การจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ


เพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Equity) การกระตุ้นประสิทธิภาพของระบบบริการ (Efficiency) การจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขที่สามารถทำให้ฝ่ายที่ด้อยกว่าได้รับประโยชน์มากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายที่เปรียบกว่าก็ไม่เสียประโยชน์อะไร (win-win) ถือว่ามีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

     การจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ (Health Resources Allocation) เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Equity) การกระตุ้นประสิทธิภาพของระบบบริการ (Efficiency) การจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขที่สามารถทำให้ฝ่ายที่ด้อยกว่าได้รับประโยชน์มากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายที่เปรียบกว่าก็ไม่เสียประโยชน์อะไร (win-win) ถือว่ามีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

     การจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ (Health Resources Allocation) เป็นขั้นตอนสำคัญของการวางแผนที่จะทำให้แผนงานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ได้จริง (ไม่เพ้อฝัน) การจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ ที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสนับสนุนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่ดีต่อประชาชน ระบบบริการสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าจะช่วยทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

     ประเภทของทรัพยากรสุขภาพ ซึ่งทรัพยากรสุขภาพ (Health Resources) ประกอบด้วย บุคลากร (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง (Materiel) และการบริหารจัดการ (Management) หรืออาจจะมีการแบ่งเป็นอย่างอื่นได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ หรือเหตุผลในการแบ่งหมวดหมู่

     ข้อพิจารณาที่น่าสนใจของการจัดสรรงบทรัพยากรสุขภาพ เนื่องจากกลไกการตลาดของบริการสุขภาพมีข้อจำกัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐควรเข้ามาแทรกแซงด้านการคลัง และเมื่อมีคลังสาธารณะที่ใหญ่พอ ก็ใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณ เป็นกลไกการจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ (กระจาย) การจัดสรรงบประมาณ ควรแยกอำนาจผู้ซื้อ (ประชาชน) – ผู้ขายบริการ (หน่วยบริการสาธารณสุข) ออกจากกัน โดยให้ผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพเท่า ๆ กับ ผู้ขายบริการ เป็นผู้ซื้อแทนประชาชน (สปสช. ปกส. และกรมบัญชีกลาง) โดยมีเงื่อนไขของการจัดสรรงบประมาณแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น งบประมาณกำหนดหมวด (line item budget) งบประมาณยอดรวม (global budget) เหมาจ่ายรายหัว (capitation) ตามรายกิจกรรม (free-for-service, price schedule) หรือตามรายป่วย (case-based budget)

     ซึ่งในการจัดสรรงบประมาณนอกจากจะพิจารณาเป้าหมาย และวิธีการของการจัดสรรแล้ว จะต้องพิจารณาเงื่อนไขดังนี้ร่วมด้วย คือ

  • นโยบายบายความเป็นธรรม และประสิทธิภาพ
  • การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข
  • โครงสร้างการคลังสาธารณสุข
  • กระบวนวิธีทางงบประมาณ
  • ข้อมูลที่มีและการใช้ข้อมูล

     ข้อพิจารณาที่น่าสนใจของทางเลือกในการจัดสรรงบประมาณแบบต่าง ๆ คือ
     1. การจัดสรรงบประมาณกำหนดหมวด เป็นวิธีการแบบเดิมที่วางบนรากฐานส่วนกลางไม่ไว้ใจระดับล่าง เพราะการใช้จ่ายต้องตรงกับหมวดที่กำหนดไว้เท่านั้น วิธีคิดคำนวณจะค่อนข้างง่าย โดยดูจากหมวดย่อยที่ประกอบกันเป็นกิจกรรมนั้น ๆ

     2. การจัดสรรงบประมาณตามยอดรวม เป็นวิธีการที่วางอยู่บนพื้นฐานการให้อิสระแก่ผู้บริหาร ซึ่งสามารถเกลี่ยการใช้เงินเองได้ และน่าจะมีประสิทธิภาพกว่า ส่วนใหญ่เป็นการเหมาจ่ายทั้งปี และมักจะไม่มีการเพิ่มในระหว่างปี  ไม่มีการแบ่งเป็นหมวดการจ่าย

     3. การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว คำนวณโดยอาศัยจำนวนประชากรในเขต ซึ่งต้องนำไปถ่วงน้ำหนักด้วยตัวแปรที่สำคัญ เช่น กลุ่มอายุ เพศ หรือ การมีโรคประจำตัว เป็นต้น มักใช้คู่กับ งบประมาณตามยอดรวม มอบอำนาจให้ผู้บริหารนำไปใช้จ่ายในหมวดใดก็ได้

     4. การจัดสรรงบประมาณตามรายกิจกรรม เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ให้กับการดำเนินงาน หรือที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย มีทั้งการกำหนดราคากลางไว้ล่วงหน้า และไม่ได้กำหนดไว้

     5. การจัดสรรงบประมาณตามรายป่วย เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ให้แบบเหมาจ่าย แต่ไม่เหมือนเหมาจ่ายรายหัว เพราะให้เฉพาะกรณีที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น หรือมารับบริการ ซึ่งจะต้องถ่วงนำหนักด้วยชนิดของโรค และความรุนแรงของโรคที่เป็น

     จะมาต่อด้วยข้อดี – ข้อเสียของรูปแบบวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบต่าง ๆ ในบันทึกต่อไปครับ

     จาก เอกสารการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (The Economics of Public Health) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน)  Bachelor of Science (Community Health) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

อ้างอิงจาก 

     1) ศุภสิทธิ์  พรรณารุโณทัย, 2544.  เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในยุคปฏิรูประบบสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2.  พิษณุโลก : หจก.สุรสีห์กราฟฟิค.

     2) สมคิด  แก้วสนธิ  และ ภิรมย์  กมลรัตนกุล, 2534.  การวิเคราะห์และประเมินผลบริการสาธารณสุข. กรุงเทพฯ : คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

     3) สัมฤทธิ์  ศรีธำรงสวัสดิ์  และ ศุภสิทธิ์  พรรณารุโณทัย, 2543.  ชุดเครื่องมือวัดความเป็นธรรมเพื่อประเมินผลการปฏิรูประบบสุขภาพไทย, รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

     4) Donaldson C. and Gerard K., 1993.  Economics of Health Care Financing : The Visible Hand. London : Macmillan Press LTD.

     5) Drummond H.E, Brien B., Sddart G.L, and Torrance G.W., 2000. Methods for the Economics Evaluation of Health Care Programmes. 2 nd. England : Oxford University. 

     6) Witter S., Ensor T., Jowett M., and Thompson R., 2000. Health Economic for Developing Countries : A practical guide. York City : The University of York (Center for Health Economic).

    7) ศ.ดร.เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย คณะพยาบาลศาสตร์ มอ. อาจารย์ประจำสาขาวิชา (วท.ม.) วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข

    8.) อ.ดร.สาวิตรี ลิ้มชัยอรุณเรือง คณะพยาบาลศาสตร์ มอ. อาจารย์ประจำสาขาวิชา (วท.ม.) วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 7034เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท