กลไกในสมองต่อพลังการเรียนแบบมีช่วงพัก


 

บทความ How Taking Short Breaks May Help Our Brains Learn New Skills (1) ช่วยอธิบายกลไกทางสมองต่อวิธีจัดการเรียนรู้ที่รู้กันมานาน    เช่นที่แนะนำในหนังสือ ศาสตร์และศิลป์ของการสอน (๒๕๖๐) บทที่ ๖  หน้า ๓๔ - ๓๙   (๒)  (๓)   และตัวผมเองใช้ตอนเป็นวัยรุ่น ขะมักเขม้นเรียนหนังสือให้ได้ดี เมื่อกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว     พบว่าอ่านทบทวนบทเรียน ๓๐ นาที แล้วลุกขึ้นไปเดินสองสามนาที หรือไปอาบน้ำ (แก้ร้อน เพราะห้องอ่านหนังสือและห้องนอนซึ่งเป็นห้องเดียวกันอากาศค่อนข้างร้อน ไม่ได้ติดแอร์)     ผลการเรียนจะดีกว่า    โดยที่เป็นข้อสังเกตและทดลองด้วยตัวเอง

บัดนี้ ผลการวิจัย (1) มีคำอธิบายกลไกทางสมอง    โดยอาศัยเครื่องมือตรวจวัดการทำงานของสมองชิ้นใหม่สุด ที่เรียกว่า Magnetoencephalography (ที่ผมก็เพิ่งเห็นชื่อ)     ที่สามารถส่องเข้าไปดูว่าสมองส่วนไหนกำลังทำอะไรอยู่    มีการทดลองในผู้ใหญ่ ๓๓ คน ที่ถนัดขวา    ให้สวมหมวกตรวจการทำงานของสมอง Magnetoencephalography    ให้พิมพ์ข้อความสั้นๆ ซ้ำๆ เป็นเวลา ๑๐ วินาทีและหยุด ๑๐ วินาที  สลับกันรวม ๓๕ รอบ    เพื่อดูการทำงานของสมองช่วงพิมพ์ กับช่วงหยุดพัก    

พบว่าช่วงพักสมองมีการ rewind เหตุการณ์ที่ผ่านมาเร็ว ๒๐ เท่า   เป็นการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปในตอนก่อนพักอย่างอัตโนมัติ    ช่วยให้ความเร็วของการพิมพ์ในรอบต่อๆ มาเร็วขึ้น    ยิ่งพักนอนตอนกลางคืน แล้ววันรุ่งขึ้มมาพิมพ์ข้อควาใหม่   ความเร็วของการพิมพ์จะยิ่งเพิ่มขึ้น   เพราะในช่วงนอนหลับ สมองจะ “กรอกลับ” เพื่อทบทวนเหตุการณ์ในวันที่ผ่านมา เพื่เพิ่มการเรียนรู้ของสมอง   

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ช่วยบันทึกกิจกรรมของสมองบอกว่า ใน ๑๑ รอบแรกของการพิมพ์ สมองช่วงพักจะ rewind เหตุการณ์เฉลี่ยถึง ๒๕  ครั้ง     หลังจากนั้น จำนวนครั้งของการ rewind ลดลง      

เขาพบว่าสมองส่วนที่ทำหน้าที่ rewind กิจกรรมคือส่วน sensorimotor cortex ตรงตามคาดหมาย    แต่ที่คาดไม่ถึงคือสมองส่วน hippocampus  และ entorhinal cortex ก็มีการ rewind ด้วย     โดยที่เดิมเขาไม่คิดว่าสมองสองส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย (procedural activity)    แต่ในการทดลองนี้ พบว่าสมองส่วน sensorimotor cortex  กับสมองส่วน hippocampus  และ entorhinal cortex มีการสื่อสารกันตั้งแต่เริ่มต้นการทดลอง

ข้อค้นพบนี้ มีประโยชน์ช่วยให้คนเรามีวิธีเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้เร็วขึ้น   รวมทั้งใช้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดฟี้นตัวได้ดีขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 691667เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท