ชีวิตที่พอเพียง 4006. Meritocracy กับความเสมอภาคในสังคม


 

              Economist Radio Podcast  เรื่อง Merit where its’ due – can America’s meritocracy be mended? (1) บอกปัญหาที่มีรากลึกของประชาธิปไตยอเมริกา    และสะท้อนมาที่ประเทศไทยด้วย   

วิทยากรตั้งคำถามว่า Is America a meritocracy?   คำตอบคือเคยเป็น แต่เดี๋ยวนี้เสื่อมไปมากแล้ว     คำว่า meritocracy หมายความว่า  ระบบสังคมที่เชื่อการบรรลุความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางชนชั้น       หรือประเภทของบุคคลที่ประสบความสำเร็จโดยความสามารถของตัวเอง (ไม่ใช้ด้วยสิทธิพิเศษของชนชั้น)    ขยายความได้ว่า เป็นสังคมที่มีระบบเอื้อให้คนที่มีความสามารถ และขวนขวายมานะพยายาม มีโอกาสพัฒนาตนสู่ความสำเร็จได้ด้วยตนเอง    ไม่ใช่ด้วยการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือ หรือด้วยการที่ครอบครัวฐานะดี หรือมีชาติตระกูลสูง 

วิทยากรท่านหนึ่งคือ Adrian Wooldridge เขียนหนังสือ Aristocracy of Talent : How Meritocracy Made Modern World (2)     มีการทำความเข้าใจ merit ว่าหมายถึงความชอบธรรม    และ talent ว่าหมายถึงความสามารถของบุคคล  

สมัยนี้เราหาความรู้ได้ง่ายมาก   เมื่อมีหนังสือดีๆ ออกตลาด   เราค้นใน YouTube ได้ว่าผู้เขียนได้รับเชิญไปออกรายการเรื่องหนังสือเล่มนั้น และเรียนรู้สาระสำคัญจากรายการนั้นได้   ดังกรณีหนังสือ Aristocracy of Talent  ก็มีที่ (๒)    เราได้ความรู้ว่า โลกเราเปลี่ยนจากความชอบธรรมด้านการเลือกคนที่มีความสามารถแนวสืบสกุล (aristocracy)    มาเป็นแนวสร้างตนเองให้มีความรู้ความสามารถ (meritocracy)   

ในความเป็นจริง โลกปัจจุบันมีทั้งสองระบบอยู่ด้วยกัน    สมัยโบราณ แนวสืบสกุลใช้การได้ดี เพราะโลกแคบสังคมแคบ การติดต่อสื่อสารน้อย    การเลือกคนมีความสามารถตามสายสกุลมีโอกาสถูกมากกว่าผิด    หรือดีกว่าเลือกเปะปะในวงกว้าง    แต่สมัยในโลกเปิด  การสื่อสารถึงกัน     โอกาสเลือกคนมีความสามารถเปิดกว้าง    การเลือกคนตามความสามารถแท้จริง จึงให้ผลดีกว่ามาก    

หลักการความชอบธรรมสมัยโบราณเชื่อมกับสายโลหิต    สมัยใหม่ขึ้นกับคุณสมบัติเฉพาะบุคคล 

คุณสมบัติเฉพาะบุคคล ที่ถือว่าชอบธรรม (merit) ต่อการได้รับตำแหน่งสูง ได้รับความรับผิดชอบและการยกย่องสูง   เป็นเรื่องที่ถกเถียงได้มาก  และในโลกทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะยกย่องคนเก่ง เหนือความเป็นคนดี    และนิยามของ คนดี ก็นิยามได้ต่างกัน    วงการทุนนิยม กำไรนิยม ยกย่องคนเก่ง และดีในแง่ทำกำไรให้แก่บริษัทของตนได้    ดีเพราะเอื้อประโยชน์กัน   โดยหากมองจากมุมของสังคมภาพรวมหรือมุมของประเทศ อาจเป็นผลร้าย   

ในโลกทุนนิยม Merit โดน money หรือ market แปดเปื้อน    เงินซื้อ merit ได้   เข้าไปแทนที่สภาพสมัยโบราณที่ merit สืบสกุลได้    meritocracy of inheritance เปลี่ยนจากลูกผู้สูงศักดิ์ได้รับผลประโยชน์    เป็นลูกคนรวย หรือศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเข้ามหาวิทยาลัยชั้นยอดของประเทศได้   

ใน ตอนหนึ่งเขาคุยกันเรื่อง selection by differentiation   กับ selection by exclusion    โดยบอกว่าระบบที่เป็นธรรม (meritocracy) ต้องใช้กลไกแรก (by differentiation)   แต่ระบบการศึกษาในอังกฤษที่มีโรงเรียนสำหรับลูกคนชั้นสูงหรือคนรวย  เป็นการหนุน selection by exclusion คือลูกชนชั้นล่างและคนจนไม่มีสิทธิ์ แม้จะหัวดีและขยัน     อ่านย่อหน้านี้แล้วผมขอชวนคิดถึงสภาพในประเทศไทยนะครับ   

ผมชอบที่เขาเน้นเรื่องการศึกษากับ meritocracy   โดยใช้โอกาสเข้าถึงการศึกษา  และการได้รับการศึกษาคุณภาพสูงยกระดับความสามารถของเด็กจากครอบครัวยากจน    นี่คือเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่ประเทศไทยเราถึงกับออก พรบ. ตั้งหน่วยงานขึ้นทำงานด้านนี้ คือ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)  (๓)      

 Meritocracy แบบใจแคบ   ให้คุณค่าต่อความสามารถเพียงบางด้าน   เพราะจริงๆ แล้ว talent ของมนุษย์มีหลายด้าน   และสังคมต้องการหลาย talent ประกอบกันเพื่อให้สังคมดี   ที่ซับซ้อนคือ คนบางคนมี talent สูงหนึ่งด้าน   แต่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูงในอีกด้าน   เอาอย่างไรดี    คำตอบหนึ่งคือ การศึกษาต้องมุ่งสร้างคนที่มีความสมดุล มีพัฒนาการครบด้าน (holistic development)    และที่สำคัญต้องส่งเสริมให้มี transcendental purpose ในชีวิต 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิ.ย. ๖๔        

 

หมายเลขบันทึก: 691666เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท