ห้องสมุดมีชีวิตสำหรับเด็กเล็ก


เมื่อมีคำถามจากเครือข่ายคนรู้จักว่าห้องสมุดสำหรับเด็ก: ศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิตเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ในวัยเด็กเล็ก ควรทำอย่างไร ก็ทำให้นึกสนุกลองตอบโจทย์ผู้ที่ถามมา ลองเอาประสบการณ์ในวิชาชีพที่ช่วงเวลาหนึ่งของการทำงานได้ช่วยหลายๆหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน วัด โรงเรียน พัฒนาห้องสมุดมาลองทำการบ้านดู ไม่รู้ว่าจะตอบได้ถูกใจใช่แนวทางไหม แต่ก็ลองดูสักเรื่อง

เริ่มจากตั้งคำถามให้ตัวเอง

  • อะไรที่ทำให้เด็กเล็กมีความสุขในการเรียนรู้และสร้างเสริมพฤติกรรมรักการอ่าน
  • เด็กมีความสุขเมื่ออยู่ที่ไหนมากกว่ากัน 1.ห้องเรียน 2.สนามเด็กเล่น/ร้านเกม 3.ห้างสรรพสินค้า 4.ร้านขายของเล่น 5.ร้านขนม
  • ทำอย่างไรเมื่อปรับปรุงห้องสมุดแล้ว เด็กจะอยากอยู่ที่นี่ ไม่ร้องไห้ตามแม่กลับบ้าน  อยากมาโรงเรียน
  • ทำอย่างไรห้องสมุดที่เราพัฒนาจะเป็นต้นแบบ เป็นข่าว เป๊ะ ปังดังเว่อร์
  • ทำอย่างไรที่ห้องสมุดนี้จะมีความยั่งยืน มีชีวิตชีวา

เอางี้ก่อนเด็กเล็กอ่านหนังสือไม่ออก ไม่น่าจะมีห้องสมุดสำหรับเด็ก  น่าจะเป็นศูนย์สื่อการเรียนรู้ มากกว่า  เพราะตรงนี้พื้นที่นี้เอาไว้เก็บอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ครูเอามาใช้กับเด็ก พื้นที่ อาจจะเป็นบริเวณส่วนหนึ่งของห้อง หรือแยกห้องต่างหากก็ได้

ก่อนจะพัฒนาปนัปนุง... เราต้องทำความเข้าใจกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  เด็กปฐมวัย หมายถึง เป็นเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 - 5 ปี พัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงอายุ ปฐมวัยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้ ในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จากบิดา มารดา คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการที่เป็นรากฐานของ บุคลิกภาพ อุปนิสัย และการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ สมอง สติปัญญา ความสามารถ เพราะเด็กในช่วงตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์แม่จนถึง 4 ปี ระบบประสาทและสมองจะเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด (ประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่) การอบรมปลูกฝังสร้างเสริมพัฒนาการทุกด้านให้แก่เด็กปฐมวัยได้เจริญ เติบโตเต็มศักยภาพในช่วงอายุนี้ จะเป็นรากฐานที่ดีจะให้เขาเติบโตเป็นเยาวชนและพลเมืองที่ดี เฉลียวฉลาด คิดเป็น ทำเป็น และมีความสุข

  1. 1. กระบวนการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  https://sites.google.com/site/ochonnun/kar-reiyn-ru-sahrab-dek-pthmway

   เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม 

แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่า เด็กเล็ก ความสนใจสั้น  เรียนรู้ผ่านการเล่นและประสบการณ์ใหม่ ครูหรือบรรณารักษ์ต้องเป็นผู้ถ่ายทอด จูงใจในการความสนใจ การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้จึงต้องเหมาะกับวัย  ร้อง-เล่น-เต้น-รำ นอนกลางวัน ตื่นขึ้นมาแล้วกินนม และ ห้องสมุดมีชีวิตไม่ได้อยู่ที่งบประมาณเพียงพอหรือไม่  แต่อยู่ที่บรรยากาศที่ครูหรือบรรณารักษ์จะสร้างความมีชีวิตชีวาจากทรัพยากรที่มีอยู่

ดังนั้นศูนย์สื่อการเรียนรู้ที่ดีต้องตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเล็กได้ดี ต้องมีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับวัย มารู้จักประเภทของสื่อกัน

 ประเภทของสื่อสร้างสรรค์และเครื่องเล่น    • หนังสือภาพ  •นิทาน  • E-book  • เพลงและดนตรี    • การ์ตูนและแอนนิเมชั่น    • ภาพยนตร์/สารคดีสั้นสำหรับเด็ก   • บล็อก      • เครื่องเล่นสัมผัส     • ชุดฝึกทักษะการเคลื่อนไหว     • หุ่นต่าง ๆ เห็น หุ่นมือ หุ่นเชิด   • เกมการศึกษา     • ศิลปะสร้างสรรค์      • ชุดฝึกทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์  

การจัดบริการ

1. มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย 

2. มีจัดเก็บให้น่าสนใจแบบชั้นโชว์ หรือตู้นิทรรศการ ที่ไม่สูงเกินไป

    3. ทรัพยากรการเรียนรู้เข้าถึงง่าย เด็กๆสามารถเจ้าถึงได้ตามความสนใจ  

    4. วัสดุอุปกรณ์ที่จัดเก็บไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ

    5. หากมีคอมพิวเตอร์ในการให้บริการ ให้ต่อสายดินและตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟ

    6. พื้นที่ในการให้บริการมีความยืดหยุ่น สามารถปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับกิจกรรมได้

    7. ใช้พื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้สูงสุดในรูปแบบ Story Graphic เช่น พื้นห้อง/ผนัง/เพดาน

    คำอธิบายรูป ภาพกราฟิกระหว่างทางเดิน พื้น บันได ผนัง เพดาน  สามารถสร้างให้ดึงดูดความสนใจและสร้่งแรงบันดาลใจให้กับการเรียนรู้ได้

    8. เด็กที่เป็นผู้ใช้บริการนั้นควรมองเห็นการให้บริการ/กิจกรรมในพื้นที่นั้น เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจในการเรียนรู้ อาจทำผนังส่วนบนเป็นกระจก  แต่ไม่ควรทำเป็นกระจกทั้งบาน เพราะอาจเกิดอันตรายต่อการเดินชนหรือกระแทก

    9. มีแสงสว่างเพียงพอ

    10. มีอากาศถ่ายเท (หากเป็นห้องปรับอากาศ ควรติดพัดลมดูดดอากาศ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ) หากเป็นห้องปรับอากาศควรเปิดหน้าต่างหรือประตูเพื่อระบายอากาศเป็นบางช่วงเวลา

    11. มีพื้นที่สำหรับการติดบัตรคำ การเขียน (ไม่ควรใช้กระดานดำ) ติดแสดงชิ้นผลงาน อาจติดผนังถาวรหรือเป็นแบบเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเป็นการดึงดูดความสนใจในการเรียนรู้และประดับห้องไปด้วย

    12. มีทีวีขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนเด็ก 1 ห้อง อาจตั้งอยู่ประจำหรือหรือเคลื่อนย้าย อาจใช้ร่วมกับเครื่องขยายเสียงแบบเคลื่อนที่กรณีเด็กมีจำนวนมาก

    13. พื้นที่การเรียนรู้ควรนับรวมตั้งส่วนหน้าของห้อง รวมทั้งทางเดินที่เดินทางมายังห้องบริการ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นความอยากเรียนรู้ และสร้างความมีชีวิตชีวา

    14. มีโต๊ะทำสำหรับทำกิจกรรมที่ความสูงเหมาะสมกับวัยเด็ก และสามารถพับเก็บได้หากไม่มีการใช้งาน เช่น โต๊ะญี่ปุ่น เบาะนั่ง

    สิ่งที่ทำให้ Wow ทุกคนหันมามอง และกล่าวถึง

    สีสัน :  สดใส  ไม่ควรใช้โทนสีร้อน แม้ว่าการทำกราฟฟิกเป็นเรื่องที่หลายๆห้องสมุดควรมีพื้นที่ว่างไว้พักสายตา

    รูปทรง : แปลกตา  ดึงดูดความสดใส

    การออกแบบ : เหมาะสมกับวัย มีความปลอดภัย มีความแข็งแรง นึกถึงหลักความปลอดภัยและการเคลื่อนย้าย  มีธีม (ขึ้นอยู่กับว่าจะส่งเสริมอะไร)

    บุคลากร : สามารถใช้สื่อต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ มีทัศนคติที่ที่ดี รักการเรียนรู้

    คำอธิบายรูป ทางเข้าส่วนบริการสำหรับเด็กและเยาวชนห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ สร้างเป็นซุ้มต้นไม้ตามเทพนิยาย

    สิ่งที่ต้องการงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง  

    1. งบทำความสะอาดวัสดุกึ่งถาวร ในการซักตุ๊กตา เบาะญี่ปุ่นรองนั่ง (ถ้างบเยอะซื้อใหม่เลย) การทำความสะอาดพรมปูพื้น เป็นต้น

    2. การปรับเปลี่ยนภาพวาด Story Graphic ซึ่งการเปลี่ยนรูป เรื่องราว  จะน่าสนใจมาก  กรณีภูเขียว อาจจะเป็นเรื่องหมู่บ้านช้าง พระธาตุ การแห่นาคโหด ทุ่งกระมัง  (งบน้อยใช้วิธีสร้างเครือข่ายและเปลี่ยนเป็นบางรูป)

    3. ค่าตอบแทนวิทยากรหรือค่าของที่ระลึกในการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ  (ต่างประเทศใช้การเชิญผู้ปกครองมาเล่า) เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชน

    4. ค่าไวไฟ ค่าสมัครรายการต่างๆบนอินเทอร์เน็ต

    5. ค่าจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติม (เด็กเล่น///เด็กอ่าน  มีขาด มีเก่า บางอย่างสะสมเชื้อโรคนะคะ)

      สื่อที่น่าสนใจ

      ฟรีนิทาน E-book  เช่น

        http://brillkidsthai.com/free-download/childrens-ebooks.php#

        https://sites.google.com/mcru.ac.th/e-bookfree-mcru/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%81

        การสร้างความมีชีวิตชีวา

        1. มีแผนกิจกรรมประจำเดือน (หรือสัปดาห์) ที่แยกออกจากการเรียนการสอน

        2. มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านโซเซี่ยลเพื่อให้ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนอื่นทราบและอาจจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วม 

        3. ทำกิจกรรมผนวกการอ่าน ที่เสริมสร้างเสริมการคิดวิเคราะห์ การแสดงออก เพื่อให้เด็กมีความเก่ง ดี มีสุข สมวัย

        4. วัดความก้าวหน้าจากเด็ก หลังกิจกรรมการอ่าน/การเรียนรู้จากตัวเด็ก เช่น การสอบถาม การให้ยกมือ การเล่าให้ผู้ปครองฟังเวลาผู้ปกครองมารับ

          ...ไหน วันนี้ฟังครูอ่านนิทานเรื่อง....แล้วเป็นยังงัย ลองเล่าให้คุณแม่ฟังสิ

          ...ถ้าหนูเป็นเสือ (ตัวละครจากหนังสือ) หนูจะทำอย่างไร

          5. ใช้เด็กเป็นคนต้นเรื่อง นำเข้ากับกิจกรรมการอ่าน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ การจูงใจ

          6. เปิดโอกาสให้เครือข่ายความร่วมมือ ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้


            ตัวอย่างกิจกรรม

            การยืมหนังสือนิทานกลับบ้านทุกวันศุกร์/ส่งคืนวันจันทร์ (ผู้ปกครองร่วมกับเด็ก)

            • การเล่านิทานกับอาชีพ (ที่มีตัวละครเกี่ยวกับคนขับรถ หมอ เกษตรกร เป็นต้น)
            • การแสดงหนังสือใหม่
            • การประกวดภาพครอบครัวรักการอ่าน (ผ่านเฟซบุ๊ค) : ถ่ายภาพพ่อแม่หรือคนในครอบครัวกับ เด็กตอนอ่านหนังสือ)
            • การจัด Open house

              ---------------

              ขอบคุณเพื่อร่วมทีมหลายครั้งหลายคราวที่ได้ทำงานบริการวิชาการด้วยกัน

              เราไม่ใช่คนเก่ง  แต่เราก็ได้ใช้วิชาความรู้ในการพัฒนาสังคมด้วยกัน


              หมายเลขบันทึก: 690426เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2021 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2021 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


              ความเห็น (0)

              ไม่มีความเห็น

              พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
              ClassStart
              ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
              ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
              ClassStart Books
              โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท