ปัญหาสังคม : เป็นมากน้อย...ต้องช่วยแก้ (4)


ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวหาได้ตายแน่นิ่งไปจากสังคมไม่ยังมีตัวตายตัวแทนที่เป็นเสมือนการทิ้งก้อนหินลงบนพื้นน้ำ เมื่อคนทิ้งตาย...น้ำก็กระเพื่อมเคลื่อนย้ายขยายวงกว้างขึ้นเป็นทอด ๆ

          พฤติกรรมก้าวร้าวเป็นปัญหาสังคมที่ขยายความรุนแรงเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แล้วขนาดไหนถึงเรียกว่าปัญหาสังคม เราคงไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ว่ามากน้อยขนาดไหนถึงเรียกว่าเป็น “ปัญหาสังคม” แต่ให้เราวิเคราะห์ว่าปัญหานั้นไปกระทบกระเทือนกับความเป็นอยู่ของคนส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน โดยการดูจากข่าวหรือเรื่องราวเหล่านั้นได้มีการลงเป็นบทความ นิตยสารถี่ขนาดไหน หากในแต่ละปีออกมาถี่มากก็ให้สันนิฐานได้เลยว่านั่นแหละเป็น “ปัญหาสังคม” ในขณะที่มีการตั้งคำถามต่อไปว่า “ปัญหาเหล่านี้จำเป็นมากไหมที่สังคมต้องช่วยกันแก้ไข”

           พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติใช่หรือไม่ ดิฉันมีคำตอบนี้ไว้ในบันทึก ปัญหาสังคม : พฤติกรรมก้าวร้าว(1)  เพราะพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นปัญหาสังคมอันเกิดขึ้นจากปัจจัยปรุงแต่งชนิดต่าง ๆ มากระทบกระเทือนจิตใจอันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิด เกิดอคติ ทำให้พฤติกรรมที่เคยเป็นปกติหันเหเปลี่ยนทิศทางไป หากกฎของธรรมชาติในการดำเนินชีวิตบอกเราว่า การที่มนุษย์จะอยู่รอดในสังคมปัจจุบันจะต้องทำตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติให้ได้ ยิ่งมนุษย์มีความฉลาดมากขึ้นเท่าไรกระบวนการในการอยู่รอดของมนุษย์ก็ยิ่งสับสนวุ่นวายมากขึ้นไปด้วย นั่นก็คือเราอยู่ในสภาวะที่กำลังเกิดปัญหาสังคมขึ้น

          พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถจะคลี่คลายลงได้ด้วยตัวของมันเองหรือจะดีขึ้นได้โดยอัตโนมัติตามกฎธรรมชาติที่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายดับสลายหายไปเป็นเรื่องปกติโลก หากมองในแง่ปล่อยวางให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติแล้วแต่เวรแต่กรรม ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวหาได้ตายแน่นิ่งไปจากสังคมไม่ยังมีตัวตายตัวแทนที่เป็นเสมือนการทิ้งก้อนหินลงบนพื้นน้ำ เมื่อคนทิ้งตาย...น้ำก็กระเพื่อมเคลื่อนย้ายขยายวงกว้างขึ้นเป็นทอด ๆ เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดจากมนุษย์ยิ่งมนุษย์มีมากขึ้นเท่าไร กิเลส ตัณหา ความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้ ความสับสนวุ่นวายก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และหากเรายังนิ่งดูดายเฉยเมยไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็จะขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวย การแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตามเราต้องยอมรับด้วยว่าปัญหาทุกปัญหาใช่ว่าจะแก้ไขได้หมด แต่บางปัญหาหากใช้มาตรการหรือวิธีการที่ถูกจุดหรือใช้ยาที่ถูกกับโรคก็จะช่วยยับยั้งหรือลดความกดดัน ความตึงเครียดของปัญหานั้นให้น้อยลงได้

          การช่วยกันแก้ไขปัญาค้นหาวิธีการจัดการที่ดี เพื่อตัดทอนวงจรพฤติกรรมก้าวร้าวออกไปจากสังคมเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมควรหันมาให้ความร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหา อาจจะดีกว่าการนั่งงอมืองอเท้าให้ปัญหานั้นเข้ามาครอบงำฝังตัวแน่นอยู่ในสังคมจนสลัดไม่หลุดและมีแนวโน้มจะแผ่ขยายเป็นวงกว้างรุนแรงไปเรื่อย ๆ เพียงเพราะเชื่อว่าปัญหามันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ วันหนึ่งปัญหามันก็ดับสลายไปตามธรรมชาติเอง การคิดเช่นนี้เป็นการคิดที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและไม่เกิดผลดี เพราะบางปัญหาหากปล่อยไว้อาจเลวร้ายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้

หมายเลขบันทึก: 70557เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เห็นด้วยนะครับดังที่อาจารย์ว่าไว้ หากมองในแง่ปล่อยวางให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติแล้วแต่เวรแต่กรรม ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
  • ผมเคยเป็นครูโรงเรียนเอกชนที่กรุงเทพมาระยะหนึ่ง  ตอนนั้นโรงเรียนไม่มีครูแนะแนว ผมรบเร้าผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้และโชคดีก็มีครูมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนโดยตรง
  • เคยเจอะเจอปัญหานักเรียนหลายรายที่ครูเองก็ไม่เข้าใจวัยของพวกเขา และใช้วิธีรุนแรงเข้าว่า เด็กยิ่งกระเจิงและขาดศรัทธาต่อการเรียน 
  • ครั้งหนึ่งผมเคยรวบรวมเอาหัวโจก เด็กดื๊อ รวมถึงขาโจ๋ของโรงเรียนมาขึ้นเวทีแสดงกิจกรรม พวกเขาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนใคร ๆ ถามว่ามีวิธีการอย่างไรจึงนำ "คนจำพวกนั้น" (ครูเรียกนักเรียนอย่างนั้นจริง)  มาร่วมกิจกรรมได้อย่างง่ายดาย
  • ผมบอกว่าไม่มีอะไรมาก  พวกเขาต้องการความใส่ใจ  เข้าใจ เห็นใจและเห็นความสำคัญในตัวพวกเขา  ที่สำคัญคือต้องกล้าที่จะให้โอกาสและให้เวทีทางสังคมกับพวกเขาบ้าง มิใช่ "ปิดตาย"  อยู่ร่ำไป

เจริญพร อาจารย์ vij

ติดตามบันทึกของอาจารย์เรื่อยๆ มีมุมมองต่างประเด็นออกไป นะครับ

ขงจื้อกับเล่าจื้อต่างกันในแง่มุมหนึ่ง นั่นคือ เล่าจื้อมีความเห็นว่า "โลกนี้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง"...ส่วนขงจื้อมองว่า "โลกนี้ยังไม่สมบูรณ์ จะต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อเกิดความสมบูรณ์"

"ความก้าวร้าว" คือการไปกระทบ "กรอบ" ที่วางไว้หรือไม่ ? ..ใครเป็นผู้วาง "กรอบ" ...ถ้าโลกนี้ไม่มีความก้าวร้าว โลกนี้ก็คงจะมีแต่กรอบเดิมๆ ...อีกมุมมองหนึ่ง พัฒนาการของสังคมอาจเกิดมาจากความก้าวร้าวก็ได้...

ใน On Liberty โดย จอห์น สจ๊วด มิลล์ เค้าบอกว่า

๑. ความคิดเห็นอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าถูกอำนาจบางอย่างทำให้เงียบระงับไป ความคิดเห็นนั้นอาจถูกต้องเป็นจริงก็ได้

๒. แม้ว่าความคิดเห็นนั้น อาจไม่ถูกต้องเป็นจริง แต่อาจบ่งบอกบางส่วนของความถูกต้องเป็นจริงก็ได้

๓. ถ้ายึดถือว่า ความคิดเห็นนี้แหละ ถูกต้องเท่านั้น บ่งบอกถึงความมีจิตใจคับแคบ

๔. ความคิดเห็นที่ไม่ถูกตรวจสอบ จะค่อยๆ อ่อนกำลัง กลายเป็นเพียงความเชื่อและสลายไปในที่สุด

อนึ่งในสังคมไทยเดิม เด็กเถียงผู้ใหญ่ เด็กผิด ..แต่ ผู้ใหญ่ทะเลาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ผิด...แม้ว่าการตัดสินทำนองนี้มิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง แต่ก็สามารถสร้างให้เกิดความสมดุลในสังคมได้...

สรุปว่า เป็นกำลังใจให้อาจารย์เสนอความคิดเห็นต่อไป...ครับ

เจริญพร 

  • สวัสดีปีใหม่อีกครั้งค่ะอาจารย์ Vij  

  • พฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่นสมัยนี้เกิดจากการหล่อหลอมจากต้นแบบ สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวตั้งแต่เด็กจนโตค่อยๆซึมซับจนกลายเป็นนิสัย ทุกคนในสังคมต่างควรมีส่วนร่วมในการดูแลและป้องกันการเกิดพฤติกรรมดังกล่าวแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่มที่ครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรกค่ะแล้วขยายวงกว้างไปในชุมชนและสังคมช่วยกันดูแล ไม่เติมเชื้อความก้าวร้าวให้แก่เขา ...คนที่อยู่รอบข้างทุกคนของเขา มีอิทธิพลกับชีวิตเขา...ค่ะขอร่วมเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยดูแล ครอบครัวและสังคมนี้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามศักยภาพของตัวเองค่ะ ...

 ขอบคุณคุณ แผ่นดิน มากค่ะ สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการ ลปรร.

"พวกเขาต้องการความใส่ใจ  เข้าใจ เห็นใจและเห็นความสำคัญในตัวพวกเขา  ที่สำคัญคือต้องกล้าที่จะให้โอกาสและให้เวทีทางสังคมกับพวกเขาบ้าง มิใช่ "ปิดตาย"  อยู่ร่ำไป" นี่คือสิ่งหนึ่งที่สังคมควรหยิบยื่นให้เขาค่ะ การให้โอกาสในขณะที่เขารอโอกาสเป็นสิ่งที่พึงกระทำยิ่ง เพราะไม่เฉพาะแต่วัยรุ่นเท่านั้นที่ต้องการโอกาสแต่มนุษย์ทุกคนต้องการโอกาส เพราะบางครั้งเขาเพียงแค่รอโอกาสแต่ไม่มีใครในสังคมหยิบยื่นหรือเปิดโอกาสให้เขา เขาจึงต้องสร้างโอกาสให้กับตัวเองโดยการเรียกร้องความสนใจโดยการทำผิดซ้ำ ๆ อยู่ร่ำไป

บ่อยครั้งที่วัยรุ่นต้องการเวทีแสดงกิจกรรมในการปลดปล่อย แต่ผู้ใหญ่กลับให้ความสนใจทางด้านวิชาการมากจนเกินไป จัดเวทีก็ครั้งก็มีแต่เวทีทางวิชาการ ทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายและไปรวมตัวกันทำกิจกรรมอื่นนอกโรงเรียน จึงมองว่าเด็กไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของโรงเรียน มีการลงโทษ หักคะแนน จนเกิดอคติกันระหว่างกลุ่มซึ่งอาจเป็นที่มาของความก้าวร้าวในหมู่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

สนใจประเด็นนี้ค่ะ..."ความก้าวร้าว" คือการไปกระทบ "กรอบ" ที่วางไว้หรือไม่ ? ..ใครเป็นผู้วาง "กรอบ" ...ถ้าโลกนี้ไม่มีความก้าวร้าว โลกนี้ก็คงจะมีแต่กรอบเดิมๆ ...อีกมุมมองหนึ่ง พัฒนาการของสังคมอาจเกิดมาจากความก้าวร้าวก็ได้... คงจะมีการเติมเต็มคำตอบจากคำถามดังกล่าวด้วยการบันทึกค่ะหลวงพี่ ตอนนี้ก็นั่งทบทวนคำถามนี้อีกรอบเพื่อหาคำตอบค่ะ

ตามความเห็นที่ต่างกันขงจื้อกับเล่าจื้อ...เลยมีความคิดต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของมนุษย์โลกทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะมนุษย์ต้องการแสวงหาความสมบูรณ์ให้กับชีวิต ในขณะเดียวกันเมื่อไม่พบความสมบูรณ์ที่แสวงหานั้นมนุษย์จึงมักจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์ ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมายในสังคม

สวัสดีปีใหม่อีกรอบเช่นกันค่ะคุณ nutim มีความสุขค่ะที่เห็นแนวร่วมในการร่วมพัฒนาสังคมค่ะ "คนที่อยู่รอบข้างทุกคนของเขา มีอิทธิพลกับชีวิตเขา" เชื่อค่ะว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบตัวเด็กมีอิทธิพลกับเด็กมาก และอิทธิพลเหล่านี้ก็เป็นตัวหลอมให้เด็กมีพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา และในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกันกระมังค่ะที่จะเป็นตัวช่วยหลอมละลายพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กให้ลดน้อยลงเช่นกัน

ขอบคุณนะคะที่เข้ามา ลปรร.กัน  

you are peace warrior

"Real Battles Are Wihtin"

สวัสดีครับอาจารย์  เป็นกำลังใจให้สู้ต่อไปนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท