เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ  ๒. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร


 

บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้    ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015)    เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย    ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator)    โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ   ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ  อย่าเชื่อโดยง่าย 

บันทึกที่ ๒ นี้ ตีความจากบทที่ 1. Understanding Teacher Agency    เป็นบทที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจตวามหมายของคำว่า “ความเป็นผู้ก่อการของครู” (teacher agency)   

หนังสือบอกว่า เรามักเข้าใจผิด ว่าความเป็นผู้ก่อการ (agency) เป็นคุณสมบัติภายในตัวคน    แต่ในความเป็นจริง และเป็นจุดเน้นของหนังสือเล่มนี้    ความเป็นผู้ก่อการ เป็นเรื่องของพฤติกรรมหรือการกระทำ    โดยได้เสนอการทบทวนวรรณกรรมวิชาการเรื่องความหมายของคำว่า agency ลงรายละเอียดมากมาย    สรุปโดยย่อได้ว่า คำนี้มีความหมายได้ ๓ นัย   คือ (๑) ด้านเป็นตัวแปร (variable)  (๒) ด้านเป็นขีดความสามารถ (capacity)  และ (๓) ด้านเป็นปรากฏการณ์ (phenomenon)     หนังสือเล่มนี้เน้นนัยที่ ๓    คือ “ความเป็นผู้ก่อการที่ผุดบังเกิด” (emergent phenomenon) ขึ้นในสถานการณ์ที่ซับซ้อน จากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มคน   ณ ปัจจุบันขณะนั้น  ในท่ามกลางบริบทที่จำเพาะนั้น    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้น  

ความเป็นผู้ก่อการของบุคคลหรือกลุ่มคนจึงเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของ ๒ องค์ประกอบ    คือ คุณสมบัติหรือขีดความสามารถของบุคคลหรือกลุ่มคน กับ บริบทที่เอื้อหรือขัดขวางการก่อการ   และปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมองว่าความเป็นผู้ก่อการค่อยๆ ก่อตัว หรือบ่มเพาะ ขึ้นโดยใช้เวลา   เมื่อถึงจังหวะเหมาะจึงแสดงผลออกมา           

  หนังสือเล่มนี้ เน้นทำความเข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อม (ระบบนิเวศ) ที่เอื้อหรือขัดขวางการบ่มเพาะความเป็นผู้ก่อการของบุคคลและกลุ่มบุคคล ซึ่งในที่นี้คือครู     และพบว่าระบบการศึกษา หรือแนวทางบริหารระบบการศึกษามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการบ่มเพาะความเป็นผู้ก่อการของครู    โดยแนวทางที่ขัดขวางคือแนวทางบริหารการศึกษาแบบ บูชาผลงาน (performativity) เป็นเป้าหมายหลัก   

ผมจึงสรุปแบบตีความเองว่า ครูผู้ก่อการคือครูที่สั่งสมอุดมการณ์ (values & attitude)  ความรู้ (knowledge)  ทักษะ (skills)  และสั่งสมทรัพยากร (resources) จากการปฏิบัติงาน ที่เป็นการสั่งสมอย่างซับซ้อนหลากหลายด้าน   ที่เมื่อถึงจังหวะก็นำไปสู่การตัดสินใจ ลงมือทำ และฟันฝ่าจนบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายอุดมการณ์ของความเป็นครู    ซึ่งเมื่อพิจารณาลึกๆ นี่คือเป้าหมายของการพัฒนาวิชาชีพครู (professional development) นั่นเอง     โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นนักสู้  ลงมือทำ และเพียรพยายามฟันฝ่า จนบรรลุความสำเร็จ    โดยที่ไม่ใช่เป็นกิจกรรมของครูคนเดียว    แต่เป็นการรวมตัวกันผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือปฏิสัมพันธ์ทางวิชาชีพ   

ความหมายของ “การพัฒนาวิชาชีพครู” ที่เราใช้กันอยู่ จึงตื้นเกินไป    บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ จะช่วยให้วงการการศึกษาไทยนิยามความหมายเสียใหม่ ให้ทรงคุณค่าและทรงพลังยิ่งขึ้น   

 

แนวความคิดเกี่ยวกับคำว่า agency (ความเป็นผู้ก่อการ) 

มีการตีความเพื่อทำความเข้าใจคำว่า agency (ความเป็นผู้ก่อการ) จากมุมมองหลากหลายศาสตร์ (สังคมวิทยา  ปรัชญา เศรษฐศาสตร์  และมานุษยวิทยา) มาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี    รวมทั้งมีการให้มุมมองจากกระบวนทัศน์ทางสังคมหลากหลายแบบ (postmodern, poststructural, sociocultural, identity, life-course perspective) ในลักษณะของการโต้แย้งกันเพื่อทำความเข้าใจหลักการหรือแนวความคิดที่มองได้หลายมุม หลายมิติ    ซึ่งผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่เราจะทำความเข้าใจลึกลงไปเชิงทฤษฎีขนาดนั้น 

ข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ และควรนำมาเสนอในที่นี้คือ ข้อถกเถียงเรื่องอิทธิพลเชิงโครงสร้าง กับอิทธิพลของบริบทจำเพาะหรือเฉพาะกรณี ต่อความเป็นผู้ก่อการ (structure – agency debate)    เป็นข้อถกเถียงที่ทำให้เราเข้าใจว่า ความเป็นผู้ก่อการนั้น ขึ้นกับทั้งอิทธิพลของระบบใหญ่  (macro)  และอิทธิพลของปัจจัยเฉพาะกรณี (micro)   

กล่าวใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ว่า ความเป็นผู้ก่อการ ถูกกำหนดจากอิทธิพลของปัจจัยที่กำหนดลงมาจากหน่วยเหนือ (top-down)   และจากอิทธิพลของปัจจัยที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลระดับปฏิบัติการร่วมกันกำหนดเอง (bottom-up)     ปัจจัยที่ซับซ้อนแนว top-down และ bottom-up มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต   และส่งผลต่อปรากฏการณ์ความเป็นผู้ก่อการของครู   

ขอยกตัวอย่างนิยามคำว่าความเป็นผู้ก่อการ (agency) ที่มีผู้ให้ไว้หลากหลายนิยาม และแตกต่างกันมาก    สำนักหนึ่งเสนอว่า หมายถึง “ขีดความสามารถในการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินการของตน และขีดความสามารถในการประเมินความสำเร็จ”    อีกสำนักหนึ่งนิยามว่า “หมายถึงพลังของการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (transformation)   และมีความสามารถต้านทานกระแสหลักในขณะนั้น    และสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ต่อกระแสหลักนั้นได้” 

แต่ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency เสนอว่า ความเป็นผู้ก่อการเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของขีดความสามารถภายในคนกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในขณะนั้น    โดยที่สภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศมีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ก่อการของบุคคล ๒ มิติ   คือมิติของการสั่งสมศักยภาพหรือขีดความสามารถ (อิทธิพลระยะยาว)   กับมิติของการลงมือกระทำ ณ ปัจจุบันขณะนั้น (อิทธิพลต่อการตัดสินใจ ณ ปัจจุบันขณะ)    

ความเป็นผู้ก่อการจึงมีความซับซ้อนมาก    และต้องการระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสั่งสม และการนำออกมาใช้ ณ ปัจจุบันขณะที่ต้องการผู้ลงมือทำ             

 

ทฤษฎี agency (ความเป็นผู้ก่อการ) แนวระบบนิเวศ

มีการเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ agency หลายแนว    แต่หนังสือเล่มนี้ใช้แนวระบบนิเวศ    ที่มองการเป็นผู้ก่อการว่าเป็นกระบวนการทางสังคม หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  มากกว่าเป็นกระบวนการของปัจเจกบุคคล    และเป็นกระบวนการที่มีมิติครบ ๓ ด้านของเวลา คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต   

คนเรามีการสั่งสมหลากหลายด้านจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน     ยิ่งมีเวลาสั่งสมนาน และสั่งสมเป็น หรือมีการสนับสนุนการสั่งสมจากระบบงาน การสั่งสมความเป็นผู้ก่อการก็จะยิ่งมีพลังหรือคุณค่าสูง     ผมตีความว่าระบบการทำงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัด ต้องเอาใจใส่ส่งเสริมการสั่งสม ๕ ด้านแก่พนักงาน    ได้แก่ (๑) เจตคติ (attitude)  (๒) คุณค่า (values)  (๓) ทักษะ (skills)  (๔) ความรู้ (knowledge)  (๕) ทรัพยากร (resources)   เพื่อการเป็นผู้ก่อการตามภารกิจของตน   

การพัฒนาและสั่งสมเจตคติและคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของตน  จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงส่ง (aspiration) ต่องาน    ซึ่งจะมีผลต่อมิติเชิงอนาคตของการเป็นผู้ก่อการ   คือเป็นคนที่มีอุดมการณ์ในการกระทำการเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของหน่วยงาน และของสังคม     จะเห็นว่าการเป็นผู้ก่อการ มีมิติทางสังคม คือเป็นคนที่คิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม   ไม่เป็นคนที่คิดแคบเฉพาะเพื่อตนเองเท่านั้น    

การสั่งสมและพัฒนาเจตคติและคุณค่า เป็นมิติด้านในของมนุษย์   ส่วนการสั่งสมและพัฒนาทักษะและความรู้ เป็นมิติด้านนอกของบุคคล ที่เห็นชัดจากการกระทำ     ส่วนการสั่งสมทรัพยากรเป็นมิติภายนอกกาย ที่มนุษย์แต่ละคนสั่งสมไว้และสามารถนำมาใช้เป็นพลังในการดำเนินการกิจกรรมยากๆ ที่เฉพาะตนเองและเพื่อนร่วมงานไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้    มิตินี้ในสมัยนี้เราเรียกว่า มี connection   หรือมีทุนสังคมหรือความเชื่อถือจากคนอื่นและสังคมวงกว้าง    ว่าสำหรับคนคนนี้ หรือคนกลุ่มนี้แล้ว เชื่อได้ว่า ทำเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม   ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มตน   เมื่อได้รับความเชื่อถือในระดับนี้   ก็จะกล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ยากและมีความขัดแย้งสูง   กล้าเป็นผู้ก่อการในเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เชิงระบบหรือเชิงสังคมได้         

ความเป็นผู้ก่อการจึงมีความซับซ้อนสูงมาก  มีองค์ประกอบที่หลากหลาย    รวมทั้งจินตนาการ    คนที่มีความเป็นผู้ก่อการสูง จะมีจินตนาการสู่อนาคตเชิงระบบ   ที่ต้องการการเปลี่ยนใหญ่ (transformation)    ที่จะทำได้สำเร็จต้องการพลังเจตคติ คุณค่า ทักษะ ความรู้ และทรัพยากรสนับสนุนสูงมาก   หากบุคคลที่เกี่ยวข้องประมาณการณ์ว่ามีพลังทั้ง ๕ ไม่ครบถ้วนแข็งแรงพอ ก็จะไม่กล้าตัดสินใจลงมือก่อการหรือกระทำการ   แต่หากประเมินว่าปัจจัยด้านระบบนิเวศภาพใหญ่สนับสนุน ก็จะกล้าเสี่ยงลงมือกระทำการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่นั้น     

แต่การลงมือเป็นผู้ก่อการส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหญ่เชิงระบบ     แต่เป็นประเด็นหน้างาน    คนที่ได้สั่งสมพลังทั้ง ๕ จะมีจริตของผู้ก่อการพียงพอที่จะลงมือดำเนินการ     ในภาษาไทยเราเรียกคนเหล่านี้ว่า ผู้ไม่นิ่งดูดาย   โดยต้องตระหนักว่าความเป็นผู้ก่อการมีระดับจากอ่อนสู่แก่    และขึ้นกับสถานการณ์ด้วย    บุคคลคนเดียวกัน ในสถานการณ์หนึ่งอาจเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการแก้ไขอย่างกระตือรือร้น    แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งอาจเป็นผู้เฉื่อยชาหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วม   ความเป็นผู้ก่อการขึ้นกับเงื่อนไขที่ซับซ้อน   ทั้งที่เป็นเงื่อนไขในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต     

 

ทำความเข้าใจ agency (ความเป็นผู้ก่อการ) ของครู

หนังสือ Teacher Agency บอกว่า เรื่องความเป็นผู้ก่อการในภาพใหญ่ได้รับความสนใจมาก   แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจศึกษาหรือทำความเข้าใจความเป็นผู้ก่อการของครู     ผมคิดต่อว่า อาจเนื่องจากสังคมคาดหวังให้ครูเป็นผู้ทำงานตามบทที่มีผู้กำหนดให้ทำ    โดยไม่คาดหวังการเป็นผู้ก่อการจากครู     กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า อาจเป็นเพราะวงการศึกษาคาดหวังให้ครูเป็นผู้ดำเนินการตามที่หลักสูตรกำหนด    ไม่คาดหวังบทบาท “การเป็นผู้ร่วมสร้างหลักสูตร” (curriculum co-creator) จากครู

ในท่ามกลางการทำงานหนักของภาคีผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา  และการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย    การทำความเข้าใจความเป็นผู้ก่อการของครู    และคุณค่าของความเป็นผู้ก่อการของครูไทย    จึงมีความสำคัญยิ่ง     และบันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมพลังก่อการของครูไทย    

ความเข้าใจ หรือความคาดหวังที่สำคัญคือ ครูต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา     ไม่ใช่ผู้รับเอานวัตกรรมที่ผู้อื่นสร้างไว้เอามาใช้เท่านั้น    คือ ครูต้องเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้นวัตกรรมการศึกษา    หวังว่าจะเป็นผู้สร้างมากกว่าเป็นผู้เสพ 

หนังสือบอกว่า เรื่องครูผู้ก่อการ (teacher agency) มักได้รับการพิจารณาคู่ไปกับเรื่องวิชาชีพครู (professionalism)   และมักถูกดูดกลืนหายไปในเรื่องวิชาชีพ    และมีข้อสังเกตสำคัญ ๒ ข้อคือ  (๑) เมื่อเอ่ยเรื่องความเป็นครูผู้ก่อการ มักเชื่อมไปสู่การปฏิรูประดับโรงเรียน ซึ่งมักนำไปสู่การตีความผิดๆ ต่อความหมายของความเป็นผู้ก่อการ   เพราะการปฏิรูประดับโรงเรียนมักเป็นกิจกรรมที่คนอื่นกำหนดให้ทำ   และ (๒) มีความเข้าใจผิดว่า การเป็นผู้ก่อการหมายถึงการเป็นผู้ต่อต้าน (resistance)    โดยไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่า ความเป็นผู้ก่อการของครูมีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง

หนังสือ Teacher Agency รวบรวมข้อเสนอการตีความความเป็นผู้ก่อการของครูไว้     ชี้ให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย    และสรุปประเด็นสำคัญว่า  ความเป็นผู้ก่อการของครูแต่ละคนไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ (fix)    แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน    คือเกิดจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน  นักเรียน พ่อแม่ และภาคีอื่นๆ ของโรงเรียน   จึงมีข้อเสนอว่า ความเป็นผู้ก่อการของครูมีมิติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ     ความสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับภาคีเครือข่าย (relational agency)    หรือในอีกถ้อยคำหนึ่งคือ ขีดความสามารถในการดึงเอา “สินทรัพย์ทางสังคม” (social capital) มาใช้งาน   

จึงมีการเสนอโมเดล หรือกรอบแนวคิด (framework) สำหรับทำความเข้าใจความเป็นผู้ก่อการของครู   ว่าประกอบด้วย ๓ ส่วนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันคือ  (๑) ปัจจัยแห่งอดีต (iterational)  (๒) ปัจจัยเชิงปฏิบัติ (practical-evaluative) (๓) ปัจจัยเชิงมองอนาคต (projective) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว     โดยปัจจัยที่ (๑) และ (๓) ส่งผลต่อปัจจัยที่ (๒) ซึ่งส่งผลต่อความเป็นผู้ก่อการอีกต่อหนึ่ง     โดยปัจจัยที่ (๒) มี ๓ ปัจจัยย่อย คือ ปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ปัจจัยเชิงโครงสร้าง และปัจจัยเชิงวัตถุ    ดูแผนผังของโมเดลได้ที่ https://core.ac.uk/download/pdf/42544019.pdf

 

สามปัจจัย ที่มีผลต่อความเป็นผู้ก่อการของครู 

สามปัจจัยดังกล่าวได้แก่ ปัจจัยแห่งอดีต   ปัจจัยแห่งปัจจุบัน   และ ปัจจัยแห่งอนาคต

ปัจจัยแห่งอดีต (The Iterational Dimension)

ชื่อปัจจัยนี้ในภาษาอังกฤษ (iterational) แปลว่าเกิดซ้ำๆ   หมายถึงประสบการณ์ของการเรียนรู้ภาคการศึกษาพื้นฐาน  การเรียนรู้และฝึกอบรมวิชาชีพครูช่วงก่อนทำงาน    และการพัฒนาวิชาชีพครูต่อเนื่อง (CPD – continuous professional development)     รวมทั้งการเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติงานจริง     เป็นปัจจัยเอื้อหรือปิดกั้นการสั่งสมศักยภาพความเป็นผู้ก่อการของครู    ครูคนใดได้รับการฝึกฝนให้เป็นคนขี้สงสัย หรือเป็นนักตั้งคำถาม ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว   รวมทั้งตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา ทั้งภาพใหญ่ และวิถีปฏิบัติในโรงเรียนที่ตนปฏิบัติงานอยู่   ครูคนนั้นได้สั่งสมความเป็นผู้ก่อการไว้ใช้ในการทำงาน ทั้งยามปกติ และยามคับขันหรือมีวิกฤติ   เราเรียกคนแบบนี้ว่า เป็นคนมีกระบวนทัศน์เชิงนวัตกรรมและตั้งคำถาม (innovative and questioning mindset)   

มีข้อสังเกตว่า ประสบการณ์เชิงวิชาชีพ (ครู) มีอิทธิพลน้อยกว่าประสบการณ์ชีวิตทั่วๆ ไป  ในการหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการของครู   

มีผลงานวิจัยชี้ว่าครูที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนในวิชาชีพอื่นอยู่เสมอ   น่าจะได้สั่งสมขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายและความไม่ชัดเจนในชีวิตประจำวันของการทำหน้าที่ครูได้ดีกว่า       

ปัจจัยเชิงอนาคต (The Projective Dimension) 

นี่คือปณิธานความมุ่งมั่นของครู ในการทำหน้าที่ของตน   เป็นปัจจัยที่มีรากฐานมาจากความเชื่อและคุณค่า    เขาบอกว่า ในช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา มิติด้านนี้ของครูในสหราชอาณาจักรได้ถูกบั่นทอนลงไปมาก    จากวัฒนธรรมบูชาผลงาน (performativity)             

ปัจจัยแห่งปัจจุบัน (The Practical-Evaluative Dimension) 

นี่คือปัจจัยด้านบรรยากาศการปฏิบัติงานประจำวันของครู    ซึ่งหนังสือบอกว่าเป็นที่ตระหนักกันดีว่า เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ความขัดแย้งเชิงอารมณ์ระหว่างผู้ร่วมงาน ขึ้นกับปัจจัยด้านบริบท และเป้าหมายที่เถียงได้    ครูต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ  หลายครั้งต้องประนีประนอม ซึ่งหลายกรณีขัดกันกับปณิธานความมุ่งมั่นส่วนตัวของตน    รวมทั้งมีความอึดอัดขัดข้องที่มีการล้ำแดนความรับผิดชอบของตนอย่างไม่น่าเกิด    และไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันกับเพื่อนครู   

สรุปได้ว่า ปัจจัยด้านบรรยากาศการทำงาน ที่มีผลต่อการทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์  ที่เรียกว่าอย่างเป็นผู้ก่อการของครู  คือปัจจัยด้านโครงสร้างองค์กร และด้านวัฒนธรรมองค์กร   

มี ๒ ประเด็นสำคัญที่ท้าทายการทำงานอย่างมีความเป็นผู้ก่อการของครูสก็อตแลนด์ คือ  (๑) นโยบายของหน่วยเหนือที่ขัดกันเองโดยไม่รู้ตัว   ที่หลักสูตรใหม่ระบุชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมให้ครูใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์  แต่ในขณะเดียวกันก็มีโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่เน้นการตรวจสอบ การประเมินตนเอง และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้   (๒) โครงสร้างการบริหารในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนมัธยม ที่เน้นการสั่งการและปฏิสัมพันธ์แนวดิ่ง     และจำกัดความสัมพันธ์แนวราบระหว่างครู   

มีผลงานวิจัยบ่งชี้ว่า โรงเรียนที่มีวัฒนธรรมปฏิสัมพันธ์แนวราบ มีความสามารถสนองนโยบายใหม่ได้ดีกว่า    เพราะครูจะมีความสามารถนำเอานโยบายนั้นมาสานเสวนา (dialogue) ระหว่างกัน เพื่อหาความหมายที่แท้จริงของนโยบายนั้น    นำไปสู่ความเข้มแข็ง ๒ ด้าน    คือ (๑) เพิ่มความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างครูในโรงเรียน จากการได้ร่วมกันหาทางรับมือความท้าทายจากภายนอก (คือนโยบายของหน่วยเหนือ)  และ (๒) เพิ่มความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภาคีภายนอกโรงเรียน    ช่วยลดข้อจำกัดของการมีมุมมองแบบ “คิดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน” (inward looking หรือ inbreeding of ideas)    และช่วยให้มีความสามารถใช้ความรู้ความสามารถจากภายนอกโรงเรียนได้มากขึ้น        

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ส.ค. ๖๔

      

 

หมายเลขบันทึก: 692547เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2021 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2021 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท