โพธาดา-หม่อลา ผู้รักษาวิถีพอเพียงแห่งป่าสาละวิน


โพธาดา-หม่อลา ผู้รักษาวิถีพอเพียงแห่งป่าสาละวิน

เย็นลมป่าพัดมาจากยอดเขา แสงสุดท้ายของวันลาลับจากปลายไม้ ย่ำค่ำปลายฤดูฝนหมู่บ้านกะเหรี่ยงในหุบเขาสงบเงียบ เสียงลำห้วยกระซิบกระซาบเบาๆ กับหาดหิน ไกลออกไปมีเงาตะคุ่มๆ ของชาวบ้านกำลังเดินทางกลับจากไร่บนไหล่ดอยปรากฏขึ้น ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในอีก ๒-๓ วันข้างหน้า  

“พวกเราทำไร่กันลำบากขึ้นทุกปี  เพราะตอนนี้หมู่บ้านอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะทำกินแบบที่เคยทำก็ติดขัด” โพธาดา หรือฉัตรชัย บูชาช่วงโชติกุล กำนันหนุ่มแห่งตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มกล่าวในวงสนทนาบนบ้านไม้ไผ่มุงหลังคาใบไม้ คืนนี้มีชาวบ้านหลายคนทั้งหญิงชายและเด็กน้อยมา ล้อมวงแลกเปลี่ยนเรื่องราวในบ้านป่า

หมู่บ้านโพซอของชาวไทยเชื้อสายปกากญอหรือกะเหรี่ยง กว่า ๘๐ หลังคาเรือนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมลำห้วยแม่แงะ ชาวบ้านกลุ่มแรกมาตั้งรกรากถาวรนับตั้งแต่ปี ๒๔๘๗ สวนมะพร้าวต้นสูงลิ่วและต้นหมากเก่าแก่ในหมู่บ้านช่วยยืนยันได้อย่างดี

ชาวบ้านบางครอบครัวทำนาบนที่ราบริมลำห้วย แต่ครอบครัวทั้งหมดในหมู่บ้านเคยทำไร่หมุนเวียน อันเป็นวิถีการผลิตดั้งเดิมของชุมชนทำนาก็ได้กินแต่ข้าว แต่ทำไร่ได้กินทุกอย่าง ทั้งข้าว แตง ฟัก ผักกาด พืชผักในไร่ของเราพอกินพอแบ่ง เจ้าของกินยังไงก็กินไม่หมด ต้องแบ่งกัน น้องไม่มีแตงก็มาเก็บในไร่พี่ พี่ไม่มีถั่วก็ไปขอจากไร่น้อง อย่างเดียวที่ต้องซื้อจากข้างนอกคือเกลือ” หม่อลา หรือ วิชัย อำพรนภา เล่าวิถีอันเรียบง่ายของชาวบ้าน

งานวิจัยของชาวบ้านปกากญอสาละวินระบุว่าในไร่ข้าวของชาวสาละวินมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองถึง ๕๐ ชนิด และพืชอาหารอื่นๆ ที่ปลูกแซมกับต้นข้าวอีกกว่า ๑๔๐ ชนิด ซึ่งเป็นฐานความมั่นคงของครอบครัวและชุมชนที่สามารถพึ่ง ตนเองได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น

การรักษาทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นภารกิจหลักของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ควบคู่ไปกับการผลิตที่เคารพธรรมชาติ  

 

“ก่อนถางไร่เราไหว้ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำไร่ ขอทำแค่พอกิน ก่อนเกี่ยวข้าวเราก็ไหว้ ขอให้ได้ข้าวเยอะๆ ให้อยู่กับป่าได้สงบร่มเย็น

“เราทำไร่ก็ไม่ใช่ทำเรื่อยเปื่อยหรือเลื่อนลอย เราไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าแบบที่เขามาสัมปทานป่า พ่อเฒ่าแม่เฒ่าสอนกันมา ป่าดิบขุนห้วยห้ามตัด ป่าชุ่มน้ำผุดห้ามตัด ป่าแก่ไม้ใหญ่ห้ามตัด ข้อห้ามเราเยอะแยะ ทำไร่หมุนเวียน ๘ ปีก็กลับมาที่เดิม เราทำไร่เราตัดตัดเฉพาะไม้เล็ก ไม่ตัดไม้ใหญ่ เหลือกิ่งไม้ไว้ให้นกได้มาเกาะ” โพธาดาว่า

แต่วันนี้วิถีอันพอเพียงของชาวบ้านโพซอจำต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอันเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่แต่ไม่เข้าใจวิถีของชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากร กลับมองว่าชุมชนบุกรุกทำลายป่า

แม้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางนานนับสิบปีในการผลักดันสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะทรัพยากรป่า มีงานวิจัยและการศึกษาหลายสิบชิ้นที่ยืนยันว่าไร่หมุนเวียนมิใช่การทำลายป่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกปีในป่าสาละวินแห่งนี้คือการจับกุมชาวบ้านที่ทำไร่ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่มีการเผาไร่ นอกจากนี้ยังมีการนำกล้าไม้ไปปลูกในไร่ของชาวบ้านเพื่อเป็นการ “ปลูกป่า” และเป็นการป้องกันมิให้เจ้าของไร่เวียนกลับมาทำไร่ในแปลงเดิมได้อีก

“ทำไร่เดี๋ยวนี้เหมือนเราไปขโมยเขา ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กลัวถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับ หลายคนก็เลยเลิกทำไร่ ไม่ทำแล้ว บ่ม่วนใจ๋--ไม่สบายใจ” ชาวบ้านอีกคนเล่าความคับข้องใจ เมื่อจู่ๆ การทำมาหากินที่เคยทำสืบมากลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ปี ๒๕๔๙ นี้ ชาวบ้านโพซอทั้ง ๔ หย่อมบ้าน เหลือทำไร่กันเพียง ๒๐ ครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องดิ้นรนออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน หาเงินมาซื้อข้าวและอาหารเพื่อความอยู่รอด

ความมั่นคงและความผาสุกของชุมชนค่อยๆ สั่นคลอนไปกับกระแสการเข้ามาควบคุมและจัดการทรัพยากรโดยรัฐ ซึ่งทำท่าจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการก่อสร้างด่านตรวจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ท้ายหมู่บ้าน ทั้งที่ปากทางเข้าหมู่บ้านก็มีอยู่แล้วหนึ่งแห่ง

“เขาจะมาสร้างด่านตรวจ ไม่เคยบอกไม่เคยถามพวกเราสักที ชาวบ้านเลยแจ้งอบต. ขอให้หยุดไว้ก่อน ทำจดหมายเข้าชื่อกันร้องเรียนผู้ว่าฯ ขอให้เขามาถาม มาชี้แจงกับชาวบ้านก่อนว่าจะทำอะไรในหมู่บ้านของเรา” โพธาดาเล่า เขากล่าวต่อว่า เหมือนวันนี้ป่าสาละวินไม่ใช่ของชาวบ้านอีกแล้วทั้งที่ช่วยกันรักษามาหลายชั่วอายุคน

หมู่บ้านโพซอ มีการแบ่งเขตป่าต้นน้ำเป็นป่าอนุรักษ์เข้มงวด ชาวบ้านทุกคนร่วมมือมิให้ตัดไม้โดยเด็ดขาด ป่าต้นน้ำของบ้านโพซอจึงชุ่มเย็น มีน้ำใสให้ชาวบ้านได้ใช้ตลอดปี แต่เมื่อปลายปีก่อนป่าผืนนี้กลับถูกทำลายเมื่อมีการตัดถนนผ่าป่าสายใหม่ยาวร่วม ๓๐ กิโลเมตรเพื่อเชื่อมไปสู่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้รับงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)

“ได้ข่าวว่าเขาจะมาสร้างเขื่อน หัวหน้าบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วบ้านเราจะได้พัฒนา มีฝรั่งมาเที่ยว แต่ไม่รู้อีกกี่สิบปีจะได้เห็น ถึงตอนนั้นพวกเราต้องย้ายหนีกันไปอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้” ผู้นำชุมชนคนหนึ่งกล่าว

“ชาวบ้านเราทำไร่แค่นี้ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่เขาว่ามันผิดกฎหมาย แต่เขามาตั้งด่าน ตัดถนน แล้วยังจะสร้างเขื่อน อยากรู้ว่าอันไหนมันทำลายป่ามากกว่ากัน” หม่อลาถามโดยไม่ต้องการคำตอบ

เรื่องราวความขัดแย้งที่หนักหนาของชาวบ้านอาจหาคำตอบได้ง่ายดาย เพียงรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจต่อวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ของชุมชน ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมแม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีสิทธิและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มิใช่เพียงคำพูดสวยหรูหรือหมึกที่เปื้อนอยู่บนกระดาษโดยไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง

ลมหนาวแรกของปีพัดมาวูบใหญ่ หลายคนเริ่มขอตัวกลับบ้านเมื่อเวลาล่วงเลยถึงกลางดึก หนุ่มน้อยที่นั่งริมชานบ้านหยิบเตหน่า- พิณพื้นบ้านขึ้นมาบรรเลงเพลงโบราณขับกล่อมในคืนไร้จันทร์

อ่อที กะต่อที อ่อก่อ กะต่อก่อ...กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่าให้รักษาป่า
 ถางไร่อย่าฟันไม้ให้ตาย ฟันไร่อย่าถางไผ่ให้ตาย
หากไม้และไผ่หมดไป เราจะอดน้ำอดข้าวตาย...
 เรากินไปเรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป”

วงสนทนาคืนนี้จบลงแล้ว เมื่อตะวันขึ้นในวันใหม่เรื่องราวของชาวบ้านยังคงดำเนินต่อไป วิถีพอเพียงในผืนป่าสาละวินจะดำรงอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน หรือจะเหลืออยู่เพียงในบทเพลง

หมายเลขบันทึก: 69076เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดูเหมือนผมจะเคยเดินทางไปบ้านโพซอ แต่นานมาแล้วผมจำไม่ค่อยได้ ธรรมชาติและการอยู่ของพี่น้อง ปกาเกอญอ เป็นวิถีที่ผมประทับใจ

ไม่กี่เดือนก่อนผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมพี่น้องแถบสาละวิน ผมไปที่ "บ้านท่าตาฝั่ง" ครับ ที่นั่นมี การพัฒนาชุมชนด้วยการท่องเที่ยว เป็นนัยเหมือนจะบอกให้สังคมรู้ว่าคนภูเขาอย่าพวกเขา รักและหวงแหนป่ามากเพียงใด

จากแม่สามแลบถึงสาละวิน จากสาละวินถึงพี่น้องปกาเกอญอ คือ ชีวิต คือคนภูเขาที่ดิ้นรนเพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์แห่งโลกที่งดงาม ในบริบทของการอยู่ร่วมกัน

ผมชอบบันทึกและรูปแบบการเขียนครับ

อ่านเพิ่มเติมในบันทึกผมครับ ที่

คนกับป่า วิถีพอเพียงกระเหรี่ยงสาละวิน

เหนือฝั่งสาละวิน เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ขอบคุณครับ

 

 

.....  สาละวิน เรื่องราว เรียงร้อย ถ้อยคำ

..... ความงาม ลึกลับ ซ่อนเร้น

..... หลากหลาย มากมาย เติมเต็ม

.... เสน่หา ป่าละวิน ยังตรึงใจ ....

.... คิดถึง สาละวิน คิดถึง ท่าตาฝั่ง คิดถึง วิถีชีวิต ปะกากะญอ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท