องขอก็จะยังได้สัมผัสความมีน้ำใจต่อกัน   

นี่คือการบริหาร “ความเป็นพวกเดียวกัน”   ป้องกันการเผชิญหน้าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม   

ผมอ่านเอกสารที่ผู้บริหารของสถาบันส่งถึงคณะพยาบาลศาสตร์   และเอกสารที่สถาบันและคณะพยาบาลศาสตร์ตอบผู้ร้องขอแล้ว    ก็ “อ่านออก” ทันที ว่าใช้ภาษากฎหมาย   ทำให้ผมคิดต่อว่าการใช้ภาษากฎหมายตอบผู้มีความทุกข์  จะส่งผลให้ความทุกข์คลายได้หรือ    เป็นไปได้ไหมที่ในกรณีเช่นนี้ ผู้บริหารจะตอบด้วยภาษาธรรมดา   และเปี่ยมด้วย empathy    มีมิติของมนุษย์สัมผัสมนุษย์ 

คำตอบที่ให้เฉพาะการตัดสิน    และอ้างหนังสือของตน โดยไม่อธิบาย    ในการตีความของผม เป็นคำตอบทางกฎหมาย    ไม่ใช่คำตอบระหว่างเพื่อนมนุษย์  ระหว่างเพื่อนร่วมสถาบัน    เป็นคำตอบที่สะท้อนฐานะที่สูงกว่า  ตอบผู้มีฐานะและอำนาจต่ำกว่า   ใช่หรือไม่   ผู้ได้รับคำตอบรู้สึกเช่นนั้นหรือไม่   หากจะไม่ให้เกิดความรู้สึกเชิงลบเช่นนั้น    การตอบโดยระบุเหตุผล ข้อขัดข้องที่ให้ไม่ได้ และย้ำนโยบายที่สภาให้ไว้ ว่าให้เอื้อเฟื้อเต็มที่เท่าที่กฎหมายเอื้ออำนวย   จะช่วยให้ผู้รับคำตอบรู้สึกดีขึ้นหรือไม่     

เป็นข้อเรียนรู้ร่วมกันที่น่าจะมีประโยชน์มาก   

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการเปลี่ยนวัฒนธรรมแนวดิ่ง    ไปสู่วัฒนธรรมแนวราบ    เพื่อ transform สบช. จากการเป็นหน่วยราชการระดับสูงกว่ากองในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข    สู่ความเป็นสถาบันอุดมศึกษา    

ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕  ที่สภาลงมติได้ง่ายกว่าที่คิด   โดยที่ท่าน ผอ. สรรเสริญ นามพรหม กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ   เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุขทั้งกระทรวงอยู่แล้ว ให้ข้อมูลว่าข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งเดียวกัน ได้รับเงินประจำตำแหน่งทั้งสิ้น       รวมทั้งมีกรรมการสภาสองท่านได้ไต่ถามความหมายของภาษากำกวมของ ก.พ. จนชัดเจนแล้วว่า ก.พ. มีเจตนาให้เงินประจำตำแหน่งนั้น   

สภา สบช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ให้เงินประจำตำแหน่งเดือนละ ๓,๕๐๐ บาทแก่ผู้ร้องทั้ง ๕๓ คน   รวมทั้งข้าราชการผู้อื่นที่ไม่ได้ร้อง แต่มีตำแหน่งเดียวกัน ก็ให้ได้รับด้วยโดยไม่ต้องร้องขอ   เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องสำรวจและอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาชิกของ สบช.   

หลังการประชุม ผมใคร่ครวญกับตนเองว่า    เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียน หรือข้อเรียนรู้ของฝ่ายบริหาร สบช. ได้อย่างดียิ่ง    ในด้านกลยุทธการบริหารแบบตัดไฟแต่หัวลม    ซึ่งหมายรวมถึงการตัดไฟโทสะในตน   

ผมเขียนบันทึกนี้ด้วย creative mode สุดๆ   จึงไม่ยืนยันความถูกต้องของความคิด   และกราบขออภัยหากข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของท่านผู้ใด    ผมมีเจตนาเดียวคือเสนอข้อเรียนรู้เพื่อการพัฒนา สบช.                

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๖๕      

 

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 711532เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท