สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ๒. พูดหลากชนิด



ตอนที่ ๑ 

 บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุกนี้    เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)    กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม   และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

บันทึกชุดนี้ยก “การพูด” ขึ้นเป็นกิจกรรมหลักที่เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง    ซึ่งค่อนข้างย้อนทางหรือแตกต่างจากความเชื่อเดิมในเรื่องการเรียนรู้    เช่นไทยเรามี “คาถานักปราชญ์” ว่า สุ จิ ปุ ลิ  ซึ่งย่อมาจาก สุตตะ - ฟัง, จิตตะ - คิด, ปุจฉา - ถาม, และลิขิต - จด   สะท้อนการเรียนรู้แบบเก่า คือเรียนโดยรับถ่ายทอดจากผู้รู้    ต่างจากในบันทึกชุดนี้ ที่มุ่งให้ผู้เรียนพูด เพื่อเสนอความคิดของตนออกมา    ไม่ใช่แค่ถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ตายตัวเท่านั้น

เท่ากับบันทึกชุดนี้มุ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมห้องเรียน    จากความเชื่อว่า “ห้องเรียนที่ดีคือห้องเรียนที่เงียบ มีครูพูดอยู่คนเดียว    นักเรียนจะพูดได้ต่อเมื่ครูอนุญาตให้พูด”    มาเป็น “ห้องเรียนที่ดีคือห้องเรียนที่ทั้งนักเรียนและครูพูดกระตุ้นการเรียนรู้ที่ทรงพลัง”

การ “หนุนให้นักเรียนพูดเพื่อเรียนรู้” นี้    มุ่งหวังให้นักเรียนพูดต่างๆ กัน ในลักษณะพูดออกมาจากใจ    สะท้อนความคิดที่แตกต่างหลากหลาย    เพื่อนำไปสู่การร่วมกันพิจารณาข้อมูลและเหตุผลสนับสนุน    เป็นการเรียนแบบเน้นกระบวนการฝึกหัดคิด    เป็นการ “เรียนพูดเพื่อเรียนคิด”  

ความแตกต่างหลักของการเรียนรู้ในบันทึกชุดนี้จากการเรียนรู้แบบเก่าคือ    ในการเรียนรู้แบบเก่ามุ่งเรียนความรู้ที่ชัดเจนแน่นอน หยุดนิ่งตายตัว    แต่ในบันทึกชุดนี้ เชื่อว่าการเรียนรู้ยุคใหม่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่เรียนความรู้ หรือแค่เพื่อรู้  แต่ต้องฝึกเอาความรู้ไปใช้งานในหลากหลายบริบท    จนเกิดทักษะหรือสมรรถนะในปฏิบัติการที่พึงประสงค์อย่างหลากหลาย    เกิดความเชื่อและคุณค่าที่พึงประสงค์    การเรียนรู้ยุคใหม่จึงเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต    มีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ หรือมีแง่มุมที่ขัดแย้งในตัวเองด้วย

เป้าหมายของการพูดในห้องเรียนมีอย่างน้อย ๖ ประการคือ  (๑) กระตุ้นการคิด  (๒) กระตุ้นการเรียนรู้  (๓) สื่อสาร  (๔) สร้างความสัมพันธ์เชิงประชาธิปไตย  (๕) เพื่อสอน  และ (๖) เพื่อประเมิน  

การพูด เพื่อการเรียนรู้ในที่นี้ จึงมีการพูดหลากชนิด    ที่ควรได้ทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อน

พูดตอบคำถาม 

คำพูดที่นักเรียนคุ้นเคยที่สุดคือ ตอบคำถาม (answer)    สมัยผมเริ่มเรียนหนังสือเมื่อกว่า ๗๐ ปีมาแล้วนักเรียนมีหน้าที่ฟังครูสอน    นักเรียนที่ดีต้องตั้งใจฟังครู    ต้องไม่คุยในชั้นเรียน ซึ่งหมายความว่า ต้องไม่พูดจนกว่าครูจะบอกให้พูด    ซึ่งก็คือตอบคำถาม    แต่สมัยนี้ต้องการให้นักเรียนพูด หรือสนทนากันเพื่อการเรียนรู้ของตน    บันทึกชุดนี้มุ่งแนะนำครูให้มีวิธีหนุนให้นักเรียนสนทนากันอย่างเข้าเรื่องเข้าราวสู่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง    ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการสนทนาในรูปแบบต่างๆ  

คำถามสมัยผมเป็นนักเรียนเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นคำถามปลายปิด    ซึ่งหมายถึงเมื่อนักเรียนตอบก็จบ    ส่วนที่ไม่จบก็เพียงข้อเฉลยว่าตอบถูกหรือผิด  ใครตอบถูก ใครตอบผิด    แต่คำถามเพื่อการเรียนรู้สมัยนี้เน้นคำถามปลายเปิด    คือไม่เน้นคำตอบถูกผิด เน้นตอบเป็นคำอธิบายที่สะท้อนการคิดและการมีข้อมูลสนับสนุน   

คำถามในชั้นเรียนสมัยก่อนจึงเน้นตรวจสอบว่านักเรียนมีความรู้หรือไม่    แต่คำถามในชั้นเรียนสมัยนี้เน้นกระตุ้นให้นักเรียนคิด  หรือให้นักเรียนได้ฝึกคิด    เมื่อมีนักเรียนคนหนึ่งตอบ ไม่ว่าจะตอบว่าอย่างไร ก็จะมีคำถามต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ    นี่คือคำถามปลายเปิด    ในสภาพนี้ การตอบถูกผิดไม่สำคัญเท่ากับคำอธิบาย ที่สะท้อนการมีข้อมูล และมีวิธีคิด    ที่จะช่วยให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยน    เพื่อกระตุ้น หรือฝึกการคิด

สำหรับนักเรียนอนุบาลถึงประถมศึกษา การพูดโต้ตอบเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้    มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษด้านการพูด ภาษา และการสื่อสาร ที่ในหนังสือเรียกว่าเด็ก SLCN (speech, language and communication need)    ครูต้องมีทักษะวินิจฉัยเด็กกลุ่มนี้ และรู้วิธีช่วยเหลือ  

พูดเพื่อตั้งคำถาม

ในโลกยุคปัจจุบัน ทักษะการตั้งคำถามสำคัญกว่าทักษะตอบคำถาม    เพราะการตั้งคำถามนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดสิ่งใหม่    ที่เป็นทักษะสำคัญยิ่งในศตวรรษที่ ๒๑    ดังนั้น ในชั้นเรียนสมัยใหม่ นักเรียนควรได้ร่วมกันตั้งคำถามในทุกเรื่อง

นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นชั้นเด็กเล็ก ประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ต่างก็ได้ชื่อว่าเป็น “มือใหม่” (novice) ในเรื่องต่างๆ    ข้อดีของมือใหม่คือ มีมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ จากมุมของผู้ไม่เคยพบเห็นมาก่อน  นำไปสู่การตั้ง “คำถามโง่ๆ” หรือ “คำถามที่ไร้เดียงสา”    เพราะ มือใหม่ มีมุมมองหรือวิธีมองสิ่งต่างๆ ต่างจาก “มือชั้นครู”  หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ”   ที่มักมองข้ามประเด็นพื้นๆ ไป    คำถามต่อ ประเด็นพื้นๆ บางครั้งนำไปสู่การคิดสิ่งใหม่ๆ หรือคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่เป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ ๒๑    ครูจึงต้องพร้อมรับฟังคำถามจากมือใหม่    เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิดของมือใหม่ที่บางครั้งช่วยให้ครูได้กลับไปค้นคว้าต่อ ว่าประเด็นที่มือใหม่ตั้งคำถามนั้น คำตอบที่ถูกต้องเป็นอย่างไร    ครูควรใช้เป็นโอกาสสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างไร  

ที่สำคัญยิ่งกว่า คำถามจากมือใหม่ ช่วยให้ครูได้วิเคราะห์คำถามนั้น ว่ามาจากวิธีคิดแบบไหน    ซึ่งในบางกรณีอาจเป็นวิธีคิดที่ดี และแปลกใหม่    และบางคำถามของศิษย์ช่วยสะท้อนความเข้าใจ หรือการตีความผิดๆ ของศิษย์    ที่ครูจะต้องหาวิธีที่แยบยลให้ศิษย์ได้เปลี่ยนชุดความรู้ความเข้าใจเสียใหม่    การช่วยให้แก้ไขความรู้ผิดๆ นี้ มีคุณค่ายิ่งต่อศิษย์    และที่น่าจะพบบ่อยยิ่งกว่า คือ คำถามบ่งชี้ความรู้เดิมที่ผิวเผิน    ที่ครูจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับออกแบบการเรียนรู้ที่ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้อย่างลึกและเชื่อมโยง    และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ สร้างนิสัยการเรียนรู้แบบลึกและเชื่อมโยง  ไม่หยุดอยู่ที่เรียนรู้แบบตื้น (ท่องจำ และเชื่อตามคัมภีร์โดยไม่ตรวจสอบ)      

ครูต้องฝึกใช้คำถามของศิษย์เป็นตัวช่วยให้มองเข้าไปเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสมองศิษย์ ตามหลักการ visible learning ของ John Hattie    ซึ่งก็คือ ความเข้าใจวิธีคิดของศิษย์นั่นเอง    ที่จริงครูต้องฝึกและใช้ทักษะนี้ตลอดในทุกตอนของบันทึกชุดนี้

อุดมการณ์สำคัญคือ การจัดห้องเรียนให้เป็น “ชุมชนขี้สงสัย” (community of enquiry)    นำไปสู่การส่งเสริมให้ครูได้ฝึกทักษะส่งเสริมให้ “ห้องเรียนเป็นชุมชนขี้สงสัย”    ในสหรัฐอเมริกาดำเนินการโดย Institute for the Advancement of Philosophy for Children (IAPC) (๓)  ใช้คำย่อของขบวนการนี้ว่า P4C - Philosophy for Children    ซึ่งก็คือขบวนการส่งเสริมและสร้างความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบตั้งคำถาม (inquiry-based teaching) นั่นเอง     มีบริการฝึกครูให้มีทักษะนี้  

พูดเพื่อแสดงจุดยืน หรือแสดงพลัง(voice)  

ข้อนี้เชื่อมไปสู่ “สิทธิเด็ก” (children’s right) ด้วย    และเชื่อมโยงไปสู่เด็กที่อยู่ในฐานะด้อยโอกาส    เช่นต่างสีผิว ต่างศาสนา ต่างภาษา    ที่ครูพึงระมัดระวังว่า คำพูดบางคำอาจก่อปมด้อยแก่เด็กบางคน   

คำพูดแบบนี้มุ่งแสดงความมุ่งหวัง  ข้อคิดเห็น ไอเดีย  อารมณ์  ความต้องการ  รวมทั้งแสดงตัวตน     เป็นคำพูดที่แสดงจุดยืน  และสิทธิ    เป็นการส่งสัญญานต่อครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ว่าพึงรับฟังและปฏิบัติต่อด้วยความเอาใจใส่   

ในประเทศที่มีปัญหาทางสังคมหรือเชื้อชาติ (เช่นสหรัฐอเมริกา) เรื่องคำพูดและท่าทีของผู้พูดมีความอ่อนไหวที่จะถูกเข้าใจไปในทางเหยียดผิว     รวมทั้งครูและโรงเรียนต้องอดทนต่อการแสดงออกในทางขัดแย้ง     ประเทศไทยเราไม่มีปัญหานี้ชัดแจ้ง    แต่ครูพึงตระหนักว่า คำพูดหรือท่าทีของครูต่อเด็กบางคนหรือบางกลุ่มอาจสร้างปัญหาต่อการพัฒนาความมั่นใจในตัวตน (self-esteem) ของเด็ก    เรื่องนี้ผมเคยมีประสบการณ์ตรงตอนอายุ ๑๐ ขวบ เรียนชั้น ม. ๑ (สมัยนั้นชั้นประถมศึกษาสูงสุดคือชั้น ป. ๔) ในโรงเรียนประจำจังหวัดในฐานะเด็กบ้านนอกห่างไกลจากตัวเมือง

นอกจากนั้น ปฏิสัมพันธ์ในโรงเรียน ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกัน ทั้งด้านคำพูดและพฤติกรรม    เป็นกระบวนการทางสังคม ที่มีส่วนสร้างทักษะทางสังคม (social skills) ที่ดีที่เหมาะสม ให้แก่นักเรียน  เช่น   ทักษะการรับฟังผู้อื่นด้วยท่าทีให้เกียรติหรือเคารพ    ทักษะแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือเอื้อเฟื้อต่อความต้องการของผู้อื่น

ขอย้ำว่าการ “พูดเพื่อเรียนรู้” นั้น มีทั้งการพูดเสนอ (initiate)    และการพูดสนอง (response)    ครูสามารถใช้การพูดทั้งสองแนวนี้เพื่อการเรียนรู้และพัฒนานักเรียนในหลากหลายมิติของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    โดยพึงตระหนักว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงเรื่องการพูด    แต่เป็นเรื่องของการสื่อสาร    ซึ่งหมายความว่ามีการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูด (non-verbal communication) ด้วย    “การเรียนจากการพูด” ในบันทึกชุดนี้ แท้จริงแล้ว เป็นการ “เรียนจากการสื่อสารที่ซับซ้อน”  

กลับมาที่สิทธิเสียง (voice) ของนักเรียน    หนังสือ A Dialogic Teaching Companion บอกว่า มี ๔ ด้านคือ  (๑) มีโอกาสพูด  (๒) แสดงข้อคิดเห็นของตนเอง (ไม่ใช่ลอกเลียนจากคนอื่น)  (๓) พูดในภาษาหรือถ้อยคำของตน   (๔) ได้รับการรับฟัง    ซึ่งผมขอเสนอความเห็นส่วนตัวว่า ครูพึงฝึกให้นักเรียนได้ตระหนักว่า สิทธิ (rights) คู่กับความรับผิดชอบ (responsibilities)    นักเรียนจึงต้องฝึกใช้สิทธิเสียงของตนอย่างมีความรับผิดชอบ    ด้วยท่าทีสุภาพ เคารพข้อคิดเห็นที่แตกต่าง    

หนังสือเสนอ ๔ คำถาม สำหรับครูนำมาปรึกษาหารือกันคือ  (๑) มีวิธีใดบ้างที่จะส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนพูดเสนอความเข้าใจหรือข้อคิดเห็นของตนออกมา   (๒) ครูทำอย่างไรเพื่อให้นักเรียนเห็นว่าทุกข้อคิดเห็นได้รับการรับฟังและยอมรับ   (๓) เมื่อนักเรียนพูด ครูได้ยินเสียงของใคร (ของตัวนักเรียนเอง หรือไปจำคำพูดมาจากที่อื่น)   (๔) หากคำพูดของนักเรียนแหวกแนวไปจากแผนการสอนหรือความคาดหวังของครู จะทำอย่างไร  

คำตอบของผมต่อคำถามข้อ ๔ คือ “ใช้หลักการสานเสวนา”    ชวนนักเรียนทั้งชั้นทำความเข้าใจคำพูดหรือข้อเสนอนั้น    เจาะหาข้อมูลหลักฐานและวิธีคิดหรือความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง    เพื่อทำความเข้าใจคำพูดนั้นในมิติที่ลึก    ซึ่งอาจนำไปสู่การรวมตัวกันของนักเรียน    ร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่ชุมชนนั้นๆ    เปิดช่องทางสู่การเรียนรู้ประเด็นสำคัญในชีวิตจริง

การจัดการคำพูดในห้องเรียน จะทรงพลังยิ่งต่อการเรียนรู้ หากนำไปสู่การกระทำของนักเรียน เพื่อการเรียนรู้จากสภาพชีวิตจริง  

หนังสือเตือนว่า มี “สิทธิที่จะเงียบ” (right to be silent) ด้วย    ครูพึงตระหนักและจัดการสิทธินี้เป็น    “สมศักดิ์มีความเห็นอย่างไร  (ให้เวลาคิด ๑ นาที  ยังไม่มีเสียงตอบ)  ยังนึกไม่ออกใช่ไหม  ไม่เป็นไรเดี๋ยวนึกออกยกมือขอตอบได้”   โดยครูต้องไม่ลืมที่จะสังเกตนักเรียนบางคนที่มีความต้องการความช่วยเหลือในการฝึกทักษะด้านภาษาและการพูด (SLCN - speech, language, communication need) หรือมีความอ่อนแอด้าน oracy    และหาทางช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาระยะยาวของนักเรียนผู้นั้น     

การร่วมกิจกรรมแบบไร้เสียง(voiceless participation)

ครูพึงระมัดระวังว่า อาจมีนักเรียนบางคนเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนกับเพื่อนๆ อย่างเอาจริงเอาจัง     แต่เป็นการเข้าร่วมแบบทำตามที่ผู้อื่นกำหนดหรือบงการ    ไม่ได้คิดเองหรือมีส่วนร่วมคิด    หากครูปล่อยให้นักเรียนคนใดมีพฤติกรรมเช่นนั้นตลอดไป จะเป็นการทำร้ายศิษย์ทางอ้อม    เพราะนักเรียนคนนั้นจะขาดโอกาสฝึกตัวเองให้มีสมรรถนะด้านการเป็นผู้ก่อการ หรือผู้กระทำการ (agentic competencies)    ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคต   

วิธีแก้ง่ายนิดเดียว คือ ครูชี้ให้ศิษย์ผู้นั้นเป็นผู้นำเสนอผลงาน    หรือเป็นผู้ตอบคำถามและอธิบายเหตุผล    นักเรียนก็จะเตรียมตัวแสดงบทบาทเหล่านั้น    คือต้องคิดไปตลอดเวลาที่ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน  

พูดทวนความจำ (recitation)

นี่คือการพูดมาตรฐานของนักเรียนที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน    เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่า  IRF (initiation – response – feedback) หรือ IRE (initiation – response – evaluation)    คือครูเริ่มกิจกรรมด้วยคำถาม (initiation)  ให้นักเรียนตอบ (response)   ตามด้วยคำเฉลย (feedback)    ซึ่งโดยทั่วไปคำถามมักเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว (หรือคำถามปลายปิก)    เมื่อชี้ให้นักเรียนตอบ และได้คำตอบ    ก็ตามด้วยคำเฉลย “ถูก เก่งมาก”  หรือ “ผิด  คำตอบที่ถูกคือ...”    การพูดทวนความจำแบบนี้มีค่าน้อยต่อการเรียนรู้    เพราะสร้างการเรียนรู้เพียงระดับตื้นเท่านั้น

ครูสามารถใช้การสอนแบบทบทวนความจำให้เกิดคุณค่าในระดับลึกและเชื่อมโยงได้    โดยเริ่มต้นกิจกรรมด้วยโจทย์ที่ซับซ้อนต้องการคำตอบที่มีคำอธิบาย   และมีคำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมได้หลายคำคตอบ    เมื่อครูถาม ให้เวลานักเรียนคิด ๑ นาที    และให้จับคู่คุยแลกเปลี่ยนอธิบายคำตอบ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน    แล้วชี้ให้ตอบพร้อมข้อมูลสนับสนุนและคำอธิบายให้เพื่อนฟังสักสามสี่คู่    แล้วครูให้ feedback เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนั้นในมิติที่ซับซ้อน คิดได้หลายมุมหลายระดับความลึก   หรือให้คำแนะนำให้ไปค้นคว้าข้อมูลต่อ    โดยไม่จำเป็นต้องเฉลยถูกผิด     

หลังจากครูให้ feedback   อาจตามด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถามกันเอง และหาคำตอบกันเอง    สภาพชั้นเรียนจะเปลี่ยนจากการพูดแบบถามตอบ (recitation)  ไปเป็นการพูดแบบโต้ตอบไปมา (reciprocal)  

สานเสวนา (dialogue)   

ในที่นี้หมายถึงการพูดและฟังกันหลายคน    ต่างจาก monologue ที่เป็นการพูดคนเดียว คนอื่นฟัง     ในหนังสือ A Dialogic Teaching Companion บอกว่า การสนทนา (conversation),   การอภิปราย (discussion),  การร่วมกันตรวจสอบ ข้อคิดเห็นหรือข้อมูล (deliberation), และ การพูดแย้ง (argumentation)  เป็นการสานเสวนาทั้งสิ้น    การพูดและฟังกันเหล่านี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  มีการมองหลายมุม  มองเห็นความกำกวมหรือความไม่ชัดเจนของ “ความจริง” หรือเหตุการณ์ต่างๆ    เห็นสภาพความเป็นจริงว่า คนเรามองสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน    ในหลายกรณีอาจมองต่างในระดับขาวกับดำ     

พูดแย้ง (argumentation)

มีเป้าหมายเพื่อเสนอมุมมองที่ต่าง    โดยที่อาจใช้ข้อมูลเดียวกัน  หรือเสนอข้อมูลใหม่เป็นหลักฐาน    ในบางกรณีมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะ    แต่ในห้องเรียนเน้นเพื่อการเรียนรู้ระดับสูง    

ในหนังสือระบุว่าการพูดแย้งมี ๖ ระดับคือ  (๑) ยื่นข้อเสนอ  (๒) เสนอตัวอย่าง  (๓) เล่าเรื่องราวสู่ข้อสรุปพร้อมเหตุผล  (๔) โต้วาทีระหว่างสองฝ่ายที่มองประเด็นต่างกัน  (๕) โต้แย้ง (dispute)  (๖) ทะเลาะ (quarrel)    

หนังสือบอกว่า การพูดแย้ง (argumentation) มี ๗ ชนิดคือ

  • พูดชวนเชื่อ (persuation)
  • พูดชวนให้ตั้งคำถาม (inquiry)
  • พูดชวนสู่ข้อค้นพบ (discovery)
  • พูดต่อรอง (negotiation)
  • พูดหาข้อมูลเพิ่ม (information-seeking)
  • ชวนตรวจสอบ (deliberation)
  • ยั่วโทสะ (eristic)   

วิธีโต้แย้งให้เกิดผลมี ๖ องค์ประกอบคือ  (๑) ระบุประเด็น (claim) ให้ชัดเจน   (๒) ให้ข้อมูลสนับสนุนที่ครบถ้วนสมเหตุสมผล (ground)   (๓) ให้เหตุผลอธิบายข้อมูลหลักฐานสนับสนุน (warrant)   (๔) ให้ข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม (backing)   (๕) บอกข้อจำกัด หรือจำกัดวงของประเด็น (qualifier)   (๖) ให้ความเห็นโต้แย้ง (rebuttal)

หนังสือบอกว่า ครูต้องฝึกให้ศิษย์มี argument literacy    ซึ่งหมายถึงทักษะในการทำความเข้าใจ  สร้างข้อเสนอ  และประเมินข้อโต้แย้ง    ผ่านการฟัง พูด อ่าน และเขียน    โดยกระบวนการที่เรียกว่า การสานเสวนาเพื่อตั้งคำถาม (inquiry dialogue)  และการสานเสวนาเพื่อการค้นพบ (discovery dialogue)    โดยผมขอย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวต้องอยู่ในบรรยากาศของการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน    คือใช้หลักการ 3C ตามในหนังสือ    ซึ่งหมายถึง critical, creative, และ caring       

สรุป

การพูดกับการฟังเป็นของคู่กัน    ขยายความได้เป็นการสื่อสารกับการรับสาร    ซึ่งมีการสื่อสารที่เป็นกิริยาท่าทางน้ำเสียงสีหน้าด้วย   ที่เรียกว่า การสื่อสารผ่านอวัจนะภาษา (non-verbal communication)    การสื่อสารและรับสารเหล่านี้เป็นช่องทางของการเรียนรู้แบบ “เรียนเชิงรุก” (active learning)   ซึ่งครูจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนในการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนพัฒนาทักษะเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้ที่ครบถ้วนรอบด้านของตน รวมทั้งให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เมษายน ๒๕๖๔   ปรับปรุง ๒๓ และ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔

วันพ่อ

   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท