เก็บตกวิทยากร (66) รู้จักฉันรู้จักเธอ (องค์การนิสิต มมส.2564)


ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่าหากทำกระบวนการนี้อย่างละเมียดละไม จะช่วยให้นิสิตรู้ตนเอง เข้าใจจุดหมายตัวเอง รู้จักคนรอบข้าง รู้จักคนในทีม รู้จักเป้าหมายความเป็นทีม และกล้าที่จะเปิดใจทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันบนความ “เหมือน” และ “ความต่าง” ของกันและกัน

การสัมมนาคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2564 เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564  ผมได้รับเกียรติจากน้องๆ นิสิตให้ทำหน้าที่เป็น “วิทยากร” หรือ “กระบวนกร”  ในหลายๆ ประเด็น ซึ่งจะเรียกว่าให้เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดเลยก็ไม่ผิด


โครงการสัมมนาดังกล่าวมิใช่กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นให้กับนิสิต แต่เป็นกิจกรรมที่องค์การนิสิต เสนอต่อมหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด “นิสิตเพื่อนิสิต”
 

 



แรกๆ ผมไม่อยากรับปากที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เท่าไหร่  ไม่ใช่เพราะ “ไม่มีค่าตอบแทน” (ถึงนิสิตมอบให้ก็ตั้งใจว่าจะมอบคืนแก่นิสิต) แต่ผมมีเหตุผลบางประการที่ลังเล เป็นต้นว่า ผมร้างเวทีมานาน ผมไม่มีบทบาทสถานะในเชิงบริหารเหมือนแต่ก่อน ช่องว่างของผมกับเจ้าหน้าที่หรือแม้แต่นิสิตดูจะห่างเหินกันสมควร 

หรือแม้แต่การรู้สึกอยากให้บุคลากรท่านอื่นๆ มีบทบาทต่อเรื่องนี้  รวมถึง่ปรารถนาให้นิสิตได้ “เสาะหาวิทยากรเก่งๆ” น่าจะเหมาะสมกว่า -
 


 

ทว่าหลังจากพูดคุยกับนิสิตผู้รับผิดชอบ 3-4 ครั้ง ผมสัมผัสได้ว่าน้องนิสิตอยากให้ผมช่วยทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ครั้งนี้ให้จริงๆ  กอปรกับทนลูกตื้อของนิสิตไม่ไหว จึง “ใจอ่อน-ตกปากคำรับ” หากแต่เป็นการรับคำในแบบ “จริงจัง-จริงใจ”  


 


 


เอาจริงๆ นะ -  ผมเองก็บอกกับตัวเองอย่างเงียบๆ เหมือนกันว่า  นี่คือโอกาสอันดีที่ผมจะได้ “เคาะสนิม” ตัวเอง  เป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับเจ้าหน้าที่ (ผมตั้งใจจะเป็นคนเบื้องหลัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ขับเคลื่อนการเรียนรู้นี้ด้วยตนเองอย่างเต็มสูบ) 

และที่สำคัญคือ เป็นโอกาสอันดีที่ผม หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่จะได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับผู้นำกลุ่มนี้ - 




 

ฟังดูง่าย แต่ไม่ง่าย : ความท้าทายที่ผมตระหนักรู้

นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการฯ สื่อสารกับผมหนักแน่นในทำนองว่าอยากให้ผมจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมเชิงลึกในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ที่มีกลิ่นอายของ “จิตปัญญา” ให้กับคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต โดยเปิดเปลือยกับผมสั้นๆ ว่า “พวกผมเป็นมือใหม่ ขาดประสบการณ์ในการบริหารองค์การนิสิต และที่สำคัญคือยังสร้างทีมไม่ดีพอ”
 

ก็จริงตามนั้นครับ – คณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต ภายใต้การบริหารงานของพรรคชาวดิน (กลุ่มนิสิตชาวดิน) ถือว่าเป็น “มือใหญ่” ขนานแท้ ร้างเวทีในการเป็นองค์กรบริหารมายาวนานมาก สมาชิกที่รวมตัวกันก็ไม่คุ้นชินกับระบบและกลไกทางกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

 



มิหนำซ้ำพอมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายๆ โครงการ/กิจกรรมไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ พอไม่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้ พวกเขาจึงยิ่งเปราะบางต่อการเรียนรู้ระบบและกลไกของกิจกรรม ยิ่งไม่ค่อยได้ขับเคลื่อนงาน การปฏิสัมพันธ์กันในทีมก็ดูจะมีช่องว่างอยู่ในที 
 

แต่ทั้งปวงนั้น ผมไม่ได้หวั่นหวาดอะไรมากมายหรอกนะครับ  ยิ่งมาวิเคราะห์สไตล์ขององค์การนิสิตชุดนี้ดูจะมีบุคลิกที่ "ตรงไปตรงมา  พูดเสียงดัง ไม่ชอบร่ำไร"  จนบางทีนิสิต หรือแม้แต่สมาชิกในทีมยังรู้สึกราวกับว่าเป็น “มะนาวไม่มีน้ำ” หรือ “ขวานผ่าซาก” เปรียบเป็นนักมวยก็ประเภท “หมัดหนัก ขวาตาย ซ้ายสลบ” 

บุคลิกเช่นนี้แหละที่ทำให้ผมไม่ลังเลที่จะใช้กระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้เพื่อละลายพฤติกรรม-หลอมรวมให้คณะกรรมการบริหารองค์การนิสิตได้เปิดใจเรียนรู้ความเป็นตัวตนของกันและกัน เพื่อผูกโยงไปยังการ “สร้างทีม สร้างองค์กร” ของนิสิตร่วมกัน 



รู้จักฉันรู้จักเธอ : เปิดเปลือยตัวเอง 



เมื่อนิสิตต่างเป็น “มือใหม่” ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร และยัง “ไม่คุ้นชิน” กันมากนัก ผมจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ไปประยุกต์ใช้ โดยผมจะคอยหนุนเสริมอยู่ข้างๆ และทำความเข้าใจร่วมกันว่ากระบวนการครั้งนี้ เน้นให้นิสิตได้ 

  • ทบทวนชีวิตตัวเอง 
  • สกัดเรื่องราวชีวิตเป็นภาพวาดและข้อความ
  • ปลุกเร้าให้นิสิตแต่ละคนได้กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวของตนเองให้เพื่อนรอบข้างได้รับรู้
  • ฝึกการพูด-การฟัง หรือแม้แต่การให้ความเคารพความเป็นตัวตนของกันและกัน 
  • ฯลฯ

 



แน่นอนครับ  ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่าหากทำกระบวนการนี้อย่างละเมียดละไม จะช่วยให้นิสิตรู้ตนเอง เข้าใจจุดหมายตัวเอง รู้จักคนรอบข้าง รู้จักคนในทีม รู้จักเป้าหมายความเป็นทีม และกล้าที่จะเปิดใจทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันบนความ “เหมือน” และ “ความต่าง” ของกันและกัน 

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมปักเป็นหมุดไว้ในกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”





 

รู้จักฉันรู้จักเธอ :จุดเริ่มต้นของการหลอมรวมจากปัจเจกบุคคลสู่ความเป็นทีม



ผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ความเป็นทีมที่ดีย่อมมาจากการเข้าใจ “พื้นฐาน” หรือ “พื้นเพ” ความเป็นตัวตนของสมาชิกในทีม – กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ จึงเป็นเสมือนระบบและกลไกในการหลอมรวมความเชื่อที่ว่านั้น

ผมมองว่า การทบทวนตัวเอง สกัดเรื่องราวตัวเอง คือระบบการจัดการตัวเองในเชิง “ปัจเจกบุคคล” เมื่อนำไปสื่อสารต่อคนรอบข้าง ก็คือการ “ถ่ายทอด-แบ่งปัน” ในเชิง “สถาบัน” หรือ “ทีม” เพราะคนในทีมก็จะได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นของเพื่อนร่วมทีม เมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งในวิถีการงาน ย่อมง่ายต่อการที่จะทำความเข้าใจและให้อภัยต่อกัน

 


 


แน่นอนครับ ถึงแม้ภาพ หรือเรื่องราวที่สะท้อนออกมานั้น จะดูผิวเผินที่มีทั้งเรื่องภายในครอบครัว เรื่องความฝันส่วนบุคคล เรื่องมุมมองและเหตุการณ์สำคัญๆ ในสังคม  เป็นต้นว่า

  • เรื่องราวการไปเที่ยว/พักผ่อนกับครอบครัว
  • เรื่องราวการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว
  • เรื่องราวการสังสรรค์กับเพื่อนในร้านดนตรี/เครื่องดื่ม
  • เรื่องราวการเดินทางในเส้นทางสายธรรมชาติ
  • เรื่องราวความฝันที่จะมีสวนเกษตรผสมผสานเป็นของตัวเอง
  • เรื่องการเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องควมเป็นประชาธิปไตยและความเสมอภาคในสังคม
  • เรื่องความใฝ่ฝันที่จะมีความมั่นคงในชีวิต / ความร่ำรวย
  • ฯลฯ

อย่างไรก็ดี  ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการนี้เน้นการทบทวนชีวิตตัวเองและแบ่งปันสื่อสารต่อสังคม  กระบวนการดังกล่าว จึงฝึกให้แต่ละคนกล้าหาญที่จะเปิดตัวเองสู่การเรียนรู้ผู้อื่นและเปิดให้ผู้อื่นก้าวเข้ามาเรียนรู้ตัวเอง เป็นการเรียนรู้ทั้งในสถานะส่วนบุคคลและการเรียนรู้ในสถานะของการเป็นสมาชิกในองค์กร
 

ด้วยเหตุนี้กระบวนการดังกล่าวจึงซ่อนนัยสำคัญของการ “บริหารคน-บริหารทีม” ไปในตัวด้วยเช่นกัน




เขียน : จันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565
ภาพ : สุริยะ สอนสุระ

 

หมายเลขบันทึก: 702751เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2022 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2022 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ขอบพระคุณคำชมมากๆ ครับ เพราะทำให้หัวใจอันชราภาพพองโตมีพลังอีกครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท