เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ  ๘. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง


 

บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้    ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015)   เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย    ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator)    โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ   ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ  อย่าเชื่อโดยง่าย

บันทึกที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ 6 Individual, Cultural and Structural Framings of Agency    

ตั้งแต่ต้น(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา   เป็นกระแสของการศึกษาทั่วโลก ว่าต้องส่งเสริมให้ครูเป็นตัวของตัวเอง หรือเป็นอิสระ มากขึ้นในการทำหน้าที่ทางวิชาชีพ   ดังหลักสูตร Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ระบุว่า มีความสำคัญยิ่งที่ครูต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนที่ตนทำงาน   

ความคาดหวังบทบาทครูเช่นนั้นมีปัญหา   เพราะเป็นความคาดหวังที่ขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติ   ที่การควบคุมครูยังคงเข้มข้นตามแนวเดิม ที่ปฏิบัติมานานมาก    คือเข้มข้นทั้งการควบคุมปัจจัยนำเข้า (input regulation)   และปัจจัยขาออก (output regulation) คือผลงาน

ปัจจัยนำเข้าคือหลักสูตร   สก็อตแลนด์ใช้หลักสูตรเก่าที่ระบุรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลา ๒๐ ปี    เมื่อประกาศใช้หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ในปี 2010 – 2011 ที่ให้อิสระแก่ครูขึ้นมาก    ครูก็ยังคงปฏิบัติตามแนวเดิม   เพราะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการระบุปัจจัยขาออก    ที่ระบุเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ และก่อตัวเป็นลัทธิบูชาผลงาน (performativity) ตามกระแสการบริหารงานภาคธุรกิจ และการบริหารงานภาครัฐของสังคมภาพใหญ่   ที่ผมมองว่าเป็นกระแสโลก      

ครูจึงทำงานอยู่ในระบบที่มีความขัดแย้งอยู่ในระบบเอง     ครูถูกระบบเรียกร้องให้เป็นตัวของตัวเอง ทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์   โดยระบบไม่ได้หาทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของการทำงานของครู ที่ครอบงำครูด้วยลัทธิบูชาผลงาน   ทำให้ครูแสดงบทบาทผู้ก่อการ (teacher agency) ได้ยาก   

ย้ำว่า เป็นข้อผิดพลาด ที่ระบบการศึกษาหรือหลักสูตร เรียกร้องความเป็นผู้ก่อการจากครู โดยไม่หนุนหรือเอื้อด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในการปฏิบัติงานของครู    ข้อผิดพลาดนี้มาจากความเข้าใจผิด ว่าพฤติกรรมการเป็นผู้ก่การขึ้นอยู่กับตัวครูเท่านั้น    ในความเป็นจริง พฤติกรรมก่อการของครูขึ้นกับ ๒ ปัจจัย คือปัจจัยด้านตัวครู กับปัจจัยด้านระบบนิเวศในการทำงานของครู     

หากต้องการใช้พลังก่อการของครู ต้องไม่หลงพัฒนาตัวครูเท่านั้น    ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศในการทำงาน (ที่หนังสือเรียกว่า cultural and structural dimension) ให้เอื้อต่อการทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กันด้วย   

ในบันทึกตอนที่ ๘ นี้ มุ่งตอบคำถาม ๓ ข้อ คือ 

ความเป็นผู้ก่อการของครูคืออะไร    พิจารณาลักษณะด้านต่างๆ ของความเป็นผู้ก่อการของครู    ทั้งด้านบวก และด้านลบ

ความเป็นผู้ก่อการของครูมีที่มาจากไหน    หรือถามใหม่ให้ชัดหรือเจาะจงยิ่งขึ้นว่า ปัจจัยด้านบุคคล  วัฒนธรรม และโครงสร้าง ที่เอื้อต่อการบรรลุความเป็นผู้ก่อการของครู มีอะไรบ้าง     โดยทีมวิจัยตรวจสอบ  (๑) ความเคยชินของครู    ซึ่งหมายถึง มีความพยายามดึงครูออกจากความเคยชินเดิมๆ  แต่เป็นการยากมากที่จะดึงเอาความเคยชินเดิมๆ ออกจากครู  (๒) ความขัดแย้งระหว่างหลักสูตรใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น  กับวัฒนธรรมตรวจสอบที่ยังดำเนินต่อเนื่อง  (๓) วาทกรรมและความสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ก่อการของครู     

ความเป็นผู้ก่อการของครูก่อผลอะไรได้บ้าง    หรือกล่าวใหม่ว่า หากโรงเรียนและนโยบายด้านหลักสูตรส่งเสริมความเป็นผู้ก่อการของครู จะเกิดผลดีอะไรบ้าง   และความเข้าใจที่แจ่มชัดขึ้นเรื่องความเป็นผู้ก่อการของครู จะก่อผลพัฒนาโรงเรียนอย่างไรบ้าง     

 

ข้อค้นพบ

ข้อค้นพบที่ระบุในหนังสือ มีที่มาจาก ๒ แหล่ง คือ จากรายงานวิจัยที่มีการเผยแพร่มาก่อน  กับจากผลงานวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change ของทีมผู้นิพนธ์หนังสือ Teacher Agency เอง     โดยข้อค้นพบแรกคือ มีแนวคิดเรื่องความเป็นผู้ก่อการ ๒ แนว คือ (๑) แนวสังคมวิทยา (sociological view) มองว่าความเป็นผู้ก่อการมาจากการหล่อหลอมทางสังคม  และ (๒) แนวนิเวศวิทยา (ecological approach) ที่บอกว่า ความเป็นผู้ก่อการมีลักษณะ

เป็นปรากฏการณ์ที่ผุดบังเกิด (emergent phenomenon)    ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลมี  แต่เป็นสิ่งที่บุคคลบรรลุ และแสดงพฤติกรรมออกมา   

เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติภายในของบุคคล และเงื่อนไขภายนอก     ความเป็นผู้ก่อการ ณ จุดหนึ่ง เหตุการณ์หนึ่ง มีความจำเพาะ    เพราะเกิดจากการบรรจบกันของ ๓ ปัจจัยคือ  (๑) แรงขับดันของบุคคล  (๒) ทรัพยากร (หรือทุน) ที่มี  และ (๓) บริบท หรือสภาพแวดล้อม ที่เอื้อ 

เป็นสิ่งที่มีมิติด้านเวลา (temporal)  และความสัมพันธ์ (relational)    ซึ่งหมายความว่า เป็นกระบวนการเกาะเกี่ยวทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายาวนาน    ที่มีความจำแห่งอดีต  มีความมุ่งหมายแห่งอนาคต    และมีการปฏิบัติ ณ ปัจจุบันขณะ    ปัจจัยทั้งสามนำไปสู่การตีความว่าความเป็นผู้ก่อการเกิดจากพลังสามที่เกาะเกี่ยวกัน คือ (๑) พลังแห่งอดีตหรือการปฏิบัติซ้ำๆ จนเป็นนิสัย (iterational dimension)   (๒) พลังแห่งจินตนาการไปในอนาคต (projective dimension)  และ (๓) พลังแห่งการตัดสินใจ ณ ปัจจุบันขณะ (practical-evaluative dimension)  

ข้อความตอนนี้ในหนังสือ Teacher Agency  ทบทวนสาระในบทก่อนๆ อย่างยืดยาว    ผมจะสรุปมาเพียงสั้นๆ    

ทฤษฎีสามประสานของความเป็นผู้ก่อการของครู    ประกอบด้วย (๑) มิติของการปฏิบัติซ้ำๆ ในอดีต (iterational)  (๒) มิติด้านจินตนาการไปในอนาคต (projective)  และ (๓) มิติด้านการปฏิบัติและประเมิน ณ ปัจจุบันขณะ (practical-evaluative)   

ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู ที่สำคัญ ๓ ด้านคือ (๑) ความเชื่อเกี่ยวกับนักเรียน  (๒) ความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของครู  และ (๓) ความเชื่อเรื่องเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา   สรุปได้ว่า ครูมักมีความเชื่อหรือมุมมองที่แคบ    และมักไม่กล้าท้าทายอำนาจเหนือ   

ทรัพยากรเชิงวาทกรรมและคำศัพท์ของครู    มีความแตกต่างกันทั้งด้านเนื้อหา  และด้านความลึกและเชื่อมโยง    และความสามารถเชื่อมโยงประเด็นแคบๆ หรือเฉพาะหน้าหรือเป็นแฟชั่นไปสู่ภาพใหญ่หรือคุณค่าที่กว้างขวางหรือลึกซึ้งกว่า    ความแตกต่างดังกล่าวมีผลมาจากอายุ (age effect) และรุ่น (generation effect)   ทำให้ครูกลุ่มที่มีประสบการณ์มากกว่าตีความหลักสูตรใหม่อย่างยืดหยุ่นกว่าและน่าจะนำมาสร้างคุณประโยชน์ได้ดีกว่า

เครือข่ายทางสังคมของครู   เมื่อศึกษาที่กลไก PLC – Professional Learning Community   พบว่ามักได้รับความเอาใจใส่ในความหมายและเป้าหมายที่แคบและตื้น    และผมขอแถมกรณีประเทศไทยว่า มักทำกันเป็นแฟชั่นหรือตามคำสั่ง   อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาในชื่อของเครือข่ายทางสังคม หรือปฏิสัมพันธ์ของครูและผู้บริหาร    พบว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดี ที่เป็นแนวราบและสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน มีพลังมาก   ทำให้ครูในโรงเรียนริมทะเลสาบร่วมใจกันดำเนินการใช้ประโยชน์จากหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence   แตกต่างจากอีกสองโรงเรียน 

แรงกดดันจากภายนอก ในรูปของกลไกความรับผิดรับชอบ    ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมบูชาผลงาน (performativity) ในโรงเรียน   โดยมีกลไกตรวจสอบจากภายนอก และระบบตรวจสอบภายในโรงเรียน หล่อหลอมครูให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาและวิธีการที่ผู้อื่นกำหนด    ไม่คุ้นกับการคิดเองหรือร่วมกันคิด   ในลักษณะที่ครูเป็นตัวของตัวเอง อย่างที่หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ต้องการให้ปฏิบัติ    เป้าหมายเชิงคุณค่าของครูและโรงเรียนจึงเปลี่ยนไป จากเน้นทำเพื่อสนองนักเรียน กลายเป็นเน้นทำเพื่อสนองผลงาน    แทนที่จะสอนนักเรียน  กลายเป็นสอนเพื่อสอบ   

สรุปว่า หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ชัดเจนว่า หากจะให้หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์  ประสบความสำเร็จ   ต้องไม่หลงดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถของครูเพียงอย่างเดียว   ต้องมีมาตรการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย    ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป   

 

หล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการของครู

ได้กล่าวแล้วในหลายบันทึก ว่าความเป็นผู้ก่อการเป็นสิ่งผุดบังเกิด จากปฏิสัมพันธ์ของ ๒ ปัจจัยคือ  (๑) บุคคล (ทักษะ ความรู้ ความเชื่อ ฯลฯ)  (๒) เงื่อนไข ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม โครงสร้าง ทรัพยากร และปัจจัยขัดขวาง    ปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยสองกลุ่ม ที่แจงออกเป็นปัจจัยย่อยๆ ได้มากมายหลากหลายนี้มีความเป็นพลวัตสูงมาก   ทำให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะขึ้นในแต่ละปัจจุบันขณะ   และหากมีสภาพพอเหมาะ พฤติกรรมความเป็นผู้ก่อการก็แสดง (ผุดบังเกิด –emerge) ออกมา  

ต่อไปเราจะพิจารณาปัจจัยที่หล่อหลอม หรือปิดกั้น ความเป็นผู้ก่อการของครู 

นโยบายที่ผิดพลาด ที่เอาใจใส่เฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของครูเป็นรายคน 

หนังสือ วิเคราะห์ข้อความเสนอนโยบายการศึกษาจากหลากหลายองค์กรที่มีชื่อเสียง รวมทั้งจากผลงานวิจัยเด่นๆ  และสรุปว่า มีแนวโน้มจะเน้นที่การพัฒนาครูเป็นรายคนเพื่อเป้าหมายคุณภาพการศึกษา    น้อยมากที่ระบุว่าต้องพัฒนาตัวแนวทางการบริหารงานของระบบการศึกษา หรือพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานของครู ควบคู่ไปด้วย    โดยหลุมพรางสำคัญคือวิธีคิดเชิงเส้นตรง หรือคิดชั้นเดียว    ไม่ตระหนักว่า การศึกษา หรือการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่ง     และระบบการศึกษาก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน

ประเด็นสำคัญยิ่งที่มักถูกละเลยคือ โรงเรียนมีไว้เพื่ออะไร   และการศึกษาสร้างคุณค่าอะไรบ้างแก่นักเรียน    ส่วนใดที่การศึกษาในปัจจุบันย่อหย่อน           

ผมตีความว่า การพัฒนาครูที่เรียกว่า professional development ที่ทำกันในปัจจุบันนั้น    เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน    เน้นพัฒนาความรู้และทักษะเชิงเทคนิค    ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาครูทั้งคนในทุกมิติ    ที่เรามักพูดกันว่า พัฒนาทั้ง 3H (head, heart, hand)    หรือสมัยนี้ใช้คำว่า ASKV (attitude, skills, knowledge, values)     เราจึงเห็นว่า วิญญาณครูของคนที่ประกอบวิชาชีพครูถดถอยลงไป   และที่สำคัญยิ่งขาดมิติในการส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษา     โดยทำหน้าที่นี้ผ่านการทำงานประจำของครูนั่นเอง    แล้วมีการร่วมกันสะท้อนคิด เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบจากหน่วยย่อยไปสู่ระบบใหญ่ของประเทศ    ที่เรียกว่า bottom-up systems development   ข้อความในย่อหน้านี้มาจากจินตนาการของผมทั้งหมดจึงอาจมีข้อผิดพลาดอยู่ด้วย 

หากระบบการศึกษาไทยเอื้อให้ครูร่วมทำหน้าที่พัฒนาระบบ ตามแนวทางในย่อหน้าก่อน   ครูไทยจะได้มีโอกาสพัฒนาความเป็นผู้ก่อการได้สูงยิ่ง 

ข้อสรุปสำหรับหัวข้อย่อยนี้คือ    นโยบายที่ผิดพลาด เอาใจใส่เฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของครูเป็นรายคน    ไม่เอาใจใส่สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ครูได้ทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ที่หน้างานของตน    ทำให้ครูมีโอกาสแสดงความเป็นผู้ก่อการได้น้อย

มิติด้านปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง ของความเป็นผู้ก่อการของครู

ข้อความในหนังสือ Teacher Agency ตอนนี้นิยาม “ความเป็นผู้ก่อการ” (agency)  ไว้อย่างลึกซึ้งมาก    โดยบอกว่าครูบรรลุความเป็นผู้ก่อการเมื่อครูมีโอกาสตัดสินใจเลือกทางเลือกหนึ่งจากหลายทางเลือก ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง    โดยมีความสามารถตัดสินว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุดต่อเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการเป็นครู     จะเห็นว่าความเป็นผู้ก่อการจะถูกจำกัดหากทางเลือกถูกจำกัด    และหากไม่มีทางเลือกเลย ความเป็นผู้ก่อการก็ไม่มีโอกาสเกิด   

เพื่อให้เข้าใจ “ความเป็นผู้ก่อการ” ให้ลึก ต้องพิจารณา เรื่องยากๆ สองประเด็น

ความแตกต่างระหว่าง ความเป็นผู้ก่อการ (agency)   กับ การเป็นตัวของตัวเอง (autonomy)    การเป็นตัวของตัวเองหมายถึงมีกฎข้อบังคับจากหน่วยเหนือ หรือจากภายนอก ให้ปฏิบัติตามน้อย  สมมติว่ากระทรวงศึกษาธิการยกเลิกกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดให้โรงเรียนปฏิบัติตามลงครึ่งหนึ่ง    แต่ครูก็ยังปฏิบัติตามรูปแบบเดิม   อย่างนี้แสดงว่าครูมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้นมาก แต่ไม่มีความเป็นผู้ก่อการ    ผมตีความว่า การมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเปิดโอกาสให้คนได้แสดงพฤติกรรมผู้ก่อการ    แต่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช้โอกาสนั้น เขาเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ก่อการ    ในทางตรงกันข้าม ผมได้เห็นตัวอย่างบุคคลจริงที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการของไทย    ที่ไม่เคยพูดเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่าเรื่องดีๆ ที่ผู้ใหญ่ไปร่วมกันคิดนั้น ติดกฎระเบียบหรือข้อจำกัดใดๆ   ท่านไปหาทางจัดการให้มีการดำเนินการได้ทุกเรื่อง    นี่คือผู้ก่อการตัวจริง   ที่หาทางออกจากสภาพ autonomy ต่ำได้เสมอ    

ความเป็นผู้ก่อการดี  กับก่อการด้านไม่ดี    ความเป็นผู้ก่อการอาจดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ก็ได้  หรือเชิงทำลายก็ได้    โดยทั่วไปเมื่อพูดคำว่าผู้ก่อการเราหมายถึงก่อการเชิงสร้างสรรค์   แต่หนังสือก็ยกตัวอย่างครูที่แสดงความเป็นผู้ก่อการ (สร้างสรรค์) ด้วยการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดในหลักสูตร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักเรียนที่ตนดูแล   ดังนั้นความเป็นผู้ก่อการของครูจึงมีจุดมุ่งหมายที่คุณค่าและเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา     นี่คือมิติด้านจินตนาการไปในอนาคต (projective) ของความเป็นผู้ก่อการ   

เมื่อกล่าวถึงเรื่องเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา  หนังสือ แจกแจงเป้าหมายไว้ ๓ มิติ คือ  (๑) ด้านคุณวุฒิ (qualification)  (๒) ด้านพัฒนาการเชิงสังคม (socialization) ซึ่งผมขอเพิ่มเป็น ด้านสังคมและอารมณ์   และ (๓) ด้านความเป็นมนุษย์ (person)   ที่มีความคิดอิสระ  มีวิจารณญาณและพฤติกรรมที่เปี่ยมศีลธรรม   

โดยต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของการศึกษาคือการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทั้งความสัมพันธ์ยึดโยงกับสังคม    และความเป็นอิสระไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดหรือพฤติกรรมเดิมๆ ในสังคม   เป็นการพัฒนาสองขั้วตรงกันข้ามให้พัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กัน   การศึกษาต้องช่วยให้มนุษย์เราได้พัฒนายกระดับขั้วตรงกันข้ามเช่นนี้ขึ้นไปในอีกมากมายหลากหลายมิติ    ผมตีความว่า การยกระดับเช่นนี้ เป็นการปูพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการต่อไปในอนาคต    

กลับมาที่ครูทั้ง ๖ คนในโครงการวิจัย    ทุกคนแสดงอาการของการถูกระบบนิเวศของการทำงานลิดรอนความเป็นผู้ก่อการทั้งสิ้น    ระบบนิเวศดังกล่าวมีลักษณะ ให้ความไว้วางใจต่ำ  มีการติดตามตรวจสอบพร้อมทั้งกดดันให้ต้องมีผลงาน   ซึ่งมักนำไปสู่การสร้างผลงานปลอมเพื่อดำรงภาพพจน์ไว้   

 

ทำไมจึงต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู

นี่คือประเด็นคุณค่าของความเป็นผู้ก่อการของครู   

คำตอบคือ เพราะระบบการศึกษาต้องเป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent system) จึงจะทำหน้าที่จัดการศึกษาในมิติที่ลึกและทรงคุณค่าได้   ในปัจจุบันระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์มีสภาพไปในทางที่ตื้นเขิน และมีความไม่สุจริตซ่อนอยู่   ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบไม่สนใจบทบาทด้านความเป็นผู้ก่อการของครู    ในการทำหน้าที่ร่วมพัฒนาหลักสูตร ร่วมพัฒนาระบบการศึกษา จากจุดทำงานของตน    ในลักษณะของ “การพัฒนาจากล่างขึ้นบน” (bottom-up development)   

“ระบบที่ฉลาด” หมายความว่า เป็นระบบที่มีการเรียนรู้และปรับตัว ณ ทุกจุดของระบบ    เพราะระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อน และเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา    มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์    การปรับตัว ณ จุดปฏิบัติงาน ต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู และบุคลากรหน้างานทั้งหลาย   หากไม่ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรหน้างานมีความเป็นผู้ก่การ    ก็ไม่มีทางที่ระบบการศึกษาจะเป็น “ระบบที่ฉลาด” ได้   

แต่ลัทธิบูชาผลงาน ที่มีฐานคิดจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และแนวคิดเชิงกลไก (mechanistic) และลดทอนความซับซ้อน (reductionism) มีผลลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู    เราจึงเห็นสภาพปัญหาของการศึกษาที่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพและคุณค่าที่แท้จริงได้    ผมขอสะท้อนว่า สภาพนี้เป็นจริงไม่เฉพราะในประเทศสก็อตแลนด์เท่านั้น    ระบบการศึกษาไทยก็ตกหลุมพรางนี้ด้วย    

ย้ำว่า ปัญหาการศึกษาที่กำลังเผชิญอยู่เกือบจะทั่วโลก เป็นปัญหาที่ระบบ    ซึ่งหมายความว่ามีการออกแบบและจัดการระบบที่ผิดพลาด    คือเป็นระบบกลไก และลดทอนความซับซ้อน    จึงกลายเป็นระบบที่ไม่ฉลาด    หากไม่แก้ไขที่ระบบ เอาแต่แก้ไขที่ตัวครู หรือมุ่งพัฒนาตัวครูเท่านั้น   ครูก็จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับระบบ   ผลคือครูส่วนใหญ่จะสยบยอมอย่างที่เห็นอยู่ในทั้ง ๓ โรงเรียนในโครงการวิจัย   ครูที่ไม่สยบยอมเป็นคนพิเศษ (มีความเป็นผู้ก่อการสูง) และมีเป็นส่วนน้อย ก็ต้องทำงานอย่างยากลำบาก  เพราะต้องเผชิญลัทธิบูชาผลงาน และการควบคุมสารพัดระดับและกลไก   

มองแง่ดี ในด้านที่ให้ความหวัง   ที่ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีพอสมควรอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะเรามีครูที่ดีจำนวนมาก    ครูเหล่านี้มีจิตวิญญาณครู และเข้าใจคุณค่าแท้จริงของการศึกษา    และมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อคุณค่านั้น   ดังกรณีครู ๖ คน ในโครงการวิจัย    ประเด็นสำคัญคือ หากระบบเปลี่ยน โดยละจากลัทธิบูชาผลงาน   หันไปเอื้อให้ครูใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ ณ จุดปฏิบัติงาน   เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง    และส่งสัญญาณไปยังระบบใหญ่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวของระบบใหญ่   ระบบการศึกษาจะส่งมอบผลงานที่ทรงคุณค่ากว่าในปัจจุบันอย่างมากมาย    และที่สำคัญ ระบบการศึกษาจะวิวัฒน์ไปสนองสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้           

เราต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู  เพราะครูต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” (intelligent worker)   ที่ส่งผลให้ระบบการศึกษาเป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent system)    “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” ในที่นี้ หมายถึง “ผู้ปฏิบัติงานที่มีความเป็นผู้ก่อการ” (agentic worker) นั่นเอง

 สภาพเช่นนี้ ไม่เพียงมีผลดีต่อครูเป็นรายบุคคลเท่านั้น    ยังมีผลทำให้ วิชาชีพครู เป็น “วิชาชีพที่ฉลาด” (intelligent profession)    ส่งผลให้ครูมีความภาคภูมิใจในการเป็นครู  สังคมให้ความยกย่องนับถือ   และครูเกิดความสุขความพึงพอใจการทำหน้าที่ครูของตน    

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๖๔

        

 

หมายเลขบันทึก: 693104เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2021 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2021 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านไปพร้อมกับนึกไป นี่สก็อตแลนด์หรือบ้านเรา? รู้สึกเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง (ซึ่งน่าจะหายาก) คุยถึงปัญหาการจัดการศึกษาให้ฟัง ที่สำคัญเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของพวกเรา(ครู)ดีจัง!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท