โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย 1


แต่โครงสร้างใหม่(ตามแนวปฏิรูปอุดมศึกษา)นี้ การบริหารจะจบสิ้นภายในสถาบันเองเป็นหลักสำคัญ โดยมีการบริหารและการตัดสินใจที่แบ่งลักษณะงานตามความสามารถของแต่ละกลุ่มโดยชัดเจน โดยมีโครงสร้างหลักสามส่วน คือ

          เมื่อใดก็ตามที่ดิฉันมีโอกาสพูดเรื่อง KM ให้กับกลุ่มบุคลากรที่หลงติดกับดักเข้ามาฟัง ดิฉันมักใช้ 2 slide ข้างล่างนี้ เป็นหลักและเป็นประเดิมในการสร้างความเข้าใจภาพรวมก่อนเสมอ

          โดยยึดแนวทางที่ท่าน ศ.นพ.ประเวศ  วะสี เคยสอนไว้ว่า ให้ศึกษาเรื่องต่างๆ  จากการเปรียบเทียบกับระบบของร่างกายมนุษย์ เพราะ "ร่างกายมนุษย์"  เป็นสิ่งที่เป็นเอกภาพ  ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย และสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้

          องค์ประกอบที่ทำให้เกิดคุณสมบัติที่ประเสริฐสุดเช่นนี้  และสามารถทำให้ "คน" เป็นคนที่สมบูรณ์ได้ เพราะ

          คนเราสามารถใฝ่ฝันถึงสิ่งที่อยากจะเป็นได้  มีความตั้งใจและความหวังเพื่อไปสู่จุดหมาย  มีโครงสร้างร่างกายที่เอื้ออำนวย มีอวัยวะภายในที่แตกต่างหลากหลายและซับซ้อนแต่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ  มีสมองที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลไม่อั้นและมีขีดความสามารถในการประมวลผลได้เหนือสิ่งมีชีวิตใดใดในโลก เมื่อผนวกกับศักยภาพในการเรียนรู้และจิตใจที่มีคุณธรรมแล้ว ก็จะได้ "คน" ที่สมบูรณ์พร้อม มีบุคลิกภาพเฉพาะตัว เผชิญปัญหาทั้งมวลได้

          ดังนั้น องค์กร ซึ่งเป็นแหล่งรวมของกลุ่มคน ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกัน  ถ้าองค์กร อยากจะมีเอกภาพ  ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความหลากหลายและสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้ละก็  องค์กรก็ต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน ดังรูป 

          เกริ่นมาเสียยืดยาว ทั้งที่ วันนี้ ดิฉันอยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องเดียว คือ เรื่องของ "โครงสร้าง"  โดยเฉพาะคือ "โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย"

          ด้วยดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ไม่แพ้เรื่ององค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย และโยงไปยัง ร่าง พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นยีนที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมนี้

          ท่านอาจารย์ไพฑูรย์  (รศ.ดร.ไพฑูรย์  สินลารัตน์) ได้เคยนำเสนอในหนังสือ เรื่อง "กระบวนทัศน์ใหม่ ในการบริหารจัดการอุดมศึกษาไทย"  ว่า

          ในการบริหารแบบราชการ โครงสร้างของสถาบันเป็นลักษณะเส้นตรงคือเริ่มจากอาจารย์ไปสู่ผู้บริหาร  และผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป  จากนั้นจึงส่งต่อไปยังหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกว่า  ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นกระทรวงหรือทบวงอีกต่อหนึ่ง

          แต่โครงสร้างใหม่(ตามแนวปฏิรูปอุดมศึกษา)นี้  การบริหารจะจบสิ้นภายในสถาบันเองเป็นหลักสำคัญ  โดยมีการบริหารและการตัดสินใจที่แบ่งลักษณะงานตามความสามารถของแต่ละกลุ่มโดยชัดเจน  โดยมีโครงสร้างหลักสามส่วน คือ 

  1. สภาสถาบัน
  2. สภาวิชาการ
  3. คณะกรรมการบริหาร

          ตามโครงสร้างนี้ สภาสถาบัน หรือสภาของสถานศึกษา จะมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของสถาบัน  มีหน้าที่ดูแลกิจการของสถาบันโดยตรง

          ส่วนสภาวิชาการมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานวิชาการของสถาบัน

          และฝ่ายบริหาร ดูแลกิจการทั่วไปของสถาบัน ตามนโยบายและทิศทางที่กำหนดไว้โดยสภาสถาบันและสภาวิชาการ

          โครงสร้างหลักจึงประกอบไปด้วยสามเส้าหลัก  ดังรูป

          โครงสร้างที่เป็นสามเส้านี้สะท้อนภาพหลักของการบริหารอุดมศึกษา ที่สภาสถาบันกำหนดนโยบาย และทิศทางให้กับฝ่ายบริหารและคณาจารย์ดำเนินงาน

          สภาวิชาการดูแลในรายละเอียดหรือเสนอนโยบายทางวิชาการต่อสภาสถาบัน  เมื่อกำหนดนโยบายและแนวทางชัดเจนแล้วจึงมอบให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติ  แล้วมีการประเมินการทำงานของผู้บริหารเป็นระยะๆ ไป ผู้บริหารจึงต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพสูง  เพราะไม่เช่นนั้นนโยบายและทิศทางของสถาบันที่กำหนดไว้โดยสภาทั้งสองก็ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้

หมายเลขบันทึก: 70773เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2007 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท