จิตวิญญาณในการทำงาน


 

ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้เรียนจบปริญญาเอกเมื่ออายุ ๗๐ ปี    กรุณาส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (จาก มรภ. สวนสุนันทา) มาให้ เรื่อง  อิทธิพลของบทบาทของผู้นำเชิงจิตวิญญาณ  วัฒนธรรมองค์การ และ การออกแบบงานที่เหมาะสมที่มีผลต่อจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช   อ่านแล้วชุ่มชื่นใจ    ว่าเป็นวิทยานิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพ   

ผมติดใจนิยามคำว่า จิตวิญญาณในการทำงาน ว่า ดร. ดวงสมร ให้นิยามไว้ดีมาก   จึงนำมาเผยแพร่ต่อ  โดยคัดลอกจากวิทยานิพนธ์แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย    ดังนี้

  1. “จิตวิญญาณในการทำงาน หมายถึง สิ่งที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ เกิดความรู้สึกมีความสุขในชีวิตและ การทำงาน เกิดพลังใจรับรู้คุณค่าของตนเองที่เกิดจากการได้ทำงานที่มีความหมายชัดเจน ในที่นี้ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การรับรู้ชีวิตด้านในของตนเอง รับรู้ว่างานที่ปฏิบัติมีความหมายชัดเจน สำนึกร่วมความเป็นชุมชน และ การเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีพลังเหนือกว่า
    1. การรับรู้ชีวิตด้านในของตนเอง หมายถึง ความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นฐานความต้องการภายในหรือชีวิตจิตใจของตนเอง ในที่นี้ ประกอบด้วย การรับรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ถึงคุณค่าของตนเอง รับรู้ว่าตนเองมีความหวังในชีวิต และ รับรู้ว่าเป้าหมายชีวิตของตนคืออะไร อยู่เพื่ออะไร
    2. การรับรู้ว่างานที่ปฏิบัติมีความหมายชัดเจน หมายถึง การที่บุคลากรทางการแพทย์มีความตระหนักและรับรู้ว่างานที่ทำมีเป้าหมายชัดเจนมีความสำคัญต่อส่วนรวม ตนเองเกิดคุณค่าผ่านงานที่ปฏิบัติและมีความสุข การทำงานเป็นแก่นแท้ของชีวิต ในที่นี้ประกอบด้วย การรับรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ว่าตนเองมีความสุขในการทำงาน รับรู้ว่าชีวิตตนเองมีคุณค่าผ่านเป้าหมายของโรงพยาบาลและงานที่ปฏิบัติ มีความรักและผูกพันในงานปฏิบัติ
    3. สำนึกร่วมความเป็นชุมชน หมายถึง การรับรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีต่อผู้อื่นและสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเป็นความสัมพันธ์ที่มีความลึกซึ้งและคุณภาพสูง ในที่นี้ประกอบด้วย การรับรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ว่าตนเองรู้สึกมีความศรัทธาไว้วางใจในกลุ่มผู้ร่วมงาน รับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในองค์การ รับรู้ว่าในองค์การมีการดูแลเอาใจใส่กันอย่างจริงใจ
    4. การเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีพลังเหนือกว่า หมายถึง การเชื่อมโยงระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับสิ่งที่มีพลังเหนือกว่าหรือการเชื่อมโยงกับผู้อื่นที่บุคลากรทางการแพทย์มีความศรัทธาหรือ มีเป้าหมายการดำรงชีวิตที่เห็นว่ามีคุณค่า ในที่นี้ประกอบด้วย การรับรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ว่ามีแรงบันดาลใจในการทำงานจากพลังที่เหนือกว่า มีพลังในการทำความดี และมีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ”   

โดยผมมีความเห็นว่า ในสถานการณ์ทั่วไป ที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาล   ก็ใช้หลักการหรือแนวทางนี้ได้ทั้งหมด   เพื่อ “งานได้ผล คนเป็นสุข”   

ย้ำว่า จิตวิญญาณในการทำงานมี ๔ มิติคือ (๑) ชีวิตที่มีความหมาย มีคุณค่า  (๒) งานที่มีความหมาย มีคุณค่า  (๓) ที่ทำงานเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร  และ (๔) เป้าหมายคุณค่าที่สูงส่ง เหนือผลประโยชน์ของตนเอง (purpose)   

ที่ติดใจก็เพราะ เป็นการบรรยายสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอดชีวิตได้อย่างชัดเจน งดงาม   

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 702404เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2022 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2022 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้เห็นความงดงามของงาน ปริยญาเอกแม่ต้อย และเห็นการทำงานของอาจารย์งดงามเสมอนะคะ

ขออนุญาตแชร์ให้น้องๆได้อ่านด้วยนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท