บคคลผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่


การกลับคืนสู่มาตุภูมิของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่เราทราบกันว่าพระพุทธศาสนาสูญไปจากประเทศอินเดียประมาณปี พ.ศ.1700 และขณะเดียวกันอินเดียก็สูญเสียเอกราชถูกปกครองโดยมุสลิมชาวเปอร์เซียที่ยกกองทัพมาจากตะวันออกกลางประมาณ 700 ปี หลังจากนั้นอินเดียก็ถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษในยุคจักรวรรดินิยมอีกหลายร้อยปี จากการต่อสู้เรียกร้องเอกราชที่นำโดยมหาตมะ คานธี อินเดียก็ได้รับอิสรภาพพร้อมกันนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้รับการฟื้นฟูหวนคืนกลับสู่ดินแดนกำเนิด บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย คือ ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียหลังการได้รับเอกราช ท่าน ดร.อัมเบดการ์ที่มีกำเนิดมาจากชนชั้นต่ำสุดของสังคมอินเดีย คือ วรรณะศูทร ได้เป็นผู้นำชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่โดยระบบวรรณะมานับพันปีลุกขึ้นต่อสู้ปลดแอกให้กับตนเองโดยการเลิกนับถือศาสนาฮินดูหันมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา เลิกสักการะบูชาเทพเจ้าหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธศาสนาจึงฟื้นคืนชีวิตในดินแดนที่เป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนานั้นเอง

ดร.อัมเบดการ์ มีชื่อเต็มว่า ภิมาเรา รามชิ อัมเบดการ์ (Bhima Rao Ramji Ambedkar) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2434 ที่จังหวัดรัตนคีรี รัฐมหาราษฎร์ บิดาชื่อ “รามชิ” มารดาชื่อ “ภิมาไบ” ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่บ้านเกิดและที่บอมเบย์ สำเร็จปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) ด้านรัฐศาสตร์ และประเทศอังกฤษ (มหาวิทยาลัยลอนดอน) ด้านเศรษศาสตร์และกฏหมาย 

               ดร.อัมเบดการ์ ถือกำเนิดมาเป็นจัณฑาล จึงได้รับการดูถูกเหยียดหยามและเผชิญกับความทุกข์ยากมากมาย ถึงกระนั้นท่านก็ยังกระเสือกกระสนจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ณ ที่โรงเรียนแห่งนั้นเอง อัมเบดการ์ถูกเพื่อนนักเรียนและครูต่างวรรณะปฏิบัติต่อท่านด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ ตลอดจนถูกทำร้ายเสมอ บ่อยครั้งเหลือเกินที่ท่านไม่มีสิทธิ์จะได้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะร่วมกับเด็กวรรณะอื่น ๆ  

               ในวันหนึ่งขณะที่ครูประจำชั้นเรียกเด็กชายภิม(ชื่อเดิมของ ดร.อัมเบดการ์) ออกไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้น ในบัดดลนั้นเองก็มีเสียงอื้ออึงขึ้นทั้งชั้นเรียน สาเหตุก็คือพวกเด็กฮินดูวรรณะสูง ต่างตะโกนร้องคัดค้านไม่ให้เด็กชายภิมไปสัมผัสกระดานดำ เพราะจะทำให้กล่องอาหารกลางวันของพวกเขาที่วางไว้หลังกระดานดำแปดเปื้อนมลทิน เด็กชายภิมต้องรอให้เด็กพวกนั้นย้ายกล่องอาหารออกจากบริเวณนั้นก่อน จึงสามารถเข้าไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้นเรียนได้                                                                                                              

                 ต่อมาเมื่อท่านเข้าทำงานราชการหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ ท่านเล่าเพิ่มเติมว่า "ขณะที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ในสำนักงานของท่านสมุห์บัญชีใหญ่เมืองบาโรด้านั้น เอกสารต่าง ๆ ถูกโยนใส่ข้าพเจ้าแทนการจับส่งให้ พรมปูพื้นตรงหน้าโต๊ะทำงานของข้าพเจ้าถูกม้วนกลับ เพื่อกันมิให้พวกฮินดูวรรณะสูงต้องมายืนบนพรมแผ่นเดียวกันกับข้าพเจ้า"                                                                                

                 ระหว่างทำงาน ดร.อัมเบดการ์ไม่สามารถหาบ้านเช่าอยู่อาศัยได้เพราะชาวฮินดูไม่ยอมให้คนจัณฑาลเช่าซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อตนเอง ท่านจึงได้ไปขอเช่าห้องพักของพวกแขกปาร์ซีพื้นเมือง พอเพื่อนบ้านแถวนั้นรู้ว่าท่านเป็นจัณฑาลก็พากันมาขับไล่และทุบตีด้วยท่อนไม้ จนท่านต้องปลอมตัวหลบหนีจากเมืองบาโรด้าไปได้อย่างหวุดหวิด

เริ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

           จากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านรู้สึกเจ็บปวด สะท้อนหวั่นไหวในห้วงลึกของจิตใจ ท่านจึงได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณแน่วแน่ที่จะช่วยปลดปล่อยพี่น้องจัณฑาลจำนวนนับหลายล้านคนจากความเป็นทาสทางสังคมแห่งชนชั้นให้ได้ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวจัณฑาลสู่เสรีภาพครั้งสำคัญเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2470 ณ เมืองมหัท รัฐมหาราษฏร์ เรื่องก็คือ เทศบาลเมืองมหัทได้ปฎิบัติตามมติของรัฐสภาเมืองบอมเบย์โดยออกคำสั่งให้คนทุกวรรณะสามารถเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะเมืองโชว์ดาร์ แต่คนฮินดูวรรณะสูงไม่ยอมรับคำสั่งนั้น ดร.อัมเบดการ์ตัดสินใจประกาศปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของคนจัณฑาล โดยยืนยันให้พวกจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำในสระนั้นได้อย่างเสรี                                                                            

              ในวันที่ 20 มีนาคม 2470 ตัวแทนของพวกจัณฑาลก็เริ่มตั้งขบวนเดินออกจากที่ประชุมมุ่งหน้าสู่สระโชว์ดาร์ เพื่อยืนยันสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าว ดร.อัมเบดการ์ออกเดินนำหน้าอาสาสมัครราว 10,000 คน เดินแถวเรียงสี่ผ่านถนนหลายสายในเมืองมหัทด้วยความสงบเรียบร้อย แล้วมาหยุดที่สระโชว์ดาร์ จากนั้น ดร.อัมเบดการ์ หัวหน้าชาวจัณฑาลได้ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของผู้ทุกเข็ญโดยการแสดงการดื่มนำจากสระนั้น บริวารทั้ง 10,000 คน ก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน นี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ชนถูกตราบาปว่า "จัณฑาล" ได้แสดงความกล้าหาญในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน                                                                                                                                                  

               ในขณะเดียวกัน พวกฮินดูวรรณะอื่นก็ปล่อยข่าวว่า ดร.อัมเบดการ์และบริวารกำลังวางแผนบุกวัดวีเรศวรที่ศักดิ์สิทธิ์ พวกฮินดูคลั่งศาสนาที่เพิ่งล้มเหลวจากการกีดกันพวกจัณฑาลไม่ให้ใช้น้ำในสระโชว์ดาร์ ก็พากันรุดไปที่ชุมนุมของพวกจัณฑาลซึ่งส่วนใหญ่ได้ทยอยกลับเกือบหมดแล้ว พวกฮินดูบ้าคลั่งเหล่านั้นได้ทุบตีทำร้ายร่างกายจัณฑาลกลุ่มที่เหลือรวมทั้งเด็กและสตรีอย่างไร้ความปราณี เหตุการณ์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น พวกฮินดูวรรณะสูงได้นัดกันมาทำพิธีชำระล้างมลทินของสระโชว์ดาร์ และกดดันให้เทศบาลเมืองมหัททบทวนมติไม่อนุญาตุให้คนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระโชว์ดาร์                                                                                                                                                                    

              กลุ่มคนจัณฑาลนำโดย ดร.อัมเบดการ์ ได้รวมตัวกันมาประชุมทำพิธีสัตยาเคราะห์เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกตนอีกครั้ง ในวันที่ 25 ธันวาคม 2570 โดยเรียกการประชุมครั้งนั้นว่า "การก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งความเสมอภาคกัน" ในที่ประชุมได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาหลายเรื่อง เพื่อยกสถานภาพของชนชั้นล่างทั้งทางการศึกษา ศาสนา การเมืองและการปกครอง นอกจากนั้นในที่ประชุมได้พูดถึงคัมภีร์ของศาสนาฮินดูที่ชื่อว่า "มนูสมฤติ" ซึ่งสนับสนุนการแบ่งชั้นวรรณะและมีบางตอนอนุญาตให้ฮินดูวรรณะสูงลงโทษศูทรและจัณฑาลที่แอบเรียนพระเวทหรือแอบฟังการสาธยายพระเวทอย่างรุนแรง ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ทำพิธีเผาคัมภีร์มนูสัมฤติ                                                

              การต่อสู้รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 2-9 มีนาคม 2472 ได้มีพิธีแห่รูปเคารพของพระรามที่วัดกลาราม เมืองนาสิก รัฐมหาราษฎร์ พวกจัณฑาลที่เคยเข้าร่วมพิธีสัตยาเคราะห์บางคนได้เดินเฉียดเข้าไปใกล้รูปเคารพนั้น พวกฮินดูวรรณะอื่นเหลือบมาเห็นก็พากันเดือดดาลเอาท่อนไม้และก้อนหินทุบตีขว้างปาใส่แบบใม่ยั้งมือ กลุ่มจัณฑาลมือเปล่ารวมทั้ง ดร.อัมเบดการ์ต่างก็ได้รับบาดเจ็บไปตาม ๆ กัน

กระบวนการของการเปลี่ยนศาสนา

  ท่าน ดร.อัมเบดการ์ มองเห็นแล้วว่า ภายใต้กรอบของศาสนาฮินดูไม่มีทางที่คนวรรณะต่ำจะยกสถานภาพของตัวเองได้เลย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไปในอนาคต ท่านได้เรียกประชุมใหญ่ ณ ตำบล เยียลา ในเดือนตุลาคมปีถัดมา โดยท่านได้กล่าวปราศรัยให้เห็นถึงความผิดพลาดของศาสนาฮินดู แล้วสรุปว่า

"ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องตัดสินใจ มันจะไม่ดีกว่าหรือหากพวกเราละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่นที่จะให้สถานภาพทางสังคมที่เท่าเทียมกัน มีฐานะที่มั่นคงปลอดภัยและปฏิบัติต่อพวกเราอย่างเป็นธรรม"

   ในปี พ.ศ. 2478 ดร.อัมเบดการ์ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และได้ประกาศความตั้งใจที่จะละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น ตัวแทนของศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ซิกข์ และ คริสต์ ต่างพยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านเลือกเข้ารีดศาสนาของตน พวกเขาได้เสนอเงินทองก้อนใหญ่และความสะดวกสบายอื่น ๆ แก่ ดร.อัมเบดการ์และบริวาร แต่สุดท้ายท่าน ดร.อัมเบดการ์ได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างนุ่มนวล

ดร.อัมเบดการ์กับพระพุทธศาสนา

         ดร.อัมเบดการ์รู้จักและสนใจพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อเรียนจบมัธยมศึกษา มีการจัดงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ ในงานนั้น ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์ นักเขียนนวนิยายภาษามาระฐีและนักสังคมสงเคราะห์ได้มอบหนังสือภาษามาระฐีชื่อ "พุทธจริต" แต่งโดยท่านอัศวโฆษเป็นของขวัญ หนังสือเล่มนี้ได้ปลุกศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าให้เกิดขึ้นแก่เด็กหนุ่มอัมเบดการ์เป็นอย่างมาก เมื่อ ดร.อัมเบดการ์และบริวารได้ประกาศละทิ้งศาสนาฮินดูในการประชุมที่เยียลา ปี 2478 พระโลกนาถ พระมหาเถระชาวอิตาลีผู้จาริกจากประเทศไทยเข้าสู่พม่าและอินเดียได้เข้าไปพบกับ ดร.อัมเบดการ์หลายครั้ง ณ ห้องสมุดส่วนตัวของท่าน ที่เมือง บอมเบย์ พระโลกนาถช่วยให้ ดร.อัมเบดการ์มั่นใจยิ่งขึ้นว่า พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เหมาะสมที่สุด ต่อมา ดร.อัมเบดการ์กับพระโลกนาถได้ติดต่อกันทางจดหมาย และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ชื่อว่า "พระพุทธศาสนาให้อิสรภาพแก่ท่าน (Buddhism Will Make You Free)" พิมพ์ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2479                                                                 

                 ดร.อัมเบดการ์ ได้พูดเรื่อง "ปรัชญาส่วนตัวของข้าพเจ้า" ทางสถาณีวิทยุ บี.บี.ซี.ว่า

            "ทุกคนควรมีปรัชญาชีวิตสำหรับตนเอง เพราะทุกคนจะต้องมีมาตรฐานเป็นเครื่องมือสำหรับวัดเฉพาะตน และปรัชญาก็มิใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือมาตรฐานซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวัดสิ่งต่าง ๆ นี่เอง                                                                                                                      

             ข้าพเจ้าขอปฏิเสธปรัชญาทางสังคมของฮินดูตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตาและเรื่องตรีคุณของปรัชญาสางขยะ ในความคิดของข้าพเจ้าปรัชญาเหล่านี้เป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะมันก่อให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะและระบบแห่งความไม่เท่าเทียมกัน เป็นกฏชีวิตทางสังคมของชาวฮินดู                                                                                                                                                                                

            ปรัชญาทางสังคมของข้าพเจ้าสรุปรวมอยู่ในคำพูดเพียง 3 คำ คือ อิสรภาพ สมภาพ และภราดรภาพ ปรัชญาของข้าพเจ้านี้มีศาสนาเป็นฐาน มิใช่รัฐศาสตร์ ข้าพเจ้าได้ศึกษามาจากคำสั่งสอนของพระบรมครูของข้าพเจ้า คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2499 นับเป็นวันแห่งความหลุดพ้นของ ดร.อัมเบ็ดการ์ และบริวารนับล้านคน ท่านได้ตัดสินใจประกอบพีธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะอย่างเป็นทางการในปีที่รัฐบาลอินเดียจัดพีธีพุทธชยันตี (อินเดียนับ พ.ศ.2500) ที่เมืองนาคปูร์ เหตุที่ ดร.อัมเบดการ์เลือกเอาวันนั้นประกอบพิธีสำคัญนี้ก็เพราะเชื่อว่าเป็นวันมหามงคล ตรงกับวันวิชยทัศมี คือวันที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงกลับพระทัยมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนาและประกาศว่า พระองค์จะเอาชนะประเทศต่าง ๆ และประชาชนด้วยความรักความเมตตาและการเจรจาทางการทูตแทนการใช้แสนยานุภาพทางทหาร ซึ่งเรียกหลักการนี้ว่า "ธรรมวิชัย"

.........................................

แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นในอินเดียหลังการสูญสิ้นไปนับพันปี แต่ผู้นับถือส่วนใหญ่มาจากคนที่เป็นชนชั้นล่างของสังคม พระพุทธศาสนาจึงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่ด้วยความงดงามและบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาที่ดึงดูดใจปัญญาชนในอินเดีย จึงทำให้ชาวพุทธเริ่มมีจำนวนมากขึ้น มีการศึกษาพระพุทธศาสนาที่เป็นวิชาการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ พระพุทธศาสนาในช่วง ๕๐ ปีแรกจึงเป็นพระพุทธศาสนาที่คนอินเดียเรียนรู้จากหนังสือที่เขียนโดยนักปราชญ์พุทธในต่างประเทศทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศศรีลังกา เป็นพระพุทธศาสนาในเชิงทฤษฎีหรือคำสอนเป็นส่วนใหญ่

..............................................

ต่อมารูปแบบพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติจึงได้เกิดขึ้นที่อินเดียโดยการนำของวิปัสสนาจารย์ชาวเมียนมาร์เชื้อสายอินเดีย คือท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของวิปัสสนาจารย์ฆราวาสผู้ยิ่งใหญ่ชาวพม่า คือ ท่านอูบาขิ่น หลังจากศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจนแตกฉานแล้ว ปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ "ธรรมคีรี" ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียนับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา ปีพ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่วิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีชาวอินเดียจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวพุทธและชาวฮินดูมาศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน ทำให้สภาพพระพุทธศาสนาในอินเดียพัฒนาด้านคุณภาพคือมีทั้งการศึกษาปริยัติในภาคทฤษฎีและการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในภาคปฏิบัติ จนพูดได้ว่าชาวพุทธอินเดียในปัจจุบันมีครบทั้งปริมาณและคุณภาพ พระพุทธศาสนาในอินเดียจึงมีความมั่นคงอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่าน คือ ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์และท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า เป็นผู้มีคุณูปการสูงยิ่งต่อพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียยุคใหม่

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.2467   ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความ สำเร็จมีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม  ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า  รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น  หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่าและสมาคมพานิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง  นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ

เมื่ออายุ 31 ปี ท่านได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น (วิปัสสนาจารย์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง)  หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก  จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  จนต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน


ปีพ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย   ระหว่างที่อยู่ในอินเดียท่านได้จัดอบรมวิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง  ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก  นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้น  จากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น


และจากการที่ท่านอาจารย์อู บาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจนเกือบหมดสิ้น  ท่านโกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง  ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง


ปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ "ธรรมคีรี" ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียนับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา  ปีพ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่วิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกกว่า 400 หลักสูตร  หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไปทั้งในอินเดีย  ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก  และจากทั่วโลก  ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด   ท่านเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร  ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น  ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน


ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน  โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น  ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ อีกนับพันๆ คน  มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก  ทั้งในอิหร่าน มัสกัต อาหรับอิมิเรสต์ อัฟริกาใต้ ซิมบับเว จีน มองโกเลีย รัสเซีย เซอร์เบีย ไต้หวัน กัมพูชา เม็กซิโกและประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้  โดยมีการก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก  ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพันหลักสูตร  โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรมที่พักหรือค่าอาหารใดๆ  ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค  ทั้งตัวท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย 


ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมตามสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  และการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษใหม่ที่สหประชาชาติด้วย

 

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าที่เคารพได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อคืนวันที่ 29 กันยายน 2556 ด้วยวัย 90 ปี   พิธีฌาปนกิจได้จัดขึ้นที่อินเดียในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2556 เวลา10.30 น.(ตรงกับเวลา 12.00น. ในประเทศไทย)  

 

ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า เป็นวิปัสสนาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้นำพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ นั่นคือวิปัสสนากรรมฐานอันบริสุทธิ์และสมบูรณ์ไปมอบให้พุทธศาสนิกชนในอินเดียได้ปฏิบัติจนประสบความสุขและความสงบที่แท้จริงหลังจากได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในภาคปริยัติหรือภาคทฤษฎีทางวิชาการมาอย่างยาวนาน  ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียมีความสมบูรณ์ทั้งภาคปริยัติธรรมและปฏิปัตติธรรม จนนำไปสู่ปฏิเวธธรรม พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียยุคใหม่จึงมีความมั่นคงเข้มแข็ง อันเป็นผลมาจากคุณูปการของท่าน ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์ และท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 693175เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท