หมิ่นประมาทออนไลน์ แตกต่างจากวิพากษ์ และวิจารณ์อย่างไรในการแสดงความคิดเห็น


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

LL.B. Chula

Ph.D. criminology and criminal justice, Chula

Cyber criminologist
 

 

      บทความกฎหมายภาษาชาวบ้านฉบับนี้ ผู้เขียนมุ่งปกป้องเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รอดพ้นภัยทั้งจากการตกเป็นเหยื่อหรือตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง โดยเฉพาะคดีอาญา “หมิ่นประมาท”   

         ปัญหาใหญ่ของโลกปัจจุบันจากการอพยพไปอยู่บนโลกไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว นอกจากเกิดสิทธิใหม่ๆ ในโลกไซเบอร์แล้ว ปัญหาอาชญากรรมใหม่ๆ ก็ลุกลามใหญ่โตกว้างขวาง แต่การเข้าใจผิดเรื่อง “สิทธิ” ในการแสดงความเห็นหรือหลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีขอบเขตแค่ไหน ส่งผลให้เกิดคดีหมิ่นประมาทออนไลน์สูงขึ้นทั่วโลกเรียกว่าคดี Online Defamation และตามมาด้วยอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง Cybernetic Hate Crime

 

การเข้าใจผิดหรือถูกบิดเบือนกฎหมาย

          ผมมักจะแนะนำน้องๆ ว่า เวลาสงสัยกฎหมายให้นึกกลับไปหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษก่อน เพราะหลักกฎหมายทั่วโลกเหมือนกันหมด กฎหมายเก่าๆ อย่างแพ่งหรืออาญามักไม่ได้นิยามไว้ชัดเจน เป็นคำโบราณ และความหมายอาจทำให้คลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลา ไม่เหมือนกฎหมายใหม่ๆ มักมีคำนิยามชัดเจนไว้ให้เข้าใจตรงกัน จึงยึดคำพิพากษาตีความตามกันมา ซึ่งการตีความกฎหมายเป็นหน้าที่ผู้พิพากษา ครูบาอาจารย์หรือนักกฎหมายเป็นเพียงผู้พยายามอธิบายให้พวกเราทำความเข้าใจ

          หมิ่นประมาท (Defamation) ดูหมิ่น (Insult) พอเราเห็นภาษาอังกฤษแล้วจะเข้าใจว่า มันไม่ใช่ วิพากษ์ (Criticize) หรือ วิจารณ์ (Comment) นี่นา...

            อย่างน้อยเราต้องเอะใจแล้วว่า ศัพท์ไม่เหมือนกันความหมายก็ไม่เหมือนกันสิ นี่คือ Key word ที่ใช้บิดเบือนให้ต่างชาติเข้าใจประเทศเราผิด แล้วจะเป็นไปได้ไหมนะ? ที่วิพากษ์หรือวิจารณ์ใคร แล้วจะถูกยัดข้อหาหมิ่นประมาท?? ตอบได้เลยครับว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มี “หลักฐาน” และกฎหมายบ้านเราไม่ได้เอาคนเข้าคุกง่ายๆ ครับ ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ท่านวางหลักไว้ว่า “ถ้าไม่สิ้นสงสัยให้ยกฟ้องครับ” เรียกได้ว่ายอมปล่อยคนชั่วสิบคนดีกว่าเอาคนดีหนึ่งคนเข้าคุก พยานและหลักฐานต่างๆ ต้องสิ้นสงสัยจริงๆ เป็นอื่นไปไม่ได้แล้ว ถึงจะเอาผิดผู้ต้องหาได้ อีกทั้งศาลท่านจะพิจารณาองค์ประกอบความผิดให้ครบอีกนะครับ ทั้งองค์ประกอบภายนอกคือการกระทำ และองค์ประกอบภายในคือมีเจตนาร้ายหรือจิตใจที่ชั่วร้าย พลั้งพลาดหรือประมาทก็ว่ากันไป แน่นอนว่าเราก็ไม่อยากให้คนที่จิตใจชั่วร้ายอยู่ร่วมในสังคม

          ความชั่วร้ายโดยธรรมชาติ ภาษาละตินเรียกว่า mala in se เราเข้าใจกันได้ด้วยสามัญสำนึกของคนทั่วไปว่า เป็นการกระทำชั่วร้าย เช่น ฆ่าคน ขโมยของ และควรได้รับโทษอาญา อะไรที่รับโทษอาญามักเป็นความชั่วร้าย ซึ่งความชั่วร้ายโดยธรรมชาตินี้รวมถึงหมิ่นประมาทด้วยครับ    

          การเข้าใจผิดหรือการบิดเบือนความหมายเรื่อง “หมิ่นประมาท” เกิดขึ้นทั่วโลก และผมก็เป็นห่วงเยาวชนคนรุ่นใหม่จริงๆ ถ้าผมไม่อธิบายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ฟัง ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่คุณนับถือศรัทธากำลังผลักดันคุณอยู่ข้างหลังเพื่อสร้างความเกลียดชังสถาบันเบื้องสูง เขาไม่มีวันบอกคุณแน่ๆ ครับ และคุณจะไม่สงสัยด้วยว่า ทำไมเขาไม่ตกเป็นผู้ต้องหา 

 

ความหมายของหมิ่นประมาท (Defamation)

          หมิ่นประมาท (Defamation)มีทั้งทางแพ่ง และอาญา ซึ่งหมิ่นประมาททางอาญา คือ “ใส่ความผู้อื่นให้เขาเสียชื่อเสียงหรือถูกเกลียดชัง” ผมอธิบายแบบง่ายๆ อย่างนี้ละกันครับ ไม่ใช่แค่เรื่องโกหกนะครับ เรื่องจริงก็ไม่ได้ เช่น ถ้าคนนั้นขาเป๋ พิการ หรือเพิ่งพ้นโทษมา เราจะไปบอกให้ผู้อื่นเกลียดชังเขาไม่ได้

          ถ้าคุณไปหมิ่นประมาทใครในโลกออนไลน์ เขาเรียกว่าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โทษหนักครับ กฎหมายอาญามาตรา 328 คุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท ครับ เรียกได้ว่าขั้นต้นคุณจะหมิ่นประมาทใครในโลกโซเชียล กำเงิน 200,000 บาท พร้อมโดนปรับก่อนนะครับ ไม่นับค่าเสียหายทางแพ่งที่จะฟ้องอีก และติดคุกด้วย

          ส่วน หมิ่นประมาททางแพ่ง จำหลักง่ายๆ ครับ คือการใส่ความ “เท็จ” ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ทำเขาเสียชื่อเสียง ถ้าเขารายได้ดี แล้วคุณไปหมิ่นประมาทเขาตกงาน ก็ต้องจ่ายเขาเยอะหน่อย

          ดูหมิ่น (Insult)จำง่ายๆ ครับ คือ การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นทั้งกิริยา และวาจาไม่สุภาพ การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นถือการด้อยค่าเขาลงมาทำให้อับอาย ถ้าด้วยกิริยา เช่น ยกเท้าใส่ ถ่มน้ำลายใส่ ก็ไม่ได้ครับ ส่วนทางวาจาไม่สุภาพ นอกจากคำหยาบแล้ว คำพูดแดกดันให้เข้าเสียใจหรืออับอายก็ทำไม่ได้ครับ กฎหมายอาญา มาตรา 393 คุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท ครับ

          ถ้าผมจะบอกว่าการหมิ่นประมาทผู้อื่นหรือดูหมิ่นผู้อื่น จิตใจอาจจะชั่วกว่าฆ่าคนหรือขโมยของด้วยนะครับ เพราะการฆ่าคนหรือขโมยของเขาอาจจะมีความจำเป็น แต่การที่เราจะไปใส่ความใครให้ถูกเกลียดชังจิตใจเราต้องชั่วจริงๆ กฎหมายคือการออกแบบสังคมให้มนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่มีชีวิตจิตใจ แต่ยังไม่บรรลุธรรม ได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โลกเราไม่เคยมีเสรีภาพให้ใครทำความชั่วร้าย เสรีภาพเรามีจำกัดและเส้นแบ่งเสรีภาพคือ “ความชั่ว” ทำไม่ได้ครับ ไม่อย่างนั้นสังคมไม่สงบสุข

           ดังนั้นเราไม่มีเสรีภาพในการไปใส่ความให้ใครถูกเกลียดชัง ไม่มีสิทธิดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ลองถามฝรั่งสักคนครับว่า “Can I defame you?” เขาน่าจะถือมากกว่าเราอีกครับ ลองเสิร์ช กูเกิล คำว่า Defamation law ดูครับเหมือนกันทั่วโลก อย่าว่าแต่ประมุขของแต่ละประเทศเลยครับ คนธรรมดาก็ไม่มีที่ไหนในโลกให้หมิ่นประมาทได้ โลกจะพัฒนาต้องอยู่บน Fact ครับ ไม่ใช่ Fake

            แต่เรามีเสรีภาพในการวิพากษ์ (Criticize) และวิจารณ์ (Comment) ครบถ้วน ทำได้ครับ เราสามารถวิพากษ์และวิจารณ์ พระมหากษัตริย์ก็ได้ครับ แต่หมิ่นประมาทไม่ได้นะครับขอย้ำ ตอนนี้คนรุ่นใหม่อาจจะถูกบิดเบือนไปจนถึงว่า พูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้หรือมาชุมนุมประท้วง แต่ถูกยัดข้อหาหมิ่นสถาบันเฉยเลย ลองนึกถึงความจริงครับ ถ้าไม่มีหลักฐานแล้วไปยัดข้อหาเนี่ย เราเอาตำรวจเข้าคุกได้นะ ทำไมไม่ทำกันล่ะ

         แต่ว่าแค่ไหนเรียกดูหมิ่นเจ้าพนักงานนะ? เคยมีคำพิพากษาฎีกาประมาณว่าอาเฮียจอดรถกีดขวาง แล้วตำรวจจราจรมาจัดการ เฮียพูดว่า “ลื้อชุ่ยมาก” คือไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงๆ ว่า ตำรวจชุ่ยยังไง จอดรถผิดกฎหมายตำรวจก็ทำตามหน้าที่เคร่งครัด ติดคุกสิครับเฮีย เอาน่าใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจอ่านบทความนี้จบแล้วรอดทุกคนครับ

           เราต้องไปทำความเข้าใจ วิพากษ์ และวิจารณ์ ก่อนครับ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ “พูดให้ดีขึ้นไม่ใช่ให้ร้าย” การวิพากษ์งานหรือวิทยานิพนธ์เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผลงานดีขึ้น ส่วนการวิจารณ์ คุณลองนึกถึงคำว่า Commentator สิครับ ในรายการประกวดร้องเพลงทำไมเขาทำได้ นั่นเพราะวิพากษ์ และวิจารณ์ ไม่มีความชั่วที่จะทำให้ใครถูกเกลียดชังหรือใส่ความเท็จ เช่น ถ้าผมจะวิพากษ์และวิจารณ์ ในหลวงผมพูดว่า ในงานพิธีนี้ผมว่าถ้าพระองค์ทรงฉลองพระองค์ชุดทหารอากาศจะงามสง่ากว่าสูทสากลนะครับ หรือโครงการหลวงนี้ น่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญด้วยนะครับ เห็นไหมครับ? ไม่ได้ใส่ความให้ร้ายหรือให้ใครมาเกลียดชัง ติชมด้วยความสุจริตใจ และไม่ได้ใส่ความเท็จ

 

Hate crime อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง

         “ถ้อยคำ” ให้ร้ายเล็กๆ แต่ผลสุดท้ายมันกลายเป็นความตายของผู้คนมากมายมาหลายครั้งในโลกของเรา นักอาชญาวิทยาเรียกว่า “อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง” หรือ Hate crime ตอนจบของคำให้ร้ายหรือดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นไม่ได้จบแค่ถูกโต้ตอบเขาทำร้ายกลับมา แต่มันส่งผลให้เกิดขบวนการก่อการร้าย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์!!!

           อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง ต่างจากอาชญากรรมทั่วไปที่คนสองคนอาจจะมีสาเหตุทะเลาะกัน ก็วิวาทเจ็บกันแค่สองฝ่าย แต่อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง พวกเขาอาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เช่น ช่างกลคนละสถาบันไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ทำร้ายกัน คนต่างศาสนา คนต่างชาติพันธุ์ คนต่างสีผิว คนต่างความเชื่อ และได้แต่ภาวนาอย่าให้คนไทยเกลียดกันเพราะการเมืองเลย

               สมมติว่าเราเรือแตก ว่ายน้ำไปติดเกาะแห่งหนึ่ง บนเกาะมีชาวบ้านนับพันเคารพเทวรูปหินกระต่ายมาสองร้อยปี ชาวบ้านเชื่อว่าเทวรูปหินกระต่ายนี้ปกป้องเกาะให้รอดพ้นภัยธรรมชาติมาตลอด เด็กทารกเกิดใหม่ก็นำมาทำพิธีมอบเป็นบุตร แต่งงานก็มาสาบานหน้าเทวรูปหินกระต่าย ญาติผู้ใหญ่ตายก็ทำพิธีศพหน้าเทวรูปหินกระต่าย ถ้าเราไปยืนหัวเราะแล้วบอกว่างมงายกันจังเลย จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าเราออกแบบสังคมบนเกาะแห่งนั้นไม่ให้มีอาชญากรรมเกิดขึ้นได้ ก็ควรจะมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทเทวรูปหินกระต่ายหรือไม่? ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ปกป้องเทวรูปหินกระต่าย แต่ปกป้องชีวิตของคนที่หมิ่นประมาทเทวรูปหินกระต่ายต่างหาก

               แม้แต่ฝรั่งก็ยังไม่เข้าใจ Defamation กับ Hate crime กันทุกคน กลับคิดว่าเสรีภาพแสดงความเห็นสามารถ Defame ผู้อื่นได้โดยเฉพาะสื่อ เหตุการณ์สังหารหมู่ที่สำนักพิมพ์ ชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) ที่ฝรั่งเศส เชื่อกันว่ามาจากสาเหตุมักเขียนการ์ตูนดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

 

            ล่าสุดเมื่อ ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา นายซามูเอล วัย 47 ปี เป็นคุณครูเอาภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของนิตยสารชาร์ลี เอบโด มาให้นักเรียนแสดงความเห็นกันในห้องเรียน เด็กหญิงมุสลิมคนหนึ่งในห้องกลับบ้านไปเล่าให้พ่อฟัง พ่อจึงโพสต์ในโซเชียลมีเดีย และมีวัยรุ่นมุสลิมวัย 18 นามว่านายอับดูลักห์ พกความแค้นมาตามหาครู ซามูเอล ถึงโรงเรียน และดักรอระหว่างครูเดินกลับบ้าน นายอับดูลักห์ จึงสังหารโดยการฆ่าตัดหัวครูทิ้งศพไว้ริมถนน คนฝรั่งเศสหลายคนยังเชื่อว่าพวกเขามีเสรีภาพล้อเลียนศาสดาหรือศาสนาใดก็ได้ 

 

 

         เมื่อเชื่อว่าสามารถดูหมิ่นใครได้อย่างนั้นก็ต้องคอยรับอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังกลับมาอันเป็นกลไกธรรมชาติ รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายห้ามสวม ฮิญาบ (ผ้าคลุมหน้าสตรีมุสลิม) และการสวมกางเขน ในที่สาธารณะ สตรีมุสลิมที่ยังปฏิบัติตามหลักศาสนาสวม ฮิญาบ ปิดหน้า อาจถูกปรับเป็นเงินถึง 150 ยูโร (6,500 บาท) และถูกส่งไปอบรมความประพฤติ และยังมีบทลงโทษสำหรับบิดา สามี หรือผู้นำศาสนาที่บังคับให้สตรีสวมสวม ฮิญาบ อาจถูกปรับเป็นเงิน 30,000 ยูโร (1,290,000บาท) หรือจำคุก 1 ปี กฎหมายดังกล่าวทำให้สตรีมุสลิมออกมาประท้วงและถูกจับ กลุ่มก่อการร้ายมีการเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งตราบใดที่ฝรั่งยังไม่เข้าใจว่า เสรีภาพแสดงความเห็นถูกแบ่งไว้ตรง “ดูหมิ่น” ใครไม่ได้ เพราะนั่นคือความชั่ว การก่อการร้ายก็คงไม่จบสิ้น

              การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในหลายประเทศอย่าง รวันดา เกิดจากการแบ่งคนในชาติออกเป็นสองฝ่าย มีอคติระหว่างกัน พูดดูถูกเหยียดหยามกัน พูดให้ดูขำขัน ดูโง่เขลา แล้วเลือกปฏิบัติ จากนั้นก็เริ่มใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรม ลบลู่สิ่งที่อีกฝ่ายเคารพ ศรัทธา และขั้นสุดท้ายก็ลุกขึ้นมาทำลายล้างกัน ผู้คนนับล้านๆ ในโลกของเรา ทั้งเด็ก และผู้หญิงจบชีวิตลงด้วยการถูกสังหารเพราะความเกลียดชัง ไม่มีอาชญากรรมอะไรเลวร้ายกว่านี้แล้ว ระเบิดนิวเคลียร์ลง ผู้เหลือชีวิตยังจับมือสร้างชาติขึ้นมาใหม่ได้ แต่หากเกลียดชังระหว่างกัน รวมชาติกลับมาใหม่ไม่ได้ และทุกอย่างเริ่มต้นจากการใช้ถ้อยคำให้ร้ายเล็กๆ น้อยๆ ทั้งสิ้น

 

มาตรา 112 ไม่ได้มีไว้กลั่นแกล้งทางการเมือง

          การบิดเบือนให้เข้าใจผิดว่า มาตรา 112 มีไว้กลั่นแกล้งทางการเมืองนับวันคนเชื่อน้อยลงไปเรื่อย มาตรา 112 วางหลักไว้ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์...” ผู้ที่ต้องการบิดเบือนถูกทำให้เชื่อว่า มาประท้วงเฉยๆ แล้วถูกดำเนินคดีในมาตรานี้

          เยาวชนคนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ได้หลอกง่ายแบบนั้นแล้ว เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าหมิ่นประมาทคืออะไร ดูหมิ่นคืออะไร แล้วจริงหรือไม่ที่ผู้ต้องหาหลายๆ คน ทำแบบนั้นจริงๆ

          กฎหมายต้องสอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ คนไทยรักผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มายาวนาน ผมเคยเห็นเพื่อนสมัยเด็กๆ ล้อชื่อพ่อชื่อแม่ยังไม่โกรธ แต่ใครมาแตะต้องพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องเลย กฎหมายอาญามาตรา 112 แท้จริงไม่ได้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เลย แต่ปกป้องปากคนที่หมิ่นประมาทสถาบัน ลองจินตนาการว่าคน 60 ล้านคน เกลียดชังคนๆ นั้นกลับคืน คนที่มาใส่ความให้ร้ายสถาบันเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร และสังคมย่อมไม่สงบสุขถ้าคนจำนวนมากเช่นนั้นออกมาเคลื่อนไหว มาตรา 112 จึงอยู่ในหมวดความมั่นคง และแน่นอนสถาบันพระมากษัตริย์อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสงครามวัฒนธรรมที่ผู้ไม่หวังดีต้องการทำลาย

 

ประโยชน์จากความเกลียดชัง

          ความเกลียดชังเป็นประโยชน์ทางการเมืองทั่วโลก เกิดการทำสงครามวัฒนธรรมด้วย Content จำนวนมาก ยุทธศาสตร์ทางการเมืองสมัยใหม่ “หากทำให้สังคมใดแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วผู้ใดประกอบชิ้นส่วนนั้นขึ้นมาใหม่จะกลายเป็นผู้ปกครอง” วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา คือเป้าหมายการทำลายสังคม แยกกลุ่มคนในสังคมออกจากกัน เกลียดกันแล้วจะไม่กลับไปง่ายๆ

       กล่าวได้ว่าสร้าง 1 hater จะได้ double voter กลับมา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการให้ร้ายใส่ความเท็จที่เรียกว่า fake news ด้อยค่าคู่แข่งทางการเมือง ได้ผลดีและรวดเร็วกว่าการสร้างความรัก เพราะการสร้างความรักต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ทั้งผลงาน และความดี ซึ่งคนรักนักการเมืองอาจเปลี่ยนใจไปฝั่งตรงข้ามได้ แต่ถ้าคนเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามเราแล้วอย่างไรก็ไม่ไปรัก ต่อให้เราไม่ต้องทำความดีอะไรก็เลือกเรา และเป็นไปได้ยากที่จะหันไปเลือกฝ่ายตรงข้าม ต่อให้มีเหตุผลดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราอยู่ในกระแสน้ำแล้วลุกขึ้นมายืนริมตลิ่ง มองความจริงเอาประเทศเป็นหลัก เราเห็นนักการเมืองแบบนั้นเป็นคนแบบไหนกันแน่

 

เหยื่อของความเกลียดชัง

          เหยื่อ หรือ ผู้รับผลร้ายกลับกลายเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หัวใจบริสุทธิ์ สมมุติว่าเราไม่รู้วิธีหาความจริง เมื่อได้รับ Fake news มา รู้สึกเกลียดชังสิ่งที่รับรู้มา พลอยฟาดงวงฟาดงาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นเกลียดชังให้ร้ายใครออกไป ผลเสียกลับมาตกกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยมีใครบอกขอบเขตเสรีภาพการแสดงความเห็นหรือการใช้ถ้อยคำ เลยตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หมดอนาคตการเรียน และการทำงาน เรากลายเป็นเหยื่อนะ พอหันไปดูคนที่แชร์ คนที่ด่าก่อนๆ หน้า ไม่โดนคดีด้วยรึ? อ้าวเป็นบัญชีปลอม Fake account ไม่ใช่คนจริงเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้เราคล้อยตาม

           เหยื่อ ที่ถูกเกลียดชัง ถูกคุกคามด้วยถ้อยคำร้ายๆ จนซึมเศร้า นักจิตวิทยาอาชญากรรมบอกว่า เขามีทางออก 2 ทางในการยุติปัญหา คือ ฆ่าคนที่คุกคามเขาด้วยถ้อยคำร้ายๆ หรือฆ่าตัวตาย และส่วนมากพวกเขาเลือกฆ่าตัวตาย โลกของเราสูญเสียศิลปินมากมายจากการคุกคามด้วยถ้อยคำร้ายๆ ในโลกโซเชียล อาจจะแค่สนุกปากพลั้งออกมาจากจิตใจชั่วร้ายอย่างไม่ใส่ใจ การตรอมใจจนกว่าจะตัดสินใจฆ่าตัวตายของคนนั้นทรมานยาวนานเป็นที่สุด และคุณคือหนึ่งในฆาตกรใจเหี้ยมเหล่านั้น ลึกๆ ศิลปินเหล่านั้นอาจจะรักคนที่คุกคามเขาด้วยถ้อยคำร้ายๆ ก็ได้ เพราะเขาไม่เลือกที่จะฟ้องหมิ่นประมาทเอาความ แต่เลือกที่จะแบกรับไว้เอง

 

ทางรอดพ้นคดีหมิ่นประมาท

          กฎหมายให้ทางรอดไว้ครับ จำหลักง่ายๆ เลย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชน และเป็น “ความจริง” ยกฟ้องครับ กฎหมายอาญา มาตรา 330 ท่านให้ไว้

          ทีนี้ตรรกะมันมีอยู่ว่า เมื่อเราตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท ศาลท่านให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เรากล่าวนั้นมันคือความจริง และเราพิสูจน์ไม่ได้ว่ามันจริง เพราะมันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐาน แปลว่าเราเชื่อเรื่องโกหกครับ

          อย่างไรก็ดี หากเรายึดหลักสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม เพื่อความชอบธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทําได้ กฎหมายท่านให้สิทธิไว้ ตามอาญา มาตรา 329 แต่นั่นไม่ใช่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำหยาบคายด้อยค่าศักดิ์ศรีผู้อื่น ให้ใช้เหตุผล หลักฐาน ข้อเท็จจริง อย่างสุจริตเป็นธรรมมาถกกันครับ

          ส่วนนักการเมืองในสภานั้น รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการโกหกบิดเบือนได้ครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 124 วางหลักไว้ว่า “สมาชิก (ส.ส. หรือ สว.) จะกล่าวถ้อยคำหรือแสดงความเห็นอะไรก็ได้ โดยไม่สามารถนำไปฟ้องร้องเอาคดีความได้ แต่ถ้าถ้อยคำนั้นไปกระทบคนอื่นที่อยู่นอกสภา ก็แค่ให้ประธานสภาจัดให้คนนั้นได้โฆษณาชี้แจง” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเชื่อว่าประชาชนมีดุลยพินิจเพียงพอ ให้ใส่ความกันได้เต็มที่ แต่ประชาชนไม่ใช่คล้อยตามเชื่อท่านผู้ทรงเกียรติในทันทีนะครับ ตรวจสอบ กลั่นกรองก่อน ไม่เช่นนั้นเคราะห์ร้ายจะมาเยือนเราครับ

 

มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีความสุข

          เราเห็นแล้วว่า “ถ้อยคำร้ายๆ” สร้างความเสียหายให้โลก และประเทศของเรามามากแล้ว ถ้าเรามาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีความสุข ใช้เสรีภาพแสดงความเห็นอย่างสุภาพนุ่มนวลแบบคนไทย เคารพความเห็นผู้อื่น รักษาน้ำใจกัน แลกเปลี่ยนเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ น่าจะดีนะครับ ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น ความเกลียดชังทำให้เราไม่อยากฟังความเห็นคนอื่น ลองมองไปข้อเสนอแก้ปัญหาโควิดของนักการเมืองหลายๆ คน เหตุผลดีๆ ทั้งนั้นเลย แต่มองดูแล้วยากตรงที่จะมาจับมือร่วมกันแก้ปัญหาชาติ เพราะเลือกความเกลียดชังมาขวางกั้น

         คนที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือพวกเรา คนรุ่นใหม่ครับ ไม่เอา Hate crime ไม่เอา Hate speech ไม่เอา Defamation ไม่เอา Insult ไม่เอาความรุนแรง เราต้องเชื่อมั่นในปัญญา และคุณธรรม คือแสงที่จะนำพาสังคมไทยให้รุ่งเรือง

         ความเห็นส่วนตัวผมที่มองน้องๆ ผู้ต้องหาหมิ่นประมาทในสื่อออนไลน์ ผมรู้ดีว่าพวกเขาเสียใจมาก บางครั้งเห็นภาพพ่อแม่น้องๆ ไปกราบเท้าขอขมาคนที่ฟ้องลูกของตนให้ยอมความ บางครั้งต้องยอมจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อยอมความทั้งที่หาเช้ากินค่ำ เจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนคนที่จะมาอธิบายขอบเขตเสรีภาพก็ยังไม่เห็น

                ส่วนน้องๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน อย่างที่ผมบอกว่า กระบวนการยุติธรรมจริงๆ ต้องการลงโทษอาญากับคนที่มีจิตใจชั่วร้าย แม้การกระทำ และเจตนาละเมิดกฎหมายจริง แต่ผมมองลึกๆ ลงไปผ่านสายตานักอาชญาวิทยาไซเบอร์อย่างผม พบว่าแท้จริงแล้วน้องๆ เหล่านั้นไม่ใช่คนชั่วเลย พวกเขารักชาติ อยากให้บ้านเมืองเจริญ แต่สิ่งที่เขาเชื่อและรับรู้มามันเป็นเรื่องเท็จ พิสูจน์ไม่ได้ เลยเกลียดชังให้ร้ายไปตามความรู้สึก และอ่านโพยไปตามใครก็ไม่รู้เขียนมา และถ้าใครมาบอก เราไม่เชื่อหรอกว่าเราถูกครอบงำได้ ซึ่งกฎการจะครอบงำใครสักคนก็ต้องไม่ให้เขารู้ตัว

             แม้เราจะสงสัยว่า ทำไมผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทบางคนไม่ได้รับการประกันตัวออกมา ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินคดี เราตั้งข้อสงสัยได้ครับ แต่ต้องค้นคว้าหาความจริงประกอบด้วย

                ศาล ใช้เมตตา และคุณธรรม ในการพิจารณาคดีเสมอ เราร้องขอความเมตตาเมื่อใดก็ได้ครับ กระบวนการยุติธรรมไทยมุ่งให้คนทำผิดแล้วสำนึกกลับตัวเป็นคนดีสู่สังคม แม้ศาลไม่ได้บังคับให้ใครเชื่อตาม  ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาสำนึกในการกระทำผิด ให้สัจจะวาจาว่าจะไม่กระทำผิดอีก และเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ศาลก็ให้ประกันตัวออกมาสู้คดี แต่หากผู้ใดไม่ให้สัจจะวาจาว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำ และไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ถ้าคดีที่มีอยู่มากโขอาจต้องโทษจำคุก 50 ปี แล้วศาลท่านปล่อยออกมา ไม่มีใครบอกว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ผิดกฎหมาย และไม่ได้อ่านบทความนี้ ยังไปทำความผิดซ้ำ ได้คดีเพิ่ม รวมแล้วอาจจะโทษจำคุกถึง 100 ปี การไม่ให้ประกันจึงเป็นประโยชน์กับผู้ต้องหาที่ยังไม่สำนึกมากกว่า

               ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครเกลียดชังผมไหมที่เขียนบทความนี้ แม้มุ่งหมายให้สังคมไทยสงบสุขราบรื่นวัฒนา และไม่ให้ใครตกเป็นผู้ต้องหาหมิ่นประมาทออนไลน์ หรือ ใครตกเป็นเหยื่อจากการคุกคาม กฎหมายออกแบบสังคมไว้แบบนี้ทั่วโลก แต่การช่วยใครสักคนให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อก็ถือว่าคุ้มค่าพอแล้ว ก็ยินดีที่อยากให้ผู้อ่านช่วยกันแชร์

                 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้ยืนหยัดต่อสู้เรื่องความเกลียดชังตราบจนถูกสังหารเสียชีวิตกล่าวไว้ว่า

                “Darkness cannot drive out darkness: only light can do that. Hate cannot drive out hate: only love can do that.” แปลว่า

               “ความมืด ไม่สามารถช่วยให้หลุดออกจากความมืดได้ แต่เป็นแสงสว่างเท่านั้นที่ทำได้ ความเกลียดชังก็ไม่สามารถช่วยให้หลุดออกจากความเกลียดชังได้ แต่เป็นความรักเท่านั้นที่ทำได้”

        

 

หมายเลขบันทึก: 690421เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2021 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2023 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท