มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 4 (1)


มีผลในลักษณะ “หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม” แต่นักวิชาการไทยมักมองไม่เห็นคุณประโยชน์ของกลไกนี้เพราะตกอยู่ในวัฒนธรรม “ศิลปินเดี่ยว” มากเกินไป

         < เมนูหลัก >

         ตอน 4 (1)

         “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         อาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันคุ้นเคยกับการทำงานวิชาการแบบ “ศิลปินเดี่ยว” มากกว่าทำงานเป็นทีม สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิธีพิจารณาผลงานเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากนิสัยประจำชาติที่ทำงานเป็นทีมไม่เก่ง

         แนวโน้มอีกอย่างของการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ คือ จำนวนผู้ร่วมงานร่วมเป็นเจ้าของผลงานแต่ละชิ้นมากขึ้น เป็นเครื่องแสดงว่า ในปัจจุบันวิชาความรู้สลับซับซ้อนมากขึ้น มีความเชื่อมโยงกันระกว่างสาขาวิชาระหว่างต่างมุมมองมากขึ้น เทคนิควิทยาของการวิจัยมีความซับซ้อนมากขึ้น

         ยุทธวิธีการทำงานเดี่ยวและทีม

         เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งจากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงซ้อนโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ การค้นคว้าวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้รู้จริงรู้ลึกรู้รอบด้านโดยการฝังตัวทำงานคนเดียวจึงเป็นวิธีการที่หมดสมัยแล้ว นักวิจัยจะต้องสร้างตัวโดย “ยุทธวิธีสองจังหวะ”

         จังหวะหนึ่งเป็นช่วงของเวลาส่วนตัวที่ปลอดโปร่ง สำหรับใช้สมองคิดทบทวนเรื่องต่าง ๆ ดึงพลังจินตนาการ “ภายใน” ของตัวเองออกมา เพื่อหา “ประเด็น” สำหรับการค้นคว้าหาความรู้ ที่มีความ “สด” (innovative) และสำหรับตรวจสอบแง่มุมของคำถามที่เกี่ยวข้องกับ “ประเด็น” ดังกล่าว นี่คือ “จังหวะ” ของการใช้ “ความคิดสร้างสรรค์จากภายใน”

         อีกจังหวะหนึ่งเป็นการใช้ “กลไกสร้างสรรค์จากภายนอก” โดยการอ่านและวิเคราะห์รายงานผลการวิจัยในวารสารวิชาการ ติดต่อ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะโดยการโทรศัพท์พูดคุย สนทนาแลกเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ จดหมาย หรือแลกเปลี่ยนโดยตรงในช่วงของการประชุมวิชาการ หรือโดยการเชิญนักวิชาการแต่ละคนมาเสนอผลงานในการ “สัมมนาผลงานวิจัย”

         กลไกสร้างสรรค์จากภายนอกที่เล่าไปแล้วนั้นเป็นกลไกที่อยู่ภายในองค์กรหรือหน่วยงานของเรา  แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนอื่น ๆ ที่อยู่หน่วยงานเดียวกัน ก็สามารถใช้เป็น “กลไกภายนอก” ที่ทรงประสิทธิภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา คนเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์จะแลกเปลี่ยน บางคนประสบการณ์น้อย แต่อาจมี “คำถาม” หรือ “ความคิดนอกกรอบ” สำหรับแลกเปลี่ยน

         การสนทนา หรือการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ หากใช้เป็นจะก่อพลังสร้างสรรค์เป็นอย่างสูง สิ่งที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะนึกถึงได้ก็จะนึกถึง สิ่งที่คนเดียวคิดไม่ออกก็จะคิดออก มีผลในลักษณะ “หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม” แต่นักวิชาการไทยมักมองไม่เห็นคุณประโยชน์ของกลไกนี้เพราะตกอยู่ในวัฒนธรรม “ศิลปินเดี่ยว” มากเกินไป

         วัฒนธรรมรวมทีมที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น คือการทำงานวิจัยเป็นทีมจะยิ่งก่อผลสร้างสรรค์ในเชิง “ผลงาน” ที่มีน้ำหนักมีคุณค่าสูง โดยที่คนทำงานร่วมกันเป็นทีมจะต้องรู้จักวิธีการของการทำงานร่วมกัน

         รู้จักฟัง รู้จักพูด รู้เขา รู้เรา รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักให้  รู้จักรับ  รู้จักแบ่งปัน  ซึ่งหากมองในแง่ของ “การเรียนรู้” การทำงานวิจัยเป็นทีมนั้นนอกจากให้ผลเป็นผลงานวิจัยแล้วยังให้ผลเป็นการเรียนรู้วิธีทำงานเป็นทีม และให้ผลในเชิงได้มิตรภาพรวมทั้งสร้าง “ชื่อเสียง” ให้ขจรขจายไปไกลผ่านปากต่อปากได้อีกด้วย

         บทความพิเศษ ตอน 4 (1) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2802 (106) 23 พ.ค. 39 พิเศษ 6(บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 7046เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท