คุณธรรม-จริยธรรม


ใครๆ ก็ยอมรับว่า เรื่องคุณธรรม-จริยธรรม มีความสำคัญที่สุด แต่ดูจะไม่มีพลังขับเคลื่อน อาจจะเป็นเพราะขาดวิธีสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลัง บทความนี้เป็นความพยายามในการสื่อสาร ปัญหาใหญ่อยู่ที่วิถีคิด ระหว่างวิถีคิดแบบองค์รวม กับ วิถีคิดแบบแยกส่วน
คุณธรรม-จริยธรรม

ระเบียบวาระแห่งชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

ประเวศ วะสี

ปาฐกถานำในการประชุมสัมมนาเรื่อง โครงการรวมพลังสื่อสร้างกระแสคุณธรรม

ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท

๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

 

ใครๆ ก็ยอมรับว่า เรื่องคุณธรรม-จริยธรรม มีความสำคัญที่สุด แต่ดูจะไม่มีพลังขับเคลื่อน อาจจะเป็นเพราะขาดวิธีสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลัง บทความนี้เป็นความพยายามในการสื่อสาร ปัญหาใหญ่อยู่ที่วิถีคิด ระหว่างวิถีคิดแบบองค์รวม กับ วิถีคิดแบบแยกส่วน

ความเป็นทั้งหมด (องค์รวม) กับส่วนย่อย

สังคมจะมีพลังสร้างสรรค์ อยู่ที่ความเข้าใจเรื่อง ความเป็นทั้งหมด(The Whole) หรือ องค์รวมกับ ส่วนย่อย(Parts)

สรรพสิ่งประกอบด้วย ส่วนย่อยกับ องค์รวม

เช่นในเซลล์ประกอบด้วยอณูของสสารหลายร้อยล้านอณู อณูของสสารเป็น ส่วนย่อยเซลล์เป็น องค์รวม

แต่เซลล์ก็เป็น ส่วนย่อยของอวัยวะ เช่น ตับ ประกอบด้วย เซลล์เป็นล้านๆ ในที่นี้ตับเป็น องค์รวมส่วนเซลล์ตับเป็น ส่วนย่อย

แต่ตับก็เป็นส่วนย่อยของร่างกายทั้งหมด

เช่นนี้ เป็นลำดับๆ ไป

แต่ที่สำคัญที่เราควรรู้ก็คือ แม้องค์รวมจะประกอบด้วยส่วนย่อย แต่คุณสมบัติขององค์รวมไม่เหมือนคุณสมบัติของส่วนย่อยเลย

เช่น ความเป็นคนนั่นแหละเป็นคุณสมบัติของความเป็นองค์รวม ซึ่งไม่เหมือนกับคุณสมบัติของตับไตไส้พุงเลย

ในทำนองเดียวกัน ความเป็นรถยนต์ไม่ใช่คุณสมบัติของล้อ หรือ ความเป็นเครื่องบินไม่ใช่คุณสมบัติของปีก

ตรงนี้อาจจะเข้าใจยากสักนิด ขอให้คิดทบทวนไปมา จนตีประเด็นแตก ซึ่งจะมีประโยชน์ประดุจบรรลุธรรม

ความเป็นทั้งหมดกำหนดส่วนย่อย

เรามักจะคุ้นเคยกับการบวกเลข เช่น 1+1 = 2 หรือ 2+2 = 4 นี้เขาเรียกว่าระบบที่ง่ายและเป็นเส้นตรง (simple and linear) แต่ในระบบที่ซับซ้อนมันไม่เป็นเส้นตรง เช่น

 

ตับ
+ไต+ปอด+หัวใจ+..ไม่ใช่= ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง เพราะ ความเป็นคนนั้นเป็นคนละมิติกับผลบวกของอวัยวะ

เครื่องบินหรือรถยนต์นั้น มีการคิดถึง สิ่งที่บินได้หรือ สิ่งที่วิ่งไปบนถนนได้เสียก่อน แล้วจึงไปเอาส่วนประกอบมาประกอบให้เหมาะที่จะบินได้ หรือวิ่งไปบนถนนได้ เรียกว่า ความเป็นทั้งหมดมากำหนดส่วนย่อย

คนก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเอาแขนขา ตับไตไส้พุง มาต่อๆ กันแล้วมันจะเป็นคนขึ้นมาได้ แต่ความเป็นคนนั้นแหละมันไปกำหนดให้มีแขนขา ตับไตไส้พุง อย่างที่มันเป็น

ที่นำมาพูดในที่นี้ก็เพราะเราคุ้นเคยอยู่กับทำย่อยๆ แบบแยกส่วน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นทั้งหมดหรือองค์รวม คิดว่า
1+1 แล้วมันจะเป็น 2 ความเป็นองค์รวมจึงไม่มี แล้วก็ติดขัด ขัดแย้ง วิกฤตรุนแรง

ความเป็นทั้งหมดของสังคมคืออะไร

ความเป็นทั้งหมดของสังคมคือศีลธรรม

หัวข้อนี้ฟังดูอาจจะแปลก เพราะเราคุ้นเคยกับการมองศีลธรรมแบบแยกส่วน แล้วศีลธรรมก็เลยไม่มีพลัง ลองมาดูความหมายของศีลธรรมกันจริงๆ เถิด

ศีลธรรม คือ การอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง

มีความถูกต้องในทุกๆ มิติ เมื่อมีความร่วมกันอย่างถูกต้องก็เกิดความเป็นปรกติสุข เหมือนร่างกายของเรา ถ้าทุกส่วนร่วมกันอย่างถูกต้องก็เกิดความเป็นปรกติหรือสุขภาพดี เซลล์มะเร็งมันไม่อยู่ร่วมกันกับเซลล์อื่น ฉะนั้น เมื่อเป็นมะเร็งขึ้นก็รวนไปหมดทั้งระบบ

ในสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ร่วมกันอย่างถูกต้องก็รวนไปทั้งระบบ

ร่างกายก็เป็นมะเร็งแล้วดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังคมที่ขาดศีลธรรมก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้น นั่นคือ จะหักโค่นลงหรือวิกฤต

ฉะนั้น เรื่องของสังคม จะไปดูหรือทำกันเฉพาะส่วนย่อยเป็นส่วนๆ เช่น เศรษฐกิจ การค้าขาย เงินทอง จีดีพี อะไรเท่านั้นไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าส่วนย่อยไม่สำคัญ แต่ต้องดูกันที่องค์รวม องค์รวมของสังคมคือศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง หรือพูดว่าการอยู่ร่วมกัน (Living together) เฉยๆ

การอยู่ร่วมกันคือศีลธรรม

การทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน คือการขาดศีลธรรม เมื่อขาดศีลธรรม สังคมย่อมตั้งอยู่ไม่ได้

 

ศีลธรรม (การอยู่ร่วมกัน) ต้องเป็นตัวตั้งของการพัฒนา

ทุกประเทศทั่วโลก มีวิกฤตการณ์ทางสังคม (Social crisis) วิกฤตการณ์ทางสังคมก็คือ วิกฤตการณ์แห่งการอยู่ร่วมกัน เพราะการพัฒนาของโลกไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งแบบแยกส่วน โดยมุ่งไปที่ เงินนิยมเป็นสำคัญ ไม่ใช่เงินไม่สำคัญ เงินสำคัญในการเป็นเครื่องมือของการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง เมื่อเอาเงินเป็นตัวตั้งมันก็ไปทำลายการอยู่ร่วมกัน หรือศีลธรรม เพราะการเอาเงินเป็นตัวตั้งคือการคิดแบบแยกส่วน ไม่ใช่คิดแบบองค์รวม การเอาตลาดเป็นตัวตั้ง เอาการค้าเสรีเป็นตัวตั้ง จะนำไปสู่ความผิดพลาดหมด ตราบใดที่ไม่เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง

ถ้าจะคิดใหม่ทำใหม่กัน ก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวตั้ง

มิฉะนั้นก็จะคิดเก่าทำเก่าอยู่นั่นแหละ คือคิดแบบแยกส่วน เอาเงินเป็นตัวตั้ง แล้วก็จะไปทำลายการอยู่ร่วมกัน หรือศีลธรรม

การอยู่ร่วมกันหรือศีลธรรม ต้องเป็นหัวใจของการพัฒนาทุกชนิด ตามรูปที่ ๑

รูปที่ ๑ การอยู่ร่วมกันหรือศีลธรรมต้องเป็นตัวตั้งของการพัฒนาทุกชนิด

ศีลธรรม

(การอยูร่วมกัน)

เศรษฐกิจ

การเมืองการปกครอง

สิ่งแวดล้อม

การศึกษา

วัฒนธรรม

สังคม

ครอบครัว

ชุมชน

 

ทุกวันนี้จะเอากำไรสูงสุด หรือประโยชน์สูงสุดของบุคคล หรือประโยชน์ขององค์กร เป็นตัวตั้ง หรือแม้แต่คนที่รักสิ่งแวดล้อมมากๆ ก็เอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง การอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องนั้น หมายถึงทั้งการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง

เราคิดแบบแยกส่วนเสียจนเคยชิน จึงไปเอาสิ่งอื่นๆ เป็นตัวตั้งทั้งหมด แต่ไม่ได้เอาศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง โลกจึงวิกฤตศีลธรรม และวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ จะพ้นวิกฤตได้ก็ต้องเปลี่ยนวิถีคิดใหม่ มาเป็นการคิดแบบองค์รวม โดยเอาศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง

ความเสื่อมทางศีลธรรมเกิดจากสมองเสียสมดุล

วิถีคิดของมนุษย์ในครั้งโบราณนั้น เป็น วิถีคิดเชิงศีลธรรมซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์ทุกหนทุกแห่งค้นพบว่า การอยู่ร่วมกันทำให้โอกาสที่จะรอดชีวิตมีมากกว่าอยู่เดี่ยวๆ มนุษย์ตั้งแต่ยุคล่าสัตว์ก็ดี หรือในยุคเกษตรกรรมก็ดี มีวิถีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชน วัฒนธรรมก็ดี ศาสนธรรมก็ดี การศึกษาก็ดี ล้วนเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันหรือศีลธรรม

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

ศาสนธรรม ทุกหนทุกแห่งล้วนสอนเรื่องวิธีคิด และการประพฤติปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่มีเลยที่สอนให้ตัวใครตัวมัน หรือสอนให้แก่งแย่งทอดทิ้งกัน หรือแข่งขันกันอย่างเสรี

การศึกษา ก็ศึกษาอยู่ในฐานวัฒนธรรม และศาสนธรรม ฉะนั้นจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน

ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์มีวิถีคิดเชิงศีลธรรม

เพิ่งไม่นานมานี้เองที่มนุษย์เปลี่ยนวิถีคิดใหม่ ไม่ใช้การอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่ไปใช้อย่างอื่นแทน ลองมาดูว่าวิถีคิดใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันคืออะไร

แต่เดิมมนุษย์สร้างความรู้ในวิถีชีวิต และวิถีชีวิตร่วมกันคือวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงเรียกว่ามนุษย์สร้างความรู้ และเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม ต่อมามนุษย์โดยเฉพาะในยุโรป มีวิธีคิดเชิงเหตุผลที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ สามารถสร้างความรู้ที่คม
-ชัด-ลึก อันมีเสน่ห์มาก และสามารถเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยีที่มีความวิเศษมหัศจรรย์และทรงฤทธิ์ ประดุจอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้และเทคโนโลยีอันทรงฤทธิ์เกิดมีอำนาจขนาดใหญ่ที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน และได้ใช้อำนาจนั้นสร้างอำนาจทางอาวุธและอำนาจเศรษฐกิจ ของตัวเองโดยรุกรานและเอาเปรียบผู้อื่น และพยายามอย่างได้ผลในการสถาปนาวิถีชีวิตใหม่แห่งการคิดถึงตัวเอง เอาเปรียบแย่งชิงผู้อื่น เป็นวิถีคิดเชิงอำนาจนิยมเงินนิยม ไม่ใช่วิถีคิดเชิงศีลธรรมอีกต่อไป วิถีคิดใหม่ที่ไม่ใช่ศีลธรรมได้ไปก่อโครงสร้างใหม่และพฤติกรรมใหม่ในรูปโครงสร้างของรัฐ โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างทางวิชาการ โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างทางการสื่อสาร

โครงสร้างอีกโครงสร้างหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ โครงสร้างทางสมอง

ถ้าเราทำสิ่งใดซ้ำๆ ส่วนของสมองที่ควบคุมพฤติกรรมนั้นจะโตขึ้นและทำงานมากขึ้น นิสัยและความเคยชินต่างๆ ก็มีวงจร (circuits) ของนิสัยนั้นๆ เกิดขึ้นในสมอง ในสมัยเมื่อมนุษย์มีวิถีชีวิตร่วมกัน ที่กล่าวถึงวิถีคิดเชิงวัฒนธรรมและศาสนธรรม หรือวิถีคิดเชิงศีลธรรมนั้น แน่นอนทีเดียว ส่วนของสมองที่เป็นโครงสร้างของการคิดทางศีลธรรมจะต้องโตและทำงานมาก อาจจะเรียกว่า ศูนย์ศีลธรรมในสมอง แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์เปลี่ยนวิถีคิดมาเป็นแบบคิดเชิงเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์ ความคม-ชัด-ลึก ทำให้ตัดขาด ตัดขาดจากความคิดเชิงศีลธรรม จึงเข้าไปสู่วิถีคิดเชิงอำนาจนิยม เงินนิยม ศูนย์การคิดในสมอง ซึ่งเป็นศูนย์แห่งเหตุผลนิยม อำนาจนิยม เงินนิยม ก็เติบโตขึ้นเหนือศูนย์ศีลธรรม สมองของมนุษย์ก็ไม่ได้สมดุลอีกต่อไป โดยมี ศูนย์เก่งใหญ่กว่า ศูนย์ศีลธรรมการคิดเชิงศีลธรรมจึงลดน้อยถอยลง

ปัญหาทางศีลธรรมของมนุษยชาติในปัจจุบันจึงรุนแรงมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างในวิถีคิด โครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างทางสมอง

แม้ปัญหาจะรุนแรงมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดหวัง ความหวังอยู่ที่ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

ในทางพระพุทธศาสนาจิตเดิมแท้นั้น ประภัสสร ความไม่ดีนั้นจรมาเหมือนมลภาวะ ในทางตะวันตกนั้นคิดตรงกันข้ามคือ คิดว่าพื้นฐานของมนุษย์นั้นเลวร้าย เห็นแก่ตัว ก้าวร้าวทำลาย ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งของฟรอยด์อยู่บนทฤษฎีเกี่ยวกับพื้นฐานอันเป็นลบของมนุษย์

ในระยะหลัง หลักฐานต่างๆ สนับสนุนมากขึ้นทุกทีว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์คือความเมตตากรุณา ความคิดทางตะวันตกเริ่มเปลี่ยนแปลง

จริงๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีซ่อนอยู่ในหัวใจ ที่บางคนก็เรียกว่าเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ ถ้าเราคิดว่าพื้นฐานของมนุษย์คือความเลวร้าย เราจะรู้สึกหดหู่ และมองไม่เห็นความหวัง แต่ถ้าคิดว่ามนุษย์มีธรรมชาติพื้นฐานเป็นความดี เราจะมีกำลังใจและมองเป็นความหวัง ถ้ามนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ถ้ามีการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะงอกและเติบโตแผ่ไพศาลได้

วิธีการที่จะส่งเสริมศีลธรรม คือการกระตุ้นธรรมชาติเดิมแท้ อันเป็นธรรมชาติแห่งความดีให้เติบโตขึ้น
ศูนย์คุณธรรมในสมองของมนุษย์ ต้องโตอย่างได้ดุลกับ ศูนย์ความเก่ง

 

ทำไมศีลธรรมเป็นอุดมการณ์ของชาติ

ในเมื่อศีลธรรมเป็นองค์รวมของประเทศ อันได้แก่การอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องของคนทั้งหมด ทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม ศีลธรรมจึงควรเป็นตัวตั้งของการพัฒนา ไม่ใช่เป็นเรื่องแยกย่อย ที่ศีลธรรมไม่มีพลังเพราะเรามองศีลธรรมเป็นเรื่องแยกส่วน ส่วนตัวตั้งของการพัฒนาคือเศรษฐกิจหรือเงิน เมื่อจะทำให้ศีลธรรมมีพลังโดยเป็นตัวตั้งของการพัฒนา ก็ต้องทำให้ศีลธรรมเป็นอุดมการณ์ของชาติ อุดมการณ์ของชาติที่คนไทยให้กันมาคือ

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ศาสนากับพระมหากษัตริย์เป็นส่วนที่ชัดเจน ส่วนคำว่าชาติหมายถึงอะไร ผู้คนยังมีจินตนาการต่างๆ กัน ถ้าไปดูการกล่าวหากันว่า ไม่รักชาติจะเห็นว่ามีการให้ความหมายของชาติต่างๆ กัน บางครั้งบางช่วงก็หมายถึงการไม่เชื่อฟังผู้มีอำนาจเผด็จการ

บางท่านเสนอว่า ชาติ คือ ประชาชน และความยุติธรรม

ศีลธรรมมีความหมายใกล้เคียงกับประชาชนและความยุติธรรม เพราะหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องของคนทั้งหมด ในที่นี้กำลังเสนอว่า ศีลธรรมคือชาติ เพราะการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องของคนทั้งหมดคือองค์รวมของชาติ หรือชาติ ถ้าเช่นนั้น อุดมการณ์ของชาติก็คือ

ศีลธรรม ศาสนา พระมหากษัตริย์

ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นกำลังของศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง เราอาจเขียนว่า

ชาติ (=ศีลธรรม) ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ได้

เพื่อเตือนใจว่าศีลธรรมเป็นองค์รวมของชาติ หรือคือชาติ การพัฒนาที่เอาชาติเป็นตัวตั้งก็คือการเอาศีลธรรมเป็นตัวตั้ง

มรรค ๘ แห่งการส่งเสริมคุณธรรม-จริยธรรม

วาระแห่งชาติหรือแห่งมนุษยชาติคือการอยู่ร่วมกัน ตามที่กล่าวมาเป็นลำดับ

คุณธรรม-จริยธรรม คือ คุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ อันเป็นไปเพื่อความสุขของตนเองและการอยู่ร่วมกัน หรือศีลธรรม คุณธรรม-จริยธรรม คือการเป็นผู้มีจิตใจสูง ไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว แสดงออกโดยการไม่เบียดเบียน มีความเมตตากรุณา มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์

 

เมื่อศีลธรรมเป็นอุดมการณ์ของชาติ คุณธรรม-จริยธรรม ก็ต้องเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ นั่นคือการพัฒนาทุกชนิดต้องมุ่งไปส่งเสริมให้มนุษย์มีจิตใจสูง ดังในรูปที่ ๒

รูปที่ ๒ มรรค ๘ แห่งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

มรรค ๘ แห่งการส่งเสริมคุณธรรม-จริยธรรม ประกอบด้วย

. ผู้ปกครองทุกๆ ระดับต้องตั้งอยู่ในความถูกต้อง โบราณได้สังเกตมานานแล้วว่า ถ้าผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในความสุจริตยุติธรรมแล้ว บ้านเมืองจะหายนะทุกๆ ประการ เพราะการประพฤติปฏิบัติของผู้ปกครองกระทบทุกอณูของสังคม ฉะนั้น การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ผู้ปกครองทุกระดับ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลงไปจนถึงหัวหน้าครอบครัว ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม

. ครอบครัวอบอุ่น การอยู่กันเป็นครอบครัวผดุงคุณธรรมและจริยธรรม เด็กและคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัว มีความเสี่ยงต่อความสูญเสีย เช่น คนงานที่จากบ้านมาอยู่ในโรงงาน เศรษฐกิจจะคำนึงถึงเงินเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการอยู่กันเป็นครอบครัวอบอุ่นด้วย

. ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็งเป็นเครื่องผดุงคุณธรรม-จริยธรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ (ความเป็นชุมชน) ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง

.

ผู้ปกครองมีทศพิธราชธรรม

.

ครอบครัวอบอุ่น

.

การสื่อสารความดี

.

การศึกษาที่เข้าถึง

ความดี

.

ชุมชนเข้มแข็ง

.

การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่

.

ส่งเสริมการพัฒนาจิต

เป็นวิถีชีวิต

.

การมีสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม

เต็มแผ่นดิน

คุณธรรม-จริยธรรม

(จิตใจสูง)

 

๔. การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สัมมาชีพเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ สัมมาชีพเป็นบูรณาการของความดี ขณะที่จีดีพีไม่ใช่ การพัฒนาควรจะปรับจากการวัดกันด้วยเงินหรือจีดีพี ไปเป็นการวัดกันด้วยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งทำเป็นนโยบายสนับสนุนได้ เช่น การใช้ที่ดิน การใช้เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร การศึกษา เป็นต้น

. การมีสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเต็มแผ่นดิน รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ใช้เวลาช่วงหนึ่งในแต่ละปี เป็นอาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะไปกระตุ้นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในจิตใจของแต่ละคนให้งอกงามขึ้นมา และเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ามาหากันด้วยความเมตตากรุณา

. ส่งเสริมการพัฒนาจิตให้เป็นวิถีชีวิต ในขณะที่จิตสามารถฝึกอบรมให้มีความสุขได้ ฝึกอบรมให้ลดความเห็นแก่ตัวได้ ฝึกอบรมให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญายิ่งๆ ขึ้นได้ คนปัจจุบันกลับเกือบไม่มีการพัฒนาจิตเลย ควรส่งเสริมการพัฒนาจิตให้เป็นวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ส่งเสริมให้มีศูนย์พัฒนาจิตมากๆ ทั้งสถาบันทางศาสนา หรือที่ทำโดยฆราวาส

. การศึกษาที่เข้าถึงความดี การศึกษาของเราเกือบทั้งหมดเอา วิชาเป็นตัวตั้ง จึงเข้าไม่ถึงความดี ในขณะที่ในพื้นที่มีคนคิดดีทำดีอยู่ การศึกษาของเราไม่รู้จักคนเหล่านั้น การศึกษาทุกระดับควรไปศึกษาวิจัยในพื้นที่ให้รู้จักคนดีๆ แล้วนำมาสื่อสารเรียนรู้กัน เรื่องของคนดีก็จะเข้าไปสู่ตัวผู้เรียน นอกจากนั้น เนื่องจากเรามีโครงสร้างของการศึกษาอยู่เต็มประเทศ เมื่อการศึกษาหันไปแสวงหาคนดีในพื้นที่ เราจะสร้างฐานข้อมูลของความดีขึ้นมาเต็มแผ่นดิน ทำให้ความดีเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และเป็นแหล่งเรียนรู้ ทำให้ความดีในแผ่นดินมีกำลัง

. การสื่อสารความดี การสื่อสารเป็นสิ่งที่มีพลังมาก ทั้งทางบวกและทางลบ ควรมีการสื่อสารให้คนทั้งประเทศเข้าถึงความจริง ความดี และความงาม ที่กล่าวมาข้างต้นในข้อ ๑-๗ ก็เป็นเรื่องของความดี การสื่อสารความดีเป็นความดีประการที่ ๘ ที่ทำให้ความดีทุกข้อมีพลังมากขึ้น

จึงควรร่วมกันคิดว่า ระบบการสื่อสารที่จะสื่อสารความดีทั้งหมดมีอะไรบ้าง ทำไมคนทุกคนจะเป็นสื่อของความดี จะมีวิธีการสื่อสารอย่าไรได้บ้างที่จะให้ผู้คนได้สื่อถึงกัน รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ บัญญัติว่า คลื่นการสื่อสารเป็นของสาธารณะ ต้องเอามาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะให้มากที่สุด ทำอย่างไรถึงจะทำให้เป็นจริงได้ ฯลฯ ถ้าเราตีประเด็นเรื่องการสื่อสารความดีแตก จะเป็นพลังแห่งคุณธรรม-จริยธรรม อย่างแรง

สรุป

การอยู่ร่วมกันคือศีลธรรม วิถีคิดดั้งเดิมของมนุษย์เป็นวิถีคิดเชิงศีลธรรม มนุษย์ปัจจุบันได้เปลี่ยนวิถีคิดใหม่ โดยเอาความเก่งเป็นตัวตั้ง ทำให้โครงสร้างสมองเสียสมดุล ทำให้ปัญหาทางศีลธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรง ยากต่อความเข้าใจและการแก่ไข แต่ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้

 

เพราะธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์นั้นคือความดี แต่ธรรมชาตินี้ถูกบดบังด้วยวิถีคิดใหม่ที่ไม่ใช่วิถีคิดเชิงศีลธรรม

ต้องยกศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันเป็นองค์รวมของชาติ แทนที่การคิดและทำแบบแยกส่วนแล้วไปเอาส่วนย่อยขึ้นมาเป็นตัวตั้งของการพัฒนาความคิดและการพัฒนาใดๆ ที่ไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกัน หรือศีลธรรมเป็นตัวตั้ง น่าจะนำไปสู่ความผิดพลาดและวิกฤตในที่สุด

ควรยกศีลธรรมขึ้นเป็นอุดมการณ์ของชาติ อุดมการณ์ที่ว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้น ถ้าดูให้ลึกๆ แล้ว ชาติจะใกล้เคียงกับการอยู่ร่วมกันของคนทั้งชาติหรือศีลธรรมมากที่สุด ฉะนั้น วิธีหนึ่งที่จะยกศีลธรรมเป็นอุดมการณ์ของชาติ ก็คือ การขยายความคำว่าชาติว่าคือศีลธรรม เป็นศีลธรรม ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือชาติ
(=ศีลธรรม) ศาสนา พระมหากษัตริย์

คุณธรรม-จริยธรรม เป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องมือของศีลธรรมหรืออุดมการณ์ของชาติ คุณธรรม-จริยธรรมจึงควรเป็นระเบียบวาระของชาติเพื่อการอยู่ร่วมกัน ได้เสนอมรรค ๘ แห่งการส่งเสริมคุณธรรม-จริยธรรม ตั้งแต่คุณธรรม-จริยธรรม ของผู้ปกครองหรือทศพิธราชธรรมไปจนถึงระบบการสื่อสารที่เป็นส่วนหนึ่งของมรรค ๘ หรือความดี ๘ ประการ

------------------------

หมายเลขบันทึก: 70151เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เจริญพร จ้า

ต้องการจะโต้แย้งโดยตรง มิใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่ความคิดนี้ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะขณะนี้...

สิ่งที่เราคาดหมายจะให้เป็น คือ อุดมคติ แต่ถ้าอุดมคติห่างไกลจากข้อเท็จจริง ก็จะกลายเป็นความเพ้อฝัน....

อยากจะบ่นต่อนะครับ แต่เกรงว่าจะเป็นการเพ้อเจ้อ

ข้อสรุปส่วนตัว จากประสบการณ์ตรงและศึกษาเรื่องนี้มาตลอดชีวิต...  ได้ข้อสรุปว่าคนกลัวอำนาจมากกว่ายอมรับความถูกต้องตามหลักจริยธรรมที่วางไว้

เจริญพร

จริย...ธรรมะ ...การตื่นรู้....อยู่กับปัจจุบัน...ความเห็นที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ณ.ปัจจุบัน...เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ความกลัว...ไม่ไช่ความคิดที่อยู่กับปัจจุบัน  อำนวจ..เป็นเรื่องความเชื่อและการยอมรับ

ขอบคุณครับ...ชาญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท