ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 3. ฝึกทำนาย (predicting)



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 สามบทแรกใน ๙ บทของหนังสือ อยู่ในตอนที่ ๑ ว่าด้วยความรู้ (Knowledge)    บันทึกตอนที่ ๓ นี้ ตีความจากบทที่ ๒ ในหัวข้อฝึกทำนาย หรือคาดการณ์ (predicting)

 

คำนำ

กระบวนการทำนาย (predicting) เป็นการดึงความรู้เดิม (prior knowledge / longterm memory) ออกมาใช้    เป็นกระบวนการที่สร้างความคึกคักให้แก่สมอง    อาจเรียกว่า เป็นกระบวนการ prime สมอง    เตรียมสมองให้พร้อมรับรู้และเรียนรู้เรื่องนั้นๆ    ผมเดาว่าในอนาคตจะมีการวิจัยผลของกระบวนการนี้ต่อชีวิตประจำวัน   และผมตีความว่าการพนัน เช่นพนันบอลล์ เป็นลักษณะหนึ่งของการใช้การทำนายสร้างชีวิตชีวาในชีวิตประจำวัน 

 

ทฤษฎี

หนังสือเล่าการทดลองเพื่อวิจัยผลของการฝึกทำนาย (predicting) ต่อระดับการเรียนรู้    หลายการทดลอง ในหลายรูปแบบ   สรุปได้ว่า predicting หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ pretesting ช่วยให้การเรียนรู้ดีกว่า  เข้าใจดีกว่า และจำสาระสำคัญได้ดีกว่า    ผมจะไม่นำรายละเอียดมาเล่า เพราะจะทำให้บันทึกยาวเกินไป    แต่จะขอบอกว่า วิธีการออกแบบการทดลองเป็นสุดยอดตัวอย่างของการวิจัยที่ดี    จึงขอแนะนำให้นักวิจัยหรือนักศึกษาปริญญาเอกด้านการศึกษาเข้าไปอ่านหนังสือและรายงานผลการวิจัยฉบับในวารสาร

การทดลองเหล่านี้ ทำในช่วงประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา     ทฤษฎีเรื่องใช้การทำนายเตรียมสมองให้พร้อมต่อการเรียนรู้จึงใหม่มาก    ผลการทดลองต่างๆ ให้ผลยืนยันผลดีของการทำนายทั้งสิ้น    แต่คำอธิบายกลไกที่การทำนายก่อผลดีต่อการเรียนรู้แตกต่างกัน    คือยังมีช่องทางศึกษาอีกมากเพื่อเข้าใจกลไกการเรียนรู้ของสมอง   

หนังสือบอกว่า นักเรียนที่ทำ pretest ก่อนเรียน    จะทำ posttest หลังเรียนได้ผลดีกว่าอย่างชัดเจน (ดีขึ้นประมาณร้อยละ ๑๐)   และไม่ว่าคำตอบตอน pretest จะถูกหรือผิด    ผล posttest ก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่าผลของนักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้ทำ pretest เหมือนกัน    กล่าวคือ  การทำ predicting หรือ pretest ไม่ได้สนใจที่ผล  แต่สนใจที่กระบวนการเตรียมสมอง 

มีการวิจัยแบบออนไลน์ที่น่าสนใจวิธีออกแบบการทดลองมาก    เป็นบทเรียนทางสังคมศาสตร์ที่ซับซ้อน ทำความเข้าใจพฤติกรรมทางวัฒนธรรม    จากการดูวีดิทัศน์สั้นๆ    กลุ่มทดลองดูแบบ pause – predict – ponder    คือไม่ดูทีเดียวตลอดเรื่อง  แต่หยุดตรงจุดสำคัญ ให้ทำนายว่าเรื่องจะเดินต่ออย่างไร (โดยเลือกคำตอบใน drop-down menu  เมื่อเลือกแล้วก็จะมี drop-down menu ต่อไป ให้กรอกคำอธิบายว่าทำไมเลือกคำตอบนั้น)   หลังจากดูจบจึงให้ไตร่ตรองว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร (โดยตอบคำถามใน drop-down menu เช่นกัน)    เขาวัดผลเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเทียบที่ผลการสอบ    ซึ่งพบว่ากลุ่มทดลองคะแนนสูงกว่าร้อยละ ๑๐     

เขาอ้างหนังสือ How We Learn เขียนโดย Benedict Carey ที่อธิบายว่าสมองไม่ได้เก็บข้อมูลความรู้เหมือนในคอมพิวเตอร์    แต่เก็บไว้ในรูปของเครือข่ายของ ความเข้าใจ (perceptions), ความจริง (facts), และ ความคิด (thoughts)    คนที่เชี่ยวชาญเรื่องหนึ่ง (เช่นอาจารย์) จะมีเครือข่ายในสมองที่หนาแน่น ในขณะที่มือใหม่ (เช่นนักศึกษา) จะมีเครือข่ายที่เบาบาง    นักศึกษาจึงคิดเชื่อมโยงไม่เก่ง    คำอธิบายเรื่องนี้เขาอ้างหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching  ซึ่งผมตีความเขียนบล็อกชุด การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  และมีการรวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือ ที่ดาวน์โหลด pdf file ได้ฟรี

หนังสือ Small Teaching อธิบายว่า กิจกรรมทำนายช่วยเตรียมสมองให้ค้นหาการเชื่อมโยงใยสมองที่ถูกต้องสำหรับใช้งานในเรื่องนั้น   เชื่อมโยงคำถามไปสู่คำตอบ   สมองจะค้นหาความรู้เดิมเท่าที่มี สำหรับใช้ตอบคำถาม    เป็นการเตรียมพร้อมรับความรู้ใหม่    และคำตอบที่ผิดจะช่วยกระตุ้นการรับรู้ความรู้ใหม่และเชื่อมโยงเข้าไปในเครือข่ายความรู้ในสมอง    กลไกเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในการอ่านหนังสือตามปกติ

แต่ผมเถียง    ผมมีวิธีการที่ใช้มานานเป็นสิบปี    ที่ผมไม่ “อ่าน” หนังสือ    แต่ผม “ถาม” หนังสือ    และบางครั้งก็ “เถียง” หนังสือ (อย่างที่กำลังทำอยู่นี่แหละ)    เมื่อได้อ่านหนังสือ Small Teaching ผมก็ตีความว่า การ “ถาม” หนังสือของผม เป็นกระบวนการ “ทำนาย” รูปแบบหนึ่ง    

เขาอ้างคำอธิบายของ Benedict Carey ว่าการทำนายเรื่องราวที่จะเรียนล่วงหน้า  หรือทำแบบทดสอบก่อนเรียน ช่วยบอกแนวทางว่าเรื่องที่กำลังเรียนมีหัวใจสำคัญที่ใด   ช่วยให้เกิดการเรียนที่โฟกัสประเด็นสำคัญ    และอีกคำอธิบายหนึ่งคือ การทำนายล่วงหน้าช่วยให้ผู้เรียนตระหนักใน ความไม่รู้ หรือช่องว่างความรู้ ของตน    ช่วยลดความหลงผิดว่าตนรู้แล้ว  

เมื่อทำแบบฝึกหัดฝึกทำนาย หรือทดสอบก่อนเรียนแล้ว    ต้องมีการเฉลยและ feedback ทันที   หรืออย่างช้าที่สุดในคาบการเรียนครั้งหน้า    เพื่อช่วยให้นักศึกษาลบความรู้ผิดๆ ออกจากสมอง   

 

รูปแบบวิธีการ

เวลาที่เหมาะสำหรับทำ small teaching แบบ predicting คือนาทีแรกๆ และนาทีท้ายๆ ของคาบเรียน    เช่นเดียวกันกับ small teaching แบบ retrieval    การทำนายในช่วงเปิดคาบเรียน เป็นการทำนายสาระในคาบนั้น    การทำนายช่วงท้ายคาบเรียน เป็นการทำนายสาระในคาบหน้า 

  • Pretesting   การทดสอบก่อนเรียนนี้ทำได้หลากหลายรูปแบบ และหลายขนาด    เช่น ทดสอบใหญ่เมื่อเปิดชั้นเรียนต้นเทอม (เทียบเท่ากับสอบปลายเทอม)    ทดสอบย่อยก่อนเริ่มยูนิตใหม่ของรายวิชา    ทดสอบสั้นๆ ก่อนเริ่มการบรรยายของคาบ    โดยให้รบกวนเวลาเรียนน้อยที่สุด    ควรใช้รูปแบบการทดสอบที่จะใช้ตอนสอบจริง   
  • Clicker Prediction   สามารถตั้งคำถามให้นักศึกษาเลือกคำตอบด้วย clicker    ด้วยคำถามชนิดที่นักศึกษาต้องคิด (comprehension) ไม่ใช่แค่ใช้ความจำ    อาจใช้คำถามเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสาระที่กำลังเรียน    แต่ให้คำตอบแสดงแก่ชั้นในภาพรวมของนักศึกษาทั้งชั้น     ตามด้วยการอภิปรายว่าทำไมคำตอบจึงออกมาในลักษณะนั้น    เขาแนะนำหนังสือ Teaching with Classroom Response : Creating Active Learning Environments (2009) เขียนโดย Derek Bruff    แสดงให้เห็นว่า การใช้ clicker ช่วยการสอน  สามารถทำให้การสอนมีลักษณะ active learning ได้ 
  • Prediction – Exposure – Feedback    เป็นการบูรณาการการตั้งคำถามเชิงให้นักศึกษาใช้ความรู้เท่าที่มีทำนายเหตุการณ์หรือคาดการณ์บทเรียนล่วงหน้า     ใช้ได้ในทุกสาขาวิชาการ    หนังสือยกตัวอย่างในรายวิชาหนึ่ง  นักศึกษาได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือ ตอนที่ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่ง     เมื่อเริ่มคาบเรียนอาจารย์เล่าเหตุการณ์หนึ่งในอดีต แล้วให้นักศึกษาใช้ความรู้เรื่องทฤษฎีที่อ่านมา ทำนายว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายไปทางใด เพราะอะไร    หลังจากนั้นอาจารย์จึงสอนบทเรียนซึ่งจะครอบคลุมเรื่องดังกล่าว    และให้นักศึกษาอภิปรายกันว่า คำตอบที่ผิด เป็นเพราะตีความทฤษฎีนั้นผิดอย่างไร    หรือเป็นข้อจำกัดของทฤษฎีนั้นในแง่ใด
  • Closing Predictions    การให้ฝึกทำนายตอนจะสิ้นสุดคาบเรียน    เป็นการทำนายเชื่อมโยงไปยังสาระในคาบเรียนต่อไป    หรือไปยังการบ้านที่ได้รับมอบหมาย    คำถามปิดชั้นเรียนที่ดี จะกระตุ้นความสนใจให้นักศึกษากลับไปอ่านตำรา หรือทำการบ้าน ที่ได้รับมอบหมาย อย่างกระตือรือร้น   

               อาจารย์ไม่จำเป็นต้องให้คะแนนการทดสอบนี้แก่นักเรียนเป็นรายคน  แต่ควรให้ feedback ทันที   โดยอาจเฉลยและให้นักศึกษาตรวจเอง    อาจารย์ไม่ควรประกาศว่าการทดสอบนี้ไม่มีคะแนน    แต่ควรระบุให้ชัดว่า เป้าหมายหลักคือการช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ดีขึ้น จากผลของกระบวนการ prediction   อาจารย์อาจเก็บกระดาษคำตอบเอามาตรวจการเข้าเรียน    หรือเอามาตรวจระดับของ prior knowledge ของนักศึกษา    อาจทดสอบโดยอาจารย์บอกคำถาม ให้นักศึกษาคิด ๕ นาที แล้วชี้ให้นักศึกษาตอบ    ตามด้วยการเฉลย 

               เมื่อกลับมาเข้าชั้นเรียนของวิชานั้นในคาบต่อไปในสัปดาห์ต่อมา    อาจารย์อาจเปิดชั้นเรียนด้วยคำถามว่า ใครทำนายสาระในหนังสือตอนต่อไปถูกต้อง  เพราะอะไร   ใครทำนายผิด เพราะอะไร  

 

หลักการ

หลักการที่พึงยึดถือในการใช้ การทำนายเพื่อช่วยทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นง่าย  และใช้เวลาและแรงงานน้อย ตรงตามหลัก small teaching  คือ

  • พุ่งเป้าที่หลักการสำคัญ   คำถามเพื่อให้นักศึกษาทำนาย พึงเน้นที่หลักการสำคัญของวิชา     และพึงตระหนักว่าการให้นักศึกษาทำนายล่วงหน้า มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาใช้ความรู้เดิม (prior knowledge) เท่าที่มี ออกมาใช้ทำนาย   คำถามที่ใช้จึงต้องไม่ถามตรงๆ หรือเป็นคำถามชั้นเดียว    ต้องเป็นคำถามที่กระตุ่นให้นักศึกษาคิดซับซ้อนพอสมควร  
  • ให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) โดยเร็วที่สุด   คำทำนายเพื่อเปิดคาบเรียนต้องได้รับ feedback ก่อนจบคาบนั้น    คำทำนายตอนจะจบคาบเรียน ต้องได้รับ feedback ในตอนเปิดคาบเรียนต่อไป    คำทำนายในการเรียน online ต้องได้รับการป้อนกลับในคาบนั้น    หลักการคือ ต้องไม่ปล่อยให้ความเข้าใจผิด ที่นำไปสู่การทำนายผิดติดตัวผู้เรียนไป  
  • กระตุ้นให้ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection)    ความจำเป็นผลของการคิด    ดังนั้นอาจารย์พึงใช้การทำนายเป็นกลไกกระตุ้นการคิด    ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยในโจทย์ให้นักศึกษาทำนายตอนต้นคาบ   เมื่อนักศึกษาทุกคนเขียนคำตอบเสร็จ    อาจารย์ชี้ให้นักศึกษาสองสามคนอ่านคำทำนายของตน    ตอนจะจบคาบ อาจารย์กลับมาที่นักศึกษาที่อ่านคำทำนายถูกต้อง    ให้นักศึกษาผู้นั้นอธิบายว่าใช้ความรู้อะไรบ้างในการทำนาย    และให้นักศึกษาที่ทำนายผิด บอกว่าตนได้แก้ไขความเข้าใจผิดของตนอย่างไรบ้าง     ย้ำกับนักศึกษาว่า การทำนายถูกผิดไม่สำคัญเท่าการได้เรียนรู้จากการฝึกทำนาย   

 

เคล็ดลับเรื่องการสอนเล็กน้อยด้วยการฝึกทำนาย

การฝึกทำนายเป็นการเรียนแบบที่ไม่เน้นท่องจำ แต่เน้นคิด   ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบซับซ้อน    และเมื่อฝึกคิดแล้วจะจำเองโดยอัตโนมัติ    ไม่ต้องท่อง    แม้จะเป็นการเรียนความรู้แบบซับซ้อน การใช้บทเรียนแบบฝึกทำนายก็ทำได้ง่ายๆ ตามแนว small teaching   โดยมีเคล็ดลับต่อไปนี้

  • ใช้ pretest ตอนต้นคาบ, ต้นหน่วยการเรียน, หรือต้นรายวิชา    ใช้ข้อสอบแนวเดียวกันกับข้อสอบไล่
  • ก่อนเริ่มเรียน  ให้นักศึกษาเขียนว่า ตนมีความรู้อะไรบ้างแล้วในเรื่องนั้น    หรือคาดหวังว่าจะได้เรียนอะไร
  • เมื่ออาจารย์บรรยายเล่ากรณีศึกษา หรือตัวอย่าง  ก่อนจบเรื่องอาจารย์หยุดเล่า    และให้นักศึกษาทำนายว่าเรื่องจะคลี่คลายหรือจบในทำนองใด   
  • เมื่อสอนทักษะใหม่ด้านความรู้ (new cognitive skill)   ให้นักศึกษาได้ลองฝึก และได้รับคำแนะนำป้อนกลับ ก่อนที่นักศึกษาจะรู้สึกว่าตนพร้อมจะฝึก    คือให้นักศึกษาได้ฝึทำนายตั้งแต่นักศึกษายังไม่มีความรู้เรื่องนั้น  
  • ปิดคาบเรียนด้วยการให้นักศึกษาทำนายว่าในคาบหน้าจะเรียนเรื่องอะไร 

 

สรุป

การทำนายล่วงหน้า มีผลดึงความสนใจ และกระตุ้นอารมณ์    ความสนใจใคร่รู้ (ว่าการทำนายจะถูกหรือผิด) เป็นตัวกระตุ้นสมอง    มีผลการวิจัยพบว่า ความสนใจใคร่รู้ (curiosity) ทำให้สมองส่วน hippocampus ทำงานเพิ่มขึ้น   hippocampus ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ    นอกจากนั้นความคาดหวัง (anticipation) ว่าจะได้รับการเฉลยคำตอบ จะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า reward system  ซึ่งจะไปกระตุ้น hippocampus อีกต่อหนึ่ง 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ม.ค. ๖๑

ริมแม่น้ำท่าจีน  ที่โรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์


หมายเลขบันทึก: 644383เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2018 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2018 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท