Ebbinghaus’s Forgetting Curve เป็นผลการวิจัยตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1885 คือเมื่อ ๑๓๗ ปีมาแล้ว (๑) ว่าอัตราการลืมเรื่องราวที่เรียนรู้ของคนเราเป็นอย่างไร ที่ยังมีการนำเอามาประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาอยู่ในปัจจุบัน (๒) โดยตอนนี้เรารู้แล้วว่า ยาแก้การลืม หรือวิธีทำให้ลืมช้าลง หรือจำได้ดีคือการสอนแบบ space repetition หรือเรียนแบบแทรกสลับ (interleaving) (๓) ที่อธิบายไว้ในหนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ หน้า ๓๔ - ๔๘
อีกสองวิธีที่ช่วยให้จดจำได้ดีคือ active recall หรือฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ (retrieval) (๔) และฝึกทำนาย (predicting) (๕) ซึ่งอยู่ในหนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ หน้า ๔ - ๓๓
ที่จริงหนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ ทั้งเล่ม ช่วยการเรียนรู้แบบที่นำสู่การรู้จริง (mastery learning) และหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง ก็ช่วยให้การเรียนรู้มีการซึมซับเข้าไปทั้งเนื้อทั้งตัวของผู้เรียน ลึกซึ้งกว่าความรู้จากการทดลองของ Ebbinghaus เมื่อ ๑๓๗ ปีมาแล้วอย่างมากมาย
วิธีเอาชนะการเรียนแล้วลืมในสมัยนี้ ไม่น่าจะเน้นเรื่องจำ แต่เน้นเรื่องคิด โดยเรียนจากการปฏิบัติหรือ active learning เป็นหลัก ดังนั้นทฤษฎีที่น่าสนใจกว่า Forgetting Curve คือเรื่อง การเรียนรู้เชิงรุก (active learning) ที่ผมตีความบรรยายไว้ที่ (๖) ซึ่งจะเห็นว่า การเรียนรู้ที่ดีมีมากกว่าเรื่องความจำ
วิจารณ์ พานิช
๒๑ ต.ค. ๖๕
ไม่มีความเห็น