ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 4. เรียนแบบแทรกสลับ (interleaving)



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 สามบทแรกใน ๙ บทของหนังสือ อยู่ในตอนที่ ๑ ว่าด้วยความรู้ (Knowledge)    บันทึกตอนที่ ๔ นี้ ตีความจากบทที่ ๓ ในหัวข้อ  Interleaving

 

คำนำ

ชื่อ  “เรียนแบบแทรกสลับ” (interleaving) หมายถึงเมื่อการเรียนก้าวหน้าไป ก็มีการกลับมาตั้งคำถามให้นักศึกษาฝึกดึงความรู้ตอนก่อนๆ ออกมาตอบโจทย์ด้วย    แทรกสลับไปเรื่อยๆ    ผู้เขียนหนังสือ Small Teaching  พบประโยชน์ของการเรียนแบบนี้ด้วยตนเอง เมื่อเข้าไปเรียนภาษาสเปนแบบ ออนไลน์ 

 

ทฤษฎี

มีผลงานวิจัยยืนยันประโยชน์ของการเรียนแบบแทรกสลับนี้มากมาย    เป็นที่ชัดเจนว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาในระยะยาว (longterm retention) ดีกว่าเรียนแบบตลุยไปข้างหน้าถ่ายเดียว  

หลักการของการเรียนแบบแทรกสลับมี ๒ ประการ  (๑) ขยายเวลาของการเรียนประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือทักษะใดทักษะหนึ่ง ออกไป  (๒) เรียนสลับประเด็น (หรือทักษะ) ไปมา    

เขาบอกว่ามีการค้นพบว่าวิธีการนี้ดีกว่าเรียนแบบตลุยฝึกทีละทักษะ จากการวิจัยทดลองเรียนภาษาฝรั่งเศสเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว    การเรียนแบบตลุยจนจบเรียกว่า massed learning   ส่วนวิธีแบ่งเป็นท่อนๆ เว้นช่วงเวลา เรียกว่า spaced หรือ distributed learning   หากทดสอบเมื่อเรียนจบใหม่ๆ พบว่านักศึกษาทั้งกลุ่มเรียนแบบตลุย และเรียนแบบทิ้งช่วง ได้คะแนนเท่าๆ กัน    แต่หากทิ้งช่วงไป ๑ สัปดาห์แล้วจึงทดสอบ    ปรากฏว่านักศึกษากลุ่มเรียนแบบทิ้งช่วงได้คะแนนสูงกว่ามาก    แสดงว่าการเรียนแบบทิ้งช่วงช่วยความจำระยะยาว   

คุณภาพของการเรียนรู้ ขึ้นกับการฝึกดึงความรู้ออกมาจาก “ความจำระระยาว” (longterm memory)   สำหรับนำมาใช้ในกิจกรรม หรือใช้ต่อความรู้ใหม่    การเรียนแบบทิ้งช่วง เป็นการปล่อยให้ “เกือบลืม” แล้วเรียนซ้ำ    เป็นคล้ายๆ การฝึกสมองให้ได้ทำแบบฝึกหัดฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ (retrieval exercise) (ดูตอนที่ ๒)  

วงจร “เกือบลืมแล้วฝึกดึงออกมา” เป็นเพียงครึ่งเดียวของคำอธิบายผลดีของการเรียนแบบแทรกสลับ

เขาอ้างคำอธิบายในหนังสือ Make It Stick ว่าการทิ้งช่วงการเรียนให้ยาว เป็นการปล่อยให้สมองมีเวลาจัดระบบความรู้ในความจำระยะยาว    ในกระบวนการที่เรียกว่า consolidation   ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว สมองจะทบทวนหาความหมายของความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงกับ “ความรู้เดิม” (prior knowledge)    ซึ่งต้องการเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน    ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ “มิรูลืม”   ไม่ใช่แค่จำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ   

เขาอธิบายว่า สมองต้องการเวลาสำหรับทำกิจกรรม ๓ อย่าง เพื่อจารึกความรู้ใหม่เข้าสู่ความจำระยะยาวในสมองคือ การเข้ารหัส (encoding),  การทำความชัดเจน (consolidating),  และ การจัดระบบ (organizing)   กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในสมองโดยเราไม่รู้ตัว     แต่หากเรามีร่างกายและสมองที่สดชื่น และมีการนอนหลับเพียงพอ สมองจะทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ดีเป็นพิเศษ    ผมเชื่อว่าในไม่ช้านักวิทยาศาสตร์ทางสมอง และนักจิตวิทยาการเรียนรู้ จะช่วยกันวิจัยสร้างคำอธิบายกลไกเหล่านี้ได้ชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น  

จากทฤษฎีดังกล่าว อาจารย์สามารถใช้ในการออกแบบการจัดการสอนของตน ให้กระจายช่วงเวลาและมีการแทรกสลับ    รวมทั้งใช้แนะนำวิธีเรียนให้แก่นักศึกษา    

“การเรียนแบบแทรกสลับ” (interleaving) หมายถึง เรียนประเด็นที่ ๑ ได้ความรู้ความเข้าใจระดับหนึ่ง (ไม่กระจ่างชัดเต็มที่)  ก็เคลื่อนไปเรียนประเด็นที่ ๒   แล้วกลับมาเรียนประเด็นที่ ๑ เพิ่มเติม   ก่อนจะเคลื่อนสู่ประเด็นที่ ๓    แล้วย้อนกลับมาเรียนประเด็นที่ ๒ เพิ่มเติม    หรืออาจย้อนกลับไปแตะประเด็นที่ ๑ นิดๆ หน่อยๆ    แทรกสลับเช่นนี้เรื่อยไป     

เป็นการเรียนรู้แบบทิ้งช่วงเวลา  และเรียนหลายประเด็นในเวลาเดียวกัน    ซึ่งผมตีความว่า เป็นการเรียนแบบธรรมชาติ    เพราะเรื่องต่างๆ ในชีวิตของคนเราเกิดขึ้นหลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน    และเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ตีความหรือทำความเข้าใจได้หลายแบบหลายระดับความลึกและเชื่อมโยง    รวมทั้งมีการถ่ายทอดเชื่อมโยง (transfer) ความรู้หรือวิธีการจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง    หรือจากบริบทหนึ่งไปสู่บริบทหนึ่ง   

การเชื่อมโยง (networking) ความรู้ และเรียนให้มีการเจาะลึก (deepening) เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนแล้วรู้จริง (mastery learning)    ผมเชื่อว่าวิธีดำเนินการต่อความรู้ตามในหนังสือ Small Teaching ตอนที่ ๑  ที่ผมตีความ (บางตอนก็มีการเติมความด้วย) เอามาเผยแพร่ในตอนที่ ๒ - ๔ นี้ เป็นเคล็ดลับในการที่อาจารย์ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้แบบรู้จริง  

หลักการหรือทฤษฎี การเรียนแบบแทรกสลับนี้   อาจารย์สามารถนำมาประยุกต์ในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนได้หลากหลายแบบ

เป็นการเรียนแบบเดินหน้า ถอยหลัง สลับ    ที่เมื่อประยุกต์ใช้ในช่วงแรกๆ นักศึกษาจะรู้สึกสับสน ไม่ชอบ   อาจารย์ต้องอธิบายสรรพคุณของมันตามทฤษฎีที่เล่าแล้ว    ต่อไปเมื่อเห็นผลเชิงประจักษ์ ว่าช่วยให้ความรู้จารึกในสมองได้ดีกว่าวิธีเรียนแบบตลุย (ซึ่งดีในแง่ความจำระยะสั้นเท่านั้น และไม่เชื่อมโยง) นักศึกษาจะชอบมาก    เพราะเท่ากับเป็นการเรียนแบบลงแรงน้อย ได้ผลมาก   

ขอย้ำว่า การเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนแบบซับซ้อนเชื่อมโยง และมีการถ่ายทอดเชื่อมโยง (transfer) จากบริบทหนึ่งไปสู่บริบทอื่นด้วย จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง    หรือกล่าวว่า หัวใจของการศึกษาคือการฝึกนำความรู้จากบริบทหนึ่ง ไปปรับใช้ในอีกบริบทหนึ่ง    หากไม่มีกระบวนการฝึก transfer ความรู้ ก็ไม่ถือเป็นการศึกษาที่แท้จริง    ในการเรียนแบบแทรกสลับ มีกระบวนการฝึก transfer ความรู้ บูรณาการอยู่อย่างแนบเนียน 

เขาแนะนำว่า ในการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ควรใช้การสอนแบบตะลุย สลับกับแบบแทรกสลับ    เพราะการเรียนแบบตลุย ดีสำหรับความจำระยะสั้น ส่วนการเรียนแบบแทรกสลับ ดีต่อความจำระยะยาว      

 

รูปแบบวิธีการ

วิธีการประยุกต์ใช้หลักการเรียนแบบแทรกสลับ   ไม่ใช่ผ่านเทคนิคการสอน    แต่เป็นการปรับวิธีออกแบบรายวิชา (course design)    โดยทำได้ผ่านบริบท ๓ คือ  (๑) ผ่านแผนการประเมิน  (๒) ผ่านการจัดระบบการใช้เวลาในการเรียนการสอน  และ (๓) ผ่านระบบการเรียนออนไลน์

การเรียนแบบสะสม (cumulative learning)

เนื่องจากการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นการสะสม (cumulative)    การสอบไล่จึงต้องวัดการสะสมความรู้ คือไม่ใช่ออกข้อสอบเฉพาะช่วง    แต่ต้องออกข้อสอบวัดความรู้ที่สะสมมาจากช่วงก่อนๆ ด้วย    เช่นเดียวกับการ quiz ก็ต้องไม่ออกข้อสอบ quiz เฉพาะในคาบการสอนนั้น  ต้องมีข้อสอบวัดความรู้ที่เรียนในคาบก่อนๆ ด้วย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่เชื่อมโยงหรือเป็นพื้นความรู้สำหรับการเรียนในคาบนั้น    

สมมติว่ารายวิชา ก แบ่งออกเป็น ๖ หน่วยการเรียน    วิธีออกข้อสอบของหน่วยที่ ๓ ไม่ใช่วัดความรู้ของหน่วยที่ ๓  หน่วยที่ ๒  และหน่วยที่ ๑  อย่างละหนึ่งในสาม    ราวๆ สองในสาม หรือสามในสี่ของข้อสอบของหน่วยที่สามควรวัดความรู้ของหน่วยที่สาม  ที่เหลือใช้วัดความรู้ของหน่วยที่สองและหน่วยที่หนึ่ง ลดหลั่นกันไป    

เขาอ้างข้อเขียนของ Maryellen Weimer ในเว็บ Faculty Focus เรื่อง cumulative exams (https://www.facultyfocus.com/articles/teaching-professor-blog/using-cumulative-exams-help-students-revisit-review-retain-course-content/)   ที่แนะนำว่า

  • เปิดชั้นเรียนทุกคาบด้วยการเขียนคำถามขึ้นจอ เพื่อทดสอบความรู้ที่เรียนในคาบที่แล้ว     ให้เวลานักศึกษาคิด และอภิปรายคำตอบร่วมกันสั้นๆ
  • ปิดคาบเรียนด้วยการให้นักศึกษาร่วมกันตั้งคำถามตามเนื้อหาที่เรียนในคาบนั้น    แล้วอาจารย์ใช้เป็นคำถามตอนเปิดคาบถัดไป
  • เปิดหรือปิดคาบเรียนด้วยการให้นักศึกษาเปิดสมุดจดของคาบที่แล้ว    และขีดเส้นใต้ประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น   และอภิปรายร่วมกันสั้นๆ 

อาจารย์ต้องประกาศให้ศิษย์ทราบว่า ธรรมชาติการเรียนรู้มีลักษณะสะสม    การเรียนในรายวิชานี้จึงดำเนินการแบบสะสม   และสอบแบบสะสม

ผสมผสานการเรียนในชั้นเรียน (mixing classroom learning)

ผสมผสานในที่นี้หมายถึง แทนที่ในหนึ่งคาบเรียนจะเรียนสาระเดียว ก็ให้เรียนสองสาระของวิชานั้น    เช่นในคาบที่ ๑ เรียนสาระ ก  และสาระ ข    คาบที่ ๒ เรียนสาระ ข  และสาระ ค    เช่นนี้เรื่อยไป   โดยเปรียบเทียบการจัดชั้นเรียนแบบเรียนตลุย (blocked) กับแบบแทรกสลับ (interleaved) ดังในตาราง

 

คาบเรียนแบบตลุย

คาบเรียนแบบแทรกสลับ

คาบที่ ๑ :  สาระ ก, ฝึกแก้ปัญหา 

สาระ ก, ฝึกแก้ปัญหา, สาระ ข

คาบที่ ๒ :  สาระ ข, ฝึกแก้ปัญหา

สาระ ข, ฝึกแก้ปัญหา, สาระ ค

คาบที่ ๓  : สาระ ค, ฝึกแก้ปัญหา, quiz

สาระ ค, ฝึกแก้ปัญหา, ทบทวนหรือ quiz

อาจมีคนแย้งว่า จริงแล้วการเรียน สาระ ก ต้องการเวลาทั้งคาบ นักศึกษาจึงจะเข้าใจดี    ผู้เขียนหนังสือ Small Teaching อธิบายว่า    การปล่อยให้นักศึกษารู้สึกยากลำบากเล็กน้อยต่อความเข้าใจสาระเป็นสิ่งดี    เพราะเป็นการเปิดช่องให้นักศึกษาใช้เครื่องมือ ฝึกทำนาย (prediction) ตามที่กล่าวแล้วในตอนที่ ๓   และเมื่อเรียนตอนต่อไปก็จะมีการแทรกสลับหยิบยกสาระ ก ส่วนสำคัญขึ้นมาเรียนหรือถามซ้ำ    ในที่สุดนักศึกษาจะเรียนได้ลึกกว่าวิธีเรียนแบบตลุย

สภาพแวดล้อมของการเรียนแบบออนไลน์

เขาอ้างหนังสือ Minds Online (2014) เขียนโดย Michelle D. Miller  ซึ่งบอกว่าสามารถจัดการเรียนแบบแทรกสลับได้สะดวกมากในการเรียนออนไลน์   โดยแนะให้จัดระบบเป็นรายสัปดาห์    และให้กำหนดกิจกรรมที่จัดให้มีสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ (การอภิปราย, quiz, การบ้าน, การสอบ) แบบสลับวันกัน   เช่นในสัปดาห์แรก มีการอภิปรายในวันจันทร์, แต่ในสัปดาห์ที่ ๒ การอภิปรายจัดในวันพฤหัส    quiz สัปดาห์แรกอยู่ในวันพุธ  สัปดาห์ที่ ๒ อยู่ในวันจันทร์  เป็นต้น    เขาบอกว่าวิธีจัดตารางเรียนแบบนี้จะช่วยให้การเรียนเป็นแบบแทรกสลับโดยปริยาย   

นอกจากนั้น แนะนำให้จัดความยืดหยุ่นให้นักศึกษาเรียนล่วงหน้าไปก่อนได้    แต่ไม่ให้เรียนช้ากว่ากำหนดในตารางเรียน    อาจมีนักศึกษาบางคนฟิตจัด เรียนล่วงหน้าทีเดียวหลายสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้การเรียนเป็นแบบตลุย (blocked learning)   แต่นักศึกษาแบบนี้มีน้อยมาก  

นั่นคือการจัดการเรียนออนไลน์ตามอุดมคติ ยึดหลักการเรียนแบบแทรกสลับ   แต่ในชีวิตจริงนักศึกษาที่เรียนออกไลน์ต้องการเรียนอย่างยืดหยุ่น    ในชีวิตจริงจึงอาจไม่สามารถจัดการเรียนตามอุดมคติที่กล่าวแล้วได้    แต่หากคำนึงถึงหลักการข้างต้นบ้าง ก็น่าจะเพียงพอ

ในการเรียนแบบลูกผสม (blended learning) ระหว่างเรียนในชั้นเรียนกับเรียนออนไลน์    ควรคำนึงว่า จัดให้การเรียนแบบเข้าชั้นเรียนกับเรียนออนไลน์ร่วมกันทำให้มีรูปแบบการเรียนทั้งแบบแทรกสลับและแบบตลุย อย่างเหมาะสม   เช่น ช่วงเรียนในชั้น อาจเน้นสอนสาระให้เข้าใจดี (สอนแบบตลุย)    แล้วใช้การเรียนออนไลน์เป็นเครื่องมือกลับไปเรียนสาระที่เพิ่งเรียนจบจากการเรียนในชั้นเรียน  หรือบางส่วนอาจกลับไปแตะสาระของคาบก่อนๆ    เพื่อให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของสาระ    และอาจใช้วิธีสลับกำหนดวันทำกิจกรรมออนไลน์แบบสลับตามที่กล่าวแล้ว   

หรืออาจสลับเป็นใช้ช่วงเรียนออนไลน์เพื่อเรียนสาระ    และใช้ช่วงเรียนในชั้นเพื่อฝึกทักษะ และเรียนแบบแทรกสลับ   ทั้งนี้ขึ้นกับวิชาที่สอน   โดยยึดหลักการคือ ให้มีการผสมระหว่างการเรียนแบบตลุยกับการเรียนแบบแทรกสลับ อย่างเหมาะสม   

 

หลักการ

หลักการสำคัญคือ สามารถใช้ทั้งการเรียนแบบทิ้งช่วง (spaced learning) และการเรียนแบบแทรกสลับ (interleaving) เพื่อกระตุ้นความจำระยะยาว    คือให้นักศึกษาได้เรียนแบบกระจายช่วงเวลา  และมีการทดสอบแบบสะสม    เมื่ออาจารย์มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ก็สามารถออกแบบการเรียนและการสอบที่ส่งเสริมการเรียนแบบแทรกสลับได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งตลุยและแทรกสลับ

คำแนะนำคือ ไม่ใช่ยกเลิกการสอนแบบตลุย    แต่ให้ใส่การสอนแบบแทรกสลับแทรกเข้าไป    ตามหลักการของ small teaching   เพื่อให้นักศึกษาได้เผชิญสาระความรู้ส่วนที่สำคัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในหลากหลายบริบท   ซึ่งจะทั้งทำให้เกิดการเรียนแบบรู้จริง  และเกิดการจารึกไว้ในความจำระยะยาว  

ทำเล็กน้อย และบ่อยๆ

ทำน้อยๆ ใช้เวลาครั้งละน้อย  แต่ทำบ่อยๆ คือเคล็ดลับหรือหลักการสำคัญ    เพื่อให้นักศึกษาหวนกลับไปทำความเข้าใจความรู้สำคัญ ในบริบทใหม่ๆ 

อธิบายและสนับสนุน

James Lang ผู้เขียนหนังสือ Small Teaching บอกว่า ตามปกตินักศึกษาจะไม่ชอบการเรียนแบบแทรกสลับ   เพราะจะรู้สึกไม่จุใจกับการรับถ่ายทอดความรู้    ยังเข้าใจไม่ตลอดก็ขยับไปประเด็นอื่น    อาจารย์ต้องอธิบายคุณค่าของวิธีเรียนแบบนี้ต่อผลการเรียนในระยะยาว    และหมั่นย้ำคุณค่านี้อยู่เสมอ    

 

เคล็ดลับเรื่องการสอนเล็กน้อยด้วยการเรียนแบบแทรกสลับ

เทคนิคง่ายๆ ในการจัดการสอนแบบแทรกสลับได้แก่

  • ในข้อสอบของการทดสอบทุกแบบ ให้มีคำถามที่ต้องใช้ความรู้เก่าอยู่บ้างเล็กน้อย
  • ใช้เวลาสั้นๆ ตอนเปิดและหรือปิดคาบเรียน ให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะที่เรียนในคาบก่อนๆ หรือให้ได้ประยุกต์ความรู้หรือทักษะที่เรียนแล้ว ในสถานการณ์ใหม่ๆ 
  • ใช้เวลา ๑๕ นาที ของคาบสุดท้ายของสัปดาห์    ให้นักศึกษาได้ร่วมกันใช้ความรู้ที่เรียนในสัปดาห์นั้น แก้ปัญหาใหม่ๆ 
  • ออกข้อสอบของการทดสอบทุกแบบให้มีการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
  • ในการเรียนแบบผสม หรือแบบออนไลน์ มีการเปลี่ยนวันในสัปดาห์ สำหรับการ quiz  หรือกิจกรรมอื่นๆ

 

สรุป

การเรียนแบบแทรกสลับนอกจากช่วยให้ส่งเสริมความจำระยะยาวแล้ว    ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทักษะระดับสูง ได้แก่ การเขียน การพูด และการแก้ปัญหา    ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้มีผลเพียงการเรียนความรู้เท่านั้น ยังเกิดผลต่อความเข้าใจ (understanding) ซึ่งเป็นหัวข้อของตอนที่ ๒ ของหนังสือ Small Teaching ซึ่งว่าด้วยความเข้าใจ

อ่านข้อความในหนังสือ Small Teaching บทที่ ๓ นี้แล้ว    ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า  การศึกษาไทยในช่วง ๓๐ – ๔๐ ปีที่ผ่านมา หลงผิดไปเน้นการสอนให้เกิดความจำระยะสั้น  เน้นการสอบความจำระยะสั้น    แทนที่จะเน้นสอนให้เกิดความจำระยะยาว และสอบความจำระยะยาว  ใช่หรือไม่    หากใช่ สภาพที่ผิดพลาดนี้ ส่งผลต่อความอ่อนแอของการศึกษาไทยในปัจจุบันแค่ไหน  

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644610เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2018 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2018 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท