ความสำคัญของการรู้เท่าทันการสื่อสาร


การเชื่อโดยไม่รู้เท่าทัน ไม่คิด หรือไม่ทันคิด และไม่ตั้งคำถาม ทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉลาดกว่าโดยง่าย

(7) 

ความสำคัญของการรู้เท่าทันการสื่อสาร

       จากประสบการณ์ชีวิตทั้งที่ประสบกับตนเอง เรียนรู้จากผู้อื่น และศึกษาค้นคว้าดู ก็พบว่าเกิดจากการที่เห็น ได้ฟัง หรือได้รู้อะไรแล้วก็เชื่อตามทันทีโดยไม่คิด ไม่ไตร่ตรองทบทวน แล้วก็อาจส่งผลกระทบกับชีวิตของเรา

       การเชื่อโดยไม่รู้เท่าทัน ไม่คิด หรือไม่ทันคิด และไม่ตั้งคำถาม ทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉลาดกว่าโดยง่าย

       ตัวอย่างทั่วไปเช่น มีคนแต่งตัวเป็นชุดทำงานพนักงานบริษัท ขับรถไปตามหมู่บ้าน อ้างว่ามาเช็คตู้เย็น ถ้าเสีย จะซ่อมให้ แล้วเกิดหลงเชื่อ ถ้าโชคดีก็แค่หลอกเอาเงินค่าซ่อม ถ้าโชคร้ายก็อาจหลอกเอาอย่างอื่นด้วย

       ตัวอย่างนี้ แสดงว่าผู้นั้นเชื่อเอาว่า คนที่แต่งชุดพนักงานบริษัท ก็ต้องเป็นคนทำงานบริษัท แปลว่าเชื่อสัญลักษณ์ เพราะชุดที่แต่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์กร (ที่บางครั้งก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่)

       และเมื่อเชื่อที่เขาบอกว่ามาซ่อมตู้เย็น แปลว่าเชื่อภาษา(หรือมองให้ลึกไปกว่านั้น คือเชื่อความหมาย)ที่เขาพูด โดยอาจไม่ทันคิดว่าภาษานั้นตกแต่งได้ แปลตรงๆว่าโกหกได้

       หรือนักเรียนก็อาจมีประสบการณ์ถูกเพื่อนหลอกยืมเงิน แล้วไม่ใช้คืน เด็กๆบางคนใจบริสุทธิ์นัก เขาขอก็ให้ เพราะถูกปลูกฝังมาให้มีใจเมตตากรุณา แต่อาจไม่รู้ว่าควรตั้งอุเบกขากับคนชุดไหน

       เพื่อนใช้ท่าทางน่าสงสาร หรือข่มขู่(ภาษากาย) แล้วพูดว่าขอยืมเงินโดยอ้างเหตุผลใดก็ตาม(ภาษาถ้อยคำ) นักเรียนก็หลงเชื่อ เสียเงินแล้วอาจถูกคุณแม่คุณพ่อดุซ้ำ(ด้วยความรักและห่วง)อีกก็ได้

       การเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง ไม่ใช้วิจารณญาณเหล่านี้ จะส่งผลกระทบกับชีวิตหนักขึ้น หากถูกหลอกด้วยเรื่องใหญ่กว่านี้ โดยที่เราไม่มีวิธีหาความรู้และความจริง ก็จะอันตรายมาก

       เหตุนี้ดิฉันจึงตั้งใจสอนเด็กๆ เรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" สอนเพื่ออะไร ตอบว่าสอนเพื่อให้รู้เท่าทันจุดมุ่งหมายแท้ๆของการสื่อสารชุดนั้น คือสอนไม่ให้ถูกหลอกง่าย

       ถ้าเราคุยกับใคร หรือไปได้ยินได้ฟังอะไรมา แล้วฝึกตัวเองให้ไวพอที่จะตระหนักรู้ หรือหยั่งรู้ว่า ที่ได้ยินมาน่ะจริงไหม หรือที่เขาบอกเราแบบนั้นแบบนี้ แท้ๆแล้วเขามีจุดมุ่งหมายอย่างไร

       และมีวิธีแปลความหมายในการสื่อสารแต่ละครั้งอย่างรู้เท่าทัน มีความเข้าใจ สามารถวางท่าทีที่เหมาะสมในการสื่อสารต่างๆที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของตนได้ น่าจะช่วยให้เด็กๆจะฉลาดขึ้นอีก และน่าจะทำให้มีจิตใจดี เข้มแข็ง ไม่หดหู่เศร้าหมองโดยง่าย

       การเรียนรู้ที่จะ"เข้าใจและรู้เท่าทัน"สิ่งใดอย่างลึกซึ้ง แจ่มกระจ่าง จะทำให้ผู้นั้นมีจิตใจผ่องแผ้วเบิกบาน มีความมั่นใจที่จะคิด ตัดสินใจ และลงมือทำในสิ่งที่ตนเข้าใจได้เป็นอย่างดี

        การเรียนรู้ด้วยว่าอะไร ดี ไม่ดี ควร หรือ ไม่ควร (ทำ) ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งด้วย เลยต้องสอนควบคู่กันไป

       วิธีสอนที่ดูเหมือนหลอกผู้เรียนให้เชื่อ แล้วค่อยมาบอกว่าถูกครูหลอกทีหลัง อย่างที่ทำนี้ อันตรายต่อความรู้สึกของผู้เรียนมาก ครูต้องวางแผนอย่างหนัก  ต้องคิดทุกเม็ด กลั่นกรองทุกคำพูด เหมือนจะสร้างหนังที่เราตั้งใจให้เป็นหนังดี ให้ข้อคิดที่ดีแก่คนดู คนสร้างต้องคิดแล้วคิดอีก ซ้อมแล้วซ้อมอีกเจ็ดสิบกว่าตลบ จึงจะกล้าออกฉาย ฉายแล้วไม่ดีต้องกลับมาสร้างใหม่ แล้วต้องรับผิดชอบคนดูที่บอกว่าหนังเราไม่ดี ต้องหาสิ่งดีใหม่ไปทดแทนให้เขา(ให้จงได้)ด้วย


      ผลที่เกิดจากการสอนแบบนี้ คือเมื่อพูดอะไรไป เด็กๆจะไม่ค่อยเชื่อง่ายๆ  แถมแซวด้วยว่าอาจารย์ทำให้หนู้เป็นโรคขี้สงสัย
       แปลเอาเองว่าเด็กเริ่มเกิดการรู้เท่าทันการสื่อสารของเรา(คือของอาจารย์ที่ช่างหลอกนี้)แล้ว สักวันเด็กอาจใช้ทักษะนี้เชื่อมโยงกับการสื่อสารชุดอื่นๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันในภายภาคหน้าได้

       สอง อันนี้สงสัยจะเป็นผลข้างเคียง คือเมื่อจะบอกอะไรให้ทำอะไรก็ตาม เด็กๆจะถามจะซักละเอียดยิบ ถ้ามีช่องโหว่เธอจะซักกันใหญ่ ต้องให้ชัด ให้ตรง ให้จริงก่อน เธอถึงจะยอมทำตาม

       ที่จริงน่ะชอบค่ะ เด็กยิ่งฉลาดถามฉลาดคิด ยิ่งชอบ แต่ต้องฝึกให้เขาสื่อสารอย่างสุภาพนุ่มนวลด้วย อันนี้ก็ยากไปอีกแบบ  แต่ก็ต้องฝึกเขา  ดิฉันคิดว่าฝึกให้เก่งอย่างเดียวไม่พอ  ต้องฝึกให้นิสัยดีด้วย  ใครได้ทำงานร่วมกับคนนิสัยดี  ถือว่าเป็นโชคดีตลอดชีวิตการทำงาน
 

       การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นสิ่งจำเป็น  แต่การมีจิตใจที่ดีงามโดยเนื้อแท้ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด  คนที่มีจิตใจดีงามนั้น  จะใช้ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารให้เกิดคุณทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย

      
 ปรับเพิ่มเติมจาก กระทู้ ขอคำแนะนำเรื่องวิธีสอนแปลกๆ

ดอกไม้ทะเล   ความเห็นเพิ่มเติมที่ 6  

หมายเลขบันทึก: 70552เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์สุขุมาล

         อ่านเรื่องของอาจารย์แล้ว มีบางจุดที่ทำให้ผมคิดถึงเรื่องเล็กๆ ที่เคยเจอครับ

         "ถ้าเราคุยกับใคร...ฝึกตัวเองให้ไวพอที่จะตระหนักรู้ หรือหยั่งรู้ว่า ที่ได้ยินมานะจริงไหม หรือที่เขาบอกเราแบบนั้นแบบนี้ แท้จริงแล้วเขามีจุดมุ่งหมายอย่างไร"

          คือตอนที่ผมปลูกบ้านเมื่อ 5 ปีก่อน ก็ต้องตะเวนไปหาซื้อของใช้ในบ้าน

         จำได้แม่นว่า ตอนที่ไปเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นในห้างแห่งหนึ่ง ตอนแรกคุยกับพนักงานคนแรก เขาก็เชียร์เครื่องยี่ห้อหนึ่ง (สมมติว่ายี่ห้อ A ก็แล้วกัน) ส่วนยี่ห้ออื่นก็พูดถึงจุดด้อยต่างๆ พูดง่ายๆ คือ สู้ยี่ห้อ A ไม่ได้

         พอดีผมไม่รีบ ประกอบกับที่ห้างนี้มีสินค้าให้เลือกเยอะก็เลยเดินดูไปเรื่อยๆ เลยได้คุยกับพนักงานอีกคน

         ปรากฏว่าคนนี้เขาเชียร์เจ้ายี่ห้อ B ที่คนแรกบอกว่ามีจุดอ่อน แถมยังบอกจุดอ่อนของเจ้าเครื่องยี่ห้อ A เอาไว้หมด (ซึ่งคนแรกไม่พูดถึงเลย)

          ทำให้ฉุกคิดได้ว่า

  • แม้พนักงานสองคนนี้จะแต่งชุดของห้างนี้เหมือนกัน แต่ 'รับจ๊อบ' มาเชียร์สินค้าต่างกัน
  • ใครเชียร์อะไร ก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ จุดเด่นๆ ของสิ่งนั้น ส่วนจุดด้อยพยายามหลีกเลี่ยง (หากถูกถาม ก็จะพูดในทำนองว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่สำคัญอะไร)

          ตั้งแต่นั้นมา หากจะซื้อของ (หรือทำอะไรก็แล้วแต่) ผมจะพยายาม....

  • ผมจะใช้วิธีถามมากกว่า 1 คน
  • หากใครพูดแต่จุดดี ผมจะถามถึงจุดด้อย หากไม่ตอบ ผมจะถามคนอื่น
  • กลับกัน คือ หากฟังใครถล่มอะไรสักอย่าง ผมจะถามกลับว่า ไม่มีข้อดีมั่งรึ?

         เมื่อได้ข้อมูลพอสมควรแล้ว ก็ใช้ทั้งเหตุผลและความรู้สึกตัดสินใจครับ....ส่วนจะตัดสินใจถูกหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ :)

         ขอบคุณอาจารย์ที่สรุปประเด็นไว้อย่างดี ทำให้ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากเช่นกันค่ะ ที่แวะมาให้ข้อคิดดีๆที่เกิดจากประสบการณ์จริง  แบบทำแล้วเห็นผลจริง   ขออนุญาตนำไปยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟังในห้องเรียนด้วยนะคะ

ดิฉันมานั่งคิดดู ก็รู้สึกว่าตัวเองขาดคุณสมบัติการคิดอย่างเป็นระบบไปมากทีเดียว  (การแยกให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน  บอกได้ว่าขั้นใดเป็นอย่างไร จากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าอะไร เป็นเหตุให้เกิดสิ่งใด  หรือถ้าทำสิ่งใดแล้วจะทำให้เกิดผลลัพธ์อะไรต่อไป  เป็นต้น   ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ  ใส่ "สมการ" ไม่เป็น  ) 

อะไรต่อมิอะไรที่ดิฉันเขียนๆไปนั้น เพื่อนๆและนักศึกษาบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า  ...ไม่รู้เรื่อง และ....เข้าใจยาก.....  ดิฉันก็ออกจะจ๋อยๆไปเหมือนกัน   

แต่อาจารย์อ่านแป๊บเดียว อาจารย์ก็เห็นโจทย์ แล้วก็เห็นไปถึงวิธีตอบโจทย์เป็นชุด เป็นกระบวนการ  แล้วก็เขียนออกมาให้อ่านเข้าใจง่ายได้อีกต่างหาก..  

ดิฉันนึกไปถึงเรื่อง "วิธีคิด" ของเด็กวิทย์ กับเด็กศิลป์ นะคะ  น่าสนุกดีค่ะ   คาดว่าจะมีผู้เขียนถึงไว้แล้วบ้าง  ดิฉันว่าจะลองสำรวจข้อมูลอย่างง่ายแล้วก็ลองเขียนดู... ให้เด็กๆอ่านเพื่อแสดงความคิดเห็นเป็นการบ้านตอนปิดเทอม 

.....สงสัยเธอคงบ่นกันน่าดูอ่ะค่ะ.....  :)

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท