สุขภาพสตรีมีอะไรต้องเร่งขับเคลื่อน : มุมมองจากผู้หญิงชาติพันธุ์ในเวทีสมัชชาสตรีจังหวัดแม่ฮ่องสอน


ถ้าเราจะพัฒนาสตรี เราต้องเข้าใจปัญหา รับฟัง และสร้างการมีส่วนร่วมจากมุมมองของพวกเธอ

วานนี้ 22 ก.ค. 64 มีโอกาสไปเป็นวิทยากรกลุ่มย่อย  ในเวทีสมัชชาสตรี จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดที่สวนหมอกคำ รีสอร์ต อำเภอเมือง

สตรีที่มาร่วมวันนี้มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายอำเภอในแม่ฮ่องสอน การนำเสนอมีหลายหัวข้อ จึงต้องแบ่งกลุ่มย่อยตามความสมัครใจ

 

กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มมีประเด็นประจำกลุ่มน่าสนใจทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ประเด็นแรงงานสตรี ประเด็นข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ (ประเด็นนี้ แยกออกมาจากความรุนแรงทั่วไป) และประเด็นสุขภาพผู้หญิง

เข้าใจว่าที่แบ่งกลุ่มประเด็นอย่างนี้ เป็นผลมาจากการสำรวจเบื้องต้นแล้วว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ นี่รวมถึงแม่ฮ่องสอนด้วย ถึงแม้ใครจะบอกว่าเมืองนี้มีความสงบสุขเพียงใดก็ตาม แต่ก็ต้องว่าไปตามข้อมูล ว่าทุกประเด็นข้างต้น มันมีอยู่จริง และมักถูกมองข้ามอย่างมีอคติเสมอมา

....................................................................................

ผมรับผิดชอบเป็น Facilitator พูดง่ายๆคือ ชวนคิดชวนคุยในกลุ่มประเด็น “สุขภาพผู้หญิง” โดยใช้เอกสารนำเข้าจากโครงการพัฒนากลไกระดับอำเภอและจังหวัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ ที่ตนเป็นผู้ประสานงานพื้นที่ มาเป็นข้อมูลชวนเชื่อมโยงสู่ภาพพื้นที่ต่างๆ เอกสารที่นำมาเป็นการสรุปข้อมูลปัญหาสุขภาพสตรีชาติพันธุ์จาก 15 หมู่บ้านในอำเภอปางมะผ้า และอีก 2 หมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งผมคิดว่าครอบคลุมมิติต่างๆพอสมควร

 

 

ในกลุ่มของผม มีผู้หญิงทั้งวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา มีมาหลายชาติพันธุ์ ทั้งไทใหญ่ คนเมือง กะแย (กะเหรี่ยงแดง) กะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) กะยอ (กะเหรี่ยงหูใหญ่) ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงขาว) แถมยังมีผู้หญิงพิการตาบอดสองคนมาร่วมด้วย

พูดถึงผู้หญิงพิการ ผมรู้สึกดีใจที่เวทีนี้ให้ความสำคัญกับเสียงคนพิการ ถึงจะยากสักหน่อยในการจัดกระบวนการ เพราะต้องคิดเผื่อคนที่เรียนรู้ยากกว่าคนอื่น แต่มุมมองที่ได้นั้นถือว่ามีคุณค่ามาก

โดยเฉพาะถ้าเราเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจะมองข้ามคนพิการแล้วไปคิดแทนพวกเขาไม่ได้

ตรงนี้ พอเห็นว่ามีคนพิการมาร่วม วิทยากรอย่างเรา ก็ต้องใส่ใจ ก่อนเปิดวงเข้าสู่เนื้อหา พอเค้าแนะนำตัวว่าเป็นคนพิการ

อย่างแรกล่ะ เรา cheer up สร้างกำลังใจให้เค้า พราะรู้ว่ากว่าจะมาได้นี่ไม่ง่ายเลย อันนี้ปลุกพลังให้กับกลุ่มไปในตัว

อย่างที่สอง สอบถามเค้าว่า นี่แล้วพอตามองไม่เห็นแล้วจะอ่านเอกสารกลุ่มได้ไงนี่ เอ้อ งั้นเอางี้ ผมจะขออนุญาตเล่าให้ฟังนะ ทุกคนก็ฟังตามไปด้วย อ่านไปด้วยได้ แต่ผมจะเล่าเผื่อให้คนที่อ่านไม่ได้ หรือไม่อยากอ่านฟัง เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

อันนี้คือเราบริการด้วยความเป็นมิตรนะ นักวิชาการ Facilitator ทั้งหลายต้องใส่ใจรายละเอียดของผู้คนเหล่านี้ให้มาก

ผมเลยถือโอกาสชี้ชวนให้คนในกลุ่มที่ล้วนเป็นยอดฝีมือ เป็น Frontier Leader คือหญิงแกร่งที่เป็นผู้นำที่อยู่หน้างาน แต่ละคนมีตำแหน่งจิตอาสาสารพัด รวมถึง เจ้าหน้าที่จาก พมจ. ที่อยู่ใกล้ๆได้ฟังว่า เวลาเราเชิญคนพิการเข้าร่วมเวที อันนี้ดี แต่ดีไม่พอ เราต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมในสิ่งที่เขาสามารถด้วย เช่น เอกสารที่มีอักษรเบลล์ หรืออาจจะมีคลิปช่วยให้เค้าฟังเข้าใจโดยไม่ต้องอาศัยตา , หรือในกรณี คนหูหนวก หูตึง เราก็ต้องเตรียมอุปกรณ์หรือมีสื่อช่วย และคอยเช็คการเรียนรู้ของพวกเขาด้วยหัวใจเป็นระยะๆ

เกริ่นตรงนี้เสร็จ สร้างสนามพลังใจร่วมกัน แล้วก็เข้าสู่ประเด็นครับ

........................................................................................

ในกลุ่มเราได้ลิสต์ประเด็นปัญหาสุขภาพสตรี พร้อมเสนอทางแก้ และระบุพื้นที่ Best Practice หรือพื้นที่ต้นแบบเอาไว้ด้วยกันสามเรื่องครับ

1)เรื่องแรก ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของสตรีชาติพันธุ์
เช่น การที่ผู้หญิงต้องเข้าคิวรอตรวจนาน โดยเฉพาะผู้หญิงบ้านไกลและผู้หญิงพิการ ถ้าได้ตรวจช้า กว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำมืด มีความเสี่ยง มีภาระที่ต้องเร่งรีบสารพัดรออยู่ที่บ้าน จะไปค้างแรมที่ไหนก็ลำบากกว่าผู้ชาย 
ตรงนี้ แก้โดย 
1.1 ให้สถานพยาบาลปรับระบบบริการ จัดคิวโดยนำเอาระยะทางจากบ้านรวมถึงสภาพร่างกาย เช่น ความพิการของสตรี มาเป็นเงื่อนไขประกอบการจัดคิวด้วย ตรงนี้ มีตัวอย่าง Best Practice ที่ รพ.ปางมะผ้า
1.2 ปัญหาการสื่อสารกับหมอพยาบาลโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงสูงวัยและผู้หญิงพิการ  : ตรงนี้เสนอแก้โดยจัดให้มีล่ามชุมชนที่เข้าใจภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ และล่ามสำหรับคนพิการไว้บริการที่โรงพยาบาล ตรงนี้ มีตัวอย่าง Best Practice ที่ รพ.ปางมะผ้า
1.3 พัฒนาความร่วมมือกับเทศบาล อบต. ในการจัดระบบรับส่งดูแลสตรี โดยเฉพาะสตรีพิการและสตรีสูงวัยในการมารับบริการสุขภาพที่โรงพยาบาล มีตัวอย่าง Best Practice ที่ ต.หมอกจ่ำแป่ , ต.ห้วยโป่ง , ต.ผาบ่อง เชตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

2) ปัญหาโรคอ้วน

ผมถามว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนี้? พวกเธอตอบว่า เหตุที่เลือกหยิบโรคอ้วนมาก่อนหน้าโรคอื่นๆเพราะพวกเธอมองว่า โรคอื่นๆนี่ชัดเจน มีการจัดการเป็นรูปธรรมชัด แต่โรคอ้วนนี่มันซับซ้อน ขาดเจ้าภาพชัด และนับวันจะขยายวงกว้าง แถมถ้าอ้วนแล้วมันมักจะตามมาด้วยโรคอื่นๆ เลยให้น้ำหนักกับโรคอ้วนในกลุ่มเราวิเคราะห์กันสนุกสนานว่า โรคอ้วนมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

พวกเธอระดมสมองวิเคราะห์ว่า เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และทัศนคติที่ไม่เหมาะสม

2.1 การกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ซึ่งในวิถีวัฒนธรรมเดิมก็มีอาหารเหล่านี้อยู่มาก , การกินอย่างขาดสติ (อันนี้น่าสนใจ) คือ เล่นมือถือแล้วกินไปด้วย ทำให้เผลอตามใจปาก กินมากเกินจำเป็น
ตรงนี้แก้โดยสร้างความตระหนัก และมีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ตัวอย่าง Best Practice ที่ ต.เมืองปอน อำเภอขุนยวม มีการช่วยให้ชาวบ้านรู้จักเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยการปักธงจำแนกระดับแคลลอรี่ในอาหาร

2.2 ขาดสถานที่ อุปกรณ์การออกกำลังกาย ตรงนี้แก้โดย เพิ่มการจัดซื้อ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีสนามกีฬา สวนสาธารณะ ครอบครัวมีสถานที่ อุปกรณ์การออกกำลังกายอย่างเพียงพอ 
2.3 ทัศนคติผิดๆที่มองว่า เป็นแม่บ้าน เป็นคนพิการ เป็นคนแก่แล้วไม่ต้องออกกำลังกายก็ได้ 
2.4 ผู้นำชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ไม่ให้การสนับสนุน

ตัวอย่าง Best Practice เรื่องการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ สตรี คนพิการออกกำลังกายมีอยู่ในบางชุมชนใน ต.ห้วยเดื่อ . ต.ป่าปุ๊ , ต.ห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

3) ปัญหาระบบการตรวจสุขภาพที่เป็นมิตรต่อสตรี   
ประเด็นนี้ ไม่ใช่คุณภาพการบริการ หากแต่เป็นเรื่องรูปแบบที่พวกเธอขอเสนอว่า ให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้หญิง โดยเป็นการตรวจที่ละเอียดขึ้นจะได้ไหม โดยจะไปตรวจที่โรงพยาบาลก็ได้ เพราะมีเครื่องมือพร้อมกว่า แต่ถ้าจะให้ดีก็จัดที่ชุมชนเพราะผู้หญิง เดินทางลำบาก  อยากให้มีการตรวจละเอียดและเป็นการตรวจฟรี  จะได้รู้สถานการณ์สุขภาพและป้องกันก่อนจะมีโรคอื่นๆตามมา  เรื่องนี้ อยากให้ครอบคลุมการตรวจสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการที่เดินทางไกลๆมาโรงพยาบาลได้ยากด้วย  

ถามว่ามีพื้นที่ไหน ทำอย่างนี้บ้าง ในกลุ่มก็บอก มีชุมชนป๊อกกาดเก่า ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เป็น Best Practice อยู่

....................................................................

จริงๆในกลุ่มย่อยทุกกลุ่มก็มีความสำคัญนะครับ ผมตั้งใจฟังการนำเสนอของสตรีชาติพันธุ์ในทุกกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเด็นความรุนแรง , กลุ่มประเด็นการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ , กลุ่มประเด็นแรงงานสตรี  ผมตั้งใจจะโพสต์เรื่องนี้หลายวันละ แต่งานราษฎร์งานหลวงก็มีมาติดๆกัน ว่างมาสรุปเอาเสร็จก็วันนี้ (25 ก.ค.) แต่ก็ถือเป็นวินัยที่หากมีเวทีที่น่าสนใจ ก็น่าจะได้สกัดการเรียนรู้ มาแชร์สู่คนอื่นๆ รวมถึงเก็บไว้เป็นการจัดการความรู้เพื่อตัวเองได้ใช้เป็นฐานอ้างอิงในวันหน้า

ถ้าเราจะพัฒนาสตรี เราต้องเข้าใจปัญหา รับฟัง และสร้างการมีส่วนร่วมจากมุมมองของพวกเธอ

 

ขอบคุณที่ติดตาม จากวทีสตรีระดับจังหวัดวันนี้ อีกสองวันก็จะเป็นเวทีย่อยระดับชาติพันธุ์ที่เป็นการพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ้าสนใจ ติดตามกันต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 691664เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท