ชีวิตที่พอเพียง  4386. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๘๐. เครือข่ายนักวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


 

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ผมเข้าร่วม “ประชุมกลุ่มย่อยและประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ภายใต้โครงการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม และการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”  

เป็นการประชุมแบบผสม มีทั้งในสถานที่และออนไลน์    ด้วยความจำเป็นของครอบครัว ผมต้องขอเปลี่ยนเป็นเข้าประชุมออนไลน์   

ผมอยากเข้าไปเรียนรู้ว่า  (๑) เขานิยาม “นักวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ว่าอย่างไร    (๒) เขาตีความคำว่า “เครือข่ายนักวิจัย” ว่าอย่างไร   (๓) โจทย์การวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีด้านใดบ้าง    (๔) มีมุมมองต่อการวิจัยเชิงระบบอย่างไร   (๕) นักวิจัยด้านการศึกษามีมุมมองต่อโจทย์วิจัยอย่างไร  อยากทำวิจัยเรื่องอะไร    

เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์   และร่วมกิจกรรมอยู่จนเกือบถึงเที่ยง    พอได้แนวความคิดว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมีแนวคิดในลักษณะใด ผมก็ละออกจากการประชุม    มาทำงานอื่น   ตั้งใจว่าจะเข้าไปฟังสรุปผลการประชุมตอน ๑๖ น.   ซึ่งผมก็กลับเข้าไปก่อน ๑๖ น. เล็กน้อย พบว่าการประชุมจบก่อนเวลา    ซึ่งก็ไม่แปลกใจ    เพราะตอนก่อนเที่ยงผมก็รู้สึกว่าได้ข้อสรุปที่ต้องการแล้ว   

  ทีมงานจัดการประชุมเขาต้องการข้อเสนอต่อ วสศ./กสศ.    ซึ่งก่อนเที่ยงก็ได้ข้อสรุป ๖ ข้อ คือ 

  1. การกำหนดอัตราส่วนของนักวิจัยหน้าใหม่ในโครงการ
  2. การกำหนดความคาดหวังของบทบาทนักวิจัยในเครือข่าย
  3. การกำหนดกรอบวิจัยที่มีความนำสมัย
  4. การจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในเครือข่าย
  5. การจัดการประชุมเชิงวิชาการ
  6. การจัดทำฐานข้อมูลนักวิจัยและนักวิชาการในเครือข่าย

จะเห็นว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก   แต่เมื่อผมใคร่ครวญสะท้อนคิดแล้ว ก็มีความเห็นว่า   ยังไม่เพียงพอต่อการทำงานสร้างสรรค์ EQEL (Equity, Quality, Efficiency, Learning) ของระบบการศึกษาผ่านการทำงานของ วสศ./กสศ.     ยังขาดมุมมอง และแนวทางของ นักบริหาร/จัดการ งานวิจัย     

ประสบการณ์การทำหน้าที่ ผอ. สกว. ๘ ปี สอนผมว่า     ผู้บริหารงานวิจัย ต้องมีวิธีคิดและวิธีทำงานเชิงกลยุทธ ที่เลยจาก mindset ของนักวิจัย    เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยกับความต้องการของสังคมหรือบ้านเมือง     ที่อาจเรียกว่า จัดการ relevance ของประชาคมวิจัย    ไม่ให้เป็นระบบวิจัยที่ลอย หรือแยกส่วนจากสภาพความเป็นจริงในบ้านเมือง   

เครือข่ายนักวิจัยด้านการศึกษา เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่ายิ่ง    แต่ไม่พอสำหรับการบรรลุ EQEL ของระบบการศึกษา     ต้องการกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ของเครือข่ายนั้น สู่ความต้องการของบ้านเมือง     โดยใช้พลังของนักจัดการงานวิจัย   

พลังของนักวิจัยมีค่ายิ่ง  แต่ไม่เพียงพอ     ต้องการพลังของนักจัดการงานวิจัยด้วย   

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ต.ค. ๖๕

      

              

 

หมายเลขบันทึก: 711400เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2023 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2023 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I Think this “…ผู้บริหารงานวิจัย ต้องมีวิธีคิดและวิธีทำงานเชิงกลยุทธ ที่เลยจาก mindset ของนักวิจัย เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยกับความต้องการของสังคมหรือบ้านเมือง ที่อาจเรียกว่า จัดการ relevance ของประชาคมวิจัย ไม่ให้เป็นระบบวิจัยที่ลอย หรือแยกส่วนจากสภาพความเป็นจริงในบ้านเมือง …” means a (one voice) [re]minder organization/collaboration is very much in need.

How do religions maintain beliefs and practices if not with strong relations with the societies?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท