ทำความรู้จักกับโรคสตอกโฮล์ม ซินโดรม


ชวนมาทำความรู้จักกับโรคสตอกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm syndrome)

โรคจำเลยรัก ถึงจะเคยจะร้ายแต่กลับกลายเป็นรัก

          บ่อยครั้งที่เราได้รับชมภาพยนตร์ที่จะเห็นพระเอกที่จับตัวนางเอกไปขัง พาไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงเวลาหนึ่ง แต่แทนที่จะแจ้งความและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายให้สมกับความผิดที่ตัวพระเอกได้กระทำ กลับกลายเป็นว่าตัวนางเอกกลับมีความเห็นอกเห็นใจ และในที่สุดก็ลงเอยกันด้วยดี ไม่เพียงแม้แต่ในภาพยนตร์ แต่ในชีวิตจริงก็สามารถพบเห็นข่าวในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถ้าจะอธิบายในแง่ของหลักจิตวิทยา อาการใจอ่อนของตัวประกันดังที่กล่าวมาก็คืออาการของโรคสตอกโฮล์ม ซินโดรมนั่นเอง

ที่มาของสตอกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm syndrome)
   
         จุดแรกเริ่มของสตอกโฮล์ม ซินโดรม เกิดขึ้นจากคดีปล้นธนาคารที่เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้มีคนร้ายจับตัวประกันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารประมาณ 4-5 คน และควบคุมตัวประกันทุกคนในธนาคารแห่งนั้นยาวนานเกือบ 5 วัน แต่ในขณะที่ตำรวจจะบุกเข้าไปจับกุมคนร้าย ตัวประกันทั้งหมดกลับปกป้องคนร้ายอย่างจริงจัง แม้กระทั่งตอนขึ้นศาลก็ยังให้การเข้าข้างคนร้าย ที่น่าแปลกใจที่สุดก็คือ มีตัวประกันบางคนถึงขั้นแต่งงานกับคนร้ายด้วย ทำให้นักจิตวิทยาต้องหาคำอธิบายเหตุการณ์พิลึกพิลั่นนี้ให้จงได้ และสุดท้ายก็มีคำว่า "สตอกโฮล์ม ซินโดรม" เกิดขึ้นมา

สตอกโฮล์ม ซินโดรม คืออะไร

         สตอกโฮล์ม ซินโดรม คือ อาการทางจิตที่เกิดขึ้นกับตัวประกันหรือเชลยที่ถูกจับตัวไป และได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนร้ายในสถานที่อันจำกัดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันระหว่างกัน ก่อเกิดความเห็นอกเห็นใจ สงสาร จนในที่สุดตัวประกันอาจเห็นผิดเป็นชอบไปกับคนร้าย กลายเป็นพวกเดียวกันเลยก็มี หรือบางเคสอาจโดนคนร้ายขู่ซ้ำ ๆ ว่าหากเหยื่อกระโตกกระตาก แจ้งตำรวจ จะทำร้ายหรือฆ่าทิ้งให้รู้แล้วรู้รอด ซึ่งตัวประกันก็จะรู้สึกหวาดหลัว และโอนเอียงไปในทางร่วมมือกับคนร้าย และทำตามความต้องการของคนร้ายอย่างว่าง่ายมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ตัวประกันเห็นใจคนร้ายมากขึ้น นั่นก็อาจเป็นเพราะโจรที่จับตัวประกันไปไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้ายจนเหยื่อทนไม่ได้ หนำซ้ำยังอาจดูแลเอาใจใส่เหยื่อเป็นอย่างดี ทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกผูกพันมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่คิดจะหลบหนีหรือดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากการจับกุมแต่อย่างใด ซึ่งจุดนี้ก็จะเพิ่มความลำบากในการติดตามหาเหยื่อ หรือหากจับกุมคนร้ายได้แล้วก็อาจดำเนินคดีความกับคนร้ายได้ไม่มากเท่าที่ควร 

ข้อสังเกตที่เข้าข่ายอาการ Stockholm Syndrome

  1. เหยื่อมีความรู้สึกเชิงบวกกับคนร้าย
  2. ต้องไม่มีความสัมพันธ์ใดกับคนร้ายมาก่อน
  3. เหยื่อปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ (*ยกเว้นคนร้ายจะถูกเจ้าหน้าที่บังคับ)
  4. เหยื่อเห็นความมีมนุษยธรรมบางอย่างในตัวคนร้าย ไม่มองว่าคนร้ายเป็นภัยคุกคาม รวมทั้งเริ่มมีมุมมองความเชื่อในทิศทางเดียวกับคนร้าย 

การบำบัดรักษา

การบำบัดรักษาสตอกโฮล์ม ซินโดรม ยังไม่มีวิธีรักษาที่แน่ชัด แต่อาจบำบัดอาการได้โดยอาศัยเวลา ที่จะทำให้ความรู้สึกผูกพันกับคนร้ายนั้นค่อย ๆ จางหายไปด้วยตัวของมันเอง

         อย่างไรก็ดี หากใครสนใจในอาการของโรคสตอกโฮล์ม ซินโดรม ขอแนะนำหนังเรื่อง Beauty and the Beast และหนังเรื่อง 3096 Days ซึ่งเป็นหนังที่สามารถเผยอาการของโรคนี้ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ (:

หมายเลขบันทึก: 702627เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2022 03:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2022 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนออกมาได้เข้าใจง่าย เป็นบทความที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ 😻

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท