สุนทรียปัญญากร WAC Artist : Wellbeing Aesthetic Creator ... พลเมืองและประชากรกรรมาชีพในยุคใหม่


การเรียนรู้ปรากฏการณ์และกระบวนการทางสังคมประชากร รวมทั้งการสร้างชุดมโนทัศน์และเครื่องมือเพื่อจัดกลุ่ม จำแนก ระบุความจำเป็น พัฒนาระบบรองรับกิจกรรมการดำเนินชีวิต ประกอบสัมมาชีพ การประกันสวัสดิภาพ และดำเนินการต่างๆให้สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นจำเพาะ ให้มีความละเอียดอ่อน ยืดหยุ่นครอบคลุมต่อความแตกต่างหลากหลาย จะเป็นทำให้การะพัฒนาและการดำเนินการต่างๆในสังคมมีความถูกต้องและได้ผลดียิ่งๆขึ้น ซึ่งจะต้องสร้างให้เกิดพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน เพื่อเห็นการเปลี่ยนผ่าน เห็นการก่อเกิดความจำเป็นใหม่ๆ และสามารถสร้างปัญญาปฏิบัติและวิธีดำเนินการต่างๆกันใหม่ ได้อย่างทัดเทียมกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายอย่างอาจจะไม่เคยมีมาก่อนในสังคม เพราะเป็นพัฒนาการและความสืบเนื่องของชุดประสบการณ์ที่ผ่านไปแล้วของสังคม

ในอดีตนั้น ระบบการผลิตและบริการของสังคมในภาคส่วนต่างๆ เช่น การผลิตและวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคการสื่อสารบันเทิง การตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยร่วมกันในรูปแบบหลากหลายของภาคเมือง ชนบท ตลอดจนการสร้างระบบจัดการในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เกิดชุดความหมายและชุดคุณค่าต่างๆในการจัดความสัมพันธ์กันบนระบบและโครงสร้างหลายมิติที่ยึดโยงกันไปตามลักษณะเฉพาะของกิจกรรมชีวิตที่เกิดขึ้นในมิตินั้นๆ ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมและประชากรกลุ่มต่างๆ เช่น เกษตรกร แรงงาน พนักงาน ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา พลเรือน สื่อ ศิลปิน ช่างฝีมือ กลุ่มชน หมู่บ้าน เหล่านี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้งอกขึ้นเองในธรรมชาติ และในการสร้างขึ้น ก็ไม่สามารถหยิบมาจัดวางให้มีได้อย่างเลื่อนลอย แต่จะมีกระบวนการก่อเกิด สร้างชุดคุณค่าและชุดความหมายต่างๆ ขึ้นมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับ จึงมีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ทางสังคม และมีบทบาทยึดโยงกับระบบต่างๆอย่างมีความหมาย มีเหตุผล จึงสามารถเปลี่ยนแปลงและอาจจะหายไปได้ เมื่อการยึดโยงเกี่ยวพันดังกล่าวคลายไป

แต่ปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านทางสังคมได้เกิดขึ้นมากยิ่งๆขึ้นในทุกมิติ การเพิ่มขึ้นของภาคเมืองกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก การดำเนินชีวิตในวิถีชุมชนแบบเดิมค่อยๆหายไป เกษตรกรแบบเดิมกำลังหายไป ผู้ใช้แรงงานและหน้าตาของการผลิตในภาคอุสาหกรรมแบบเดิมกำลังหายไป กลุ่มกรรมาชีพที่ใช้ความรู้บริการวิชาชีพและประกอบสัมมาชีพแบบเดิมค่อยๆหายไป ก่อเกิดรูปการณ์ใหม่ๆของการดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมหน้าที่การงาน เลือกสรรกิจกรรมชีวิต การอยู่อาศัย การผูกพันกับถิ่นฐาน สังคม สิ่งแวดล้อมแห่งชีวิต ที่ยังคงจิตวิญญาณแห่งชีวิตให้มีความเจริญงอกงาม แต่อยู่ในรูปการณ์อย่างใหม่

จิตวิญญาณของชีวิตการกสิกรรมยังคงอยู่ แต่กิจกรรมชีวิตแบบเกษตรกรและชาวนาไร่แบบเดิมจะค่อยเลือนหายและเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบใหม่ ในทุกกลุ่มอาชีพและกลุ่มประชากรแบบเดิมในภาคส่วนต่างๆก็เช่นกัน

หลายอย่างจะเปลี่ยนผ่านและพัฒนาการไปสู่การจัดกลุ่มทางสังคมประชากรแบบใหม่ ก่อเกิดชุมชนที่ความผูกพันและความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของชีวิตรวมหมู่ (Community-Life Engagement and Social Ties) ที่เคยเกิดขึ้นบนโครงสร้างการยึดโยงแบบเครือญาติ องค์กรการผลิตและบริการ กิจกรรมบนภาคสาธารณะแบบรวมกลุ่ม ที่คุ้นเคยและเห็นได้ง่าย จะหายไปหรือเปลี่ยนผ่านไปในรูปแบบอื่น ก่อเกิดชีวิตชุมชนและความเป็นปึกแผ่นบนโครงสร้างการยึดโยงกันด้วยกระบวนการชีวิตแบบอื่น เข้ามาแทน

ภาคการผลิต บริการ และสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะ การศึกษา วัฒนธรรม การจรรโลงคุณค่าและความหมายต่อจิตใจและความรู้สึก การสร้างจินตภาพทางสังคม การสื่อสาร ความบันเทิง ก็เป็นภาคส่วนการผลิต บริการ บ่มเพาะ สร้างสรรค์ และมีบทบาทสำคัญ ทั้งในระดับการดำเนินชีวิต การเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความหมายและการจัดความสัมพันธ์กันในทุกระบบของมนุษย์ ไปจนถึงการเป็นภาคการผลิตและบริการขนาดใหญ่ของสังคม ซึ่งนอกจากเป็นสิ่งจำเป็นในระดับพื้นฐานของชีวิตแล้ว ก็เป็นภาคเศรษฐกิจสังคม ที่จะส่งผลต่อวงจรพัฒนาการในทุกมิติของสังคมอีกด้วย ทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก และในท่ามกลางพัฒนาการรอบด้านของวิทยาการและเทคโนโลยี ตลอดจนการสื่อสารที่มีบทบาทมากยิ่งๆขึ้นในปัจจุบัน

ภาคส่วนนี้ จึงจะยิ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจสังคม ทั้งมีลักษณะเฉพาะ และมีโครงสร้างการยึดเกี่ยวกันภายในตนเองที่สามารถระบุและจำแนกความแตกต่างออกจากภาคส่วนอื่นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งๆขึ้น ทั้งลักษณะกิจกรรมชีวิต ปัญญาปฏิบัติ ระบบความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งกระบวนการทางกรรมาชีพ ซึ่งมีลักษณะการสร้างสรรค์และผลิตจินตภาพของสังคม บนการใช้ความรู้และระบบปัญญาที่มีอยู่ของสังคม มาสรรสร้างให้ก่อเกิดพลังทางสุนทรียปัญญา ส่งผลต่อทุกมิติของการดำเนินชีวิต

รวมไปจนถึงก่อเกิดภาคการผลิตและบริการของสังคม โดยเป็นกลุ่มประชากรและกลุ่มพลเมือง ‘สุนทรียปัญญากร’ ‘Wellbeing Asthetic Creator : WAC Artist’ หรือเป็นกลุ่มเกษตรกรและกรรมาชีพกลุ่มใหม่ แต่เป็นเกษตรกรและกรรมาชีพที่บ่มเพาะกระบวนการสังคมวัฒนธรรมทางปัญญา และเป็นภาคส่วนใหม่ที่มีความจำเพาะเจาะจงในอีกหลายมิติ เช่น ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในทุกมิติขึ้นใหม่ การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ การสร้างพื้นที่ทางสังคม การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมรองรับ การพัฒนาระบบสุขภาพและระบบสวัสดิการทางสังคม การประกันสุขภาพ การพัฒนาองค์กรจัดการ การสร้างงานและการพัฒนาตำแหน่งแหล่งที่ทางสังคมที่เหมาะสม

กลุ่มสัมมาชีพและภาคส่วนทางสังคมนี้ มีความสามารถสร้างสรรค์และสร้างจินตภาพเชิงคุณค่าและจินตนาการทางความหมายจากความรู้ ระบบภูมิปัญญา และมวลประสบการณ์ตางๆของมนุษย์ ใส่ลงไปบนฟอร์มและสเปซของความเป็นสิ่งโดยทั่วไปแบบกลางๆ ให้ก่อเกิดการบรรลุมรรคผลเชิงคุณค่าและการได้ความหมายใหม่ๆดังที่ต้องการได้ นับแต่การสามารถถ่ายทอดและสร้างการมองเห็นและรู้สึก ในสิ่งที่แม้การเห็นและรู้สึกได้ จะเป็นองค์ประกอบและคุณสมบัติพื้นฐานของการมีชีวิต ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเท่ากันแต่เดิมแล้ว แต่การถ่ายทอดสื่อสาร สร้างจินตภาพ และสร้างจินตนาการ ให้เห็นได้และรู้สึกต่อกันได้ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ให้มนุษย์จัดความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ สร้างหน่วยทางชีวิตสังคมขึ้น จัดระบบในภาคส่วนหลากหลาย นำไปสู่การสร้างวงจรความมีชีวิตร่วมกันของสังคม เหล่านี้ จะไม่มีไปเองในคนทั่วไป

สุนทรียปัญญากร เป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และฝึกหัด จึงมีเพียงกลุ่มประชากรจำเพาะบางกลุ่มและในภาคส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น ที่จะทำบทบาทหน้าที่นี้อยู่ในสังคมไปโดยธรรมชาติของเขา แม้ในกลุ่มศิลปินที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วก็ตาม ก็จะมีเพียงจำนวนหนึ่ง ในกลุ่มคนทำงานวิชาการและการสื่อสาร กลุ่มบริการวิชาชีพขั้นสูงในทุกสาขา ก็ไม่ใช่จะเป็นกลุ่ม ‘สุนทรียปัญญากร’ ไปเองโดยอัตโนมัติ มีเพียงบางส่วนเท่านั้น

ณ เวลานี้ ผมเลยเหมือนมีพันธกิจอย่างหนึ่งของชีวิตที่จะต้องทำ คือ การเดินหามนุษย์ต่างดาวที่แทรกตัวปนเปอยู่กับผู้คนทั่วไปแต่เราไม่สามารถมองเห็นได้ พวกเขานี้นั่นเอง ที่มาสู่โลกพร้อมกับหมา 9 หาง ที่นำเอาข้าวและปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตมาสู่โลกให้มนุษย์ ติดสอยห้อยตามด้วยวิฬา ผู้เป็นดวงตาการพิทักษ์แห่งจักรวาล ที่จำแนกการมองเเห็นทุกสิ่งอย่างได้แม้ในความมืดและความว่างเปล่าลอยล่อง อีกทั้ง การฝึกฝนกล่อมเกลาตน ก็อาจจะอยู่ในวิถีชีวิต ผสมผสานอยู่ในหมู่ชนโดยทั่วไป เป็นภาคส่วนที่สร้างและจรรโลงความมีชีวิต จรรโลงพลังความเคลื่อนไหว สร้างวงจรพัฒนาการในพหุมิติในทุกหนแห่งของโลก ด้วยมีใจเป็นประธาน จรรโลงกระบวนการปัญญาปฏิบัติ สร้างพลังชีวิตด้านใน จรรโลงการรู้สึกเป็นนายแห่งตนของมนุษย์ สร้างสุขภาวะของการลงมือทำนับแต่การอยู่กับลมหายใจมีชีวิตตนเอง ไปจนถึงการผสานเชื่อมโยงกับทุกสิ่ง

พวกเขาลงมาสร้างปิรามิด เมือง และทุกอย่างที่เป็นต้นธารของอารยธรรมมนุษย์ ตลอดจนสิ่งพื้นฐานทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา แต่พวกเขาเป็นพลังงาน พลังจินตนาการ พลังแห่งโลกทิพย์ ที่พวกเรามองไม่เห็นหรือมองเห็นได้ยาก อาจจะเห็นได้ก็ผ่านผลของการปรากฏขึ้นบนการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอย่างมีคุณค่าและมีความหมายเพื่อมวลมนุษย์และมวลสรรพสิ่งโดยไม่เจาะจง แต่แม้มนุษย์และคนทั่วไปจะมองไม่เห็น พวกเขากลับสามารถส่งสัมผัสแแห่งจินตภาพ ให้ความมีชีวิตและการยังมีจิตใจ สามารถรู้สึกและเห็นจากภายใน ในสิ่งที่แม้มองด้วยตาและสมอง ก็ไม่เห็น

วิทยาการของเขามีเพียงพู่กัน น้ำ ผึ้ง และใช้สามสิ่งนี้ ผสานสร้างความเป็นจริงมิติใหม่ได้อีกมิติอยู่เสมอบนโลกและเอกภพชีวิตจิตใจมนุษย์ภายใต้สมองซีกซ้ายและซีกขวา ถ่ายทอด ถ่ายเท สะท้อนเชื่อมโยง แผ่ขยายไปสู่ทุกสิ่งอย่างสุดประมาณได้ แม้ด้วยปัญญาที่ก้าวหน้าและกว้างไกลที่สุดของมนุษย์ กำหนดพัฒนาการทุกมิติในสังคมมนุษย์ ทั้งสร้างการก่อเกิด จรรโลงการดำรงอยู่ ความเติบโตงอกงาม หรือเสื่อมสลายเปลี่ยนผ่าน ให้มีคุณค่าและมีความหมายสูงส่งขึ้นมาได้หมด แม้เพียงมือเปล่าของเราเอง

ประชากรและพลเมืองกลุ่มนี้ จะเป็นผู้พาวงจรการเคลื่อนไหวและสร้างพัฒนาการในมิติต่างๆของตนเอง ของสังคมในภาคส่วนต่างๆ ให้มีกำลังแห่งสุนทรียสุข (คำของศักดิ์สิริ มีสมสืบ) ให้มนุษย์ทุกคน ตลอดจนชุมชน ท้องถิ่น เมือง ชนบท และในแหล่งการอยู่อาศัยของผู้คน ยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อผลิตความสุขอย่างง่ายขึ้นใช้เองในชีวิตได้ สามารถงอกงาม มั่งคั่ง และมั่นคงขึ้น บนปัจจัยพื้นฐานของชีวิต นับแต่การได้เริ่มเป็นเจ้าของการเห็นและรู้สึกต่อความหมายจากมิติต่างๆในชีวิตตน แล้วจรรโลงการเข้าถึงสิ่งอันควรได้ตามอัตภาพ

สร้างสังคมให้มีพลังแห่งแห่งจินตนภาพจากปัญญา มีพลังแห่งชีวิต ที่จะเห็นคุณค่าและความหมาย ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งบนการก่อเกิด การดำรงอยู่ และเสื่อมสลายเปลี่ยนผ่าน ในทุกสิ่งของมวลมนุษย์ อย่างถูกต้อง เหมาะสม ไปตามเงื่อนไขแวดล้อมหลากหลายแห่งตน.

หมายเลขบันทึก: 691048เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2021 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2021 07:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท