เรียนรู้จากการเป็นอนุกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา


 

 พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศใช้ในปี ๒๕๖๒ (๑)     ผมได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล  ที่มี ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน   มีการประชุมครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓  และครั้งต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔  หลังจากนั้นมีการประชุมแทบทุกเดือน   เพราะถึงเวลาต้องมีการประเมินตามที่กำหนดไว้ใน พรบ.   

สำหรับผม การทำงานคือการเรียนรู้    ข้อเรียนรู้สำคัญสำหรับผมคือ mindset ที่ครอบคลุมวงการศึกษาไทยในขณะนี้มีลักษณะเป็น simplicity mindset   เป็นการลดทอนสภาพที่ซับซ้อน (complexity) ให้เป็นสภาพที่ชัดเจนมองเห็นง่าย ควบคุมง่าย   การจัดการศึกษาของเราจึงอยู่ใต้กระบวนการลดทอนความซับซ้อน (reductionism)    ซึ่งก็เป็นลักษณะร่วมของระบบราชการทั่วๆ ไป    แต่ราชการไทยยุคนี้เข้มข้นมากขึ้น 

ผมตีความว่า คุณค่าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไม่ได้อยู่แค่ปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดเท่านั้น    ต้องหวังผลให้ก่อผลกระทบไปทั่วทั้งประเทศ    หรือก่อผลกระทบต่อระบบการศึกษาทั้งระบบ    เวลาไปเป็นอนุกรรมการ ผมจึงมีหน้าที่คอยกระตุกและกระตุ้นแนวคิดนี้อยู่เสมอ   

การศึกษามีเป้าหมายสูงส่งอยู่ที่การส่งเสริมให้คนได้พัฒนาตัวเองเป็นคนเต็มคน  ได้ค้นพบตัวเอง  มีความมั่นใจตัวเองพร้อมๆ กับเคารพคนอื่น และกติกาสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข   เป็นเสรีชนที่มุ่งทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นและแก่ส่วนรวม    และยังมีเป้าหมายย่อยๆ อีกหลายด้าน ทั้งด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ สร้างฐานะ   การมีแวดวงสังคมที่ดี  และการได้เรียนรู้เปลี่ยนแปลงตนเองอย่างต่อเนื่องในสังคมยุค VUCA   

กล่าวสั้นที่สุด การศึกษามีเป้าหมายส่งเสริมคน ให้เป็นคนดี มีความสามารถ    เมื่อกล่าวสั้นๆ เช่นนี้แล้ว ก็ต้องขยายความอีกมากมาย   ส่วนหนึ่งอยู่ในย่อหน้าบน   และที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือ เป็นคนที่บังคับตัวเองได้ (self-regulation)    ซึ่งนำไปสู่เรื่อง executive functions (EF) ของสมอง       

การศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนและปรับตัวสูงยิ่ง   แต่ระบบการศึกษาไทยถูกออกแบบให้เป็นระบบที่มีการควบคุมเข้มข้นจากส่วนกลาง    ความซับซ้อน ณ จุดปฏิบัติงาน คือห้องเรียนและโรงเรียนจึงถูกลดทอนด้วยรายละอียดในหลักสูตร  และด้วยมาตรการประเมินผลงาน   ผมตีความว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือพื้นที่ทดลองเปิดอิสระให้แก่โรงเรียนและครู   ให้สามารถทำงานอยู่ในความเป็นจริงที่ซับซ้อนตามบริบทของตนได้    ไม่ต้องทำตามกติกาเหมือนๆ กันหมดตามที่กำหนดโดยส่วนกลางระดับประเทศ   

แต่เอาเข้าจริง กลไกดูแลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ถูกกำกับอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบ reductionist    ความสนุกของผมในการเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ จึงเป็นการเสนอให้มีการจัดการความขัดแย้งเชิงกระบวนทัศน์ระหว่าง complexity กับ     reductionism - simplicity   คือให้ไม่สยบยอมดำเนินการตามแนว reductionism เสียทั้งหมด   หาทางเปิดช่องให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ทำงานตามสภาพจริงของ complexity        

  ระบบการศึกษาไทย เป็นระบบที่ฝืนธรรมชาติ   โดยที่ธรรมชาติของการศึกษาคือความซับซ้อน    แต่ระบบการศึกษาทำให้ลดทอนลงเหลือเพียงบางส่วนที่จับต้องได้    เพื่อให้ควบคุมได้    มีผลทำให้เป็นการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ     ผมมีความเห็นว่า หากไม่คืนธรรมชาติความซับซ้อนให้แก่การจัดการการศึกษา    คุณภาพการศึกษาไทยก็จะด้อยคุณภาพเช่นนี้ต่อไป   

ตัวอย่างของประเทศที่จัดการศึกษาอย่างกลมกลืนกับความซับซ้อน คือฟินแลนด์   โดยต้องให้ความไว้วางใจแก่ครู   ว่าสามารถเอื้อการศึกษาคุณภาพสูงแก่ศิษย์ได้    และมีระบบหนุนครู ให้สามารถทำงานตามความคาดหวังได้    ย้ำว่า ระบบการศึกษาต้องมุ่งหนุนครู ไม่ใช่ควบคุมครู   วิธีหนุนครู ใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนร่วมวิชาชีพให้ร่วมมือช่วยเหลือกัน   ซึ่งจะมีการควบคุมกันไปในตัว    วิธีหนุนครูเริ่มจากการศึกษาของครู หรืการผลิตครู   ที่ต้องผลิตครูที่เป็นคนไว้วางใจได้   และเป็นคนที่มีฉันทะและทักษะของการเรียนรู้    สำหรับออกไปทำงานเป็นครูที่เรียนรู้จากการทำงานอยู่ตลอดเวลา   

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือพื้นที่ทดลองใช้กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา   กระบวนทัศน์ให้อิสระแก่ครู   

หากถือตามความคิดในย่อหน้าบน    เวลานี้ประเทศไทยเป็น “เขตนวัตกรรมการศึกษา” ทั้งประเทศ    เพราะโควิด ๑๙ มาช่วยเอื้อโอกาส    หากกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. มุ่งพัฒนาการศึกษา   ก็สามารถทำงานแบบเสาะหาการริเริ่มสร้างสรรค์ดีๆ ที่ครูร่วมกัน และร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เอามาส่งเสริมการขยายผล   ก็จะเท่ากับกลไกการบริหารภาพใหญ่ของระบบการศึกษาได้เรียนรู้วิธีทำงานภายใต้ความเป็นจริงของ complexity 

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๔ 

 

หมายเลขบันทึก: 692522เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2021 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2021 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท