ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 2. ฝึกดึงความรู้ออกมาใช้


บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 สามบทแรกใน ๙ บทของหนังสือ อยู่ในตอนที่ ๑ ว่าด้วยความรู้ (Knowledge)    บันทึกตอนที่ ๒ นี้ ตีความจากบทแรก ในหัวข้อ ดึง (retrieving) ความรู้ออกมาใช้

 

คำนำ

ในเชิงทฤษฎี นี่คือวิธีการทำให้มีการบันทึกความรู้ไว้ในสมองอย่างเป็นระบบ และดึงออกมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว (ซึ่งก็คือการเรียนรู้นั่นเอง)    โดยใช้หลักการที่เรียกว่า retrieval effect หรือ testing effect    ทำโดยการฝึกหัดดึง (retrieve) ความรู้ออกมาใช้     เป้าหมายอยู่ที่การเรียนรู้ ไม่ใช่การทดสอบ    อาจารย์ต้องให้นักศึกษาทำ กิจกรรมเล็กๆ เป็นระยะๆ เพื่อฝึกดึงความรู้สำคัญออกมาใช้      

 

ทฤษฎี

นี่คือสาระส่วนที่เป็นข้อมูลหลักฐานสนับสนุน retrieval effect ต่อการเรียนรู้    ส่วนสำคัญมาจากหนังสือ Make It Stick : The Science of Successful Learning (2014) เขียนโดย Peter C. Brown, Henry L. Roediger III, Mark A. McDaniel    อ้างผลงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่า การมีคำถามหรือแบบฝึกหัดให้นักศึกษาตอบตอนปลายคาบช่วยให้นักศึกษาเข้าใจและจดจำสาระความรู้ได้ดีขึ้น   และแบบฝึกหัดที่ให้ตอบแบบเรียงความสั้นๆ ให้ผลดีกว่าแบบฝึกหัดที่ให้เลือกคำตอบ

คำอธิบายด้วยความรู้ด้าน cognitive science และ neuroscience คือความรู้ในสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาว (longterm memory) ต้องจัดระบบความรู้เป็นชุดๆ ให้ดึงออกมาใช้ได้ง่าย    การที่อาจารย์ให้นักศึกษาตอบข้อสอบ   เท่ากับเป็นกิจกรรมให้นักศึกษาฝึกดึงความรู้ออกมาใช้    เท่ากับเป็นการฝึกหัดกลไกทางสมอง   ให้สมองจัดระบบเชื่อมโยงใยประสาท  ให้ความรู้อยู่เป็นชุดที่เหมาะสม ในความจำระยะยาว (longterm memory) ให้ดึงออกมาใช้ได้ง่าย    

การฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ จึงเท่ากับเป็นกลไกช่วยการเรียนรู้    ช่วยการจัดระบบของความจำระยะยาวในสมอง    ผมเคยเขียนบันทึกชุด จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ ออกเผยแพร่เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว () อธิบายกลไกของสมองว่าด้วยการเรียนรู้ ความจำ และความคิด   ที่น่าจะช่วยความเข้าใจกลไกของ retrieving effect ได้อย่างดี     

คนในวงการศึกษามักคิดถึงการทดสอบว่าเป็นการประเมินว่าผู้เรียนเข้าใจแค่ไหน    สำหรับใช้เป็น feedback ต่อผู้เรียนและต่อผู้สอนให้ปรับปรุงการเรียนและปรับปรุงการสอนของตน    หนังสือเล่มนี้บอกว่า การประเมินมีผลช่วยการเรียนรู้    อาจารย์จึงต้องใช้กลไกนี้ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของศิษย์    โดยที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที  คือเป็น small teaching ตามนัยยะของหนังสือเล่มนี้

 

รูปแบบวิธีการ

วิธีการที่อาจารย์ใช้ช่วยให้ศิษย์ได้ฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ทำได้ง่ายๆ และใช้เวลาไม่นาน    ประเด็นสำคัญคืออาจารย์ต้องทำจนเป็นกิจวัตรในทุกคาบการสอน ตอนต้นคาบ และปลายคาบ    และหรือใช้เวลา ๑ คาบในหนึ่งรายวิชา     

  • คำถามเมื่อเริ่มคาบเรียน    คำถามคือเครื่องมือที่ง่ายที่สุดสำหรับใช้กระตุ้นให้นักศึกษาฝึกดึงความรู้ออกมาจากสมอง   
  • คำถามก่อนจบคาบเรียน    ใช้หลักการเดียวกันกับคำถามเมื่อเริ่มคาบเรียน   คือ เน้นถามหลักการสำคัญที่ต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้สำหรับนำไปใช้งาน หรือเป็นพื้นฐานความรู้สำหรับนำความรู้ใหม่มาต่อยอด    และการตอบโดยการเขียน ดีกว่าตอบปากเปล่า    เพราะช่วยให้นักศึกษาได้คิดมากกว่า  
  • วิธีการออนไลน์  
  • ใช้ course outline (หรือ course syllabus)   การมี course outline ช่วยให้นักศึกษาเห็นภาพรวมทั้งหมดของวิชาที่เรียน   เขาแนะนำให้เขียน course outline ส่วนที่เป็นกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละตอนให้ชัดเจน   และกำหนดให้นักศึกษานำมาในชั้นเรียนทุกครั้ง    สำหรับใช้เป็นแนวทางว่าชั้นเรียนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว    และอาจารย์สามารถใช้เป็นโจทย์ว่าในคาบเรียนที่แล้วมีเนื้อหาสำคัญอะไรบ้าง    ให้เวลานักศึกษานึก ๑ - ๒ นาทีแล้วให้เขียนลงในสมุดบันทึกของตน  หรือเขียนลงบนกระดาษคำตอบที่ส่งอาจารย์  หรืออาจารย์ชี้ให้ตอบเป็นคำพูด         
  • จัด quiz ที่มีคะแนนนิดหน่อย อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง    เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกดึงความรู้ส่วนที่สำคัญออกมาจากสมอง    เน้นคำตอบเป็นข้อเขียนสั้นๆ หรือเป็นการแก้ปัญหา    เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกใช้ความรู้ที่ดึงออกมา
  • เปิดชั้นเรียน หรือช่วงการเรียนออนไลน์โดยการมอบหมายให้นักศึกษาเป็นผู้ทบทวนความรู้สำคัญที่ได้เรียนในคาบก่อนหน้า    หากให้ตอบด้วยวาจา อย่าลืมให้เวลานักศึกษาคิดสัก ๑ - ๒ นาที
  • ก่อนจบคาบเรียน ให้นักศึกษาเขียน “เรียงความ ๑ นาที”  บอก (๑) ความรู้สำคัญที่ได้เรียนในคาบนั้น  (๒) ส่วนใดที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ชัด
  • ก่อนจบคาบเรียน ให้นักศึกษาทำโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่เรียนในคาบนั้น
  • ใช้ course outline เพื่อดึงความสนใจนักศึกษาไปยังสาระความรู้ที่เรียนในคาบก่อนๆ  โดยการ quiz   หรือตั้งคำถามด้วยวาจา  ให้ตอบด้วยวาจา  ตามด้วยการปภิปราย 
  • “ก่อนเริ่มการเรียนวันนี้ ใครจะอาสาใช้เวลา ๒ นาทีสรุปว่าคราวที่แล้วเราเรียนอะไรกันบ้าง”   
  • “ก่อนที่อาจารย์จะสอนทฤษฎีที่สาม    สองทฤษฎีแรกที่เราเรียนกันไปแล้วคืออะไรบ้าง”
  • “ในเทอมนี้ เราได้เห็นการทดลอง ในเรื่องนี้แล้วหลายครั้ง    นักศึกษาคนไหนจะอาสาทบทวนว่า เราได้เห็นผลการทดลองอะไรบ้าง”  

อาจดัดแปลงเป็นกำหนดให้นักศึกษาผลัดเวรกันทำหน้าที่สรุปประเด็นของการเรียนในคาบก่อน โดยใช้เวลา ๓ - ๕ นาที

อาจใช้เทคนิค small writing exercise  คืออาจารย์ฉายคำถาม (ที่ค่อนข้างซับซ้อน เชื่อมโยงกับชีวิตจริง)  ให้เวลานักศึกษา ๕ - ๑๐ นาที สำหรับเขียนคำตอบหรือความเห็น    ตามด้วยการอภิปรายในชั้น    ผู้เขียนบอกว่า ตนให้คุณค่าเทคนิคนี้มากที่สุด และเดิมตนใช้เทคนิคนี้โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการอภิปราย    เพิ่งมาเข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ศิษย์ฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ เพื่อให้สมองจัดระบบความรู้เข้าชุด ก็ตอนเตรียมเขียนหนังสือเล่มนี้  

                อาจารย์ควรกำหนดว่าในคาบนั้น ความรู้ใดจัดเป็นความรู้สำคัญยิ่งยวด   และนำมาถามทั้ง  ตอนต้นและตอนจะจบคาบเรียน    ก็จะเป็นสัญญาณให้นักศึกษารับรู้ว่านั่นคือประเด็นความรู้สำคัญสำหรับคาบนั้น 

                หากใช้คำถามเมื่อเริ่มภาคเรียน ในลักษณะที่ให้นักศึกษาคาดการณ์ว่าจะได้เรียนอะไร    ควรใช้คำถามก่อนจบคาบเรียนให้นักศึกษาบอกว่าที่ได้เรียนรู้จริงตรงหรือต่างจากที่คาดไว้อย่างไรบ้าง  

                อาจารย์ควรเฉลยคำตอบของคำถามก่อนจบภาคเรียน  ลงในโซเชี่ยลมีเดียของชั้น (เช่น FaceBook, Twitter, Line) ทันทีที่จบคาบเรียน หรือโดยเร็วที่สุด   เพื่อให้นักศึกษาที่ตอบผิด ได้แก้ความเข้าใจผิดของตนเสีย

                 เทคนิคฝึกดึงความรู้มาใช้งานนี้    นอกจากมีประโยชน์ด้านการจัดระบบความรู้ในสมองแล้ว    ประโยชน์สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยแก้ไขความรู้ผิดๆ ของนักศึกษา    การแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่สำคัญต่อนักศึกษาทุกคน    น่าเสียดายที่วงการศึกษาไทยละเลยประเด็นนี้  

               อาจารย์ต้องหมั่นเตือนนักศึกษาว่า ในขั้นตอนการฝึกดึงความรู้ออกมาใช้งานนี้ เป้าหมายเป็นการฝึกสมองให้จัดระบบความรู้    นักศึกษาจึงต้องดึงความรู้ออกจากสมอง ไม่ใช่ดึงจากสมุดบันทึก    จึงต้องไม่เปิดสมุดบันทึกหาคำตอบ   

               เขาแนะนำหนังสือ Classroom Assessment Techniques เขียนโดย Angelo & Cross (1993) สำหรับศึกษากลเม็ดเด็ดพรายในการตั้งคำถาม   

Reading Checks   ในเอกสารที่อาจารย์เขียนให้นักศึกษาอ่านออนไลน์ ต้องมีคำถามอยู่ที่ด้านล่างของหน้าทุกหน้า    หากนักศึกษาไม่ตอบคำถาม จะเลื่อนไปหน้าต่อไปไม่ได้    เท่ากับเมื่ออ่านเอกสารนักศึกษาได้ทำ retrieval exercise เพื่อจัดระบบความรู้ในสมอง เป็นช่วงๆ  

Quiz บ่อยๆ    โดยอาจให้ตอบเป็นข้อเขียนสั้นๆ  หรือใช้ข้อสอบปรนัยหลายตัวเลือก (multiple choices) ก็ได้   หากต้องการลดแรงงานตรวจให้คะแนนก็ควรใช้ข้อสอบปรนัย    โดยใ ห้นักศึกษาเข้าไปสอบออนไลน์ บ่อยๆ (เช่นทุกสัปดาห์)    จะยิ่งดีหากอาจารย์จัดทำคลังข้อสอบขนาดใหญ่  ให้นักศึกษาเข้าไปสอบหลายครั้งได้    การ quiz online ต้องป้องกันการโกง    และต้องกำหนดเวลาทำข้อสอบ    เพื่อไม่ให้นักศึกษาค้นหาคำตอบจากสมุดบันทึก   เนื่องจากเราต้องการให้นักศึกษาฝึกสมอง

กระจายการฝึก    อาจารย์พึงตระหนักว่า นักศึกษาต้องเรียนหลายวิชา    อาจารย์ของทุกวิชาจึงควรตกลงกันว่าการ quiz เพื่อฝึกสมองของนักศึกษาวิชาใดอยู่ในวันใดของสัปดาห์ อย่าให้ซ้ำกัน   การกำหนดเช่นนี้จะช่วยให้เกิดกลไกหนุนการเรียนรู้ที่เรียกว่า การเรียนแบบแทรกสลับ (interleaving) () คือการสลับเรื่องที่เรียนเป็นช่วงๆ ซึ่งเป็นสาระในบันทึกตอนที่ ๔   

ผมเคยเขียนหนังสือ สอนนอกกรอบ ยุทธวิธีจับใจศิษย์ และจัดพิมพ์โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สามารถ ดาวน์โหลด ไฟล์หนังสือทั้งเล่มได้ฟรี รวมทั้งมีหนังสือเสียงด้วย    ในเล่มมีเทคนิคที่ช่วยการทบทวนความรู้หรือช่วยการจัดระบบความรู้ในสมองมากมาย 

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีเทคนิคทำนองเดียวกันคือ สอนอย่างมือชั้นครู ที่ดาวน์โหลด pdf file ได้ฟรีเช่นเดียวกัน 

 

หลักการ

การฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ เป็นวิธีการฝึกสมอง ให้จัดระบบความรู้นั้นกับความรู้เดิมเป็นชุดความรู้    จารึกในสมองแบบที่ดึงออกมาใช้ภายหลังได้ง่าย    หลักการสามข้อข้างล่าง เป็นวิธีทำให้การฝึกนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น  

ทำบ่อยๆ    ผลการวิจัยบอกว่ายิ่งฝึกบ่อยยิ่งได้ผลลัพธ์การเรียนรู้มากขึ้น    ควร quiz อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง    สลับกับการตั้งคำถามในชั้นเรียน

เชื่อมโยงการฝึกกับการประเมิน   เนื่องจากการฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ ต้องเน้นที่ความรู้ที่สำคัญ    ดังนั้นตอนสอบเพื่อคะแนนจริงๆ ก็ย่อมสอบตามนั้น   และหากการสอบไล่กลางเทอมหรือปลายเทอมเน้นข้อสอบที่ตอบแบบเรียงความ   การฝึกดึงความรู้ก็ต้องเน้นให้ฝึกตอบแบบเรียงความ    หากการสอบไล่เน้นข้อสอบปรนัย  การฝึกก็ควรให้ตอบแบบปรนัย  

ต้องมีการคิด   คำถามเพื่อฝึกดึงความรู้ควรเน้นคำถามเชิงซ้อน   ไม่ใช่ถามความรู้ตรงๆ    เพื่อให้นักศึกษาได้คิด  การคิดช่วยความจำ และที่สำคัญ ช่วยการจัดระบบความรู้ในสมอง    เช่นแทนที่จะถามว่าปลาหายใจอย่างไร   ให้ถามว่าการหายใจของคนกับการหายใจของปลาต่างกันอย่างไร  

 

ข้อแนะนำวิธีปฏิบัติเรื่องการสอนทีละน้อยด้วยการฝึกดึงความรู้ออกมาใช้

อาจารย์สามารถให้นักศึกษาฝึกดึงความรู้ออกจากสมองได้ในทุกโอกาส  แม้จะมีเวลาเพียงนาทีเดียวก็ทำได้    แต่เวลาที่ดีที่สุดคือช่วงเปิดชั้นเรียนและตอนใกล้จบคาบเรียน   โดยอาจทำเป็น quiz หรือแบบฝึกหัดให้ตอบเป็นข้อเขียน   เน้นทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง

 

สรุป

สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ และสร้างบรรยากาศ ว่าการฝึกดึงความรู้ออกมาใช้ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน   เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ช่วยให้นักศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้น    และผลการสอบดีขึ้น    ไม่ใช่เป็นการสร้างบรรยากาศการสอบที่ทำให้นักศึกษาเครียดอยู่ตลอดเวลา    หรือเป็นการปฏิบัติต่อนักศึกษาแบบเด็กๆ    นักศึกษาจะเข้าใจผลของการใช้เวลาเล็กน้อยฝึกดึงความรู้ออกจากสมองของตน เอาออกมาใช้    เมื่อตอนสอบไล่กลางเทอมหรือปลายเทอม  

 

บันทึกของผมในบล็อก Gotoknow ชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจ ที่เขียนจากการตีความหนังสือ Embedded Formative Assessment (2011) เขียนโดย Wiliam Dylan เป็นอีกแหล่งหนึ่งของวิธีตั้งคำถามในชั้นเรียน   เพื่อช่วยเอื้อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน   และอาจตีความว่าเป็นวิธีช่วยกลไกจัดระบบความรู้ในสมองตามแนวของ retrieval effect  

วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644200เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2018 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2018 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท