๙๒๗. ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์


ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

ในทุก ๆ วัน ยามเช้า ไม่ว่าตอนตื่นนอน ก่อนนอน หรือแม้แต่ยามนั่งแต่งตัว แต่งหน้า ก่อนที่จะมาทำงาน…มีนิสัยที่ชอบฟังธรรมยามเช้า…(มิใช่เป็นคนหมกมุ่นแต่เรื่องธรรมะแต่อย่างใด)…เหตุเพราะเป็นคนที่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็ได้แต่คิด ทบทวนในหลักธรรม คำสอนนั้น ๆ ด้วยความคิดของตนเอง พิจารณา คิด พิเคราะห์ถึงหลักธรรม คำสอนนั้น ๆ ด้วยตัวของผู้เขียนเอง…มาได้ยินคำสอน คำหนึ่งด้วยคำว่า “ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์” จึงได้คำตอบตามข้อความด้านล่างนี้…และมีความเข้าใจถึงว่าตัวเราได้นำมาปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว…การเรียนรู้ทางโลก ซึ่งได้รับความรู้ด้วยวุฒิการศึกษา กับการเรียนรู้ทางธรรมนั้น มีความแตกต่างกัน แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว

อดที่จะสงสัยต่อไม่ได้ว่า ตนเองไม่เคยได้เรียนรู้ในสิ่งนี้ แต่ทำไมได้ปฏิบัติตรงกับสิ่งดังกล่าวด้านล่าง…เป็นเพียงข้อสงสัย ซึ่งคำสอนได้บอกว่า “อย่าทำตนเป็นคนที่ขี้สงสัย”…ก็มิได้ต้องการที่จะสงสัย เพียงแต่อดคิดไม่ได้ว่า “เป็นเพราะเหตุใด เมื่อไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน แต่ทำไมปฏิบัติตามด้านล่างนี้ได้…เมื่ออ่านจบ จึงเข้าใจตนเอง…เข้าใจในความเป็นจริงที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เป็นเพียงปิติที่เกิดขึ้นภายในจิตของตนเองเท่านั้น…เพราะสิ่งต่าง ๆ เมื่อเราได้เรียนรู้ถึงสัจธรรมแล้ว จะทำให้เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราเอง และการทำงานได้อย่างดีมาก เพราะเมื่อเข้าใจธรรม จะทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเป็นอย่างมาก…แต่สิ่งที่ตัวเราจะทราบได้อย่างถ่องแท้ นั่นคือ ”การลงมือปฏิบัติให้ได้ด้วยตนเอง" จึงจะทำให้เราได้ทราบผลนั้นเป็นจริง

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

ธรรมวิจัยเป็นกระบวนการหลักในการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ทั้งเป็นกลไกสำคัญแห่งการบรรลุธรรม  พระผู้มีพระภาคทรงสอนในสัมโพชฌงค์ ให้บุคคลเจริญมหาสติปัฏฐาน แล้วตามด้วยธรรมวิจัย เพื่อให้เกิดวิริยะ จนได้ปีติ เกิดปัสสัทธิ ตั้งมั่นในสมาธิ จิตมีอุเบกขาเป็นวิหารธรรมปกติ ทรงประกาศว่า โพชฌงค์ ๗ คือ “องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้”

ธรรมวิจัยมีสี่ประเภทคือ

ธรรมปฏิสัมภิทา 

เป็นการวิจัย เพื่อวิภังค์ (วิเคราะห์) ว่า สิ่งใดคือความเป็นจริง (สัจจธรรม) สิ่งใดคือความเป็นเท็จ (อธรรม)  สิ่งใดเป็นประโยชน์สุข (กุศลธรรม) สิ่งใดเป็นโทษทุกข์ (อกุศลธรรม)  สิ่งใดเป็นกลาง (อัพยากฤตธรรม)  สิ่งใดเป็นการปฏิบัติที่เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง (สัมมาปฏิปทา) สิ่งใดเป็นการปฏิบัติที่ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ (มิจฉาปฏิปทา) ซึ่งต้องศึกษาพระธรรมโดยถ้วนทั่ว

นิรุกติปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อเข้าใจธรรมชาติธาตุแท้ และกลไกการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของแต่ละองค์ธรรม เช่น “วิญญาณ” “เจตสิก”  “ธาตุ” “นิพพาน” ฯลฯ จนแตกฉานแต่ละสิ่ง ซึ่งต้องวิภังค์ (วิเคราะห์) และสังคณีย์ (สังเคราะห์) ความมีอยู่เป็นอยู่ของสิ่งนั้น กระบวนการทำงานทั้งหมดของสิ่งนั้นอย่างปรุโปร่ง ทั้งความสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นๆ ซึ่งต้องศึกษาพระธรรมทั้งภาคบัญญัติ และภาคปฏิบัติจริง จนแจ่มแจ้ง สามารถแสดง สาธยาย อธิบาย ขยาย ย่อ คลี่คลายข้อกังขา ตอบข้อโต้แย้งให้เข้าใจได้ด้วยภาษาที่เหมาะสม เปี่ยมความหมาย และมีพลัง

อรรถปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อนำความหมายแห่งคุณค่าไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจิตใจและโลกแห่งความเป็นจริง  เช่นธรรมะเพื่อสุขภาพ ธรรมะเพื่อการบริหาร ธรรมเพื่อความเป็นผู้นำ ธรรมะเพื่อระบบเศรษฐกิจ ธรรมะเพื่อการปกครอง ธรรมะเพื่อความเจริญ ธรรมะเพื่อการตายอย่างสงบสุขและไปดี ธรรมะเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ฯลฯ ซึ่งต้องสังเคราะห์ธรรมเพื่อผลสัมฤทธิ์นั้นอย่างครบถ้วน และวิจัยหาอุบายแห่งปฏิปทาที่จะนำสู่ผลสัมฤทธิ์จริง

ปฏิภาณปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อสร้างปัญญาอันพอเหมาะพอดีฉับไวเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ และแต่ละบุคคล  แบบอย่างที่ดีที่สุดของปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือการสอนธรรมของพระพุทธองค์และพระอรหันต์สมัยพุทธกาล  ซึ่งท่านสอนธรรมอย่างพอเหมาะพอดีกับบุคคลและสถานการณ์ (ไม่มากไม่น้อย) และได้ผลอันควรเสมอ 

การฝึกปฏิภาณปฏิสัมภิทาของพุทธชนรุ่นหลังจึงทำได้สามขั้นตอนคือ 

1) ศึกษาแบบแผนการสอนธรรมของพระพุทธองค์และพระอรหันต์สมัยพุทธกาล 

2) ถอดแบบการปฏิบัติธรรมตามแบบของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สมัยพุทธกาลซึ่งนำสู่การบรรลุธรรมโดยง่ายและโดยเร็ว 

3) ปฏิบัติตามนั้นจนได้ผลจริง 

การกระทำทั้งสามประการดังกล่าว สามารถวิจัยได้จากแต่ละพระสูตรเพียงพระสูตรเดียว เพราะแต่ละพระสูตรมีความสมบูรณ์ในตัวเองอย่างพอเหมาะพอดีกับบริบทนั้นๆ จนเกิดผลเลิศที่เป็นไปได้แล้ว  หากพยายามวิจัยด้วยการผสมมากกว่านั้นจะเกินพอดี หากวิจัยไม่ครบพระสูตรจะขาดพอดี  ความขาดๆ เกินๆ นั่นเองคือความไร้ปฏิภาณเพื่อผลอันง่าย ตรง และเร็ว

ธรรมวิจัยในพระพุทธศาสนาเป็นการวิจัยธรรมด้วยมหาสติ (สติปัฏฐาน) เพื่อการปฏิบัติอย่างเหมาะสม (วิริยะ) จนได้ปีติ เกิดปัสสัทธิ ตั้งมั่นในสมาธิ จิตมีอุเบกขาเป็นวิหารธรรมปกติ มิใช่การวิจัยเพื่อความฟุ้งเฟื่องแห่งความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่นำสู่ผลจริง

ธรรมวิจัยแห่งโพชฌงค์จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้วิจัย และเป็นประโยชน์เสริมส่งต่อผู้ได้ศึกษาต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นการรื้อฟื้นธรรมสมบัติที่ถูกลืมให้กลับมาแผ่อานุภาพอีกครั้ง เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า “เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ธรรมวินัยจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย”  การดูแลรักษาพระธรรมจึงเป็นการดูแลรักษาพระศาสดาโดยตรง

ที่มา :  https://uttayarndham.org/page/985/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%8C%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C

*****************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาในบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 693178เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท