บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน21วัน


การกลืน คือ การที่อาหารหรือของเหลวเกิดการคลุกเคล้าภายในช่องปาก(Oral cavity)และถูกส่งไปยังกระเพาะอาหาร ผ่านคอหอย(Pharynx) และหลอดอาหาร(Esophagus) โดยในกระบวนการกลืนถือเป็นการทำงานผสานสัมพันธ์กันระหว่างกล้ามเนื้อภายในช่องปาก(ริมฝีปาก ลิ้น เพดานแข็ง เพดานอ่อน และฟัน ),คอหอย,การเปิด-ปิดของกล่องเสียงและการหดตัว-คลายตัวของหลอดอาหารเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารภายในหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหาร

ภาวะกลัวการกลืน คือภาวะที่คนๆหนึ่ง เกิดความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ในการกลืนอาหาร โดยในแต่ละบุคคลก็จะมีสาเหตุของความกลัวในการกลืนที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับประสบการณ์ที่เคยประสบและได้รับมา บางคนเคยมีประสบการณ์โดยตรงกับภาวะการกลืนลำบากในอดีต เกิดการสำลักอาหารขณะรับประทานอาหาร เนื่องจากความผิดปกติของระบบสมองสั่งการการกลืน หรือเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน หรืออาจจะเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่เร็ว หรือในบางคนอาจจะได้รับผลกระทบจากประสบการณ์ทางอ้อม เช่น จากประสบการณ์ของคนรอบข้าง จากการได้รับข่าวสารจากสื่อ เป็นต้น ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความวิตกกังวล ตั้งแต่รู้สึกกังวลเล็กน้อย ไปจนถึงกังวลขั้นรุนแรง เกิดอาการรู้สึกหายใจขัดข้อง มีอาการสั่น ไม่กล้าเข้าสังคมเนื่องจากกังวลขณะรับประทานอาหาร กลัวว่าอาจจะมีอาการเกิดขึ้นขณะรับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลต่อพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตและนำมาซึ่งอาการและโรคซึมเศร้าตามมา ดังนั้นภาวะการกลัวการกลืน เป็นภาวะที่ควรที่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อป้องกันการเสื่อมถอยต่อไปในอนาคต

โดยบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยกลัวการกลืน คือคอยสังเกต สัมภาษณ์ ประเมิน สอบถามอาการและสาเหตุของอาการกลัวการกลืนที่เกิดขึ้น ให้คำปรึกษา คำแนะนำ คอยวางแผนและจัดโปรแกรมการฟื้นฟูแก่ผู้รับบริการที่มีภาวะกลัวการกลืน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้รับบริการสามารถกลับไปทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเองและช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้

    จากบทเรียนวิชากิจกรรมบำบัดจิตสังคม2 ที่ได้มอบหมายงาน Assignment ให้ ในหัวข้อเรื่อง ‘บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน21วัน’ โดยวิเคราะห์ดังนี้:

      การฟื้นฟู ให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการที่มีภาวะกลัวการกลืน อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยภายใน 21วัน ถือเป็นเวลาพอเหมาะที่จะทำให้ผู้รับบริการเกิดการเรียนรู้ และได้ผลลัพธ์ที่ดีในการฟื้นฟูความสามารถของการกลืนต่อไปในอนาคตได้ จะต้องค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ไม่เร่งรีบและเร่งเร้าให้ผู้รับบริการทำได้ภายใน1-2วัน ผู้บำบัดจะต้องเข้าใจ และให้เวลาแก่ผู้รับบริการในการเรียนรู้และปรับตัว เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในอนาคต

     การกลัวถือเป็นอารมณ์ทางด้านลบที่เกิดขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบทางด้านอื่นๆตามมาได้ในอนาคต เช่นภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า.การลดความกลัว ความกังวล เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้บำบัดควรจะต้องให้ความสำคัญและทำในช่วงระยะแรกของการบำบัดไปจนถึงสิ้นสุดการให้บริการ เนื่องจากมีผลต่อความเป็นไปของอาการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการแนะนำวิธีการต่างๆที่จะนำไปสู่การกลืน และการปรับระดับอาหารเพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้รับบริการอีกด้วย 

    ต่อจากนี้ จะเป็น โปรแกรม ‘การให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการที่มีภาวะกลัวการกลืนภายใน21วัน’ โดยจะแบ่งระยะเวลาและโปรแกรมการฝึก ดังนี้:

ในช่วงวันที่1-7

    ในช่วงแรกที่ผู้รับบริการเข้ามารับการรักษากับผู้บำบัด ผู้บำบัดจะเริ่มต้นด้วยการสร้างสัมพันธ์กับผู้รับบริการด้วยการแนะนำตัวและสอบถามชื่อของผู้รับบริการ ใช้ soft skill ในการสื่อสารระหว่างกัน มองหน้า สบตา ยิ้มแย้ม ขณะพูดคุยกัน ใช้การ supportive  emphaty แสดงความรู้สึกอยากช่วยเหลือ รับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รับฟังอย่างลึกซึ้ง ใช้ Cognitive behavioral therapy(CBT) สัมภาษณ์สอบถาม เพื่อค้นหาสาเหตุของความคิดอัตโนมัติที่ส่งผลต่ออาการกลัวการกลืนที่เกิดขึ้น ในระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้บำบัดจะคอยทบทวนตั้งสติ ไม่ด่วนตัดสินผู้รับบริการ เมื่อค้นพบความคิดอัตโนมัติที่ส่งผลต่อความคิดลบนั้นแล้ว ผู้บำบัดจะทำการทดสอบความคิดอัตโนมัติผ่านการให้ตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วจะเผชิญและจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและจะช่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลเหล่านั้นได้

    ผู้บำบัดแสดงบทบาทเป็น ‘COUNSELLOR’เพื่อช่วยแยกแยะปัญหาและชี้นำให้กล้าคิดเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอย่างชัดเจน และประเมินศักยภาพการกลืนของผู้รับบริการ โดยให้เลือกเมนูอาหารที่ชอบมา1เมนู เพื่อฝึกประเมินการกลืน และวางแผนการให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการ 

     ชวนให้ผู้รับบริการระลึกถึงการทำกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหารในอดีต ก่อนที่จะประสบกับภาวะการกลัวการกลืน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและกำลังใจในการทำกิจกรรมรับประทานอาหาร ผู้บำบัดแนะนำเมนูอาหารที่ใช้รับประทานในช่วงสัปดาห์แรก ควรจะเป็นอาหารที่มีความหนืดและข้น เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถควบคุมการกลืนได้ดี(แนะนำให้ปรับความหนืดข้นลงมาเล็กน้อยในวันที่3ของสัปดาห์)

     ก่อนทำกิจกรรมการรับประทานอาหารในแต่ละมื้ออาหาร ผู้รับบริการอาจจะมีอาการกลัวและกังวลเกิดขึ้น ชวนให้ผู้รับบริการเคาะอารมณ์  โดยให้ผู้รับบริการใช้นิ้วกลางสองข้างเคาะระหว่างหัวคิ้ว พร้อมพูดว่า ‘มั่นใจ มั่นใจ มั่นใจ หายกลัว หายกลัว หายกลัว’ เคาะที่บริเวณกลางอก ใต้ต่อปุ่มกระดูกไหปลาร้า พร้อมพูดว่า ‘เข้มแข็ง เข้มแข็ง เข้มแข็ง’ 

     สอนและแนะนำวิธีการกลืนอาหารแก่ผู้รับบริการ โดยก่อนทานอาหารทุกมื้อ ให้ผู้รับบริการใช้นิ้วกดคางให้ก้มคอลงเล็กน้อย แล้วกลืนน้ำลายลงเล็กน้อย เงยหน้าขึ้นมา มองตรงไปข้างหน้า ค่อยๆใช้ลิ้นเคลื่อนไปแตะที่ริมฝีปากบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา จากนั้นใช้ช้อนตักอาหารขึ้นมาประมาณ1ใน4ของขนาดพื้นที่ของช้อน และตักเข้าปาก

    ในวันที่7ของสัปดาห์ ผู้บำบัดจะนัดหมายเพื่อติดตามประเมินผลความเป็นไปของการกลืนของผู้รับบริการในสัปดาห์แรก

ในช่วงวันที่8-14

     แนะนำให้ผู้รับบริการหมั่นพูดความตั้งใจกับตัวเองต่อเป้าหมายในการกลืนอาหาร ในทุกๆเช้าของทุกๆวันตอนตื่นนอน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ กำลังใจและแรงกระตุ้นให้กับตัวเอง

    ให้ผู้รับบริการเลือกอาหารตามความชอบของตัวเอง โดยในสัปดาห์ที่สองนี้ แนะนำให้มีการปรับระดับอาหารเป็นอาหารที่มี ความหนืดน้อยลง-กึ่งข้นกึ่งเหลว-อาหารบดละเอียด(ตามลำดับ) โดยก่อนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ให้ผู้รับบริการ ใช้ energy healing โดยใช้นิ้วนวดเป็นรูปวงกลมขึ้น-ลง บริเวณต่อมไทรอยด์เป็นเวลา1-2นาที

    โดยในสัปดาห์นี้ ให้ผู้รับบริการพยายามนำอาหารมาวางไว้ที่ตรงกลางลิ้น และใช้ลิ้นเกลี่ยอาหารไปวางไว้ที่บริเวณด้านที่ถนัดและแข็งแรง และใช้ฟันกรามเคี้ยวอาหารจนละเอียด จากนั้นให้หันหน้าไปทางด้านข้างที่ถนัดเพื่อช่วยให้กลืนอาหารได้ง่าย หากกลืนไม่ลง แนะนำให้ดื่มน้ำหรือน้ำซุปตาม เพื่อช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้น

     แนะนำท่าออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน โดยให้ทำทุกๆวัน

-ท่าที่1 ให้ออกเสียง อา-อู,อู-อี 5ครั้ง 

-ท่าที่2 แลบลิ้นออกมายาวๆ พร้อมกับดึงลิ้นกลับ 5 ครั้ง 

-ท่าที่3 ตวัดลิ้นไปที่มุมปากสลับซ้ายขวา 5ครั้ง 

-ท่าที่4 ตวัดลิ้นไปที่ริมฝีปากสลับขึ้นลง5ครั้ง

-ท่าที่5 ใช้คางหนีบลูกบอลไว้ใต้ลำคอค้างไว้ โดยเกร็งคอไว้ ทั้งหมด20ครั้ง

-ท่าที่6  ใช้คางหนีบลูกบอลไว้ใต้ลำคอขึ้นลง ทั้งหมด10ครั้ง

     ในวันที่7ของสัปดาห์ จะนัดหมายเพื่อติดตามประเมินผลความเป็นไปของการกลืนของผู้รับบริการในสัปดาห์ที่สอง

ในช่วงวันที่15-21

    ในสัปดาห์ที่สาม แนะนำให้ผู้รับบริการปรับระดับอาหารเป็น สับละเอียด-เกือบปกติ ใช้ relaxation technique ด้วยการ breathing technique ให้ผู้รับบริการหลับตา หายใจเข้า-ออกช้าๆ 5 ครั้ง และใช้ visual imagery นึกถึงผลลัพธ์และผลสำเร็จของเป้าหมายในการกลืน ใช้ปลายลิ้นแตะตรงกลางเพดานใกล้ฟันบน ใช้นิ้วกลางแตะดันคางเพื่อกระตุ้นน้ำลายชนิดใส ไล่ไปใกล้กับกกหูจนถึงใต้ต่อขากรรไกรล่าง เพื่อกระตุ้นน้ำลายชนิดข้น นำช้อนจุ่มน้ำอุ่นสัก5นาที แล้วนำหลังช้อนมาแตะนวดบริเวณลิ้น จากปลายลิ้นวนไปจนถึงกลางลิ้นของทั้ง2ข้าง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลิ้น จากนั้นให้แลบลิ้นแตะริมฝีปากล่าง ปิดปาก กลืนน้ำลาย แลบลิ้นแตะริมฝีปากบน ปิดปาก กลืนน้ำลาย แลบลิ้นแตะมุมปากขวา ปิดปาก กลืนน้ำลาย และแลบลิ้นแตะมุมปากซ้าย ปิดปาก กลืนน้ำลาย ตามลำดับ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้แตะไล่ลงมาจากใต้คางถึงคอหอยแล้วกลืนน้ำลายให้หมดภายใน2รอบ จากนั้นให้นำอาหารวางไว้ที่ตรงกลางลิ้น เกลี่ยอาหารไปที่บริเวณด้านข้างของปากเพื่อเคี้ยวอาหาร โดยเคี้ยวสลับไปมาซ้าย-ขวา ผู้รับบริการเคี้ยวอาหารจนมั่นใจว่าอาหารที่เคี้ยวละเอียดแล้ว จากนั้นให้กลืน โดยสามารถใช้น้ำหรือน้ำซุปช่วยในการกลืนได้ โดยผู้รับบริการควรพยายามเช็คความพร้อมของตัวเอง ถ้าหากว่ากลืนไม่ลงให้รีบคายออกมา ไม่พยายามฝืนกลืนต่อไป

    ให้ความรู้ด้านโภชนาการอาหารแก่ผู้รับบริการ เนื่องจาก อาหารในระดับนี้(อาหารสับละเอียด-เกือบปกติ)เริ่มมีความหลากหลายของเมนูอาหารมากขึ้น โดยแนะนำให้ผู้รับบริการพยายามรับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ ทุกๆ3มื้อของทุกวัน และแนะนำผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้รับบริการ เพื่อให้เขารู้สึกถึงได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และเพิ่มความมั่นใจในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น

     ในวันที่7ของสัปดาห์ ผู้บำบัดนัดหมายประเมินและติดตามผลความเป็นไปของการกลืนอาหารของผู้รับบริการในสัปดาห์ที่สามและสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการ

เรียบเรียงเขียนโดย นางสาวฮานีฟา อิแต 

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก:

-หนังสือเรื่อง กิจกรรมการดำเนินชีวิตจิตเมตตา(COMPASSIONATE OCCUPATION) เรียบเรียงเขียนโดย ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง

https://youtu.be/Z0FGU6MsPqo

https://www.gotoknow.org/posts/555627

https://www.gotoknow.org/posts/400478

 

หมายเลขบันทึก: 692526เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2021 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2021 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท