ตอนที่ 6-2564 -การพัฒนาความสามารถวิชาชีพศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด (Professional Competency Development of Superintendent)


Superin Pro.pdf                                 การพัฒนาความสามารถวิชาชีพศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด

                                     Professional Competency Development of Superintendent 

                                                                                                        ดร.ชัชรินทร์ ชวนวัน ข้าราชการบำนาญ สคบศ. 

บทนำ......ในยุคสังคมเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและยุคดิจิทัล รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แนวใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อความสามารถทางวิชาชีพ เป็นรูปแบบการพัฒนาความสามารถที่บ่งบอกถึงศักยภาพบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของผู้นำการมีส่วนร่วมและความสามารถในการสร้างผลงานเชิงบวกต่อชุมชน เป็นการเพิ่มคุณค่าและบทบาทของบุคลากรที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสำเร็จขององค์กร “ศึกษาธิการภาค” และ “ศึกษาธิการจังหวัด” คือ บุคคล 2 ตำแหน่งที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้ ซึ่งมีผู้กล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบไว้ว่า “ศึกษาธิการ เป็นผู้นำการศึกษาของชุมชน ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาในภาพรวมสำหรับภาคการศึกษาหรือจังหวัด ในขณะเดียวกันก็ปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารจัดการงานการศึกษาระดับสูง เกี่ยวกับหลักสูตร ผู้บริหาร ครู นักเรียนและอื่นๆทางการศึกษาอีกหลากหลาย อาทิ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของภาคการศึกษาหรือจังหวัด คะแนนการทดสอบและอัตราการสำเร็จการศึกษา การพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันมากมายที่มีโอกาสสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความรับผิดชอบกำกับดูแลของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดทางการศึกษา 

คำว่า “ศึกษาธิการ” มีคำศัพท์จากพจนานุกรมว่า “Superintendent” ซึ่งให้นิยามว่า “ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม” และจากการศึกษาประวัติของคำว่า “ศึกษาธิการในประเทศสหรัฐอเมริกา (Superintendents in the United States) ให้นิยามว่า “เป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการ(Administrator) ที่ดูแลโรงเรียนของรัฐหรือเขตการศึกษา” มีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านการบริหารหน่วยการบริหารที่สำคัญในวงกว้าง โดยเฉพาะการบริหารกำกับดูแลงานวิชาการ (Academic administration) และแสดงบทบาทที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บทบาทที่สำคัญที่สุด คือ “บทบาทคณะกรรมการการศึกษา” ในหลายๆแห่งยังหมายถึง ผู้อำนวยการด้านการศึกษา (Superintendent of schools) หรือ เลขาธิการการศึกษา (secretary of education) ด้วย มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลและประสานงานโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของรัฐ และมักจะถูกเลือกโดยสมาชิกของคณะกรรมการการศึกษาของเขตนั้นๆ ปัจจุบันรัฐต่างๆ ยังใช้คำว่า “Superintendent of school” ซึ่งหมายถึง ผู้อำนวยการโรงเรียน

สำหรับประเทศไทย “ศึกษาธิการ” มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญทางด้านการศึกษามาตั้งแต่อดีต เช่น ศึกษาธิการภาค มีจุดกำเนิดจากเป็นข้าหลวงธรรมการมณฑลของกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2452 บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค ส่วนศึกษาธิการจังหวัด เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นสังกัดกรมปลัด เรียกว่า ธรรมการจังหวัด และเมื่อก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2484 ได้กำหนดให้มีตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (provincial education officer) และศึกษาธิการอำเภอ (district education officer) ขึ้นมีหน้าที่บริหารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและอำเภอ ในยุคสมัยนั้น ตำแหน่ง”ศึกษาธิการ” ส่วนภูมิภาคมี 4 ตำแหน่ง คือ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอ และผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ มีบทบาทหน้าที่โดยรวมเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมเกี่ยวกับการศึกษาระดับอำเภอ จังหวัด และเขตการศึกษา เรียกว่า ศึกษาธิการอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขต รวมทั้งชื่อกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งรายละเอียดจะไม่นำเสนอในข้อเขียนนี้ ขอให้ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งจะพบว่า “ศึกษาธิการ” มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์การรับรู้มาตั้งแต่สมัยยังบรรจุเป็นครูใหม่ๆ สมัยนั้นมีตำแหน่งที่เรียก “ศึกษาธิการ” 3 ตำแหน่ง คือ ศึกษาธิการเขตการศึกษา,ศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการอำเภอ โดยเคยได้รับการแต่งตั้งเป็น “ศึกษาธิการอำเภอ” ใช้คำศัพท์ว่า “Superintendent”

ปัจจุบัน “ศึกษาธิการ” เป็นตำแหน่งข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกเรียกขานอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ “ศึกษาธิการภาค- Director-General, Regional Education Office” และ “ศึกษาธิการจังหวัด- Director, Provincial Education Office” และยังกำหนดให้มีตำแหน่งรอง ได้แก่ รองศึกษาธิการภาค -Deputy Director-General, Regional Education Office และ รองศึกษาธิการจังหวัด -Deputy Director, Provincial Education Office ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ทราบที่มาที่ไปของการตั้งชื่อนี้จริงๆ และก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า คำว่า “Superintendent” ในทางการศึกษายังคงใช้อยู่หรือไม่ หรือว่ายกเลิกไปแล้ว ท่านใดที่รู้เกี่ยวกับที่มาที่ไปของการใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ตำแหน่ง หากจะกรุณาให้ความรู้เพื่อการรับรู้ของผู้สนใจ ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

เพื่อความชัดเจนและความต่อเนื่องของการนำเสนอ เรื่อง การพัฒนาความสามารถวิชาชีพ ของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด สำหรับข้อมูลต่างๆที่นำมาใช้ในข้อเขียนนี้ ทั้งบทบาทหน้าที่ และ ความสามารถ (สมรรถนะ) เช่น บทบาทหน้าที่ของศึกษาธิการ (Role of Superintendent) , สมรรถนะของศึกษาธิการ (Superintendent Competency) ฯลฯ เป็นต้น ผู้เขียนนำมาจากการศึกษาค้นคว้า ภายใต้คำว่า “ศึกษาธิการ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Superintendent” ซึ่งมีข้อมูลปรากฏทั้งใน เอกสาร ตำรา หนังสือ และสื่อ อินเตอร์เน็ตต่างๆหลากหลาย แต่การสืบค้นด้วยคำว่า “Director-General, Regional Education Office” หรือ “Director, Provincial Education Office” มีข้อมูลในเอกสาร หนังสือและสื่ออินเตอร์เน็ตต่าง ๆ น้อยมากเพื่อให้เห็นภาพรวมบทบาทหน้าที่ของ “ศึกษาธิการ” ผู้เขียนขอหยิบยก ..บทบาทหน้าที่ของ “ศึกษาธิการภาค” และ “ศึกษาธิการจังหวัด” ในปัจจุบัน (ตั้งแต่ พ.ศ.2559) ที่ได้ถูกกำหนดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 111/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สั่ง ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 25559 เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวง ศึกษาธิการในภูมิภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเอกภาพ และสามารถประสานเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ……มาระบุเป็นข้อมูลประกอบการสังเคราะห์ความสามารถ ดังนี้

              สำนักงานศึกษาธิการภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหน้าที่ 1.ปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ 2.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 2.1 กำหนดยุทธศาสตร์และบทบาทการพัฒนาภาคต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ตามศักยภาพและโอกาสของบุคคลและชุมชนในแต่ละพื้นที่ 2.2 สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนา 2.3 กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ2.4 สนับสนุนการตรวจราชการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่รับผิดชอบ 2.5 ประสานการบริหารงานระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด โดยยึดการมีส่วนร่วมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก2.6 ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

                ศึกษาธิการภาค มีบทบาทหน้าที่ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ในสำนักงานศึกษาธิการภาค ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการภาคจำนวนไม่เกินหนึ่งคนเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการภาค ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาคจากข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเสนอ

                สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวง ศึกษาธิการในภูมิภาค สั่ง ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2559 ปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ นโยบาย และยุทธศาสตร์ของส่วนราชการต่าง ๆ ที่มอบหมาย มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ เช่น 2.1 งานธุรการของคณะกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัด และการปฏิบัติงานราชการให้ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัด และตามที่คณะกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัดมอบหมาย มีภาระงานหลักๆในระดับจังหวัด เช่น ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาและแผนปฏิบัติการ งบประมาณ ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนการ บริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่ หลากหลาย การบริหารงานบุคคล งานธุรการของ กศจ.และ อกศจ. การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก และโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.2 ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานด้าน วิชาการของ กระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัด มีภาระงานหลักๆในระดับจังหวัด เช่น 2.3 สั่งการ ก ากับ เร่งรัด ติดตาม และ ประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือ หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด ให้เป็นไปตาม นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ 2.4 จัดทำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน และก าหนดตัวชี้วัดการด าเนินงานในลักษณะ ตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และ สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการใน จังหวัด 2.5 ปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของ กระทรวงศึกษาธิการหรือตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับราชการประจ าทั่วไป ของกระทรวงศึกษาธิการ และประสานงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัด 

              ศึกษาธิการจังหวัด มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศึกษาธิการภาค โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการจังหวัดจำนวนไม่เกินหนึ่งคนเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัด ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัดจากข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ

ตอนที่ 1 สมรรถนะและการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ (Competency and Professional Competency Development)แนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามาถึงการพัฒนาความสามารถทรัพยากรมนุษย์ (Competency-Based Approach) ในปัจจุบันที่เป็นยุคที่ 5 (Five Generation) โดยเริ่มจากนักจิตวิทยา Robert White และ David C. McClelland, White (1959) ที่ได้ระบุลักษณะของมนุษย์ที่เขาเรียกว่า “ความสามารถ (Competency)” หรือในประเทศไทยเรียกว่า “สมรรถนะ” บุคคลที่มีความสำคัญ คือ David C. McClelland (1973) ได้ริเริ่มแนวทางในการทำนายความสามารถที่แตกต่างจากการทดสอบ ผลที่ได้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสมัยนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งองค์กรต่างๆทั่วโลกให้การยอมรับและนำแนวคิดความสามารถมาใช้สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างแพร่หลาย โดย McClelland (1973, 1976) ให้นิยามความสามารถ คือ คุณลักษณะที่รองรับความสำเร็จในการปฏิบัติงาน Dubois (1993) กำหนดความสามารถเป็นลักษณะพื้นฐานที่ “นำไปสู่ความสำเร็จในการแสดงบทบาทในชีวิต” , Dubois และ Rothwell (2000) อธิบายความสามารถว่าเป็นเครื่องมือที่บุคคลใช้ในการทำงานให้สำเร็จหลากหลายวิธี ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักเขียน นักคิดสำคัญๆ และผู้นำในสาขานี้ ได้กำหนดและขัดเกลาคำว่าความสามารถและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย ปัจจุบันความสามารถหรือสมรรถนะทรัพยากรบุคคล (Human Resource Competency) มีความสำคัญและเป็นเครื่องมือสำคัญในการประยุกต์ใช้ประโยชน์ตามระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ขององค์กรมากขึ้น ดังภาพ

การบูรณาการสมรรถนะในระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ 
Note.from “Competence at Work: Model for Superior Performance, (p.315) Spencer, L. M. JR. & Spencer, S. M.,(1993), John Wiley & Sons.

สำหรับประเทศไทยได้กำหนดแผนการปฏิรูปประเทศด้วยการปฏิรูปด้านการศึกษา ที่เน้นเพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยให้มีความทัดเทียมกับอารยะประเทศ ซึ่งในความคิดส่วนตัวผู้เขียนมองว่า เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่ยกระดับการดำเนินงานการศึกษาของประเทศให้สูงขึ้นไปสู่ทั้งในระดับอาเซียนและโลก โดยเฉพาะประเด็นสำคัญของกิจกรรมการปฏิรูป ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนอกจากจะต้องดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ผลอันพึงประสงค์ก็คือการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดฐานสมรรถนะซึ่งในระดับสากล เรียกชื่อว่า การศึกษาตามหลักความสามารถ (Competency-Based Education) เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และบุคลากร จึงจำเป็นต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนภารกิจและการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ อาทิ ผู้บริหารและผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลต้องมีความสามารถด้านกลยุทธ์องค์กร,การบริหารทรัพยากรบุคคล และความรู้ความสามารถการนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สำหรับทรัพยากรบุคคลทุกระดับต้องมีสมรรถนะในเรื่องความรู้ด้านกลยุทธ์ (Organization Strategy Knowledge) และวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อด้านอื่น (HR Delivery) เช่น กฎหมาย ,การบริหารจัดการ, การดำเนินงาน และความสามารถด้านเทคโนโลยี (HR Technology) ซึ่งบุคคลในองค์กรทั้งระดับบริหารและปฏิบัติการต้องมีการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถตนเองไปสู่ระดับวิชาชีพมากขึ้น ความสามารถวิชาชีพ (Professional Competence) มีคำจำกัดความของคำว่า “ความสามารถหรือสมรรถนะวิชาชีพ” ไว้อย่างหลากหลาย เช่น 

           ความสามารถวิชาชีพ หมายถึง การใช้ระดับความรู้ ทักษะวิชาชีพ และทัศนคติ หรือพฤติกรรมที่ดีเกี่ยวกับอาชีพบุคคลในวงกว้าง ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสาขาหรือวิชาชีพเฉพาะทางและสอดคล้องกับทุกสถานการณ์

           ความสามารถวิชาชีพ หมายถึง ระดับการใช้ความรู้ ทัศนคติ และทักษะทางวิชาชีพของบุคคล ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาได้ตามพันธกิจ

           ความสามารถวิชาชีพ หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของบุคคล หรือปฏิบัติงานวิชาชีพเฉพาะทางด้วยทักษะคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยการเรียนรู้เพิ่มเติม การประเมินคุณภาพของการฝึกอบรมพัฒนาในเงื่อนไขการรับรู้ตามแนวทางความสามารถ

           ความสามารถทางวิชาชีพ หมายถึง ทักษะ ความรู้ และคุณลักษณะที่สมาคมวิชาชีพ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นเพื่อการปฏิบัติงานให้เกิดความสำเร็จและเชื่อมโยงกับวิชาชีพในอนาคต

ลักษณะของผู้มีความสามารถระดับมืออาชีพ

1. มีระดับการใช้ความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับวิชาชีพของตน สอดคล้องกับทุกสถานการณ์ที่เผชิญอยู่และสามารถในการปฏิบัติวิชาชีพให้ดำรงอยู่ได้

2. มีความรู้ ทัศนคติ และทักษะทางวิชาชีพในวงกว้างที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสาขาหรือวิชาชีพเฉพาะทาง

3. มีความพร้อมในการลงมือปฏิบัติในวิชาชีพ บนพื้นฐานของระบบความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้นั้น

4. สร้างความเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือทีมงาน โดยบูรณาการด้านเทคนิค ความรู้ความเข้าใจ สังคม และอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และทัศนคติ หรือพฤติกรรมที่จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาได้ตามพันธกิจ
5. แสดงผลการเรียนรู้ที่บ่งบอกถึงความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติวิชาชีพประจำวัน 

6. ใช้การสื่อสาร ความรู้ ทักษะทางเทคนิค การใช้เหตุผลทางคลินิก อารมณ์ ค่านิยม และการไตร่ตรองอย่างเป็นนิสัยและรอบคอบในการปฏิบัติประจำวันเพื่อประโยชน์ของบุคคลและชุมชนที่รับบริการ
7. กำหนดทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาความสามารถในวิชาชีพ ดำเนินการด้วยเทคนิคที่ดี มีส่วนร่วมกับสมาชิกในทีม บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างสรรคบุคคลที่มีความสามารถสูงด้านมนุษยธรรม จริยธรรม ไตร่ตรอง ตอบสนองต่อสังคม และมีความรับผิดชอบ มีความยืดหยุ่น รวมถึงทักษะที่อยู่นอกเหนือคุณลักษณะของการเป็นมืออาชีพ 

8. มีความสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของตนโดยทั่วไป หรือ ปฏิบัติงานเฉพาะทางวิชาชีพด้วยทักษะคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยการเรียนรู้เพิ่มเติม การประเมินคุณภาพของการฝึกอบรมพัฒนาในเงื่อนไขการรับรู้ตามแนวทางความสามารถ 

ตัวอย่าง ความสามารถระดับมืออาชีพทั่วไป

1.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ -Critical Thinking 

2.การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ -Creative Problem Solving

3.การสื่อสาร -Communication

4.การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกัน -Teamwork and Collaboration

5.ความเป็นผู้นำ -Leadership

6.ความเป็นมืออาชีพ -Professionalism

7.การมีมุมมองระดับโลก -Global Perspective8.การจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศ. -Technology and Information Management9.การจัดการวิชาชีพ -Career Management

ทำไมต้องมีความสามารถวิชาชีพ

1.องค์กรและหน่วยงานต่างๆมีการใช้ความสามารถวิชาชีพเป็นกรอบการทำงานมาเป็นเวลานาน เพื่อช่วยเน้นพฤติกรรมของบุคลากรในงานที่สำคัญที่สุดต่อองค์กรและช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร โดยกำหนดวิธีการทั่วไปในการประสาน คัดเลือก และพัฒนาความสามารถ ผลประโยชน์ที่ได้คือบุคลากร ผู้บริหาร และสุดท้ายคือ องค์กร

2.ความสามารถวิชาชีพให้คำอธิบายเกี่ยวกับมาตรฐานความเป็นเลิศสำหรับบทบาทปัจจุบันและบทบาทที่เป็นไปได้ในอนาคต นั่นคือ จะสามารถอธิบายได้ว่าผลงานที่ “ยอดเยี่ยม” เป็นอย่างไร

3.สำหรับผู้บริหารองค์กร ความสามารถวิชาชีพจะใช้ในการสรรหาทรัพยากรเพื่อช่วยในการเลือกและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถและใช้เป็นกรอบในการเตรียมการประเมินและเพื่อเป็นแนวทางในการตอบรับผลการปฏิบัติงาน

4.สำหรับองค์กร ใช้ความสามารถวิชาชีพเพื่อเน้นการดำเนินการขององค์กรที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จดังนั้น เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น การมุ่งเน้นที่ทักษะตามแนวคิดแบบดั้งเดิมโดยไม่เน้นความสามารถวิชาชีพ จึงไม่เพียงพอที่จะพัฒนาผู้นำและขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพให้กับบุคลากร ดังนั้นจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่องค์กรต้องแสวงหาแนวทางต่างๆ มากมายเพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบความสามารถวิชาชีพใหม่หรือปรับปรุงรูปแบบความสามารถที่ล้าสมัย องค์กรขนาดใหญ่อาจเลือกแนวทางการพัฒนาความสามารถวิชาชีพใหม่ๆมาใช้ เช่น การทำงานที่นำโดยที่ปรึกษา การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำ การสนทนากลุ่มกับพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทั้งด้านเวลา งบประมาณ และทรัพยากร อาจเลือกแนวทางการพัฒนาความสามารถวิชาชีพที่ง่ายกว่าและคล่องตัวมากกว่าซึ่งในปัจจุบัน มีรูปแบบการพัฒนาความสามารถวิชาชีพสำเร็จรูปที่พร้อมนำไปใช้จริงและสามารถให้ประโยชน์สนองความต้องการแก่องค์กร

การพัฒนาความสามารถวิชาชีพของ “ศึกษาธิการ” (Professional Competency Development of Superintendent)

การพัฒนาวิชาชีพ คือ การพัฒนาบุคคลและเจ้าหน้าที่สนับสนุนเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจและทักษะและความสามารถการปรับปรุงคุณภาพของการดำเนินภารกิจรวมถึงประสบการณ์หรือกระบวนการที่ช่วยดึงศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคลออกมา การพัฒนาวิชาชีพครอบคลุมลักษณะทั้งสองประการ คือ การปรับปรุงรายบุคคลและหน่วยงานที่บุคคลปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งกระบวนการพัฒนาจะครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงาน(practitioner) การศึกษา (education) การฝึกอบรม (training)และกิจกรรมสนับสนุน (support activities)

การพัฒนาความสามารถวิชาชีพศึกษาธิการ (Professional Competency Development)  จึง หมายถึง รูปแบบวิธีการพัฒนาเพื่อระบุความสามารถที่บ่งบอกถึงศักยภาพของศึกษาธิการ (ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด) ที่ประกอบด้วย ความสามารถส่วนบุคคล (Individual Competency) และความสามารถในการดำเนินงาน (Implementation Competency) และอื่นๆ อีกหลากหลายประการ ที่แสดงถึงการประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานตามภารกิจที่รับผิดชอบและการสร้างผลงานเชิงบวกต่อชุมชน สังคม

แนวทางการพัฒนาความสามารถวิชาชีพ 

องค์กรต่างๆ ในระดับโลกมีการกำหนดรูปแบบวิธีการพัฒนาความสามารถวิชาชีพหลากหลาย เช่น

1.การพัฒนาวิชาชีพ โดย กำหนดรูปแบบมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Standard) ที่ประกอบด้วยความสามารถวิชาชีพเป็นองค์ประกอบ   1.1 ความสามารถความเป็นผู้นำ (Leadership Competencies) 

                                      1.2 ความสามารถทางวัฒนธรรม (Cultural Competency) 

                                      1.3 ความสามารถการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design Competencies) 

2.การพัฒนาวิชาชีพ โดย กำหนดกรอบสมรรถนะที่เกี่ยวข้อง เช่น 

                                      2.1 ความสามารถส่วนบุคคล 

                                      2.2 ความสามารถการมีส่วนร่วม

                                      2.3 ความสามารถการเป็นผู้นำ

                                      2.4 ความสามารถการสร้าง/สนับสนุนในเชิงบวกต่อชุมชน

                                      2.5 ความสามารถการดำเนินการ 

3.การพัฒนาวิชาชีพ โดย กำหนดความสามารถตำแหน่งโดยเฉพาะ เช่น ความสามารถศึกษาธิการ 

                  3.1 กลุ่มความเป็นผู้นำและวัฒนธรรม (Leadership and District Culture) 

                  3.2 กลุ่มนโยบายและการกำกับดูแล (Policy and governance) 

                  3.3 กลุ่มแก้ปัญหาการศึกษา (Knowledge-based education problem solving) 

                  3.5 กลุ่มบริหารการศึกษา (Educational Management) 

                  3.6 กลุ่มจริยธรรมการศึกษา (Education Ethically) 

                  3.7 กลุ่มพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (Continuing Professional Development)

วิเคราะห์บทบาทภาพรวมของ “ศึกษาธิการ” 

            ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบหลากหลายในบริบททางการศึกษา โดยภาพรวม มีดังนี้ 1. บทบาทผู้บริหารระดับสูง (“CEO”) ของภาคการศึกษาหรือจังหวัด2. บทบาทดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการการศึกษา โดยการตัดสินใจในแต่ละวันเกี่ยวกับโปรแกรม การใช้จ่าย บุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวก3. บทบาท การบรรจุแต่งตั้ง การจ้าง กำกับดูแล และบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งผู้บริหาร ครูและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 4.บทบาทคณะกรรมการการศึกษา ทั้งเลขาธิการและการรายงาน 5.บทบาทการทำงานร่วมกับผู้บริหารหน่วยงาน ผู้นำโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ ครู ชุมชน ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนและบรรลุเป้าหมายของภาคหรือจังหวัด6. บทบาทการตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเลือกตั้งและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในเขตหรือจังหวัด ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ ทนาย และชุมชนโดยรวม หรือการต้องพิจารณาวิธีการใช้ทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 7.บทบาทการเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา

ความสามารถอะไร ที่จะทำให้เป็น “ศึกษาธิการ” ที่ยอดเยี่ยม 

              สำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นองค์กรทางการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไร ความสามารถหลัก (Key Competency) ที่ทำให้เป็น “ศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด” ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่

1.กำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับภาคหรือจังหวัด (A clear vision for the Regional Education Office or provincial education officer) โดยร่วมปฏิบัติงานกับคณะกรรมการการศึกษากำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ที่เห็นว่าบรรลุเป้าหมาย เพื่อการก้าวไปสู่วิสัยทัศน์การเรียนรู้ร่วมกัน

2.เป็นผู้นำด้านการศึกษา (An Educational & Instructional leader) โดยรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ่งว่างานที่สำคัญที่สุดของภาคการศึกษาหรือจังหวัดคือการทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในระดับสูง ศึกษาธิการภาคหรือศึกษาธิการจังหวัด จึงต้องมีความสามารถเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงสุดและสนับสนุนส่งเสริมผู้บริหาร ครู ในภาคการศึกษาหรือจังหวัดให้ยกระดับขีดความสามารถทางการศึกษาที่สูงขึ้น 

3. เป็นผู้สื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (an effective communicator) โดยต้องใช้ความพยายามร่วมกันในการสื่อสารความต้องการและความสำเร็จของภาคหรือจังหวัดในรูปแบบต่างๆ ผ่านรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร การสื่อสารกับสื่อ การประชุมสาธารณะ และการเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานการศึกษา

4. เป็นผู้จัดการที่ดี (a good manager) โดยการกำกับการดำเนินงาน ติดตามความคืบหน้า และประเมินผลการปฏิบัติงานผู้บริหารในภาคและหรือจังหวัดให้บรรลุเป้าหมาย
5. เป็นผู้ฟังที่ดี (a good listener) โดยต้องฟังและคำนึงถึงมุมมองที่แตกต่างกันของการลงมติจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้วจึงตัดสินใจได้ดีที่สุด

6. ไม่กลัวที่จะเสี่ยงหรือให้คำมั่นสัญญา (not afraid to take risks or make a commitment) โดยไม่กำหนดเป้าหมายที่คลุมเครือหรือที่ประสบความสำเร็จได้ง่าย แต่ต้องกำหนดเป้าหมายที่กล้าหาญซึ่งต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยากแล้ววางโปรแกรมและทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

7. มีความยืดหยุ่น (flexible) โดยยึดมั่นนโยบายที่สามารถจัดการงานได้ เพื่อปรับให้เข้ากับสมาชิก คณะกรรมการ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงชุมชนโรงเรียน บริบทการศึกษา และต้องไม่ละทิ้งวิสัยทัศน์ของเขตหรือจังหวัด โดยต้องอาศัยความร่วมมือประนีประนอมกันมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากัน 

8.ส่งเสริม สนับสนุน ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Advocating and sustaining an effective learning culture) โดยแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการมีส่วนร่วมและสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีความหมายซึ่งมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอและให้ข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาความสามารถวิชาชีพ “ศึกษาธิการ” ตามแนวทางสมรรถนะ (Competency-Based Approach to Superintendent Development)

             การจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้งกำหนดบาทหน้าที่ของ “ศึกษาธิการภาค” และ “ศึกษาธิการจังหวัด” ในปัจจุบัน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ดังนั้น แนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลตามหลักสมรรถนะ (Competency based approach) จึงได้รับการนำมาประยุกต์ใช้เป็นหลักการสำคัญในองค์การปัจจุบัน ประกอบกับแนวคิดหลักในการจัดการศึกษาตามความสามารถ (Key Concepts of Competency-Based Education : CBE) ได้ก้าวสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของประเทศไทยที่สามารถปรับให้เข้ากับรูปแบบการศึกษาได้หลายรูปแบบ การพัฒนาความสามารถของ ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด จึงต้องมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาตามความสามารถเช่นเดียวกัน ระบบการพัฒนาสมรรถนะศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด(Superintendent Competency based System) จึงมีจุดเริ่มต้นด้วยการกำหนดสมรรถนะ (Superintendent Competency) และสร้างโมเดลสมรรถนะ (Building Superintendent Competency Models) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาความสามารถสำหรับศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์การปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดัชนีความสำเร็จในการพัฒนาตามแนวทางการศึกษาตามความสามารถ คือ การบรรลุผลโมเดลความสามารถศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด 3 ประการคือ 1.การกำหนดความสามารถและโมเดลความสามารถ 2.การพัฒนาระบบการประเมินสมรรถนะ และ 3.การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมศึกษาธิการภาค,ศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการทั้งสองประเภท

              ตอนต่อไป จะเสนอแนวคิด แนวทางการดำเนินงานพัฒนาสมรรถนะศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ตามแนวทางสมรรถนะ

                                                   .…………………………………………..

ตอนที่ 2 แนวทางการวางระบบการพัฒนาความสามารถศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด

คำสำคัญ (Tags): #Superintendent
หมายเลขบันทึก: 691046เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2021 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท